"หนาวใน" จุดเริ่มโรคร้าย ผู้หญิงขี้หนาวพึงระวัง
อาการ "หนาวใน" ชื่ออาจฟังไม่คุ้นนัก แต่ผู้หญิงทุกวัยสามารถมีโอกาสเกิดอาการนี้ได้เมื่อเจออากาศหนาว
คุณสาวๆ ควรพึงระวังอาการ "หนาวใน" ชื่ออาจฟังไม่คุ้นนัก แต่ผู้หญิงทุกวัยสามารถมีโอกาสเกิดอาการนี้ได้เมื่อเจออากาศหนาว
มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับอาการหนาวในและการรักษาตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยไว้ ดังนี้
อาการหนาวใน คืออะไร
อาการหนาวใน สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกวัย โดยเฉพาะผู้หญิงที่ไม่ได้อยู่ไฟหลังคลอด
"ตามตำราแพทย์แผนไทยเชื่อว่า การคลอดลูกทำให้สูญเสียความร้อนในร่างกาย เสียธาตุไฟ ร่างกายขาดความสมดุล และยังสามารถเกิดในผู้สูงอายุที่กำลังจะหมดประจำเดือน หรือหมดประจำเดือนแล้ว ผู้หญิงที่ประจำเดือนมาผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมาน้อย เป็นไข้ทับระดู มาไม่ตรงวัน ปวดประจำเดือนรุนแรง ลักษณะของประจำเดือนมีสีคล้ำ เป็นก้อน เป็นลิ่ม เป็นต้น"
เริ่มสังเกตตัวเองกัน โดยเฉพาะผู้หญิงที่รู้สึกหนาวง่ายและมากกว่าคนทั่วไป
นี่คืออาการเริ่มต้น บ่งบอกถึงอาการหนาวใน
"บางครั้งแค่ฝนตั้งเค้าก็เกิดอาการหนาว มือเท้าเย็น ปากเขียว มือเขียว หนาวสั่นสะท้าน เหมือนเลือดไหลเวียนไม่ดี และเมื่อมีอาการหนาวในเป็นประจำจะทำให้เกิดอาการต่างๆ ได้ เช่น ปวดหลังชาๆ ขัดข้อสะโพก มีจ้ำเขียวตามร่างกายได้ง่าย เป็นไข้ทับระดูทุกครั้งที่มีประจำเดือน มีอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว
"แต่ทั้งนี้ อาการดังกล่าวยังไม่เป็นข้อสรุปที่แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด และมีลักษณะอาการแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ถ้าปล่อยทิ้งไว้จนเป็นมากก็อาจมีอาการปวดหน่วงท้องน้อยจนถึงมดลูกอักเสบ ซึ่งเกิดจากการที่ไม่ได้รักษาตั้งแต่เริ่มแรก เนื่องจากไม่คิดว่าเป็นอาการของโรค"
ฟังดูน่ากลัว สำหรับอาการเล็กน้อยที่มักเกิดเป็นประจำสำหรับผู้หญิง
โดยแพทย์แผนไทยถือว่าเป็นอาการของกลุ่มมดลูกอักเสบที่ต้องรักษาด้วยการปรับสมดุลธาตุอย่างต่อเนื่องสามารถรักษาหายได้
มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเผยอีกว่าสำหรับขั้นตอนการรักษาอาการหนาวในด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย เน้นการรักษาด้วยการจ่ายยาที่ช่วยปรับธาตุทั้ง 4 ให้สมดุล และจ่ายยาที่ช่วยบำรุงเลือดที่มีรสร้อนสุขุม เพื่อกระจายเลือดให้ไหลเวียนได้ดี และทำให้ไฟธาตุทำงานได้ดีขึ้น ใช้ต้มกินติดต่อกันนาน 1-3 เดือน เพื่อเป็นการปรับสมดุลให้ร่างกาย ซึ่งต้องได้รับการตรวจจากแพทย์แผนไทยอย่างละเอียด ว่าต้องปรับอะไรบ้าง ขึ้นอยู่กับอาการ และธาตุของคนไข้
"หากเป็นมากก็จะจ่ายยาจำพวกเบญจกุล ซึ่งในตำรับยาประกอบด้วย เหง้าขิง รากเจตมูลเพลิง ดีปลี รากช้าพลู และเถาสะค้าน ช่วยปรับสมดุลธาตุในร่างกาย และกลุ่มว่านชักมดลูก โดยอาจใช้ว่านชักมดลูก ไพล ขมิ้นอ้อย เพื่อช่วยในการดึงมดลูกกลับเข้าที่ และถ้าเป็นมากต้องใช้ทั้งต้มกินและต้มอาบด้วย"
ผู้ที่มีอาการเหล่านี้ยังทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้อีกด้วย
การรักษาแบ่งได้เป็น 3 ขั้นตอน แต่จะใช้ขั้นตอนไหนบ้างก็ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคล ดังนี้
ขั้นแรก เรียกว่า การปลูกไฟธาตุ คือ การใช้ยาร้อน ปลูกให้ธาตุไฟทำงาน เนื่องจากอาการหนาวในมักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายขาดธาตุไฟ เราจึงควรปรับสมดุลธาตุในร่างกายก่อน
ขั้นที่สอง คือ การบำรุงไฟธาตุ โดยการใช้ยารสเปรี้ยว เน้นไปที่การฟอกเลือด บำรุงเลือดเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
ขั้นสุดท้าย คือ การใช้ยาร้อนที่สุดเพื่อช่วยขับโลหิตและของเสียออกจากร่างกาย เช่น เจตมูลเพลิง หรือว่านชักมดลูก เป็นต้น เพื่อให้ร่างกายมีการขับของเสียเช่นประจำเดือน ออกจากร่างกายให้หมดไม่ให้มีตกค้าง ซึ่งอาจทำให้เป็นสาเหตุของการเกิดช็อกโกแลตซีสต์ได้
อาการเพียงเล็กน้อยเช่นประจำเดือนตกค้าง หากไม่สังเกตอาจนำไปสู่โรคอื่นๆ คือ ช็อกโกแลตซีสต์ หรือโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (เอ็นโดเมทริโอซิส) เป็นอีกโรคหนึ่งที่ผู้หญิงในยุคปัจจุบันเป็นกันมาก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรงและจะปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกเดือน
"การวินิจฉัยโรคช็อกโกแลตซีสต์ หากอัลตราซาวด์แล้วเห็นก้อนชัดๆ ก็จะสามารถบอกได้ทันที ซึ่งตามตำราแพทย์แผนไทย คัมภีร์ชวดารก็มีการกล่าวถึง การรักษาก้อนที่อยู่ในท้องโดยใช้เจตมูลเพลิงซึ่งมีสรรพคุณเน้นในการขับของเสีย
"ผู้หญิงเราทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเกิดก้อนในท้อง หรือที่แพทย์แผนปัจจุบันเรียกว่ากลุ่มมดลูกอักเสบ หรือกลุ่มอาการช็อกโกแลตซีสต์ ซึ่งทางแพทย์แผนไทยมีแนวทางป้องกัน สามารถทำได้โดยกินยาสตรีทุกเดือนก่อนมีประจำเดือน เพื่อให้มีการขับประจำเดือนซึ่งเป็นของเสียออกให้หมดจากร่างกาย ไม่ให้มีการคั่งค้างสะสม"
สำหรับยาสตรีนั้น ทางแพทย์แผนไทยแบ่งเป็นยาขับและยาบำรุง เช่น ยาประสะไพล (มีส่วนผสมของไพลเยอะ) ไฟห้ากอง (ประกอบด้วยสมุนไพรร้อน 5 ชนิด) ไฟประลัยกัลป์ (มีทั้งสมุนไพรที่มีรสร้อน และมีสรรพคุณในการบำรุงและฟอกเลือด) เป็นต้น
"ยาเหล่านี้มีการใช้แตกต่างกัน ถ้าผู้ป่วยเป็นธาตุไฟก็จะไม่จัดไฟห้ากองให้ แต่อาจจะใช้เป็นไฟประลัยกัลป์แทน เพื่อใช้ในการฟอกเลือดได้ด้วย ยาสตรีที่ยกตัวอย่างทั้ง 3 รายการ นับเป็นยาสามัญประจำบ้าน และปัจจุบันยังได้บรรจุอยู่ในบัญชียาหลัก ที่โรงพยาบาลทั่วไปมีและสามารถจ่ายให้คนไข้ได้"
สำรวจตัวเอง หากเริ่มมีอาการเล็กน้อยควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาวิธีรักษาอาการและตรวจโรคอย่างละเอียด
เพื่อจะได้ดื่มด่ำอากาศหนาวอย่างมีความสุขพร้อมร่างกายที่แข็งแรง
คุณกำลังดู: "หนาวใน" จุดเริ่มโรคร้าย ผู้หญิงขี้หนาวพึงระวัง
หมวดหมู่: รู้ทันโรค