เห็นต่างอย่างเข้าใจ จิตแพทย์แนะวิธี "พ่อ แม่ ลูก" เปิดอกคุยการเมือง

จากกรณีนักเรียนแสดงออกทางการเมือง เป็นภาพที่ไม่ค่อยได้เห็นกันบ่อย พบการแสดงออกทางการเมืองวัยเล็กสุดในชั้นประถม มาฟังแนวทางการดูแลจิตใจจากจิตแพทย์เด็ก รพ.จุฬาฯ ศ.พญ. อลิสา วัชรสินธุ

เห็นต่างอย่างเข้าใจ จิตแพทย์แนะวิธี "พ่อ แม่ ลูก" เปิดอกคุยการเมือง

จากกรณีนักเรียนแสดงออกทางการเมือง เป็นภาพที่ไม่ค่อยได้เห็นกันบ่อย รวมถึงการแสดงออกทางการเมืองในวัยเล็กสุดอย่างนักเรียนชั้นประถม ภาพนี้อาจทำให้ผู้ปกครองเริ่มหวั่นใจว่า การแสดงออกทางการเมืองของครูหรือเพื่อนที่โรงเรียนจะส่งผลต่อลูกหรือไม่ เรื่องนี้ศ.พญ. อลิสา วัชรสินธุ จิตแพทย์หน่วยจิตเวชเด็ก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคำแนะนำที่น่าสนใจ

วิธีที่พ่อแม่คุยกับเด็กนักเรียนประถมเรื่องการเมือง

คุณหมออลิสา อธิบายว่า “การเมืองเป็นเรื่องที่เด็กควรรู้ การแสดงออกถือเป็นเรื่องที่ดี เราควรใช้โอกาสนี้สอดแทรกความรู้ที่ถูกต้อง ตรงไปตรงมา เด็กวัยประถมเขายังมีความคิด ความเข้าใจที่ยังไม่ลึกซึ้ง ความคิดยังไม่รอบด้านเท่าวัยรุ่น ดังนั้นพ่อแม่ไม่ควรปิดกั้นการให้ความรู้แก่ลูกๆคุณพ่อคุณแม่สามารถอธิบายการเมืองง่ายๆ ให้ลูกเข้าใจ เช่น เรื่องสิทธิ์การเลือกหัวหน้าห้อง ว่าหนึ่งคนมีหนึ่งสิทธิ์ และคนที่จะเป็นหัวหน้าห้องต้องมีคุณสมบัติแบบไหน เช่น เป็นผู้นำ และช่วยเหลือเพื่อนๆ ได้"

คุณหมออลิสายังฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ ว่าควรเป็นตัวอย่างที่ดี ใจกว้างรับฟัง เพื่อให้เด็กๆ ได้เล่าว่าเด็กคิดเห็นอย่างไร และค่อยๆ สอนวิธีอยู่ร่วมกับคนที่เห็นต่าง

“โรงเรียนควรเป็นสถานที่ที่ส่งเสริมการแสดงออกถึงสิทธิ์ และหน้าที่พลเมืองแก่เด็กๆเพราะฉะนั้นพ่อแม่และครูควรใช้วิธีสอนอย่างตรงไปตรงมา เช่น แต่ละประเทศมีระบอบปกครองอย่างไร ให้ข้อมูลตามระดับความเข้าใจของเด็กประถม เป็นข้อมูลที่ไม่ซับซ้อน ยุ่งยาก เพื่อไม่ให้เด็กสับสน”

คุยภาษาการเมืองกับวัยรุ่นมัธยม ไม่ใช่เรื่องต้องห้าม

การแสดงออกทางการเมืองที่หลายคนได้เห็นภาพกันแล้วว่ามีวัยรุ่น นักเรียนมัธยมออกมากันจำนวนมาก เรื่องนี้ คุณหมอกล่าวว่า เมื่อต้องพูดคุยกับวัยรุ่นจะเริ่มยากขึ้นกว่าวัยประถม ถ้าเทียบความคิดความอ่าน เขามีความสามารถเทียบเท่าผู้ใหญ่ วัยรุ่นจะสร้างสมมติฐาน ทฤษฎี ได้ชัดเจนเท่าผู้ใหญ่

"ในวัยนี้พ่อแม่จะต้องทำตัวเหมือนเป็นเพื่อนมากขึ้น เนื่องจากความรู้ที่ได้รับในช่วงวัยนี้ไม่ได้มาจากพ่อแม่อย่างเดียวอีกต่อไป มีสื่อด้านอื่นที่วัยรุ่นหาความรู้ได้ และวัยรุ่นมีบุคคลต้นแบบในอุดมคติของเขาในช่วงวัยรุ่นเด็กกำลังพัฒนาเอกลักษณ์ของตัวเอง โดยมีทฤษฎีทางจิตวิทยาพูดถึงบุคคลต้นแบบในอุดมคติ โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นพ่อแม่ หรือบุคคลอื่นที่วัยรุ่นชอบและเลียนแบบ"

ซุปเปอร์ฮีโร่อาจเคยเป็นต้นแบบของเด็ก แต่วัยรุ่นจะเริ่มแยกโลกของความเป็นจริงได้ชัดเจน ต้นแบบของเขาอาจเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เป็นนักร้องดัง หรือแพทย์ที่เก่ง หรือนักการเมืองที่มีชื่อเสียง

คุณหมอเน้นว่าการตามเพื่อนเป็นธรรมชาติของวัยรุ่น อีกอย่างหนึ่งคือ วัยรุ่นเป็นวัยที่เพื่อนมีอิทธิพล มักทำอะไรตามเพื่อนเช่น ถ้าช่วงไหนกำลังฮิตอะไรอยู่ เด็กก็จะสนใจทำตาม ถ้าเพื่อนชี้นำไปในทางที่ดี ก็ไม่เป็นไร ผู้ปกครองควรเปิดใจมองการเมืองเป็นเรื่องที่อยู่ตรงกลาง ไม่ใช่สิ่งต้องห้าม การแสดงออกที่ไม่ละเมิดสิทธิ์ผู้อื่นเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่เรื่องที่พ่อแม่ควรห้าม คือ การละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น การทำร้ายร่างกาย การใช้วาจาหยาบคาย ยาเสพติด และเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสม

เด็กทุกคนมีสิทธิ์ทำตามหรือปฏิเสธก็ได้

ความเป็นวัยรุ่น บางครั้งอาจไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองที่วัยรุ่นสนใจ แต่มีเรื่องอื่นที่อาจถูกโน้มน้าวได้ คุณหมออลิสา แนะนำหลักการในการดูแลว่า พ่อแม่ควรเฝ้าดูและระมัดระวังเด็กที่อ่อนแอ ที่อาจถูกรุ่นพี่หรือผู้ใหญ่ชักจูงไปในทางที่ผิด ด้วยการทำความเข้าใจว่า ทุกคนไม่มีสิทธิ์บังคับและชักจูงใครเด็กทุกคนมีสิทธิ์ มีความคิดเป็นของตัวเอง ที่จะทำตาม หรือปฏิเสธก็ได้ในขณะเดียวกัน ผู้ปกครองและโรงเรียน ต้องติดตามดูแลด้วยวิธีการช่วยประคับประคองให้เด็กสามารถแสดงความคิดเห็นได้ และเลือกวิธีอยู่ได้อย่างมีความสุขโดยไม่ถูกบังคับ

รับมือความเห็นต่างในครอบครัว

ในครอบครัวเรา เป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะมีความคิดเห็นเหมือนกัน เพราะปู่ย่าตายาย พ่อแม่ แต่ละคนมีประสบการณ์ที่ต่างกัน ถ้าพ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดีในการรับฟัง เด็กๆ ก็จะกล้าแสดงออก แม้ว่าจะมีความคิดที่ไม่เหมือนคนอื่น

คุณหมออลิสา เสริมว่า “หมอบอกกับพ่อแม่เสมอว่า เด็กไม่ใช่ผ้าขาวที่สร้างได้ดังใจ เด็กๆ เป็นผ้าที่มีสีสันของตัวเองมาตั้งแต่ต้น ในเด็กวัยเรียน หมอยังไม่เคยเจอเคสที่มารักษาด้วยอาการไม่อยากไปโรงเรียนเพราะการเมือง แต่มีเด็กที่ไม่อยากเรียนหนังสือด้วยหลายสาเหตุ ที่เจอบ่อยๆ คือ เรียนไม่ทัน ถูกรังแก หรือถูกทำโทษในโรงเรียน"

คุณหมอทิ้งท้ายว่าเรื่องการเมืองในช่วงนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพ่อแม่และเด็กเพียงอย่างเดียว ยังขึ้นอยู่กับสังคมด้วย สิ่งที่สำคัญมากๆ คือสังคมที่เปิดกว้างให้แสดงความคิดหลากหลาย ยอมรับในความคิดต่าง โดยไม่ละเมิดสิทธิ์กันเมื่อลูกเลือกยืนอยู่จุดไหนแล้ว หากเป็นความเห็นที่แตกต่าง แต่ยังอยู่ในความถูกต้อง พ่อแม่ควรรับฟัง ยอมรับ และสื่อสารกัน ซึ่งลูกก็ควรรับฟังพ่อแม่ด้วย

ผู้เขียน : สีวิกา ฉายาวรเดช
กราฟฟิก :ธีรพงศ์ ไชยเทพ

คุณกำลังดู: เห็นต่างอย่างเข้าใจ จิตแพทย์แนะวิธี "พ่อ แม่ ลูก" เปิดอกคุยการเมือง

หมวดหมู่: แม่และเด็ก

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด