8 สัญญาณอันตราย “มะเร็งรังไข่”
หลายคนอาจไม่ค่อยรู้ข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งรังไข่ กว่าจะรู้ตัวก็มักจะลุกลามไปได้ถึงระยะหนึ่งแล้ว
มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงทั่วโลก สำหรับประเทศไทย มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์สตรีพบเป็นอันดับ 2 รองลงมาจากมะเร็งปากมดลูก และเป็นอันดับ 6 ของมะเร็งทั้งหมดที่พบในหญิงไทย
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทย รายงานว่าในแต่ละปีมีผู้ป่วยรายใหม่ราว 2,500 คน หรือคิดเป็นอุบัติการณ์การเกิดโรค 5.7 คนต่อประชากรหญิงแสนคน และมีผู้เสียชีวิตราว 1,100 คนต่อปี หรือมีอัตรา 3.5 คนต่อประชากรหญิงแสนคน มะเร็งรังไข่พบได้ทุกกลุ่มอายุแต่พบมากในผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ในระยะท้ายที่มะเร็งลุกลามมากแล้ว เนื่องจากโรคนี้ในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดง ทำให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งรังไข่
- มาจากพันธุกรรม ที่ครอบครัวอาจเคยเป็นโรคมะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งลำไส้มาก่อน
- อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสพบมะเร็งรังไข่ได้มากกว่าช่วงอายุอื่นๆ
- เคยเป็นโรคมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งลำไส้มาก่อน
- พบมะเร็งรังไข่ในผู้ที่อ้วน หรือน้ำหนักเกินมาตรฐานมากกว่าคนผอม
- พบในผู้ที่ยังไม่เคยตั้งครรภ์ มากกว่าคนที่มีบุตรแล้ว
- พบในคนที่มีประจำเดือนเร็ว คือก่อนอายุ 12 ปี หรือผู้หมดประจำเดือนช้า หรือหลังอายุ 55 ปี
- อาจเคยใช้ยากระตุ้นการตกไข่ เพื่อช่วยในการมีบุตร
- อาจเคยใช้ฮอร์โมนเพศ เพื่อชดเชยช่วงที่หมดประจำเดือน
8 สัญญาณอันตราย
“มะเร็งรังไข่”
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง
- เรอบ่อยขึ้น
- ปัสสาวะบ่อย หรืออั้นปัสสาวะไม่อยู่
จากการที่ก้อนมะเร็งอาจไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ
- ท้องผูก จากการที่ก้อนมะเร็งไปเบียดลำไส้เล็ก หรือลำไส้ใหญ่
- คลำเจอก้อนเนื้อบริเวณท้องน้อย
- ปวดท้องน้อย
- มีประจำเดือนผิดปกติ
- มีน้ำในช่องท้อง หรือท้องมาน
เพราะฉะนั้นใครที่มีญาติ (โดยเฉพาะสายตรง) เคยเป็นมะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งประเภทอื่นๆ มาก่อน แนะนำให้ตรวจสุขภาพทุกปี เพื่อความสบายใจ และป้องกันการลุกลามของมะเร็ง เพราะหากพบเซลล์มะเร็งตั้งแต่เนิ่นๆ ก็มีโอกาสหายมากขึ้นตามไปด้วย
การวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งรังไข่
แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษามะเร็งรังไข่จากระยะของมะเร็งและความต้องการมีบุตรของผู้ป่วย โดยอาจพิจารณาการผ่าตัดร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด อย่างไรก็ตามผู้หญิงทุกคนควรให้ความสำคัญต่อการตรวจสุขภาพก่อนมีอาการ โดยการตรวจภายในและพบสูตินรีแพทย์เป็นประจำทุกปี เพื่อสามารถตรวจพบมะเร็งรังไข่ในระยะเริ่มต้นโดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติ คนในครอบครัวหรือญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งรังไข่
คุณกำลังดู: 8 สัญญาณอันตราย “มะเร็งรังไข่”
หมวดหมู่: รู้ทันโรค