เด็กผู้ชายกับการขริบหนังหุ้มปลาย (Circumcision)

เด็กผู้ชายทุกคนเมื่อเกิดมาจะมีหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ เป็นส่วนที่ต้องดูแลและรักษาความสะอาด หากดูแลไม่ดีเป็นสาเหตุให้มีการหมักหมม การขริบหนังหุ้มปลายจึงเหมาะที่จะทำตั้งแต่เด็กโดยทำได้ตั้งแต่แรก

เด็กผู้ชายกับการขริบหนังหุ้มปลาย (Circumcision)
  • เด็กผู้ชายทุกคนเมื่อเกิดมาจะมีหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ เป็นส่วนที่ต้องดูแลและรักษาความสะอาด หากดูแลไม่ดีเป็นสาเหตุให้มีการหมักหมม การขริบหนังหุ้มปลายจึงเหมาะที่จะทำตั้งแต่เด็ก โดยทำได้ตั้งแต่แรกเกิด 2 วันแรก หรือช่วง 2-6 ปี
  • การขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ จะลดโอกาสเกิดการติดเชื้อที่หนังหุ้มปลาย ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ลดการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ตอนโต และลดโอกาสการเกิดมะเร็งอวัยวะเพศ

การขริบอวัยวะเพศคืออะไร

การขริบอวัยวะเพศ คือ การผ่าตัดเพื่อตัดหนังหุ้มปลายส่วนที่ยาวของอวัยวะเพศชายออก

อายุที่เหมาะสมในการขริบ

  • เด็กในช่วงอายุ 2-6 ปี จะเป็นช่วงอายุที่เหมาะสม หรือควรขริบ เนื่องด้วยถ้าพบข้อบ่งชี้บางอย่าง เช่น มีการอักเสบติดเชื้อของหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ (Balanoposthitis) หรือรูดเปิดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศไม่ได้ (Phimosis) แพทย์จะทำการตรวจและวางแผนอีกครั้งหนึ่งว่าควรขริบหรือไม่ เพราะโดยปกติแล้วเด็กวัยดังกล่าวจะสามารถรูดเปิดหนังหุ้มปลายได้เกือบทั้งหมด
  • ทารกแรกเกิดอายุ 1-2 วัน ที่ครอบครัวมีความเชื่อหรือธรรมเนียมปฏิบัติกันมาว่าต้องขริบหนังหุ้มปลาย ก็สามารถทำการผ่าตัดได้ตั้งแต่แรกคลอด แต่ทั้งนี้หลังคลอดทารกจะต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง และไม่ใช่ทารกที่คลอดก่อนกำหนด

ประโยชน์ของการขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ

ปกติผิวหนังส่วนนี้ จะมีการลอกของเซลล์ผิวหนังที่เรียกว่าขี้เปียก ซึ่งอาจมีการหมักหมมก่อให้เกิดการอักเสบของผิวหนังส่วนปลายอวัยวะเพศได้ง่าย การขริบหนังหุ้มปลายจึงมีข้อดีดังนี้

  • ทำให้การดูแลรักษาความสะอาดทำได้ง่าย
  • ลดโอกาสเกิดการติดเชื้อที่หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศและติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  • ลดการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เมื่ออยู่ในวัยเจริญพันธุ์
  • ลดโอกาสการเกิดมะเร็งอวัยวะเพศ

แต่ปัญหาเหล่านี้ก็สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลรักษาความสะอาดของอวัยวะเพศอย่างถูกต้อง

ข้อเสียของการขริบหนังหุ้มปลาย(Circumcision)

  • มีความเสี่ยงที่ความรู้สึกส่วนปลายองคชาตจะลดลง เนื่องจากส่วนปลายขององคชาตที่ไม่มีผิวหนังปกคลุมจะเสียดสีกับเสื้อผ้าหรือกางเกงชั้นในบ่อยจนอาจทำให้การตอบสนองลดลง
  • ผลลัพธ์หลังผ่าตัดอาจไม่เป็นที่พึงพอใจด้านความงาม
  • ปัญหาจากการตัดหนังออกมากหรือน้อยเกินไป
  • หากขริบมากเกินไป อาจรู้สึกเจ็บเวลาอวัยวะเพศแข็งตัว
  • หากขริบน้อยเกินไป อาจทำให้หนังติดกับอวัยวะเพศตามเดิม ทำให้ต้องมาขริบเพิ่ม
  • รูเปิดท่อปัสสาวะที่ไม่มีผิวหนังปกคลุม จะเสียดสีกับผ้า เกิดการอักเสบและตีบลงได้

ช่วงเวลาการขริบหนังหุ้มปลาย

ขริบตั้งแต่แรกคลอด

  • ในทารกแรกเกิด ไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ แต่จะระงับปวดด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่ จึงไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหาร
  • ทารกจะได้รับยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ป้อนทางปากก่อนผ่าตัดประมาณ 30 นาที-1 ชั่วโมง เมื่อถึงเวลาผ่าตัดทารกจะถูกทำให้อยู่นิ่งโดยการผูกตรึงอย่างนิ่มนวลกับแผ่นรองเฉพาะระหว่างทำหัตถการ
  • แพทย์จะฉีดยาชาบริเวณรอบโคนองคชาต ทำให้ชา และสามารถผ่าตัดได้โดยไม่เจ็บ จากนั้นจึงเริ่มทำการผ่าตัดเพื่อขริบหนังหุ้มปลายออก ทำการห้ามเลือดและเย็บแผลด้วยไหมละลาย
  • ทารกต้องพักสังเกตอาการในห้องทารกแรกเกิดต่ออีก 1 วัน เพื่อให้แพทย์ตรวจติดตามอาการของบาดแผลและอาการเลือดออก พร้อมทั้งแนะนำบิดามารดาในการดูแลแผลก่อนกลับบ้าน

ขริบหลังคลอด

  • ในเด็กที่อายุ 2 เดือนขึ้นไป หากทำการขริบจำเป็นต้องระงับปวดด้วยการดมยาสลบ ต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนถึงเวลาผ่าตัด
  • เมื่อถึงเวลาผ่าตัด วิสัญญีแพทย์จะพูดคุยทำความคุ้นเคยกับเด็ก และค่อยๆ ให้ยาระงับความรู้สึก
  • เมื่อเด็กหลับแล้วจึงจะเริ่มทำการผ่าตัดขริบหนังหุ้มปลายออก ห้ามเลือดด้วยการจี้ไฟฟ้า และเย็บแผลด้วยไหมละลาย
  • เมื่อผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว แพทย์ต้องสังเกตอาการหลังการผ่าตัดภายในห้องพักฟื้นต่อ 2 ชั่วโมง
  • เมื่อแพทย์สังเกตอาการเรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยสามารถกลับไปสังเกตอาการที่บ้าน หรือจะสังเกตอาการที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 1 วันก็สามารถทำได้

ผู้ปกครองควรเตรียมตัวอย่างไร

  • ผู้ปกครองจะได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ที่จะทำการผ่าตัดเกี่ยวกับวิธีการ ข้อดี ข้อเสียและทางเลือกอื่นในการรักษา
  • เด็กที่ต้องดมยาสลบ จะต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
  • ก่อนมาผ่าตัดให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายให้เรียบร้อย งดทาแป้งและครีมบริเวณอวัยวะเพศ

วิธีการดูแลแผลหลังทำหัตถการ

  • หลังทำหัตถการจะมีผ้าก๊อซพันแผลไว้ 1 วัน เช้าวันถัดมาจะให้แช่แผลในน้ำอุ่นประมาณ 5-10 นาที โดยสามารถนั่งแช่ในกะละมังหรืออ่างอาบน้ำได้ปกติ ก่อนขึ้นจากอ่างใช้ก๊อซชุบน้ำเช็ดที่แผลเบาๆ เมื่อขึ้นจากน้ำแล้ว ให้ป้ายแผลด้วยยาฆ่าเชื้อ (ผู้ปกครองสามารถใช้น้ำเกลือล้างแผลแทนน้ำประปาได้)
  • โดยปกติหลังผ่าตัดประมาณ 1-2 วัน จะมีคราบน้ำเหลืองเกาะที่บริเวณแผล และจะค่อยๆ หลุดออกเองในเวลา 1-2 สัปดาห์ จึงไม่ควรแกะ เกาหรือเช็ดถูรุนแรงที่บริเวณแผล เพราะอาจทำให้มีเลือดออกได้
  • ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำทุกครั้งหลังเด็กปัสสาวะ เพื่อไม่ให้สกปรก หรือเกิดการหมักหมมของเชื้อโรค
  • หากเด็กมีอาการปวดให้กินยาพาราเซตามอลได้
  • ห้ามใช้แป้งหรือโลชั่นทาจนกว่าแผลจะหาย
  • ไหมละลายจะหลุดหมดในระยะเวลา 7-10 วัน
  • ต้องระวังดูแลแผลผ่าตัดประมาณ 14 วัน เพื่อลดปัญหาเลือดออก แผลบวมและอักเสบ โดยงดเล่นกีฬาทุกชนิด งดว่ายน้ำ และควรมาตรวจแผลผ่าตัดตามนัด ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แนะนำอีกครั้ง
  • หากแผลมีเลือดออกมาก บวมแดง มีหนอง มีไข้ เจ็บปวดมาก ควรพามาพบกุมารศัลยแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจรักษาโดยเร็ว

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

การขริบหนังหุ้มปลายเป็นการผ่าตัดเล็ก มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยมาก แต่อาจจะพบอาการดังต่อไปนี้ได้

  • มีเลือดออก
  • แผลผ่าตัดติดเชื้อ
  • แพ้ยาชา
  • บาดเจ็บต่อปลายองคชาต
  • ผลลัพธ์การผ่าตัดอาจมีแผลเป็นบวมนูน หรือไม่น่าพึงพอใจในด้านความสวยงาม

หลักการดูแลอวัยวะเพศชาย

กรณีที่หนังหุ้มปลายปกติรูดหนังหุ้มปลายได้เอง

  • ล้างทำความสะอาดอวัยวะเพศด้วยน้ำสะอาดทุกวันขณะอาบน้ำ
  • ถ้าสามารถรูดหนังหุ้มปลายได้แล้ว ให้รูดหนังหุ้มปลาย และล้างส่วนปลายองคชาตด้วยน้ำสะอาดด้วย จากนั้นให้ดึงหนังหุ้มปลายกลับมากคลุมไว้ตามเดิม
  • ขณะปัสสาวะควรรูดหนังหุ้มปลายขึ้นให้พ้นรูปัสสาวะ เพื่อปัสสาวะจะได้ไม่สัมผัสกับหนังหุ้มปลาย และควรรอให้ปัสสาวะออกจนหมด จึงดึงหนังกลับมาหุ้มตามเดิม
  • หลีกเลี่ยงการใช้แป้งหรือโลชั่นทาบริเวณอวัยวะเพศ เพราะอาจเกิดการระคายเคืองต่อองคชาตได้

กรณีที่ผ่านการขริบ

  • ในกรณีที่ผ่านการขริบแล้ว ควรดูแลความสะอาดเช่นเดียวกับกรณีที่ไม่ขริบ แต่จะรูดทำความสะอาดได้ง่ายกว่า


บทความโดย : พญ.กุลศิริ เตียนศรี รพ.เด็กสมิติเวช ศรีนครินทร์

คุณกำลังดู: เด็กผู้ชายกับการขริบหนังหุ้มปลาย (Circumcision)

หมวดหมู่: แม่และเด็ก

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด