ดีไซน์ท้ากาลเวลา กับ Mercedes-Benz S-Class Coupe C126 !

ย้อนเวลาหาอดีต นี่คือรถที่ออกแบบเมื่อ 45 ปีก่อน Mercedes-Benz S-Class Coupe C126 !

ดีไซน์ท้ากาลเวลา กับ Mercedes-Benz S-Class Coupe C126 !

ปี 1989 ในช่วงเวลาแห่งการล่มสลายของสหภาพโซเวียต มีภาพยนตร์อเมริกันเรื่องหนึ่งชื่อ “Road House” ออกฉาย นี่ไม่ใช่หนังดราม่าเซลส์แมนขายบ้าน แต่เป็นหนังแอ็กชั่นบวกศิลปะป้องกันตัวผสมกลิ่นอายอเมริกันยุค 80s ซึ่งนำแสดงโดย Patrick Swayze คนเดียวกับที่แสดงคู่กับ Demi Moore ในเรื่อง GHOST ที่โด่งดังมาก แต่วันนี้เราไม่ได้จะมาคุยเรื่องประวัติศาสตร์ภาพยนตร์หรอกครับ Road House เป็นหนังที่ไม่ได้มีพล็อตลึกล้ำแตกต่างจากหนังแอ็กชั่นอเมริกันเกรด B เท่าไร แต่การที่พระเอกของเรื่อง ทำงานเป็นผู้คุมบาร์คอยเตะต่อยไล่พวกคนเมากลับบ้าน แต่กลับขับเบนซ์ 560SEC สี Diamond Blue ใส่ล้อชุบโครเมียม ซึ่งแม้จะปรากฏตัวเพียงเวลาสั้นๆ แล้วก็โดนลูกซองยิงระเบิดบึ้มในตอนท้ายๆ ของเรื่อง 560SEC คันนั้นทำให้หลายๆ คนรวมถึงผม มองรถรุ่นนี้ เป็นรถในฝันของวัยเด็ก

มันเป็นรถที่มีเสน่ห์แรงมากในยุคนั้น C126 ไม่ใช่เบนซ์สปอร์ต/คูเป้รุ่นแรกหรอกที่มีดาวใหญ่อยู่กลางกระจัง แต่มันคือรถที่ทำให้กระแสดาวโตกลางกระจังบูมอยู่พักใหญ่ๆ จนมีการนำเบนซ์ 4 ประตูรุ่นอื่นไปพยายามแต่งหน้าให้ดูเหมือนกัน แต่ส่วนมากจะออกมาไม่น่ารักน่าชมเท่าไร ทรวดทรงของรถที่เกิดมาเป็นรถคนแก่ แต่กลับมีสัดส่วนทะมัดทะแมง หน้ายาว กระจกลาด ดีไซน์คลีนและสมาร์ทจนทำให้เราลืมไปเลยว่ามันคือรถยักษ์ความยาว 4.9 เมตร..สำหรับคนอายุ 30 อาจจะไม่เก็ต..เพราะ Camry กับ Accord ที่ขายอยู่ทุกวันนี้ก็ยาวเท่านั้นแหละ แต่ในปี 1981 ที่ C126 เปิดตัวน่ะ Accord ยังยาวแค่ 4.4 เมตรนะครับ ดังนั้นคุณต้องยกเครดิตให้ทีมออกแบบของลุง Bruno Sacco ที่ทำรถสองประตูตัวใหญ่ดูสปอร์ตได้ขนาดนั้น อันที่จริง มันแทบจะไม่มีอะไรเหมือนกับทรวดทรงของรุ่น 4 ประตูที่เมื่อออกมาก็ดูลุงแบบสำเร็จรูป S-Class Coupe คือรถแบบที่วัยรุ่นรวยขับก็ดูดี ไม่เหมือนขโมยรถพ่อมาซิ่ง

เสน่ห์ของการออกแบบรถรุ่นนี้ ยังโดนใจตา Patrick Swayze พระเอกของเรื่อง Road House ด้วย เพราะตา Patrick รู้ว่า Producer หนัง ซื้อรถรุ่นนี้มาสองคัน สีฟ้าโทนเดียวกัน ภายในสีน้ำเงิน ติดฟิล์มสีเดียวกัน ใส่ล้อลายเดียวกัน รถคันหนึ่งถูกระเบิดไปในการสร้างหนัง ส่วนอีกคันนั้นชะตาลูกหมากยังไม่ขาด ได้จอดอยู่สตูดิโอ ตา Patrick ของเราก็ไปเจรจาขอซื้อรถคันนั้นมาใช้ในชีวิตจริง และเขากับภรรยาก็เก็บรถคันนั้นไว้ตลอดมาจน Patrick เสียชีวิตลงในปี 2009 ห้าปีต่อมาจึงมีการนำรถคันนี้ออกประมูล

C126 ทุกคัน มีรหัสต่อท้ายว่า SEC ซึ่งย่อมาจาก Sonderklasse (รถพิเศษ) Einspritzung (เครื่องยนต์หัวฉีด) และ Coupe (ก็รถคูเป้นั่นละ) คนไทยรุ่นลุงจำนวนไม่น้อยจึงชอบเรียกว่า “เบนซ์เซ็ก” ซึ่งเป็นการอ่านตัวย่อออกมาเป็นคำ ไม่ได้เกี่ยวดองกับเรื่องใต้เข็มขัดแต่อย่างใด ทีมออกแบบของลุง Bruno Sacco ดีไซน์ตัวรถเสร็จและนำไปจดสิทธิบัตรตั้งแต่ปี 1977 ลองนับนิ้วดูก็ได้ว่ารถคันนี้ออกแบบมากี่ปีแล้ว คุณลองคิดดูสิว่ารถที่อายุดีไซน์เก่าแบบนี้ เขาทำยังไงให้มันน่ามอง ทั้งๆ ที่ทุกองค์ประกอบ มันก็คือสไตล์ที่มาจากยุคนั้นที่มีทั้งโครเมียม สีทูโทน และยางแก้มหนาเหมือนรถปิกอัพ

บางทีอาจจะเป็นเพราะรถรุ่นนี้ เกิดในยุคที่เบนซ์กำลังบ้าวิชาแอโรไดนามิกส์ ถูกละ รถตระกูล 126 ไม่ใช่รุ่นแรกที่พวกเขานำไปทดสอบในอุโมงค์ลม แต่มันคือรุ่นแรกที่เบนซ์ใช้อุโมงค์ลม “อย่างจริงจัง” ในการออกแบบ เพื่อให้ตัวรถลู่ลม มีการใช้วัสดุน้ำหนักเบาเพื่อช่วยให้รถเร่งได้ดี ใช้น้ำมันน้อยลง อย่าง C126 นั้น ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานต่ำเพียงแค่ Cd 0.34 ซึ่งดีเทียบเท่ารถหลายรุ่นที่เกิดหลังจากนั้น 10 ปีด้วยซ้ำ

ในรถเก่าอย่างนี้ อย่าหวังความทันสมัยในเรื่องอุปกรณ์ สมัยนั้นเทปในรถยังเป็นแบบเล่นหมดหนึ่งหน้าแล้วต้อง Eject กลับเพื่อเล่นหน้า B เองด้วยซ้ำ ความที่โลกยุคนั้นมีของเล่นติดรถน้อย จึงสามารถออกแบบสวิตช์ต่างๆ ให้อยู่ห่างกัน จัดเป็นหมวดหมู่ ใช้งานง่าย แต่ลูกเล่นของ C126 อยู่ที่การเป็นรถที่ไม่มีเสากลาง เมื่อคุณลดกระจกทั้งสี่บานลงจึงได้ภาพที่ดูแปลกตา เข็มขัดนิรภัยยึดกับบอดี้ช่วงกลางแทนเสา โดยเมื่อคุณสตาร์ตรถ จะมีแขนกล ยื่นเข็มขัดเข้ามาให้คุณเอื้อมรับไปคาดง่าย ไม่ต้องเอี้ยวหลังเยอะ

นอกจากนี้ S-Class ในยุคของ 126 นี่ ยังเป็นเบนซ์รุ่นแรกที่มีเบาะนั่งปรับไฟฟ้ามาให้ และมันเป็นความคิดของวิศวกรที่เลือกติดสวิตช์ไว้บนแผงประตูแทนที่จะเป็นข้างเบาะ เพราะมันเห็นได้ง่าย ไม่ต้องล้วงคลำๆข้างเบาะให้ยาก ตัวเบาะเองก็มาพร้อมกับระบบความจำตำแหน่งเบาะที่เชื่อมกับคอพวงมาลัยปรับไฟฟ้า Memory 2 ตำแหน่ง..ใช่ครับ เรามีเบาะพร้อม Memory ใช้กันตั้งแต่โลกยังไม่รู้จักแผ่น CD นี่คือสิ่งที่เบนซ์ให้มาตั้งแต่ยุคนั้น รวมถึงการทยอยนำอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย เช่นเบรก ABS ถุงลมนิรภัยคนขับ และด้านผู้โดยสาร มาประเคนให้ในภายหลัง รวมถึงระบบแทร็คชันคอนโทรลยุคพระเจ้าเหาอย่าง ASR ก็เริ่มใช้ในรถรหัส 126 เป็นรุ่นแรก

เมื่อครั้งที่ S-Class Coupe รุ่นนี้เผยโฉมที่งานมอเตอร์โชว์ Frankfurt ปี 1981 เบนซ์ตัดสินใจไม่นำเครื่องหกสูบวางในรุ่นคูเป้ ทำให้มีทางเลือกแค่ 2 รุ่น กับรุ่น 380SEC เครื่องยนต์ M116 V8 3.8 ลิตร 200 แรงม้า และรุ่น 500SEC เครื่องยนต์ M117 5.0 ลิตร 240 แรงม้า โดยเครื่อง V8 ทั้งสองแบบนี้ ก็พัฒนาต่อเนื่องมาจาก S-Class รุ่นก่อนหน้า แต่เปลี่ยนเสื้อสูบเป็นอะลูมิเนียมเพื่อลดน้ำหนักลง เมื่อคุณเปิดฝากระโปรงรถเหล่านี้ จะพบหม้อกรองอากาศบานเต็มบนเครื่องเหมือนกับเป็นเครื่องจ่ายน้ำมันด้วยคาร์บิวเรเตอร์ แต่ที่จริง มันใช้หัวฉีด Bosch K-Jetronic ซึ่งเป็นหัวฉีดกลไกจ่ายน้ำมันตลอดแบบไม่ยก (K=Continuous)

ในรถรุ่นแรกๆ นี้ จุดสังเกตคือ ล้อจะเป็นขนาด 14 นิ้ว ล้อเหล็กฝาครอบจะเป็นลายคลาสสิกหาดูได้ยาก ส่วนรุ่นที่เป็นล้ออัลลอย จะมีลวดลายเหมือนเล็บ จึงมักเรียกกันว่าล้อลายเล็บสิงห์ กาบทูโทนข้างรถ จะมีร่องหลายร่องในตอนล่าง จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อรุ่นว่า “กาบร่อง” กับ “กาบเรียบ” โดยอันแรกคือรุ่นที่เก่ากว่า ที่คันเกียร์ จะมีโหมดการทำงานของเกียร์ออโต้เป็น S (Standard) กับ W (Winter)

ต่อมา Mercedes-Benz เผยโฉม C126 เวอร์ชันอัปเดตในเดือนกันยายนปี 1985 ซึ่งภายนอก ก็จะได้กาบทูโทนแบบเรียบ ล้ออัลลอยก็ขยับเป็นขนาด 15 นิ้ว (เพราะสมัยนั้น W124 E-Class เปิดตัวแล้วและใช้ล้อ 15 นิ้วในหลายรุ่น รุ่นพี่อย่าง S-Class ก็ต้องขยับตาม) ลายล้ออัลลอยจะดูเรียบๆ 15 ก้านรูเล็ก ชาวเยอรมันตั้งชื่อว่าล้อลาย “ฝาปิดท่อ” แต่การปรับปรุงครั้งใหญ่จริงๆ อยู่ที่เครื่องยนต์ ซึ่งเปลี่ยนระบบจ่ายเชื้อเพลิงเป็น Bosch KE-Jetronic ซึ่ง E ที่เพิ่มเข้ามาก็คือการใช้อิเล็กทรอนิกส์มาช่วยคุมการจ่ายเชื้อเพลิงบางส่วนนั่นเอง เครื่องยนต์ 5.0 ลิตร มีแรงม้าใกล้เคียงเดิม เครื่อง 3.8 ลิตร ถูกขยายปอดเพิ่มเป็น 4.2 ลิตร 215-224 แรงม้า และเครื่องตัวท็อปมาใหม่ คือเครื่องในรุ่น 560SEC ซึ่งความจุปัดเศษจริงๆ จะเป็น 5.5 ลิตร แรงม้าสูงสุดมีหลายระดับตั้งแต่ 242 ในคันที่ใส่เครื่องกรองไอเสีย และ 300 แรงม้าในสเปกใช้ลูกสูบกำลังอัดสูงและไม่มีเครื่องกรองไอเสีย ไอ้ตัวหลังนี่แหละครับเป็นรถยักษ์พันธุ์แสบในยุคนั้นที่เร่ง 0-100 ใน 6.9 วินาทีและทำตีนปลายได้ 250 กม./ชม.

