หลอดเลือดสมองโป่งพอง อันตรายที่ไม่มีสัญญาณเตือน (Brain Aneurysm)

หลอดเลือดสมองโป่งพอง อันตรายที่ไม่มีสัญญาณเตือน (Brain Aneurysm)
  • ปัจจัยเสี่ยงของหลอดเลือดสมองโป่งพองมีได้หลายสาเหตุ เช่น อายุ 40 ปีขึ้นไป เพศหญิง ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ มีไขมันในเลือดสูง ดื่มแอลกอฮอล์ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง
  • หลอดเลือดสมองโป่งพองที่ยังไม่แตกที่ตรวจพบ มีเพียง 1% ที่แสดงอาการ โดยจะมีอาการหลักคือปวดศีรษะ แต่อาจพบอาการอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนได้ ซึ่งมักเกิดจากหลอดเลือดโป่งพองมีขนาดใหญ่และกดเบียดสมองหรือเส้นประสาทสมอง ทำให้การมองเห็นผิดปกติ
  • หลอดเลือดโป่งพองในสมองที่ยังไม่แตก มักตรวจพบโดยบังเอิญและยังไม่มีอาการ การตรวจร่างกายโดยทั่วไปอาจไม่พบความผิดปกติ แต่ถ้ามีอาการปริแตกของหลอดเลือดโป่งพองในสมอง จะตรวจพบลักษณะความดันในสมองสูง คอแข็ง ระดับความรู้สึกตัวลดลง เลือดออกในจอประสาทตา เป็นต้น

หลอดเลือดโป่งพองในสมอง คืออะไร?

หลอดเลือดโป่งพองในสมอง (Brain หรือ Cerebral aneurysm) คือ ตำแหน่งของหลอดเลือดสมองที่มีการโป่งพองออกจากผนังปกติ การโป่งพองของหลอดเลือดบริเวณสมอง เกิดจากแรงดันในหลอดเลือดกระทบกับบริเวณผนังหลอดเลือดที่อ่อนแอและจนเกิดการดันให้ผนังโป่งพองขึ้น เมื่อมีแรงดันมากขึ้น ผนังบริเวณนี้จะยิ่งโป่งพองมากขึ้น

ขนาดของหลอดเลือดโป่งพองที่ใหญ่ขึ้น เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการแตกของหลอดเลือดสมองที่เพิ่มขึ้นโดยตรง นำไปสู่การเกิดเลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง หรือเนื้อสมองตามมา ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บของเนื้อสมองจนเกิดความทุพพลภาพ และมีอันตรายถึงเสียชีวิตได้

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง ของหลอดเลือดสมองโป่งพอง

สาเหตุของหลอดเลือดสมองโป่งพองมีได้หลายสาเหตุ

1. สาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติและความอ่อนแอลงของผนังหลอดเลือด ที่เกิดภายหลัง เช่น

  • ความดันโลหิตสูง
  • การสูบบุหรี่
  • ไขมันในหลอดเลือด
  • การใช้ยาเสพติด เช่น ยาบ้า หรือโคเคน
  • การดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะการดื่มครั้งละมากๆ
  • การบาดเจ็บที่บริเวณสมอง
  • การติดเชื้อในหลอดเลือด
  • การมีภาวะหลอดเลือดแดงฉีกเซาะ
  • โรคมะเร็งบริเวณศีรษะและคอ

2. ปัจจัยบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับโรคทางพันธุกรรม หรือทางกายภาพ ได้แก่

  • เพศหญิง
  • อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดโป่งพอง
  • เป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด หรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น Fibromuscular dysplasia,  Hereditary hemorrhagic telangiectasis, Ehlers-Danlos syndrome, Marfan syndrome, neurofibromatosis type 1 
  • มีภาวะโรคถุงน้ำ เช่น polycystic kidney disease, tuberous sclerosis
  • มีภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองแต่กำเนิด

อาการและสัญญาณเตือน หลอดเลือดสมองโป่งพอง

หลอดเลือดโป่งพองในสมองที่ยังไม่แตก (Unruptured cerebral aneurysm) มักตรวจพบโดยบังเอิญและยังไม่มีอาการ มีเพียงแค่ประมาณ 1% เท่านั้น ที่ตรวจพบจะแสดงอาการ โดยอาการของหลอดเลือดสมองโป่งพองเมื่อยังไม่มีการแตก จะมีอาการหลักคือปวดศีรษะ แต่อาจพบอาการอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนได้ โดยมักเกิดจากหลอดเลือดโป่งพองที่มีขนาดใหญ่และกดเบียดสมองหรือเส้นประสาทสมอง ซึ่งมีผลทำให้การมองเห็นผิดปกติ

ส่วนอาการที่ปรากฏเมื่อหลอดเลือดโป่งพองมีการรั่วหรือแตก (Ruptured cerebral aneurysm) ได้แก่ อาการเลือดออกในชั้นเยื่อหุ้มสมอง คือ ปวดศีรษะฉับพลันทันที คลื่นไส้ อาเจียน ปวดตึงต้นคอ คอแข็ง หมดสติ ชักเกร็ง ระดับความรู้สึกตัวลดลง ซึ่งหากเกิดขึ้น เป็นภาวะที่มีความเสี่ยงต่อการทุพพลภาพและเสียชีวิตค่อนข้างสูง จึงควรรีบพบแพทย์เมื่อสงสัยภาวะนี้

ความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง

หากหลอดเลือดสมองที่โป่งพองแตกจะมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก 24% เสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมงแรก และ 50% จะเสียชีวิตใน 3 เดือนถัดมา

การวินิจฉัย จะทราบได้อย่างไรว่าเรามีหลอดเลือดโป่งพองในสมอง

การตรวจร่างกายโดยทั่วไปอาจไม่พบความผิดปกติโดยเฉพาะหลอดเลือดโป่งพองที่ยังไม่มีการปริแตก ยกเว้นเมื่อหลอดเลือดโป่งพองมีขนาดใหญ่มาก แต่ถ้ามีอาการปริแตกของหลอดเลือดโป่งพองในสมอง ก็จะมาด้วยอาการเลือดออกในชั้นเยื่อหุ้มสมอง จะตรวจพบลักษณะความดันในสมองสูง คอแข็ง ระดับความรู้สึกตัวลดลง เลือดออกในจอประสาทตา เป็นต้น

ส่วนการตรวจหาภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาขนาดและตำแหน่งของหลอดเลือดที่มีการโป่งพอง โดยอาจพิจารณาทำการตรวจพิเศษดังต่อไปนี้

  • การตรวจหลอดเลือดด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRA)
  • การตรวจหลอดเลือดด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CTA)
  • การฉีดสารทึบรังสีเพื่อตรวจสอบหลอดเลือด (Diagnostic cerebral angiogram)  ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการวินิจฉัยภาวะนี้

การรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง

เนื่องจากความเสี่ยงของหลอดเลือดโป่งพองขึ้นอยู่กับขนาดของหลอดเลือดที่โป่งพอง โดยเฉพาะหลอดเลือดที่มีขนาดใหญ่กว่า 7 มิลลิเมตรขึ้นไป จะเพิ่มโอกาสของการปริแตกมากขึ้นเป็นสองเท่า เมื่อเทียบกับขนาดที่เล็กกว่า 7 มิลลิเมตร รวมถึงตำแหน่งของหลอดเลือดโป่งพองซึ่งจะมีผลต่อแรงกระแทกต่อหลอดเลือดนั้น เช่น หลอดเลือด Posterior communicating artery aneurysm จะมีความเสี่ยงในการแตกมากที่สุดเมื่อเทียบกับหลอดเลือดโป่งพองที่มีขนาดเท่ากันในตำแหน่งอื่น เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่มีแรงกระแทก การไหลวนของเลือด (turbulent flow) มาก

หากหลอดเลือดโป่งพองมีขนาดไม่ใหญ่ มักจะใช้การติดตามเป็นระยะๆ เพื่อดูอัตราการโตของหลอดเลือดโป่งพองนั้น หากมีความเสี่ยงที่จะแตกมากขึ้น จำเป็นจะต้องทำการอุดปิดหลอดเลือดที่โป่งพองเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดหลอดเลือดปริแตก หรือเมื่อมีการปริแตกของหลอดเลือดโป่งพองนั้นแล้ว จำเป็นต้องทำการอุดปิดรอยรั่วของหลอดเลือดโป่งพองนั้นไม่ให้เกิดเลือดออกซ้ำอีก สามารถทำได้โดยการรักษาทางหลอดเลือด และการผ่าตัดแบบเปิดเพื่อหนีบเส้นเลือด

การรักษาทางหลอดเลือด (Endovascular therapy)

วิธีนี้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะแต่จะสอดท่อขนาดเล็กเข้าไปทางหลอดเลือดแดง มักเป็นบริเวณขาหนีบหรือข้อมือและนำท่อไปถึงบริเวณหลอดเลือดที่โป่งพองในสมอง โดยจะมีอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือดเพื่อหยุดเลือดออกและลดความเสี่ยงในการแตกของหลอดเลือดที่โป่งพอง หรือเป็นการใส่ท่อตาข่ายเข้าไปเพื่อให้เลือดมีการไหลเวียนผ่านท่อตาข่ายนี้แทนที่จะผ่านหลอดเลือดที่โป่งพอง โดยแพทย์จะแนะนำวิธีที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายก่อนการผ่าตัด

วิธีนี้มีระยะเวลาในการฟื้นตัวสำหรับผู้ที่มีการแตกของหลอดเลือดอยู่ที่หลายสัปดาห์จนถึงเป็นเดือนเช่นเดียวกัน แต่ในผู้ที่ยังไม่มีการแตกของหลอดเลือดที่โป่งพองผู้ป่วยอาจฟื้นตัวได้ในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน แต่อาจมีความเสี่ยงในการกลับมาเลือดออกซ้ำได้มากกว่าวิธีการผ่าตัดแบบเปิดเพื่อหนีบเส้นเลือด

การผ่าตัดแบบเปิดเพื่อหนีบเส้นเลือด (Open surgical (microvascular) clipping)

แพทย์จะทำการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะและใช้การหนีบเส้นเลือดเพื่อหยุดการไหลของเลือดเข้าไปในบริเวณที่มีเส้นเลือดโป่งพอง ระยะเวลาในการฟื้นตัวสำหรับผู้ที่มีการแตกของหลอดเลือดอยู่ที่หลายสัปดาห์จนถึงเป็นเดือน และการฟื้นตัวในผู้ที่ยังไม่มีการแตกของหลอดเลือดอยู่ที่ 2-4 สัปดาห์ วิธีนี้เป็นวิธีที่มีอัตราการกลับมาเป็นซ้ำต่ำ

นอกจากการรักษาหลอดเลือดที่โป่งพองโดยตรงแล้ว ต้องทำการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้หลอดเลือดโป่งพองขยายขนาดขึ้นหรือแตก ได้แก่

  • การควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • หยุดสูบบุหรี่ งดแอลกอฮอล์ และการใช้สารเสพติด
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยทำให้หลอดเลือดมีความยืดหยุ่น

ใครควรตรวจหาหลอดเลือดโป่งพองในสมอง?

  • บุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มีประวัติสูบบุหรี่ ใช้สารเสพติดมาก่อน
  • ประวัติคนในครอบครัวใกล้ชิด (first degree relative) มีภาวะหลอดเลือดโป่งพองในสมอง
  • มีโรคทางพันธุกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวข้างต้น

บทความโดยแพทย์หญิง จิตรลดา สมาจาร อายุรแพทย์ด้านโรคสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท

คุณกำลังดู: หลอดเลือดสมองโป่งพอง อันตรายที่ไม่มีสัญญาณเตือน (Brain Aneurysm)

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด