Awakening Bangkok 2022 เพื่อพรุ่งนี้และตลอดไป
หลังจากสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 คลี่คลาย กิจกรรมต่างๆ เริ่มคึกคัก แสดงถึงการกระตุ้นขับเคลื่อนทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ
สร้างความคึกคักให้กับพื้นที่ย่านเก่าแก่ของกรุงเทพฯ อย่างเจริญกรุงและตลาดน้อย คือ งานเทศกาลเนรมิตเทศกาลแสงไฟประจำปีกรุงเทพฯ Awakening Bangkok 2022 แสดงประติมากรรมแสงไฟ 37 ชิ้นงาน
โดย 36 ชิ้น เป็นศิลปินไทย และ 1 ชิ้น ผ่านความร่วมมือกับเทศกาล iLight Singapore งานดังกล่าวจะติดตั้งตามอาคารประวัติศาสตร์ในย่านดังกล่าว
ระหว่างวันที่ 16-25 ธันวาคม 2565 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Endless Tomorrow : เพื่อพรุ่งนี้ และตลอดไป” เป็นการเปิดพื้นที่ สร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับชีวิตความยั่งยืนในมิติต่างๆ เพื่อชีวิตในอนาคตที่ยืนยาวและเป็นมิตรสำหรับทุกคน ทั้งรุ่นนี้ และรุ่นต่อไป
งานเทศกาลดังกล่าวจัดโดย Time Out Bangkok ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), สํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ, สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA และบริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ตลอดจนพันธมิตรภาครัฐและเอกชน
ส่งเสริมและสนับสนุน night-time economy
นายพงศ์สิริ เหตระกูล กรรมการบริหาร Time Out Bangkok (ไทม์เอาต์ กรุงเทพฯ) และ Festival Director งานเทศกาล Awakening Bangkok เปิดเผยว่า การจัดงานปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 5 ซึ่งเป็นการกลับมาจัดในช่วงปลายปีอีกครั้ง หลังจากครั้งที่ผ่านมาต้องเลื่อนมาจัดในช่วงเดือนมีนาคม 2565 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยผนึกความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ เพื่อมอบประสบการณ์สุดพิเศษให้กับนักเดินทาง ท่องเที่ยว และผู้มาเยี่ยมชมงานตลอด 10 วัน พร้อมยกระดับสู่การเป็นหนึ่งในเทศกาลเมืองสำคัญในปฏิทินการท่องเที่ยวระดับนานาชาติ และเป็น “จุดหมายปลายทาง” ของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
จากการจัดงานอย่างต่อเนื่องถึง 5 ครั้ง
นอกจากสะท้อนถึงความสำเร็จของงาน Awakening Bangkok แล้ว
ยังตอกย้ำความสำเร็จของการร่วมมือระหว่างเอกชนและรัฐ
และเป็นการรวมพลังความคิดสร้างสรรค์ระดับชาติ
โดยเฉพาะในแง่ของการส่งเสริมและสนับสนุน night-time economy
ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยปลุกและฟื้นย่านเจริญกรุง ทั้งในอดีต ปัจจุบัน
และในอนาคต
ซึ่งจากการจัดงานในทุกครั้งที่ผ่านมา ได้รับผลตอบรับที่ดีจากทั้งศิลปิน นักออกแบบ และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาร่วมชมงาน ช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน ผ่านการสร้างความร่วมมือแบบบูรณาการระหว่างเมือง ชุมชน และหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ส่งเสริมให้เมืองเป็นจุดหมายปลายทางในการจัดงานเทศกาล และการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
ไฮไลต์สำคัญของงาน
ในการเปิดงานวันแรก นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้ร่วมเดินชมงานดังกล่าวด้วย โดยเฉพาะนายสุพัฒนพงษ์ เป็นแฟนประจำงานนี้ พร้อมขนาดไหน ดูจากรองเท้าที่ใส่เดิน สวมสนีกเกอร์พร้อม เดินตั้งแต่ย่านเจริญกรุง ผ่านตลาดน้อยไปจบที่ท่าน้ำภาณุรังษีข้างๆ วัดปทุมคงคา
ด้วยงานที่จัดแสดงในครั้งนี้มีจำนวนมาก จะขอเลือก “ไฮไลต์” สำคัญๆ ที่รองนายกฯและคณะได้เดินชม ตั้งแต่จุดแรกที่อาคารประวัติศาสตร์ริมแม่น้ำ The East Asiatic Company ที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเดนมาร์ก โดยศิลปินไทย “Alt+r” กับผลงาน “Tomorrow I Wish” ซึ่งแนวคิดของงานชิ้นนี้คือ ก้าวแรกสําหรับวันพรุ่งนี้ที่ดีเริ่มต้นจากการมีสภาพแวดล้อมที่ดี ที่เอื้อให้เราได้ออกมาใช้ชีวิต Tomorrow I wish… ร่วมแชร์เมืองที่น่าอยู่ของพวกเราเป็นแบบไหน สิ่งไหนที่เราต้องการ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคตของทุกคนผ่านเทคนิค Interactive Mapping ซึ่งผู้ที่เข้าชมต่างร่วมสนุกกับการแสดงชุดนี้ได้
จากนั้นเดินไปยังบ้านพักตำรวจน้ำ ที่บ้านหลังนี้มีผลงานอยู่หลายชิ้น เป็นผลงานของ “Coth Studio x Tomorrow Lab” ที่จัดแสดงในบริเวณบ้านหลังนี้ทั้งด้านนอกและด้านใน ซึ่งท่านรองนายกฯได้เดินชมผลงานชื่อ “Gist” แนวคิดของงานชิ้นนี้คือ เสาไฟเหล่านี้คือตัวแทนของแก่นไม้ที่คงเหลือธรรมชาติใหม่จะเป็นแบบไหน หากใบไม้ร่วงหล่น ต้นไม้ที่ไม่เหลือแม้กระทั่งเปลือกไว้ห่อหุ้ม หนทางของความยั่งยืนจะเป็นรูปแบบไหนในอนาคต
เมื่อเข้ามาข้างในบ้านจะพบผลงานที่มีชื่อว่า “Poetry of the unseen tomorrow” แนวคิดของงานชิ้นนี้คือ เมื่อวันพรุ่งนี้ยังมาไม่ถึงการคิดถึงอนาคตย่อมเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน ผลงานนี้เปิดโอกาสให้ผู้ชมงานได้วาดภาพฝันของวันพรุ่งนี้หรือเขียนข้อความด้วยปากกาเรืองแสงที่จะเด่นชัดขึ้นภายใต้ Black Light และรองนายกฯ ก็ไม่พลาดที่จะขีดเขียนลงไป
อีกผลงานในบ้านพักตำรวจน้ำที่รองนายกฯชื่นชอบคือ “Geometry Gratitues!” ที่แสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเชื่อและศาสนาในย่านเจริญกรุงที่อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนถูกตีความเป็นรูปทรงเรขาคณิตที่มีความเชื่อมโยงกันเป็นแพทเทิร์นและนำเสนอในรูปแบบ Immersive Visual ที่คุณสามารถมีส่วนร่วมได้
ออกจากบ้านพักตำรวจน้ำ เข้า Swan Hotel โรงแรมวินเทจใกล้ๆ บ้านพักตำรวจน้ำ ปัจจุบันปิดไปแล้วแต่งานนี้เปิดให้ศิลปินเข้าไปจัดแสดงท่ามกลางความวินเทจ ศิลปินใช้สระน้ำกลางโรงแรมเป็นที่โชว์ผลงาน “Lantern Go With the Flow” ของ “27 June Studio” เบื้องหลังของงานชิ้นนี้คือ ถึงเวลาปล่อยให้เรื่องราวในปี 2022 ได้ผ่านพ้นไปกับช่วงเวลาสุดท้ายของปี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุข ทุกข์ สิ่งที่อยากจำ คำที่อยากลืม หรือเรื่องค้างใจต่างๆ จงปล่อยให้ไหลไปพร้อมกับภาพโคมที่จะปรากฏบนผืนน้ำด้วยเทคนิค projection mapping ซึ่งผู้เข้าร่วมชมงานสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดและออกแบบภาพโคมคล้ายๆ กระทง พร้อมพิมพ์ข้อความที่ต้องการเขียน และโคมนั้นก็จะลอยละล่องบนผืนน้ำ
จากนั้นชมผลงานที่หน้าอาคารไปรษณีย์กลางและเดินต่อไปยัง Warehouse 30 ชมผลงาน projection mapping บนอาคาร ที่มีชื่อว่า “Alone together” ของ “Ping Lim and Ian Grossberg” ที่อิมพอร์ตมาจากเทศกาล iLight Singapore มาแสดงที่กรุงเทพฯ ซึ่งทางศิลปินต้องการย้อนกลับไปสัมผัสความรู้สึกเปลี่ยวเหงาที่เรามีร่วมกันจากประสบการณ์การใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในช่วงโรคระบาดผ่านผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพช่องหน้าต่างของหมู่บ้านในสิงคโปร์
ส่วนบนพื้นถนนในบริเวณ Warehouse 30 เต็มไปด้วยสีสันที่มีชื่อว่า
“Aroon-Sawat” ของ “305Stop”
ซึ่งแนวคิดของงานชิ้นนี้มาจากเสียงไก่ขันเป็นเหมือนนาฬิกาปลุกจากธรรมชาติที่คอยปลุกให้คุณตื่นขึ้นมาเริ่มต้นวันใหม่กับพลังแห่งสีสันของแสงแดดยามเช้าและบอกคุณว่าทุกชีวิตยังมีหวังกับเช้าวันใหม่เสมอ
ปิดท้ายที่ท่าน้ำภาณุรังษี กับผลงาน “Eternity Pillar” ของ “H-Lab” เป็นแท่งไฟสี่เหลี่ยมที่โอบล้อมรอบกันเป็นวงกลมและเปล่งแสงเคลื่อนไหวเป็นจังหวะ เปรียบเหมือนการเติบโตและพัฒนาของชุมชนตลาดน้อยที่แม้จะมีความหลากหลายแต่ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนมากว่า 200 ปี
เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่
ระหว่างที่ชมผลงาน “Eternity Pillar” เป็นที่สุดท้ายนั้น “สุพัฒนพงษ์” ได้แสดงความเห็นของการจัดงานในปีนี้ว่า เรื่องที่ดี เป็นความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ หลังโควิดหวังว่ากรุงเทพฯจะมีการเปลี่ยนแปลง และก็เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ที่จริงคนทุกรุ่นควรมีโอกาสมาเห็นพื้นที่บริเวณตลาดน้อยที่มีสีสัน และก็เปลี่ยนผ่านความรู้สึกเดิมๆ ที่คิดไว้
ถึงแม้ในทุกปีจะมีการจัด จะมีผู้คนเข้ามาเยี่ยมชม 1 แสนกว่ารายก็ตาม แต่ก็อยากให้คนกรุงเทพฯที่มีมากกว่า 10 ล้านคน ได้รู้จักกรุงเทพฯมากกว่านี้ และนี่ก็เป็นพื้นที่หนึ่ง ถ้ามีโอกาสควรแวะเวียนเข้ามา และก็การจัดกิจกรรมครั้งนี้มีระยะเวลาในการจัดงานที่นานพอสมควรที่จะให้พวกเราได้มีโอกาสเข้ามาเยี่ยมชม และก็เห็นถึงงานศิลปกรรมรุ่นใหม่ของคนรุ่นใหม่ที่ทำให้พื้นที่ย่านนี้ดูเปลี่ยนแปลงไป และได้เห็นถึงความรู้ความสามารถของศิลปินรุ่นใหม่ๆ ของประเทศไทย โดยเฉพาะในเรื่องของศิลปะทางด้านแสง และก็ศิลปะในเรื่องของ อินสตอลเลชั่น แบบอื่นด้วย
ถ้าเป็นคนไทยมีโอกาสรู้จักประวัติศาสตร์ของเมือง ไม่ต้องไปไกลหรอก เอาแค่กรุงเทพฯนี่แหละ ที่ควรจะรู้อีกมากมายเลย และก็ภายใต้ประวัติศาสตร์ถ้าไปรู้ที่มาและก็รู้ถึงเหตุผลในเวลานั้น สิ่งที่เขาปลูกฝังในวัฒนธรรมในเวลานั้น ก็จะจินตนาภาพออกไปได้ แล้วจินตนาภาพพวกนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลในชีวิตประจำวันของพวกเราว่า คนในสมัยโบราณเขามีความคิดที่ดี ไม่งั้นสร้างบ้านสร้างเมืองให้เจริญรุ่งเรืองแบบนี้ไม่ได้หรอก และเป็นหน้าที่ที่คนปัจจุบันควรจะทราบ
“ถ้าเราทราบสิ่งเหล่านี้จะทำให้ทุกอย่างต่อเนื่อง สามารถสื่อสารกันไปให้เป็นเรื่องดีๆ ให้คนรุ่นถัดๆ ไปของเราต่อไป หาโอกาสแบบนี้ไม่ง่าย ควรจะส่งเสริมกันอย่างเต็มที่ ทั้งรัฐบาลและภาคเอกชน อย่างวันนี้ก็เป็นเรื่องของเอกชนเขาเป็นคนทำโดยภาครัฐเป็นคนสนับสนุน ส่วนพื้นที่ใหม่ๆ ก็รอภาครัฐเป็นคนทำให้” นายสุพัฒนพงษ์กล่าวทิ้งท้าย
คุณกำลังดู: Awakening Bangkok 2022 เพื่อพรุ่งนี้และตลอดไป
หมวดหมู่: ความบันเทิง