BYD จากแบตเตอรี่มือถือ สู่ผู้นำ EV (รถยนต์ไฟฟ้า) ที่น่าจับตามอง
BYD กำลังจะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ในไทย มาดูความเป็นมาและความน่าเชื่อถือของบริษัทรถยนต์พลังงานสะอาดของจีนที่กำลังเข้ามาตั้งโรงงานในไทย .....
ช่วงนี้ข่าวคราวแวดวงรถยนต์ไฟฟ้าที่น่าจับตามองที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นแบรนด์ BYD จากประเทศจีน ซึ่ง 5 ปีก่อนหน้านี้ หากเอ่ยชื่อไป บางคนไม่รู้จักด้วยซ้ำ “ยี่ห้ออ่านว่าอะไรอ่ะครับ..เบี๊ยดเหรอ?” ผมก็ต้องกลั้นขำอธิบายไปว่า จริงๆ แล้วอักษรสามตัวของเขาเนี่ย มันย่อมาจากคำว่า Build Your Dreams กลายเป็นว่าเพื่อนบอกว่าใช่เหรอวะ..อ้าว..ก็แล้วแต่จะเชื่อ เรื่องพวกนี้มันค้นดูได้อยู่แล้ว
ถึงชื่ออาจจะไม่คุ้นหูคนไทย แต่พลังทางการเงินของบริษัทนี้ยิ่งใหญ่มาก ลองคิดดูว่าไม่กี่ปีก่อนหน้านี้เราไม่ได้ยินอะไรเกี่ยวกับพวกเขามากนัก แต่เฉพาะภายในปีนี้ มีตั้งแต่การแชร์บทความหรือรูปรถรุ่นใหม่ๆของเขา ซึ่งน่าตกใจถ้าคุณรู้ว่ารถของพวกเขาเมื่อ 20 ปีก่อนยังดูเหมือนของเล่นกิ๊กก๊อก ทุกวันนี้ BYD ซีเรียสทั้งเรื่องเทคโนโลยี การออกแบบ และการขยายตลาด อย่างล่าสุดก็มีการเซ็น MOU กับ WHA Group โดยจะมีการตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในไทย สร้างโรงงานบนเนื้อที่ 600 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรม WHA ที่จังหวัดระยอง พร้อมทั้งประกาศพร้อมเปิดตัว BYD Atto 3 รถไฟฟ้าทรงเก๋ ชาร์จไฟทีวิ่งได้ 480 กม. ในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ นี่คือความเปลี่ยนแปลงในโลกยานยนต์ที่ภายในไม่นาน ผู้เล่นจากจีนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญบนท้องถนนประเทศไทย
Wang Chuanfu ก่อตั้ง BYD Company ในปี 1995 แต่ไม่ได้ประกอบรถขายนะครับ แรกเริ่มเดิมที BYD เขาผลิตแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ ด้วยความตั้งใจที่ว่า ชาวจีนยุคใหม่ซื้อมือถือใช้กันเยอะ (คำว่ายุคใหม่นี่คือช่วงหลังที่คอมมิวนิสต์จีน เริ่มเปลี่ยนจากคอมมิวนิสต์ 100% เป็นคอมมิวนิสต้า..ซึ่งก็คอมมี่แหละ แต่เริ่มมีความเป็นธุรกิจ ให้อิสระในการค้าขาย แต่งเสริมเติมสไตล์การใช้ชีวิตมากขึ้น) ผู้ก่อตั้งก็เล็งเห็นว่า จีนมีศักยภาพในการผลิต ก็ทำมาขายคนจีนกันเองเลยดีกว่าปล่อยให้ญี่ปุ่นครอบครองตลาดแบตเตอรี่มือถือไป 10 ปีหลังจากก่อตั้ง แบตเตอรี่ของโทรศัพท์มือถือครึ่งนึงในโลก ผลิตจากโรงงานของพวกเขา นี่คือช่วงเวลาก่อนที่เราจะรู้จัก iPhone กันเสียอีกนะครับ นอกจากนี้ เขายังคิดค้นกรรมวิธีการผลิตแบตเตอรี่ให้ทำได้ง่าย ไม่ต้องใช้ห้องคุมอุณหภูมิ ทำให้ต้นทุนที่จีนได้เปรียบอยู่แล้ว ยิ่งต่ำลงอีก แล้วก็ขยายกิจการไปทำส่วนประกอบอื่นๆของโทรศัพท์มือถืออีกเยอะ
ในด้านธุรกิจรถยนต์ BYD เริ่มต้นด้วยการไปซื้อกิจการผลิตรถยนต์นั่งของบริษัท Qinchuan Automobile มาเพื่อให้ได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจรถยนต์อย่างถูกกฎหมาย หลังจากนั้นก็ตั้งบริษัท BYD Auto ในเดือนมกราคม ปี 2003 ซึ่งมีฐานะเป็นบริษัทลูกของ BYD Company อีกทีนึง ในช่วงแรกที่เริ่มต้นขาย ก็อาจยังมีเวลาพัฒนารถไม่มากนัก จึงต้องไปเอารถของ Qinchuan ที่มีขายอยู่แล้ว อย่างรุ่น QCJ7181 Flyer มาเปลี่ยนโลโก้แล้วขายในชื่อ BYD Flyer ไปพลางๆ
ในปี 2005 ก็มีการเปิดตัว BYD F3 ซึ่งเป็นรถครอบครัวไซส์ประมาณ Corolla Altis ซึ่งไม่ใช่ขนาดตัวที่เหมือน รูปทรงด้านข้างของรถยังดูโคตรคุ้นอีกด้วย F3 ดูเหมือนการยำพาร์ทระหว่าง Altis ปี 2002 กับ Honda City 2003 และไม่มีเทคโนโลยีอะไรที่เด่นเป็นพิเศษ แต่มันครองยอดขายรถครอบครัวเซกเมนต์กะทัดรัดในจีนภายในไม่กี่ปีหลังจากนั้น และจุดที่เริ่มส่งสัญญาณว่าจีนเอาจริงด้านเทคโนโลยีก็คือการมาของ BYD F3DM ซึ่งรูปร่างหน้าตาภายนอก ดูแล้วก็คือ F3 นี่ล่ะ แต่มันมีขุมพลัง Plug-in Hybrid ใช่ครับ Plug-in Hybrid ในปี 2008 แม้ว่าจะขายให้พวกราชการและรถ Fleet ไปรวมๆ ได้แค่สามพันกว่าคัน แต่มันก็ทำให้ F3DM กลายเป็น รถยนต์พลัง Plug-in Hybrid แบบผลิตขายจริงรุ่นแรกของโลก ด้วยพิสัยทำการแบบไฟฟ้าเพียวๆ เคลมไว้ที่ 60 กม.
หลังจาก F3 เป็นต้นมา ดวงทางรถของ BYD Auto มีแต่ขาขึ้นครับ เพราะเขารู้ความสามารถและข้อจำกัดของตนเอง ในช่วงแรกๆ จึงผลิตรถที่ราคาถูก เพื่อให้ชาวจีนสามารถซื้อหาได้ง่ายในยุคคอมมิวนิสต้าใหม่ ที่ผู้คนต่างพากันอยากมีสิ่งของต่างๆ เป็นของตนเอง ข้างบ้านมีมือถือ ฉันก็ต้องมีมือถือ ข้างบ้านมีรถ ฉันก็ต้องมีรถ ยิ่งถ้าราคามันซื้อได้ง่าย ก็ไม่ต้องเปลืองน้ำลายมาก นอกจากขายในประเทศได้ดีแล้ว BYD ยังส่งรถไปขายในแอฟริกาและแถบอาหรับ ด้วยความชัดเจนว่าเป็นรถที่ขายโดยเน้นราคาถูก ซึ่งลูกค้าในกลุ่มประเทศที่มีคนจนอยู่เยอะก็ชื่นชอบกัน แต่บริษัทใหญ่อย่าง BYD นั้นไม่ได้ตั้งเป้าแค่ทำของถูก ขายคนเน้นประหยัด คุณดูนะ เขาทำแบตเตอรี่มือถือราคาถูก เอาใจคนจน แต่ต่อมาก็ทำจนกลายเป็นบริษัทผลิตแบตเตอรี่มือถือครึ่งหนึ่งของโลก โลก IT ปัจจุบันอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเขา ในการทำธุรกิจยานยนต์ BYD ก็ทำในแนวเดียวกัน
ในปี 2009 BYD ก็สร้างรถยนต์พลังไฟฟ้าล้วนรุ่น E6 ออก โดยในระยะแรก เอามาสวมป้ายทำแท็กซี่ลองวิ่งทดสอบดูความอึดของรถกับความทนทานของระบบแบตเตอรี่อยู่นาน จนปี 2011 จึงได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจเลือกซื้อ รวมถึงหน่วยราชการ และเมืองเสิ่นเจิ้นต้นกำเนิดของแบรนด์เอง ก็ได้ทดลองนำ E6 ไปทำเป็นรถแท็กซี่แบบไม่สร้างมลภาวะ คนจีนในช่วงนั้นยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการลดมลภาวะเท่าไหร่หนัก จนกระทั่งปัญหามลพิษหนักข้อขึ้น ขนาดท้องฟ้าเมืองปักกิ่งในชั่วโมงเร่งด่วน มีแต่ควันขาวอมน้ำตาล ซึ่งมาจากยานพาหนะติดล้อ ในภายหลังชาวจีนก็ตื่นตัวเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งมันสะท้อนในยอดขายของ E6 นั่นละครับ ในปีแรกที่เปิดตัว พวกเขาขาย E6 ได้ 400 คันเท่านั้น แต่พอมาถึงปี 2016 กลับขายได้ถึง 20,000 กว่าคัน
ถ้าใครอยากลองนั่ง BYD E6 คุณไม่ต้องไปถึงเมืองจีนหรอกครับ แค่ตอนเดินทางกลับมาไทย ผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ คุณเดินลงไปชั้นล่างสุดที่มีแท็กซี่เยอะๆ นะครับ แล้วเดินย้อนไปทางช่องจอดเบอร์ต้นๆ คุณจะเห็นบูธใหญ่ๆ มีคำว่า EV เข้าไปที่บูธนั้น แล้วคุณก็จะได้นั่งรถ EV กลับบ้านสบายทวารเป็นที่สุด แต่ราคาค่าโดยสารก็คูณสองหรือสามเท่าของแท็กซี่ทั่วไป..เอาน่า ถือว่าเป็นค่าประสบการณ์ ผมนี่เรียกใช้ประจำสมัยที่ยังไม่มี COVID เพราะราคาแพงจริง แต่รถอย่างนุ่มเงียบ และพนักงานรวมถึงพลขับโคตรสุภาพ คนเดินทางกลับมาเหนื่อยๆ ต้องการกลับบ้านด้วยวิธีนี้แหละครับ
ผมเชื่อมาตลอดว่าพี่จีนไม่ค่อยสร้างรถเครื่องสันดาปภายในเจ๋งๆ เพราะพวกเขาคิดข้ามช็อต ไม่สนดีเซลคอมมอนเรลแรงๆ ไม่สนเบนซินเทอร์โบม้าเยอะๆ เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าปลายทางของโลกยานยนต์มันจะเดินไปทางไฟฟ้า ซึ่งต้องใช้แบตเตอรี่ และแบตเตอรี่ก็คือสวนหลังบ้านของ BYD เลย เพราะนอกจากทำแบตเตอรี่มือถือแล้ว แบตเตอรี่รถยนต์นี่ก็แทบจะอยู่ในอุ้งมือของเขาเลยทีเดียว เทคโนโลยีแบตเตอรี่ Lithium-iron Phosphate ก็เริ่มต้นมาตั้งแต่ผลิต E6 ขาย จนกระทั่งแตกหน่อออกไปเป็นบริษัทลูกอีกแห่งชื่อ FinDreams ซึ่งปัจจุบัน เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รถ EV อันดับ 4 ของโลก ถ้าคุณคุ้นคำว่า “Blade Battery” ซึ่งเป็นแบตเตอรี่แผ่นบางยาวแคบเหมือนดาบ เอามาจัดเรียงกันเป็นตับๆ เพื่อสร้างแบตเตอรี่แพ็กขนาดใหญ่ที่ให้พิสัยการวิ่งไกล 600 กม. ก็ FinDreams นี่ละครับเป็นผู้ผลิต
ในปัจจุบัน BYD กลายเป็นค่ายรถที่กล่าวได้ว่ามีเทคโนโลยีล้ำหน้าอันเอื้ออำนวยต่อการก้าวเข้าสู่โลก EV มากที่สุดค่ายหนึ่ง ถ้าคุณคิดว่า 17 ปีก่อนพวกเขาขายรถอย่าง BYD Flyer แล้วปัจจุบัน กลับมีรถหน้าตาหล่อเหลาอย่าง BYD Han ซึ่งก็มีทั้งรุ่น DM-Dual Mode ซึ่งใช้ขุมพลัง Plug-in Hybrid เครื่องยนต์ เบนซิน 2.0 ลิตรเทอร์โบ 189 แรงม้า บวกกับมอเตอร์ไฟฟ้าพลัง 240 แรงม้า วิ่งไฟฟ้าล้วนได้ 81 กม. หรือ BYD Han EV ซึ่งมีทั้งรุ่นขับเคลื่อนล้อหน้า 219 แรงม้า และรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ มอเตอร์ 2 ตัวที่แรงระดับ 470 แรงม้า ทำอัตราเร่ง 0-100 ได้ภายใน 3.9 วินาทีเท่านั้น โดยทั้งสองรุ่นก็ใช้เทคโนโลยี Blade Battery ความจุ 79kWh ที่ให้พิสัยทำการได้ไกลกว่า 600 กม. ในรุ่นขับหน้ามอเตอร์เดี่ยว
ความภูมิใจของ BYD อีกอย่างก็คือ Han เป็นรถสัญชาติจีนคันแรกที่ชนะรางวัลการออกแบบ iF Awards ซึ่งการันตีได้ว่า จีนสามารถสร้างงานออกแบบบนตัวรถที่สวยงามได้โดยไม่ต้องลอกแบบรถจากประเทศอื่นทั้งคัน นื่คือจุดเปลี่ยนที่ใครหลายคนเตือนไว้แล้วว่า ในปี 2010 พวกคุณอาจจะยังหัวเราะเยาะรถจากแดนมังกร แต่ในปี 2025 คนที่เคยหัวเราะเหล่านั้นอาจกลายมาเป็นลูกค้าของ BYD แล้วก็ได้
เทคโนโลยียานยนต์ของ BYD ยังไม่หยุดแค่นั้น หลังจากที่ประกาศตัวชัดเจนว่าจะเลิกผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน แล้วขายแต่รถไฟฟ้า พวกเขาก็เผยโครงสร้างแบบใหม่ e-Platform 3.0 ซึ่งไม่ใช่ซอฟต์แวร์แม้จะฟังดูเหมือน แต่มันคือโครงสร้างรถยนต์ที่ออกแบบมาให้ใช้กับรถได้หลากรุ่นหลายขนาดเพียงปรับเลื่อนเขยื้อนเติมบางส่วนนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น แพลตฟอร์มนี้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นรถ EV ล้วนๆ ใช้ประโยชน์จากการที่ไม่ต้องเผื่อที่สำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายในอย่างเต็มพิกัด วางตำแหน่งติดตั้งแบตเตอรี่และห้องโดยสารแบบรถ EV แท้ๆ ซึ่งได้ทั้งในแง่ความลู่ลมตามหลักอากาศพลศาสตร์ การออกแบบห้องโดยสาร และแบตเตอรี่ติดตั้งในพื้นรถ ซึ่งแน่นอนว่าเป็น Blade Battery อันมีชื่อเสียงของ BYD นั่นเอง ซึ่งหนึ่งในรถรุ่นแรกที่ใช้แพลตฟอร์มนี้ ก็คือ BYD Yuan Plus หรือที่จะมาขายในบ้านเราในนาม Atto 3 นั่นเอง
จะเจ๋งขนาดไหน ต้องว่ากันอีกทีหลังลองขับ แต่ที่แน่ๆ อนาคตของ BYD
ยังอยู่ในขาขึ้น เพราะในโลกของการขายรถ EV การผลิต
และต้นทุนของแบตเตอรี่คือหัวใจที่ส่งผลกระทบได้มากต่อประสิทธิภาพและราคา
ยิ่งประสิทธิภาพสูง ในราคาที่ต่ำ
ยิ่งมีความได้เปรียบเมื่อถึงคราวตั้งราคาขาย เรื่องนี้ BYD ยิ้มแน่นอน
เพราะกำขุมทรัพย์ความรู้ทางการผลิตแบตเตอรี่มาตลอดตั้งแต่เปิดบริษัท
ขอเพียงอย่างเดียวว่าสร้างรถออกมา
ให้มีคุณภาพความน่าเชื่อถือและไม่จุกจิก
ลูกค้าชาวไทยก็พร้อมจะรับมาไว้ในรั้วบ้าน ตั้งแต่คันแรก
และจนคันต่อๆไป.
Pan Paitoonpong
คุณกำลังดู: BYD จากแบตเตอรี่มือถือ สู่ผู้นำ EV (รถยนต์ไฟฟ้า) ที่น่าจับตามอง
หมวดหมู่: รีวิวรถใหม่