เจาะการทำงานเก้าอี้ดีดตัว อุปกรณ์ช่วยชีวิตนักบิน เมื่อเครื่องบินสูญเสียการควบคุม

เก้าอี้ดีดตัว อุปกรณ์ช่วยชีวิตนักบินที่ระดับความสูงและความเร็วขั้นยิ่งยวด!

เจาะการทำงานเก้าอี้ดีดตัว อุปกรณ์ช่วยชีวิตนักบิน เมื่อเครื่องบินสูญเสียการควบคุม

การดีดตัวออกจากเครื่องบินรบที่กำลังสูญเสียการควบคุมด้วยความเร็วกว่า 700 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือกว่า 1,100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่ความสูงถึง 65,000 ฟุตนั้น เป็นกระบวนการที่รุนแรงสุดขั้วต่อร่างกายของมนุษย์ แม้จะมีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยพื้นฐานแล้วนักบินรบที่กำลังนั่งอยู่บนเก้าอี้ดีดตัว ซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยจรวด ขณะดีดออกจากเครื่องบินที่กำลังตกนั้น ต้องผจญกับแรงกดดันมหาศาลจากแรงจี ความเร็วและความสูงที่ปราศจากอากาศสำหรับหายใจ

เครื่องบินรบ เอฟ-16 ติดตั้งเก้าอี้ดีดตัวเอซเซส 2 ซึ่งมีจรวดอยู่ที่ด้านหลัง ทำมุม 30 องศา ซึ่งออกแบบได้ปลอดภัยกว่าเก้าอี้ดีดตัวแบบเก่า ซึ่งมักจะมีการออกแบบให้ทำมุมเพียง 13-15 องศาเท่านั้น เก้าอี้นิรภัยที่เอนที่ไปด้านหลังของเอฟ-16 ถูกเลือกใช้งานเพื่อเพิ่มความทนทานของนักบินต่อแรงจีที่เข้ามากระทำต่อร่างกาย เพื่อลดความอ่อนไหวของนักบินต่อแรงโน้มถ่วงที่อาจทำให้หมดสติ อย่างไรก็ตามมุมที่เพิ่มขึ้น ทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่คอจะได้รับบาดเจ็บหากไม่ใช้ที่พักศีรษะ การออกแบบเครื่องบินขับไล่ของสหรัฐฯ ที่นั่งจะเล็กกว่า และทำมุมเพียง 20 องศา เพราะมุมที่มากของที่นั่งและความหนาของฝาครอบที่ทำมาจากโพลีคาร์บอเนท เก้าอี้ดีดตัวของเอฟ-16 จึงขาดส่วนที่เป็นเหล็กเพื่อกระแทกให้ฝาครอบแตกอย่างที่เครื่องบินรบรุ่นอื่นๆ มี ซึ่งตัวกระแทกนั้นจะทำให้ฝาครอบแตกหากไม่สามารถปลดออกก่อนการดีดตัวได้ ในเครื่องเอฟ-16 การดีดตัวของนักบินจะกระทำโดยการปลดฝาครอบทิ้งไปก่อน เมื่อแรงลมดึงฝาครอบออกไปแล้ว ระบบจุดระเบิดก็จะทำงาน ส่งให้เก้าอี้พุ่งออกไปด้วยพลังจรวดขับดันที่มีความเร็วสูง

ขณะที่กำลังฝึกบิน หรือปฏิบัติการรบทางอากาศ เมื่อเกิดสิ่งผิดปกติร้ายแรง ไม่ว่าจะเครื่องยนต์ขัดข้อง หรือการบังคับทิศทางเกิดการล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิงเนื่องจากโดนอาวุธของฝ่ายตรงข้าม ทางเลือกเดียวของนักบินที่โชคร้ายก็คือ อุปกรณ์เบาะที่นั่งของนักบิน

ที่นั่งดีดตัวฉุกเฉินถูกคิดค้นขึ้นเพื่อรักษาชีวิตอันมีค่าของเหล่าบรรดาเสืออากาศที่บินด้วยเครื่องบินรบความเร็วเหนือเสียง เบาะนั่งแบบดีดตัวได้ มีน้ำหนักประมาณ 200 ปอนด์ พร้อมชิ้นส่วนมากกว่า 3,500 ชิ้น เป็นเทคโนโลยีช่วยชีวิตที่ไม่เพียงแต่ช่วยนักบินออกจากเครื่องบินที่กำลังตก แต่ยังช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะรอดพ้นจากเหตุร้ายโดยไม่ได้รับบาดเจ็บ หรือบาดเจ็บไม่มากนัก หากนักบินดีดตัวที่ระดับความสูง 16,400 ฟุตจากความสูงที่มีออกซิเจนไม่เพียงพอต่อการหายใจ เซนเซอร์บนเก้าอี้นิรภัยจะปล่อยให้ตกลงมาอย่างอิสระ เพื่อให้นักบินที่ยังนั่งอยู่บนเก้าอี้ได้รับออกซิเจนโดยเร็วที่สุด จากนั้นร่มชูชีพจะเปิดขึ้นเพื่อพยุงทิศทางของการร่วงหล่น

Martin-Bakerบริษัทสัญชาติอังกฤษ กับหุ้นส่วนชาวฝรั่งเศสชื่อ Safran Martin-Baker France ครองตลาดที่นั่งดีดตัวของนักบินรบถึง 56% อุปกรณ์ช่วยชีวิตของนักบินติดตั้งอยู่ในเครื่องบินของกองทัพอากาศ 93 ประเทศทั่วโลก รวมถึงเครื่องบินขับไล่ F-35 Joint Strike ของสหรัฐฯ, Rafale ที่ผลิตในฝรั่งเศส และเครื่องบินขับไล่ Eurofighter ที่ประจำการอยู่ในฝูงบินรบของนาโต ส่วนผู้ผลิตเบาะที่นั่งดีดออกรายใหญ่รายอื่นๆ ได้แก่ บริษัทอเมริกัน Collins Aerospace (ซึ่งมีที่นั่งใหม่ล่าสุดคือ ACES 5) และชุดอุปกรณ์ดีดตัวฉุกเฉินของรัสเซีย NPP Zvezda นับจากเริ่มใช้งาน ที่นั่งดีดแบบดีดตัวช่วยชีวิตนักบินประมาณ 13,000 คน ตั้งแต่กลางทศวรรษ 1940 เป็นต้นมา


ขั้นตอนการทำงานของเก้าอี้ดีดตัว
เมื่อเครื่องสูญเสียการบังคับควบคุมจนอาจทำให้เกิดอันตราย นักบินจะดึงที่จับห่วงสีเหลืองและสีดำบนเบาะนั่งที่ระดับเข่าขึ้น การดึงห่วงนิรภัย ทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ที่เริ่มต้นด้วยการระเบิดแบบต่อเนื่องสามครั้งอย่างรวดเร็ว สำหรับเก้าอี้ดีดตัวที่ออกแบบเมื่อ 30 ปีก่อน มีการระเบิดเพียงครั้งเดียว ซึ่งแรงระเบิดดังกล่าวทำให้นักบินต้องรับแรงจีมากถึง 18-20 G ขึ้นไป (นั่นคือ 20 เท่าของน้ำหนักตัวที่กดทับลงมา) แต่นักบินที่บินด้วยเครื่องบินขับไล่ไอพ่น ต้องรับมือกับแรงจีสูงขณะเคลื่อนตัวอยู่แล้ว

การดึงที่จับจะจุดระเบิดแล้วดีดออกเป็นเวลา 0.2 วินาที มีความเร็วของการดีดที่ 50-55 ฟุตต่อวินาทีพร้อมกันนั้น ฝาครอบกระจกห้องนักบินจะถูกระเบิดสลักล็อกทิ้ง ทำให้หลังคากระจกหลุดออก เครื่องบินรบบางรุ่นเป็นแบบที่นั่งดีดตัวออกสามาถทะลุขึ้นไปด้านบนได้เลยโดยไม่ต้องสลัดฝาครอบกระจกห้องนักบินทิ้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรุ่นของเครื่องบิน มอเตอร์จรวดจะทำการจุดการทำงานด้วยเวลาเพียงแค่ 0.2 วินาที ด้วยแรงขับมากถึง 5,000 ปอนด์ จากนั้นจรวดด้านข้างที่ติดตั้งอยู่ด้านบนจะจุดตัวเองเป็นเวลา .05 วินาที ที่แรงขับ 584 ปอนด์ จรวดด้านข้างนี้ (อยู่ทางด้านซ้ายของเบาะนั่งด้านหน้า และด้านขวาของเบาะหลังสำหรับเครื่องบินที่มีลูกเรือสองคน) ช่วยให้นักบินสองคนพุ่งไปในทิศทางที่ต่างกัน โดยที่นักบินที่นั่งอยู่เบาะหลังจะดีดออกก่อนเสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกจรวดที่นั่งด้านหน้าปล่อยเปลวไฟใส่

ระบบพยุงชีพที่ติดตั้งอยู่จะปล่อยออกซิเจนฉุกเฉินออกมาทันทีที่หน้ากากของนักบิน จากนั้น ร่มชูชีพ drogue ที่ด้านหลังที่นั่งขนาด 214 ปอนด์ จะกางออกในเวลาเดียวกัน แผงขนาดเล็กสองแผ่นยาวประมาณ 16 นิ้ว และกว้าง 8 นิ้ว เปิดขึ้นที่ด้านข้างของที่นั่งทั้งสองข้างเพื่อบังคับทิศทางให้ตรง และทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลาเพียงแค่ 1.35 วินาทีเท่านั้น!

จากนั้น กล่องเล็กๆ ที่ด้านบนของที่นั่ง ซึ่งมีร่มชูชีพหลักติดตั้งอยู่ (ผูกติดกับนักบิน) เพื่อแยกนักบินออกจากที่นั่ง ร่มชูชีพ drogue ตกลงมา และเมื่อร่มชูชีพหลักกางออก นักบินและเก้าอี้ดีดตัว นอกเหนือจากส่วนใต้ก้น ที่มีชุดเอาตัวรอดและแพซึ่งจะพองตัวในน้ำโดยอัตโนมัติ อุปกรณ์เหล่านี้ติดตั้งอยู่ใต้เก้าอี้ ทำงานใน 5.5 วินาทีหลังจากมือของนักบินทำการดึงที่จับสำหรับการดีดตัวออกจากเครื่อง

เก้าอี้ดีดตัว Mk16 A ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับเครื่องบินรบ F-35 Joint Strike Fighter มีระบบถุงลมนิรภัยแบบ 3 ส่วน ที่เรียกว่า Neck Protection Device (NPD) Steve Roberts หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจของ Martin-Baker กล่าวว่า Helmet Mounted Displays ใหม่ที่สวมใส่โดยนักบิน F-35 นั้นใหญ่กว่าและหนักกว่ารุ่นก่อนๆ จุดศูนย์ถ่วงอยู่ข้างหน้าปัจจัยแกนศีรษะซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่คอระหว่างการดีดตัวออกจากเครื่องบิน

เพื่อแก้ปัญหาที่ทำให้เกิดอันตราย ถุงลมนิรภัยสองข้างถูกออกแบบให้ช่วยประคองศีรษะของนักบิน ถุงลมจะพองออกหลังจากคันบังคับดีดตัวถูกดึง เพื่อไม่ให้ศีรษะของนักบินเคลื่อนไปด้านข้าง จากนั้นถุงลมนิรภัยใบที่สามซึ่งติดตั้งอยู่ด้านหลังหมวกกันน็อกก็จะพองตัว "การรวมกันของถุงลมทั้งสามทำหน้าที่รองรับหมวกบินเพื่อลดแรงเฉื่อยที่คอ" โรเบิร์ตส์ กล่าว เมื่อร่มชูชีพหลักทำงาน ถุงลมเหล่านั้นจะปล่อยลมออกโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้เบาะนั่งนี้ยังมีพนักพิงแขนอัตโนมัติ แทนที่จะเป็นแบบพาสซีฟที่อยู่บนเบาะที่นั่งดีดตัวรุ่นก่อนหน้า เพื่อทำให้แขนของนักบินขณะดีดตัวอยู่แนบกับลำตัวระหว่างการดีดออกตลอดเวลา

ที่นั่ง Mk16 สำหรับเครื่อง F-35 ยังมี "สวิตช์สำหรับนักบินน้ำหนักเบา" ซึ่งบริษัทได้เพิ่มเข้ามาเมื่อการทดสอบแสดงให้เห็นว่านักบินน้ำหนักเบาที่สวมหมวกนิรภัยใหม่ที่หนักกว่านั้นมีความเสี่ยงที่จะคอหักระหว่างการดีดออก “สิ่งแรกที่นักบินเห็นเมื่อปีนขึ้นไปบนค็อกพิตก่อนนั่งลงบนเก้าอี้บินก็คือ สวิตช์สลับซึ่งระบุคำว่า 'ปกติ' หรือ 'เบา'' หากเลือกตำแหน่ง'เบา' เก้าอี้ดีดตัวรุ่นใหม่ของ Martin-Baker จะปรับการทำงานให้สอดคล้องกับน้ำหนักของนักบิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักบินเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ที่ซื้อเครื่อง F35 ไปใช้งานในกองทัพอากาศ.

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/

คุณกำลังดู: เจาะการทำงานเก้าอี้ดีดตัว อุปกรณ์ช่วยชีวิตนักบิน เมื่อเครื่องบินสูญเสียการควบคุม

หมวดหมู่: รีวิวรถใหม่

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด