“เห็ดพิษ” อันตรายที่มักระบาดหน้าฝน
หน้าฝนแบบนี้ ระวังเผลอกินเห็ดพิษที่อันตรายถึงชีวิตได้
ในช่วงฤดูฝนของทุกปี มักมีข่าวประชาชนเสียชีวิตจากการเก็บเห็ดพิษที่ขึ้นเองตามธรรมชาติมารับประทาน หรือที่มีการเก็บเห็ดป่ามาขาย ส่งผลให้สถานการณ์อาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีรายงานผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสูงในแต่ละปี โดยในปี พ.ศ. 2563 (เดือนมกราคม-เดือนมิถุนายน) มีรายงานผู้ป่วยที่ได้รับพิษจาก เห็ดพิษที่มาจากป่าธรรมชาติมากถึง 275 ราย ตัวอย่างเห็ดพิษจากหลากหลายแห่ง ถูกส่งไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ อุดรธานี ระยอง และตรัง โดยจังหวัดอุบลราชธานีพบผู้ป่วยสะสมสูงสุด
เห็ดที่มีรายงานการเกิดเหตุ ได้แก่ เห็ดหมวกจีน เห็ดคันร่มพิษ เห็ดก้อนฝุ่น และเห็ดระงาก ซึ่งเห็ดพิษเหล่านี้มีลักษณะรูปร่างหน้าตาหรือเรียกว่าลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่คล้ายกับเห็ดรับประทานได้ เช่น เห็ดหมวกจีนและเห็ดคันร่มพิษคล้ายกับเห็ดปลวก (เห็ดโคน) เห็ดระงากพิษคล้ายกับเห็ดระโงกขาวกินได้ และเห็ดก้อนฝุ่นคล้ายกับเห็ดเผาะ ซึ่งอาจทำให้ชาวบ้านเข้าใจผิด และเก็บมารับประทานจึงได้รับสารพิษเข้าไป
- เตือนภัย! 4 “เห็ดพิษ” ระบาดหน้าฝน อันตรายถึงชีวิต
ตัวอย่างเห็ดมีพิษที่พบได้บ่อยหน้าฝนในประเทศไทย
เห็ดพิษมีหลายกลุ่ม ซึ่งมีฤทธิ์ต่อร่างกายได้แตกต่างกันไป เช่น
- เห็ดหัวกรวดครีบอ่อน ทำให้เกิดท้องเสีย
- เห็ดในกลุ่มระโงก โดยเฉพาะระโงกหิน ทำให้เกิดอาการทางสมอง ชัก น้ำลายฟูมปาก
- เห็ดไข่ห่าน ทำให้เสียชีวิตจากภาวะตับวาย
- เห็ดขี้ควาย ทำให้เกิดอาการทางจิต
เราสามารถทดสอบเห็ดมีพิษได้ด้วยตัวเองหรือไม่?
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันว่า เราไม่สามารถทดสอบเห็ดมีพิษตามวิธีที่แชร์กันในโลกอินเตอร์เน็ตได้เอง เช่น ทดสอบกับเงินแท้ ต้มเห็ดพร้อมข้าว หรือเห็ดที่มีแมลงแทะแปลว่าปลอดภัย วิธีเหล่านี้ใช้ไม่ได้จริง ไม่ได้ผล
- 6 วิธีทดสอบ “เห็ดมีพิษ” แบบผิดๆ ห้ามทำตาม
การที่เราจะรู้ได้ว่าเห็ดเหล่านั้นมีพิษหรือไม่ วิธีสังเกตง่ายๆ คือ เห็ดมีพิษมักมีสีสันฉูดฉาด เพื่อล่อให้มีเหยื่อมาติดกับ รวมถึงมีกลิ่นแรงที่ล่อแมลง แต่ก็ยังมีเห็ดมีพิษหลายชนิดที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับเห็ดที่กินได้จนแยกยาก ดังนั้นวิธีป้องกันเห็ดมีพิษที่ดีที่สุด คือ การเลือกกินแต่เห็ดที่คุ้นเคยเท่านั้น เห็ดที่นิยมรับประทานกันทั่วไป หลีกเลี่ยงการซื้อ หรือเก็บเห็ดหน้าตาไม่คุ้นเคยมารับประทาน โดยสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมของลักษณะเห็ดที่ควรหลีกเลี่ยงได้ที่ลิงค์ด้านล่าง
นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แนะนำแอปพลิเคชั่น Mushroom Image Matching ชื่อว่า “คัดแยกเห็ดไทย” เพื่อใช้ตรวจสอบเห็ดมีพิษและเห็ดที่รับประทานได้ในประเทศไทย โดยรวบรวมภาพถ่ายของเห็ดทั้งเห็ดพิษและเห็ดที่รับประทานเพื่อใช้ประมวลผลด้วยโปรแกรมจดจำรูปภาพและแสดงผลชนิดของเห็ดและร้อยละของความถูกต้อง โดยโปรแกรมแอพพลิเคชั่น (Application) ในเวอร์ชั่น V1.2R3 ปัจจุบัน มีฐานข้อมูลรูปภาพเห็ดพิษที่พบบ่อยเพื่อประมวลผล ได้แก่ กลุ่มเห็ดระงากพิษ กลุ่มเห็ดหมวกจีน เห็ดคันร่มพิษ เห็ดหัวกรวดครีบเขียวพิษ เห็ดถ่านเลือด เป็นต้น นอกจากข้อมูลภาพถ่ายแล้วในฐานข้อมูลได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมของเห็ดแต่ละชนิด เช่น ชื่อพื้นเมือง พิษที่พบในเห็ด อาการที่แสดงหลังจากได้รับสารพิษดังกล่าว เป็นต้น
สำหรับการใช้งานโปรแกรมดังกล่าว ต้องทำการดาวน์โหลดโปรแกรมมาติดตั้งไว้บนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนแบบ Android เท่านั้น โดยเข้าถึงแอพพลิเคชั่นได้ 2 ช่องทาง คือ
- เลือกจาก Play store ค้นหาคำว่า “คัดแยกเห็ดไทย”
- สแกน QR Code จากนั้นทำการลงทะเบียนและใช้งานโปรแกรมด้วยการเปิดกล้องและสแกนดอกเห็ดที่ต้องการทราบชนิด
โปรแกรมจะเริ่มประมวลผลแบบ real time และจะหยุดเมื่อความถูกต้องของชนิดเท่ากับร้อยละ 95 หรือเราสามารถกดปุ่มเพื่อหยุดได้ และนอกจากนี้โปรแกรมนี้ยังสามารถตรวจสอบชนิดของเห็ดจากภาพถ่ายที่เก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามการใช้แอพพลิเคชั่น “คัดแยกเห็ดไทย” เป็นเพียงเครื่องมือในการคัดกรองเบื้องต้นซึ่งผู้ใช้สามารถใช้ประกอบการตัดสินใจในการรับประทานเท่านั้น เพราะแอพพลิเคชั่นดังกล่าวยังไม่สามารถแปรผลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการรับประทานเห็ดไม่ควรรับประทานเห็ดที่ไม่รู้จัก และที่สำคัญไม่รับประทานเห็ดกับสุรา หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการทางระบบประสาทให้หยุดรับประทานทันที แล้วรีบไปโรงพยาบาลในพื้นที่พร้อมทั้งนำตัวอย่างเห็ดสด (ถ้ามี) ที่เหลือจากการปรุงอาหารที่รับประทานไปด้วย เพื่อส่งตรวจพิสูจน์สารพิษและสายพันธุ์เห็ดพิษ
คุณกำลังดู: “เห็ดพิษ” อันตรายที่มักระบาดหน้าฝน
หมวดหมู่: สุขภาพ