มาถึงในประเทศไทย รถ C126 มีเข้ามาในจำนวนที่น้อยมาก เพราะยุคสมัยนั้นประเทศเรามีกำแพงภาษีรถนำเข้าสูงกว่าสมัยนี้น่าจะ 3-4 เท่าเพื่อส่งเสริมการประกอบรถในประเทศ คนที่สั่งเข้ามาได้จึงมักเป็นผู้ถืออภิสิทธิ์ทางการทูต ได้รับการงดเว้นภาษี เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากต่างชาติที่ทำงานในไทย หรือไม่ก็คนไทยนี่แหละ แต่รวยมากมายมหาศาลซื้อรถคันละสิบล้านไม่กะพริบตา

ผมได้มีโอกาสขับสามรุ่น ใน 3 โอกาส คือ 380SEC ซึ่งแม้จะเป็นเครื่องแปดสูบ แต่ความเก่าของรถทำให้กดคันเร่งแล้วรถไปแบบหนืดๆขนาดหนี Honda CR-V Gen 1 ไม่ออก ต่อมาจึงได้ลอง 500SEC ซึ่งแรงจริง สมเป็นแปดสูบ และ 560SEC ในสภาพที่เจ้าของดูแลอย่างดี ไอ้เจ้าอย่างหลังนี่ละที่น่าประทับใจสุด..รถอายุ 24 ปี (ณ วันที่ผมขับ) แต่วิ่งสู้พวก Golf GTi ใหม่ๆ ได้สบาย แถมยังแรงแบบหลอนๆ อีกต่างหาก ในรถใหม่ๆ เวลากดคันเร่งเต็มๆ จะมีแรงดึงเยอะเพราะเกียร์จัด แว้ด ปรึ้ม! แว้ด ปรึ้ม! แว้ดปรึ้ม! กว่าจะถึง 140 แต่ใน 560SEC คุณกดคันเร่งไป รถจะไปแบบเนิบๆ เหมือนไม่แรง แต่จบเกียร์ 2 แป๊บเดียวก็วิ่ง 130-140 แล้ว เกียร์อัตโนมัติทำงานไม่ค่อยฉลาด ต้องเล่นเกียร์เองบ่อยครั้งเพื่อความสนุกเต็มที่ แต่ช่วงล่างนี่คือจุดเด่นจริงๆ ครับ ใช้สปริงธรรมดา โช้คธรรมดา แต่นุ่มและทรงตัวนิ่งมาก หักโค้งแรงๆ ถึงรถจะยวบแต่ยางจะเหมือนมีกาวดูดติดกับถนน

แล้ว 560SEC ยังเป็นรถในฝันผมอยู่หรือไม่หลังจากที่ผ่านมา 33 ปี คำตอบคือ ใช่ครับ ถ้าผมมีโอกาสก็ยังอยากเป็นเจ้าของ ไม่ใช่เพราะสมรรถนะหรือลูกเล่น แต่เป็นเพราะดีไซน์ที่ให้ความรู้สึกว่า “กูไม่สนว่าโลกจะหมุนรอบดวงอาทิตย์กี่รอบ” มันจะยังคงน่ามองทุกครั้งที่คุณมอง เช่นเดียวกับนาฬิกาอย่าง Omega Speedmaster บางรุ่นที่หน้าตาเกือบเดิมมาตั้งกี่ทศวรรษ หยิบมาใส่ก็ยังดูดี แต่การจะหารถรุ่นนี้ในประเทศไทย ในสภาพที่สมบูรณ์ดั้งเดิมนั้น..คุณต้องใช้มากกว่าเงินครับ เพราะรถสภาพนิ้งๆ นั้น ไม่มีราคากลาง มันเป็นรถที่ซื้อขายกันตามความใจสู้ไปแล้ว เพราะชิ้นส่วนต่างๆ เริ่มร่อยหรอ คนที่จับมาพยายามจะทำให้จบ ท้อถอยไปก็มีหลายคน เมื่อผมพิจารณาดูแล้ว C126 ก็น่าจะเป็นหนึ่งในรถอีกนับสิบรุ่น ที่เป็นรถที่ผมฝันจะได้ครอบครอง และคงต้องฝันไปจนตายนั่นละครับ.

Pan Paitoonpong

คุณกำลังดู: ดีไซน์ท้ากาลเวลา กับ Mercedes-Benz S-Class Coupe C126 !

หมวดหมู่: รีวิวรถใหม่

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด