หนังใช้ความรุนแรง ย่อมก่อพฤติกรรมเลียนแบบที่รุนแรง

หนังใช้ความรุนแรง ย่อมก่อพฤติกรรมเลียนแบบที่รุนแรง

ประเด็นที่ทำให้เกิดบทความนี้ คือโควิดทำให้เด็กและผู้ใหญ่ใช้เวลากับการดูหนังมากขึ้น และบางครั้งพ่อแม่ก็ลืม Log out ออกจากแอปเหล่านี้ ทำให้เด็กเข้าชมภาพยนตร์ผู้ใหญ่ได้เกินความเข้าใจของตนเอง เกิดพฤติกรรมเลียนแบบหนัง เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ เพราะปัญหาการซึมซับความรุนแรงจากภาพยนตร์นั้น ถูกป้องกันด้วยการจัดเรตติ้ง (Film Ratings)

เรตการชมภาพยนตร์ หรือ Film Ratings เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต่างประเทศให้ความสำคัญมาก เด็กจะดูหนังเรื่องใดก็ตามควรผ่านสายตาผู้ปกครอง เพราะการดูหนังผิดเรตจะส่งผลต่อจิตใจของเด็กระยะยาวอย่างไม่รู้ตัว วันนี้ไทยรัฐออนไลน์อยู่กับ พ.ต.อ.หญิง พญ. อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล จิตแพทย์ทั่วไป และจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ศูนย์อายุรกรรม รพ.พญาไท นวมินทร์ มาพูดคุยเกี่ยวกับ การเลือกชมภาพยนตร์ของเด็กๆ ผ่านแอปดูหนังออนไลน์

จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อเด็กเลือกดูหนังผิดเรต

แท้จริงแล้วเด็กควรเลือกชมภาพยนตร์ได้เองตอนอายุเท่าไร

วัยที่เด็กควรเลือกชมภาพยนตร์ได้เอง คือ 18 ปี แม้ว่าฟังดูแล้วจะไกล แต่ในต่างประเทศการจัดเรตติ้งทั่วโลก เพื่อให้ผู้ปกครองได้ติดตามอยู่กับเด็กอย่างใกล้ชิด โดยจะมีการจัดช่วงอายุเป็น 6, 13, 18 ปี โดยผู้ปกครองจำเป็นต้องรู้ว่าลูกดูอะไร และพูดคุยกับพวกเขา

เด็กเล็กยังไม่รู้ และไม่เข้าใจ เลียนแบบทุกอย่าง

มนุษย์เลียนแบบจากการมองเห็นได้ดีที่สุด ซึ่งผู้ใหญ่จะมีพัฒนาการสมองส่วนหน้า มีพัฒนาการทางเหตุผล แยกความถูกต้องได้แล้ว จึงเลือกภาพยนตร์ได้เอง แต่ในเด็กเล็กๆ ยังไม่รู้และไม่เข้าใจ เลียนแบบได้ทุกอย่างจากสิ่งที่มองเห็น แม้กระทั่งโฆษณา เมื่อผ่านหูและรับฟังบ่อยๆ เข้า ก็ซึมซับได้โดยไม่รู้ตัว

เด็กเล็กจะเลียนแบบคำพูด สีหน้า อารมณ์และความเชื่อผิดๆ ได้ ตอนนี้มีสื่อทั้งยูทูบ ซีรีส์การ์ตูนต่างๆ ที่ออกแบบมาสำหรับเด็ก ถ้าต้องเปิดให้เด็กดู ต้องมีผู้ใหญ่ดูด้วย เช่น การ์ตูนที่ดี ก็จะเริ่มต้นเดินเรื่องด้วยปัญหาก่อนแล้วสรุปด้วยข้อคิดบางอย่าง คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องคอยแนะนำว่าแบบไหนควรทำ หรือไม่ควรทำ

ถ้าไม่อยากให้คนนอกมาปลูกฝังมุมมองให้กับลูกของเรา พ่อแม่ควรอยู่กับเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด

หากผู้ปกครองปล่อยให้ลูกอยู่กับจอ เด็กอายุน้อยๆ จะมีหนังและสื่อจากจอเหล่านี้เป็นพี่เลี้ยง และซึมซับพฤติกรรมเลียนแบบบางอย่างติดตัวมาอย่างไม่รู้ตัว แต่คุณหมอก็ทิ้งท้ายว่า ไม่สายเกินไปที่จะดึงเด็กๆ กลับมาสนใจโลกแห่งความเป็นจริง ดังนั้นหากอยากให้บุตรหลานเป็นเด็กที่มีค่านิยม ทัศนคติ และความเชื่อที่ดี ผู้ปกครองต้องติดตามสื่อที่ลูกดูอย่างใกล้ชิด

ถ้าไม่มีผู้ใหญ่กำกับ ฉากเหล่านี้ส่งผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กอย่างไร
กรณีที่ผู้ปกครองปล่อยให้เด็กอยู่กับสื่อต่างๆ นั้น ปัญหาทางจิตใจที่เกิดขึ้น มีทั้งเรื่องพฤติกรรมเลียนแบบ คำพูดหยาบคาย การใช้ความรุนแรงต่อตัวเองและคนอื่น แต่สิ่งที่เป็นปัญหาจนต้องมาพบจิตแพทย์คือ “การทำร้ายตัวเอง”

คุณหมอเล่าว่า “ปัญหาที่ผู้ปกครองพาลูกๆ มาพบหมอมากที่สุด คือ การใช้ความรุนแรง ทั้งต่อตัวเองและคนอื่น เช่น ตีเพื่อน ตีคนในครอบครัว พ่อ แม่ พี่น้อง หรือร้ายแรงที่สุดก็คือพยายามทำร้ายตัวเองด้วยการฆ่าตัวตาย แต่นอกเหนือจากปัญหาเหล่านี้ยังมีปัญหาอื่นที่เกิดขึ้น แต่ไม่รุนแรง เช่น เด็กพูดโกหก พูดจาหยาบคาย ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากจิตใต้สำนึกที่เกิดจากการซึมซับจากสิ่งที่ดูมาอย่างไม่รู้ตัว”

  • คำหยาบ กลายเป็นคำทั่วไปในชีวิตประจำวัน

เมื่อเด็กติดพูดคำหยาบ จนกลายเป็นคำที่ใช้กันทั่วไปในชีวิตประจำวัน เป็นพฤติกรรมเลียนแบบที่พบผ่านการได้ยิน มองเห็น หากพ่อแม่บอกลูกว่า “ห้ามพูดคำหยาบนะลูก” แต่พ่อแม่ยังพูด ยังเปิดสื่อเหล่านี้ดู มีรายการที่ใช้คำหยาบคาย เด็กยิ่งดูก็ยิ่งซึมซับได้ง่าย ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบและพูดตาม

  • ความรุนแรงต่อตัวเอง

วัยรุ่นส่วนหนึ่งอกหักจะเป็นจะตาย ก็มาจากรูปแบบภาพยนตร์เอ็มวี ที่สร้างทัศนคติต่อความรักให้เจ็บปวด สังเกตเห็นได้จากเด็กทำตัวเป็นพระเอก หรือนางเอกเอ็มวี เมื่อเจอความรักที่ไม่สมหวัง กลับทำร้ายตัวเอง ซึ่งในชีวิตจริง ถ้าเจอความรักไม่ดี ก็มูฟออนไปทำอย่างอื่นได้ ไม่ต้องยึดมั่น ถือมั่นความรัก จนลืมที่จะรักตัวเองและคนในครอบครัว

  • ความรุนแรงต่อผู้อื่น

เมื่อเด็กเริ่มทำร้ายผู้อื่น เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ความรุนแรง ภาพยนตร์ที่มีฉากความรุนแรงมีผลกับเด็กและผู้ใหญ่ ในเด็กช่วงวัย 10 - 15 ปี ฉากที่ใช้ความรุนแรงมีผลต่อสภาวะอารมณ์ จิตใจ และความรู้สึกมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัย 12 - 18 ปี จะมีอารมณ์ฉุนเฉียวมากเพราะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ตามหลักจิตวิทยาเมื่อดูฉากเหล่านี้มากแล้วมีโอกาสซึมซับเข้าไปในจิตใต้สำนักอย่างไม่รู้ตัว เมื่อเราขาดสติ เราก็อาจทำร้ายผู้อื่นได้อย่างไม่รู้ตัว จากพฤติกรรมเลียนแบบการเสพสื่อเหล่านั้น

พ่อแม่ยุคใหม่มีความท้าทายเยอะกว่าสมัยก่อนมาก เพราะมีสื่อหลากหลายเข้าถึงตัวลูกได้เร็ว และเด็กๆ เมื่อรับสื่อเหล่านี้ก็เกิดการตัดสินใจเองได้เร็ว คิดเองได้วัย ดังนั้นผู้ปกครองต้องมีสัมพันธภาพที่ดีกับลูก ต้องเป็นเพื่อนที่ดีให้ลูกสามารถพูดคุยได้ทุกเรื่อง แลกเปลี่ยนมุมมองทัศนคติกับลูกได้ ให้เขากล้าคุย กล้าปรึกษา

Work from Home หรือติดอยู่กับบ้านนานๆ แบบนี้ การดูหนังรุนแรงส่งผลต่อจิตใจผู้ใหญ่ด้วยหรือไม่

ไม่เพียงแค่มุมมองในเด็ก ช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เราต้องติดอยู่กับบ้านนานๆ ทั้งเรียนออนไลน์และ Work from Home บางคนมีปัญหาการเงิน บางคนมีปัญหาชีวิตด้านอื่นๆ การเลือกดูหนัง ก็มีผลต่อสภาพจิตใจ โดยเฉพาะหนังที่มีฉากความรุนแรง คุณหมอเสริมว่า

“ช่วงเรียนออนไลน์ หรือ Work from Home นี้หลายคนใช้เวลาอยู่กับบ้านดู Media เยอะ หลาย Platform เพราะมีเวลาอยู่บ้านมากกว่าปกติ สื่อเหล่านี้จะมีผลต่อพฤติกรรมของเรามากกว่า เพราะเรามีการเสพสื่อเหล่านี้ตลอดเวลา แต่ถ้าเราอยู่บ้านแล้วมีกิจกรรมอื่นๆ ทำ ก็จะทำให้สุขภาพจิตของเราดีขึ้น

เนื่องจากช่วงนี้เราไม่ได้เจอคน ไม่ได้เดินทางไปไหนมาไหน ก็ก่อให้เกิดความเครียด บางคนนำไปสู่อาการนอนไม่หลับ และภาวะซึมเศร้า แน่นอนว่าถ้าเราเสพสื่อที่มีความรุนแรงมากๆ ก็จะเกิดความเครียด ทำให้เป็นคนที่หงุดหงิด และฉุนเฉียวง่าย”

สรุปแล้ว ผลกระทบจากการเสพสื่อในช่วงติดอยู่บ้านนานๆ นี้ มีโอกาสส่งผลต่อพฤติกรรมเลียนแบบทางอารมณ์ในเด็กเล็กอยู่มาก ผู้ปกครองควรอยู่ร่วมอย่างใกล้ชิด และตัวผู้ใหญ่เองก็ควรเลือกกิจกรรมอื่นทำมากกว่าดูหนัง ถ้ายิ่งดูหนังสะเทือนอารมณ์บ่อยๆ ก็จะกระตุ้นอารมณ์ดิ่งลงได้เช่นกัน

ผู้เขียน : สีวิกา ฉายาวรเดช

คุณกำลังดู: หนังใช้ความรุนแรง ย่อมก่อพฤติกรรมเลียนแบบที่รุนแรง

หมวดหมู่: แม่และเด็ก

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด