จับเข่าคุย 2 ศิลปิน “PRJ” และ “The Jum” เจาะลึกผลงาน Rare Items จัดแสดงที่ Metro Art

ทั้งสองเป็นคนหนุ่มไฟแรงแห่งวงการศิลปะที่กำลังมีอนาคตไกล ได้นำผลงาน “เจ้าก้อน” และ “Fire Friend Town” มาจัดแสดงใน “เมโทร อาร์ต” (Metro Art) อาร์ต สเปซแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพในสถานีรถไฟฟ้า MRT พหลโยธิน

จับเข่าคุย 2 ศิลปิน “PRJ” และ “The Jum” เจาะลึกผลงาน Rare Items จัดแสดงที่ Metro Art

นับเป็น 2 ศิลปินรุ่นใหม่ที่กำลังโด่งดังมีฐานแฟนทั้งในและต่างประเทศ สำหรับ ไอติม - ภริมโรจน์ ภิญโญ หรือ PRJ ศิลปินแนว Contemporary Art ชื่อดัง ที่จัดแสดงผลงาน “ความสุขในโลกของเจ้าก้อน” และ จั้ม - ณภัทร จงจิตตโพธา หรือ The Jum ศิลปินแนว Pop Art  กับผลงานสร้างชื่อ “Fire Friend Town” 

สำหรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นที่ Metro Art  สถานีพหลโยธิน มีไฮไลต์สำคัญที่การจัดแสดงงานของศิลปินคนดัง ทั้งแนวโมเดิร์นอาร์ตและแนวคลาสสิค ที่หาชมได้ยากสับเปลี่ยนไปทุก 3 เดือน โดย 2 ศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงกลุ่มแรกที่มาจัดแสดงงานหลังเปิด Metro Art อย่างเป็นทางการ ได้แก่ PRJ และ The Jum ที่สร้างสรรค์ผลงานที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมศิลปะอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Art Learning Centre หรือ ศูนย์การเรียนรู้ทางศิลปะ โดยร่วมกับเครือข่ายสีน้ำนานาชาติ หรือ IWS Thailand (International Watercolor Society Thailand) ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับเรียนรู้ทางศิลปะในแขนงต่างๆ รวมทั้ง IWS Gallery และ IWS Shop โชว์รูมสำหรับการแสดงงานศิลปะที่มีชื่อเสียง และขายผลงานศิลปะที่หายาก รวมทั้งโซน Paint Here Alright ที่จะนำสินค้าไลฟ์สไตล์มาให้ทุกคนได้สร้างสรรค์ในแบบของตัวเอง ตลอดจน Art Market ตลาดนัดงานศิลป์ รวมไปถึงการแสดงดนตรีสดอีกมากมายจากศิลปินที่มีชื่อเสียงตลอดทั้งปี 2566

ไอติม - ภริมโรจน์ ภิญโญ หรือ PRJ ศิลปินแนว Contemporary Art ชื่อดัง อายุ 31 ปี ที่จัดแสดง ผลงาน “ความสุขในโลกของเจ้าก้อน” (JAO GON) เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นศิลปินว่า เริ่มจากตอนเด็กๆ ที่โตมากับน้องสาวที่เรียนเก่ง แต่ผมเรียนไม่เก่ง วิชาอื่นๆ ก็ไม่ค่อยอยากเรียน จะวาดรูปเล่นอย่างเดียว มีแค่ศิลปะอย่างเดียวที่ทำได้ดี จนได้มาเรียนในคณะศิลปศาสตร์ หลักสูตรนิเทศศิลป์ สาขาออกแบบกราฟิกและโฆษณา ที่มหาวิทยาลัยบูรพา ทำให้รู้สึกว่านี่ล่ะคือคณะของเรา เราคิดอะไรนอกกรอบได้ ให้มันแตกต่าง 

“สิ่งที่ผมเรียนมันคือกราฟิกดีไซน์เพื่อโฆษณา ก็ต้องหากลุ่มเป้าหมายว่าเป็นใคร ผมชอบแฟชั่นชอบแต่งตัว มันได้เชิดฉายทุกวัน จนไปเจอพี่ตั้ม MAMAFAKA กราฟิกดีไซเนอร์ชื่อดัง รู้สึกว่าเขาเท่มาก เป็นตำนานของคนทำสตรีทอาร์ติสท์ขาวดำ ซึ่งจะมีความเป็นแฟชั่น รู้สึกว่าใช่เลย อยากเป็นแบบเขา ต่อมาไปฝึกงานที่บริษัท DUCTSTORE ของพี่หมู นนทวัฒน์ เจริญชาศรี นักออกแบบชื่อดัง อยากทำงานกับเขา เขาเป็นเหมือน GOD สำหรับผม” ภริมโรจน์ กล่าว

ภริมโรจน์ กล่าวต่อว่า การทำงานศิลปะเริ่มจากคิดว่าเราจะทำคาแรคเตอร์แบบไหน แล้วมีอยู่วันหนึ่งที่ไปขี่จักรยานออกกำลังกาย และมองขึ้นไปบนฟ้า เห็นก้อนเมฆ ก็คิดว่าเมฆมันมีหลายรูปร่าง มันไม่เหมือนกันเลย มันจะเป็นอะไรก็ได้ ก็ลองวาดแล้วโพสต์ลงอินสตาแกรม ใช้แคปชั่นคำเดียวว่า “ก้อน” ปรากฏว่ามีคนบอกว่าน่ารัก มีคนเข้ามากดไลค์ ก็เลยคิดว่าหรือเราเจอหนทางของเราแล้ว

ภริมโรจน์  ให้คำจำกัดความของ “เจ้าก้อน” ว่า “มันคือก้อนความรู้สึกของผม รู้สึกว่าเป็นอะไรก็ได้ มันจะมีความสุขหรือเจ็บปวด มันเป็น Safe zone ของผม คือพื้นที่ที่เราจะพูดอะไรก็ได้ มีความเป็นอิสระ คาแรคเตอร์เจ้าก้อนมันไม่เหมือนที่ไหนในโลกนี้ เช่น ปากได้มาจากปากของแมว ตาที่มีประกาย มาจากวงกลมจากเส้นทางการวิ่ง ส่วนบับเบิ้ลจะเป็นเหมือนก้อนไอติม ไม่ละลาย อยู่ในอุณหภูมิที่ถูกต้อง แต่ตามตัวของเจ้าก้อนจะมีบาดแผล มีกากบาทเต็มไปหมด มันคือบาดแผลจากความเจ็บปวดที่เราผ่านมา ที่ใส่ไว้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า เราต้องยิ้มกับมันได้เสมอ”  

ศิลปินหนุ่ม กล่าวถึงผลงานที่เป็นแรร์ไอเทมว่า คือ Sculpture เจ้าก้อนนั่งสมาธิ ซึ่งมีผู้ซื้อไปในราคา 130,000 บาท เพราะมีตัวเดียว แต่ถ้าผลงานที่มีชิ้นเดียวที่ชอบคือ เฟรมจักรยานฟิกเกียร์ ที่มีกลุ่มคนรักจักรยานด้วยกันส่งตัวถังราคากว่า 40,000 บาท มาให้เพ้นต์เป็นลายเจ้าก้อนสีดำที่ใช้เวลาทำนานกว่า 1 ปี ซึ่งมาจัดโชว์ที่งาน Metro Art ด้วย

ส่วนงานที่ขายหมดตั้งแต่วันแรกเลยคือตัว Sculpture เจ้าก้อนนั่งสมาธิ ซึ่งคนที่ได้ตัวสุดท้ายไปครอบครอง คือ “ณเดชน์ คูกิมิยะ” ดารานักแสดงชื่อดัง โดยเขาทักมาในไอจีว่าอยากได้ผลงานชิ้นนี้ เพราะมอง ว่าการสะสมผลงานศิลปะเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง 

“ฝากผลงานเจ้าก้อนใน Metro Art ไว้ด้วย เป็น Exhibition ครั้งแรกของผม เป็นโชว์ที่ผมตั้งใจว่า อยากให้คนรู้ว่า โลกของเจ้าก้อนคืออะไร โลกที่มันนุ่มๆ ล้มไปทางไหนก็ไม่เจ็บ เป็น Comfort Zone ของผม โดย Sculpture หลักๆ เป็นเจ้าก้อนนั่งสมาธิ แล้วมีดอกไม้งอกบนหัว ดอกนั้นชื่อว่า ดอกพาริมโรส มาจากชื่อ ภริมโรจน์ มีภาพเซต 5 ภาพ ที่มีเจ้าก้อนสีดำอยู่ในภาพ มีชื่อภาพว่า Fill In The Blanks ซึ่งผมตีความหมายว่า เจ้าก้อนสีดำคือความว่างเปล่าที่ยังไม่เจอตัวเอง แต่พอใส่ดอกพาริมโรสเข้าไป ก็หาตัวเองเจอ” 

สำหรับอนาคตในเส้นทางสายศิลปะ ภริมโรจน์ ตั้งเป้าว่า อยากให้คนเรียกเจ้าก้อนเหมือนเรียกโดเรมอน เป็นคาแรคเตอร์ที่มีทั่วโลกรู้จัก อยากให้เจ้าก้อนเป็นเหมือนสมบัติของชาติ มันดูหวังสูง แต่ถ้าผมทำได้ มันจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนทำงานศิลปะได้อีกมาก 

“ลองมาเข้าถึงมัน ดูว่ามันอาจจะเป็นพื้นที่ของคุณก็ได้ เป็นการส่งต่อแรงบันดาลใจ อยากให้น้องๆ ที่เรียนมาด้านนี้หรือคนที่เรียนจบมาแล้วเห็นว่า ศิลปะมันเป็นอาชีพได้ แค่ต้องทำมันอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ” ภริมโรจน์ กล่าว 

อีกหนึ่งศิลปินที่มารังสรรค์งานศิลปะใน Metro Art  จั้ม - ณภัทร จงจิตตโพธา หรือ The Jum ศิลปินแนว Pop Art  อายุ 30 ปี ที่มีแฟนคลับมากมาย กับผลงานสร้างชื่อ “Fire Friend Town” หรือ “น้องไฟ” ที่เรียนจบมาจากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สาขาครุศาสตร์สถาปัตยกรรม และการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พอจบมาก็ไปเป็นครูมา 1 ปี ไปทดสอบตัวเองว่าชอบในอาชีพที่เรียนมาหรือไม่ แต่รู้สึกว่าไม่ใช่สไตล์ของตัวเอง ต่อมาก็ไปทำงานบริษัทแห่งหนึ่งทำเกี่ยวกับออกแบบโปรดักซ์ดีไซน์

“ก่อนมาเป็นศิลปิน ผมเป็นมนุษย์เงินเดือนธรรมดา แต่มีความฝันอยากจะทำงานศิลปะที่ชอบ พอยิ่งโต ก็มีภาระมากมายจำเป็นต้องเลือกงานที่ได้เงินก่อน แต่มีความฝันในการวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก จุดเริ่มต้นที่เข้าสู่วงการนี้คือจังหวะที่ศิลปะมันได้รับความนิยมมาก และเราอยากจะไปทำงานที่เราชอบอีกครั้ง โดยมี NFT ที่เป็นตัวนำให้เรา พอเริ่มทำไปก็มีชาวต่างชาติชื่นชอบผลงานของเรามาก เราก็รู้สึกว่ามันสามารถไปต่อได้ ทำให้เราต่อยอดทำงานศิลปะมาจนถึงทุกวันนี้” ณภัทร กล่าว

ณภัทร กล่าวต่อว่า ผลงานชิ้นแรกจะเป็นงาน Product เก่าที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ เมื่อเอาไปทำเป็นรูปร่างเป็นสัตว์จึงนำไปลงใน NFT จนต่อยอดเป็นภาพดิจิทัลมาเรื่อยๆ ตอนนั้นชิ้นแรกขายได้เงิน 35,000 บาท เป็นฝรั่งชาวสเปนมาซื้อผลงานไป จากผลงานชิ้นนั้นเราก็มีทุน จึงนำไปต่อยอดเป็นภาพเขียนที่เป็นน้องไฟ

ณภัทร กล่าวต่อว่า ผลงานน้องไฟชิ้นแรก เป็นงานเพ้นต์พิมพ์ลงผ้าแคนวาสขนาด 40x40 เซนติเมตร โดยเพนต์เป็นรูปน้องไฟ ก่อนนำมาประมูลหน้าเฟซบุ๊ก ราคาเปิดประมูลที่ 2,500 บาท ไปจบที่ 58,000 บาท 

“น้องไฟเกิดจากที่ผมกลับมาทำงานศิลปะอีกครั้ง และสร้างตัวละครขึ้นมา ให้รู้ว่าเรามีไฟแล้วนะ มีไฟในการทำงานอีกครั้ง จากที่เคยหมดไฟในการทำงาน เพราะการใช้ชีวิตเป็นมนุษย์เงินเดือน เช้าไปทำงานเย็นกลับบ้าน วนลูปไปมาอยู่แค่นี้ น้องไฟเป็นตัวจุดประกายให้ผม สร้างงานศิลปะอีกครั้ง” ณภัทร กล่าว

ณภัทร กล่าวอีกว่า จากนั้นน้องไฟก็ไปอยู่ใน Product ต่างๆ เช่น เสื้อ เลโก้ งานเพ้นต์ มีไปคอลแลปส์กับแบรนด์ต่างๆ เช่น ยามาฮ่า เป็นต้น 

“ผลงานของน้องไฟ ผมภูมิใจทุกชิ้น เพราะมันผ่านมือผมทุกชิ้นเลย มันส่งให้ทุกคนมีไฟไปกับเราด้วย เพราะน้องไฟเป็นตัวการ์ตูนที่เป็นเหมือนไอคอน ไม่มีรายละเอียดหรือยาก ใครก็สามารถวาดได้ ทุกคนสามารถวาดหรือเป็นได้”

ณภัทร กล่าวถึงผลงานที่เป็นแรร์ไอเทมว่า มีชิ้นหนึ่งชื่อ “Fire Friends Camp Fire” เป็นเทคนิคไดคัทลงวัสดุเป็นรูปน้องไฟ ตอนนั้นทำมาแค่ 20 ชิ้น แต่มีคนมาขอซื้อเป็น 100 คนเลย ตอนนั้นตกใจมากที่มีคนสนใจงานเราเยอะขนาดนี้เลยหรือ 

“นอกจากนี้ ยังมีเพื่อนน้องไฟที่มีหลากหลาย ซึ่งเพื่อนน้องไฟเกิดมาจากตอนที่แม่ของผมไปเก็บของในห้องและนำสมุดไปชั่งกิโลขาย และบังเอิญไปเจอสมุดเล่มหนึ่งที่ผมวาดรูปไว้ตอนเด็กๆ ผมจึงนำตัวละครในนั้นกลับมาใช้ โดยผมดึงตัวคาแรคเตอร์ออกมาให้มันมีชีวิตอีกครั้ง โดยเพื่อนน้องไฟอยู่ในการจัดแสดงที่ Metro Artด้วย โดยอยู่ใน Art Wall มีหลากหลาย เพราะผมจะชอบวาดตัวที่มันแปลกๆ สไตล์ศิลปะของผมจะเป็นสไตล์   ป๊อปอาร์ต บวกกับการ์ตูนที่เราชื่นชอบหยิบตัวโน้นตัวนี้มารวมกัน แล้วแต่อารมณ์ในช่วงนั้นว่าเราชอบวาดอะไร” ณภัทร กล่าว 

ณภัทร กล่าวว่า ตั้งแต่ลาออกจากงานประจำก็ย้ายมาอยู่ที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เพราะหลงใหลในเสน่ห์และธรรมชาติของที่นี่ ซึ่งไม่ใช่บ้านเกิดด้วย สาเหตุที่มาอยู่ที่นี่เพราะชอบธรรมชาติมาก เคยขับรถมาเที่ยวกับเพื่อนครั้งหนึ่ง แล้วรู้สึกชอบ อ.สังขละบุรี จึงมาเช่าห้องอยู่ได้ 2 ปีแล้ว รู้สึกว่านี่ล่ะที่เราชอบ 

“สำหรับงานที่ Metro Art ผมสร้างโลกจากน้องไฟขึ้นมา มีหลากหลาย เช่น เทคนิค Drawing, Painting และ Wrap Wallpaper เป็นต้น เพราะคิดว่าโลกมันไม่ได้เป็นแบบที่เราคิด มันมีแต่สีสัน ความสนุกอยู่ในนั้น มีเพื่อนใหม่ที่มาคอยต้อนรับเรา และต้อนรับคนที่มาดู Metro Art มันเปิดโอกาสให้ตัวศิลปินและคนทั่วไปเข้าชม เราสามารถใส่รองเท้าแตะมาเดินดูได้ เป็นโอกาสที่ดีมากๆ ครับที่ Metro Art ให้โอกาสตรงนี้” ณภัทร กล่าว

ณภัทร ยังกล่าวถึงมุมมองศิลปะในประเทศไทยว่า อยากให้รัฐบาลส่งเสริมด้านศิลปะมากกว่านี้ คนยังให้คุณค่าของศิลปะน้อยกว่าในต่างประเทศ อยากให้คนมองเห็นคุณค่าของงานศิลปะมากกว่าตัวเงินในอนาคต วางแผนที่จะทำงานศิลปะต่อไป เพราะเราเลือกมันแล้ว และอาจจะเห็นตัวคาเรคตอร์ใหม่ๆ ที่จะมาเป็นเพื่อนร่วมเดินทางไปกับน้องไฟ และอาจจะมีเทคนิคใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นให้เห็นในอนาคตด้วย 

MRT Metro Art เปิดให้ผู้ที่สนใจงานศิลปะ เข้าชมและร่วมกิจกรรมต่างๆได้ตั้งแต่ วันที่ 26 มกราคม 2566 ระหว่างเวลา 07.00 - 21.00 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  Facebook : Metro Mall

คุณกำลังดู: จับเข่าคุย 2 ศิลปิน “PRJ” และ “The Jum” เจาะลึกผลงาน Rare Items จัดแสดงที่ Metro Art

หมวดหมู่: ผู้ชาย

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด