Honda Integra DC2 แจ็คผู้ฆ่ายักษ์จากยุค 90s

ย้อนอดีตเครื่อง VTEC รอบจี๊ดกับ Honda Integra DC2 แจ็คผู้ฆ่ายักษ์จากยุค 90s

Honda Integra DC2 แจ็คผู้ฆ่ายักษ์จากยุค 90s

บางทีการเขียนถึงรถอย่าง Honda Integra DC2 ในวันนี้อาจจะช้าเกินไป เพราะในตลาดที่ยังเคยหารถมือสองได้บ้าง ทุกวันนี้เหลือน้อยลงมาก และเป็นรถอีกรุ่นที่ราคาซื้อขายไม่มีราคากลางที่แน่ชัด เพราะสภาพรถ หรือการโมดิฟายต่างๆ ที่ได้ทำลงไปนั้นมีผลทำให้เพิ่ม/ลดค่าตัวได้มาก แต่เมื่อมีคุณผู้อ่านรุ่นหลานถามว่า ในสมัยที่ผมเรียนมหาวิทยาลัย Honda รุ่นไหนที่ได้ชื่อว่ามีเสน่ห์ที่สุด ความเห็นของผมก็คือถ้าเราพูดถึงรถแบบที่ออกมาจากโรงงานเดิมสนิท ไม่นับพวกรถที่นำมาโมดิฟายวางเครื่องเอง มันก็คือ Integra DC2 นี่ล่ะครับที่ผมนึกถึง

นี่คือรถแบบที่สะท้อนรสนิยมด้านการขับขี่ การออกแบบ และวิศวกรรมของ Honda ในยุค 90s ได้ดีที่สุดคันหนึ่ง โดยถ้าว่ากันในเรื่องระดับคลาสของรถ Integra จะอยู่สูงกว่า Civic เล็กน้อย ความเด่นของรถโฉมแรกที่ออกสู่สายตาสาธารณะในปี 1993 นั้นคือ ไฟหน้า 4 ตาดวงเล็ก ซึ่งดูคล้าย Alfa Romeo GTV คูเป้อิตาลีที่เผยโฉมในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งไฟหน้านี้ล่ะ เป็นสิ่งที่ทำให้มันเด่น แต่กลับเป็นจุดด้อยในสายตาลูกค้าชาวญี่ปุ่นที่ค่อนข้างแอนตี้ความแปลก จึงเป็นเหตุให้ Honda ต้องออกแบบส่วนหน้าของรถใหม่ กลับไปใช้ไฟหน้าแบบเส้นตรงธรรมดาแทนในภายหลัง

Integra ในเจเนอเรชันที่สามนี้ มีให้เลือกทั้งแบบคูเป้ 3 ประตู และซีดาน 4 ประตู (ซึ่งไปๆ มาๆ ผมว่าดูสวยกว่ารุ่นคูเป้เสียด้วยซ้ำ) และติดตั้งเครื่องยนต์ B18 1.8 ลิตรสองรุ่น รุ่นที่ไม่เน้นแรงก็จะใช้เครื่องยนต์ B18B ไม่มีระบบ VTEC ฟังดูเหมือนไม่น่าสนใจ แต่อันที่จริงก็พกม้ามาถึง 148 ตัว สมัยนั้นรถคันเท่านี้แต่แรงม้าเท่าพวกคลาสโต 2.0 ลิตร ก็ไม่ใช่เล่น แต่ตัวเด่นจริง จะเป็นรุ่น Si ที่ใช้เครื่องยนต์ B18C มีระบบ VTEC ที่ช่วยสร้างกำลังในรอบสูง ทำให้มีแรงม้ามากถึง 180 แรงม้า และมาที่รอบสูงกว่า 7,000 รอบต่อนาที ช่วงล่างก็ยังเป็นแบบอิสระปีกนกสองชั้นทั้ง 4 ล้อ เนื่องจากในยุคนั้น Honda ยังบ้าพลังจากลัทธิ Formula One อยู่บ้าง เทคนิคช่วงล่างที่เรียนรู้มาจากการแข่ง ก็เอามาช่วยทำให้รถบ้านขับแล้วเกาะโค้งได้ดีขึ้น หลังจากเจเนอเรชันนี้เลิกขาย Honda ก็หันไปทำช่วงล่างที่ดูจะประหยัดต้นทุนมากขึ้น และพวกขาซิ่งก็เซ็งด้วยเพราะปรับตั้งศูนย์ล้อไม่ได้เยอะเหมือนก่อน

Integra เป็นรถที่ทางญี่ปุ่นค่อนข้าง “ขี้เลือก” ว่าจะเข้าไปขายที่ไหนบ้าง นอกจากเมืองแม่อาทิตย์อุทัย ก็มีอเมริกาที่เป็นตลาดใหญ่ พวกเขาไม่เน้นทำตลาดในยุโรปและส่วนอื่นของโลก จึงส่งรถไปขายเพียงจำนวนน้อย ในอเมริกา รถรุ่นนี้จะถูกจำหน่ายภายใต้แบรนด์ Acura เพื่อให้มีภาพลักษณ์สูงกว่า Civic ถ้าใครเกิดทันดู Fast & Furious ภาคแรก รถที่น้องมีอา (นางเอก) ขับ นั่นล่ะครับคือ Acura Integra เวอร์ชัน 4 ประตูที่แต่งจนดูแล้วแซ่บลิ้น

ที่แจ็กพอตแบบสุดๆ ก็คือ ประเทศไทยเมืองข้าวเหนียวมะม่วงอย่างพวกเรา กลับได้มีโอกาสขับ Integra ที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่นและจำหน่ายอย่างเป็นทางการโดย Honda ประเทศไทย ซึ่งสมัยนั้นจะยังใช้ชื่อบริษัท Honda Cars อยู่ โดยตั้งราคาเอาไว้..หากผมจำไม่ผิดน่าจะ 970,000-980,000 บาท มีให้เลือกแค่รุ่นเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และมีให้เลือกเพียงสองสีคือแดง Torino และสีดำ Granada ถามว่าทำไมเมืองไทยได้ใช้? ก็ขออนุญาตเดาว่า เป็นเพราะการตลาดของ Honda Cars ในสมัยนั้นเขาต้องการโปรโมต เทคโนโลยี VTEC ซึ่งมีทั้ง VTEC สายรถบ้านเน้นประหยัด อยู่ใน Accord VTEC และ Civic VTEC รุ่นนำเข้า และ VTEC ทวินแคม (DOHC) สายโหด ซึ่งมีอยู่แค่ใน Integra กับ Prelude VTi-R เท่านั้น

ในสมัย “ยุคป๊อปของรถคูเป้” นั้น ตัวเลือกสวยๆ ในตลาดมีเยอะทั้งจากญี่ปุ่นและยุโรป แต่ถ้าพูดเรื่องความสนุกในการขับ น้อยนักที่จะให้อารมณ์เร้าใจได้เท่า Integra DC2 ซึ่งถึงแม้สเปกไทยจะโดนลดม้าลงเหลือ 170 เท่ารถ USA แต่สำหรับรถที่เบาเพียง 1.15 ตัน แต่ม้าเยอะขนาดนี้ แล้วยังมีเกียร์ที่ทดจัดแบบไม่ได้แคร์เรื่องความประหยัดน้ำมันใดๆ เล็กพริกขี้หนูอย่าง Integra ถือว่าเป็นรถวิ่งหัว ถ้าเล่นดอกควอเตอร์ไมล์ แต่ถ้าต้องขับทางไกลก็จะเสียงดังหน่อย เพราะวิ่ง 100 กม./ชม. รอบเครื่องในเกียร์ห้าจะคาอยู่ราว 3,000-3,200 รอบต่อนาที สไตล์เดียวกับพวกตัวเบารอบจัดในอดีตอย่าง Corolla AE92 GTi

ถ้าคุณจะเล่นเรื่องแรงดึงจากแรงบิดเนื้อๆ ในสมัยนั้น รถเทอร์โบอย่าง 200SX หรือ Rover 220 TURBO จะดึงหนักกว่า แต่เคล็ดไม่ลับในความไวของ Honda คือ High Rev..รอบเครื่องที่ลากได้สูงถึง 8,000 รอบต่อนาทีบวกกับอัตราทดเกียร์จัดจ้านและน้ำหนักเบา ซึ่งพอแรงบิดไม่เยอะ การคุมคันเร่งก็ทำได้ง่าย รถพยศน้อยกว่า ลากรอบสูงมากๆ ในช่วงที่รถเทอร์โบเริ่มเข็มวัดรอบกวาดช้า Honda ยังกวาดได้ลื่น บางช่วงที่รถเจ้าอื่นๆ ต้องสับขึ้นเกียร์ 3 แล้ว Honda ยังอยู่เกียร์ 2 และยังลากต่อ เร่งส่งให้แปะตูดคันหน้าได้เลย

และสิ่งที่ผมรักมากคือเครื่องยนต์ B18C ที่เวลาขับในเมือง มันไม่มีอาการเหี่ยวแห้งแรงบิดนัก คุณขับมันเหมือนรถเครื่อง 1.8 ลิตรทั่วไป สุภาพเรียบร้อย แต่พอลากรอบเกิน 5,500 เมื่อกระเดื่อง VTEC ล็อกให้แคมชาฟต์องศาสูงตีเปิดวาล์ว สุ้มเสียงจะเปลี่ยนไป โหด ลึก น่าเกรงขาม เหมือนรถแข่งที่ใส่แคมชาฟต์องศาสูง เป็นรถเล็กที่ยัดเข้าเกียร์ 4 กดคันเร่งต่อก็ไหลถึง 180 ได้ภายในเวลาไม่นาน แถมมุดคล่องยิ่งกว่าหนูในโรงนาตอนโดนแมวไล่เสียอีก เพียงแต่ว่าหนูอย่าง Integra ชอบเป็นฝ่ายไล่แมวเสียมากกว่า สมัยนั้นใครขับรถยุโรป 200 ม้า หรือแม้กระทั่ง Impreza WRX โฉมแรก ถ้าไม่ไปโมดิฟายเพิ่มมา เจอ Integra แล้วไปป๋าใส่ โดนรถเล็กเล่นเหงื่อตกไปหลายรายครับ

ดังนั้น ในแง่ของการเป็นรถขับสนุกที่ใช้งานได้ทุกวัน Integra DC2 เป็นรถที่ตอบโจทย์ดีมาก ทว่าในความเป็นจริง ยอดขายของรถรุ่นนี้กลับไปได้ไม่สวยเท่าไรในไทย เพราะยุคนั้น การซื้อรถ Honda ขนาดตัวค่อนข้างเล็ก แต่จ่ายเกือบล้าน ยังเป็นเรื่องที่อธิบายยาก และลูกค้าส่วนใหญ่ก็คงไม่ฟังเราอธิบายเพราะในงบไล่เลี่ยกันนั้น Nissan มี 200SX (ที่ขายดีขายได้เรื่อยๆ ก่อนที่จะเปลี่ยนโฉมเป็นรุ่น S14 แล้วความเจริญก็หยุดลง) แม้แต่ Honda เองก็เถอะ ลูกค้าส่วนมากก็มักจะไปจบกับ Honda Prelude รุ่นพี่ ที่แพงกว่ากันไม่มาก แต่ได้รถคันใหญ่กว่า ดูแพงกว่า แพรวพราวกว่า นั่นเป็นสาเหตุที่หากคุณค้นหาในตลาดรถมือสองเดี๋ยวนี้เลย คุณจะเจอ Prelude เป็นสิบๆ คันกว่าจะเจอ DC2 สักคัน ดังนั้น ในขณะที่ประเทศไทย ขายแค่ไม่กี่คันแล้วก็จบที่รุ่นเดียวโฉมเดียว ทางญี่ปุ่นกลับพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ นอกจากรุ่น Si (ที่ตอนหลังเปลี่ยนเป็น SiR) 180 แรงม้าแล้ว ก็ยังมีการทำรุ่นพิเศษอย่าง Integra Type-R ออกมา โดยมุ่งเน้นให้เป็นรถมอเตอร์สปอร์ต ถอดเครื่องเสียงออก ใช้กระจกบางลงเพื่อเซฟน้ำหนัก เปลี่ยนแผ่นซับเสียงให้บางลง หรือบางจุดก็เอาออกไปเลย แต่ปรับเพิ่มจุดเชื่อมตัวถังเพื่อให้โครงสร้างทนต่อการขับแข่งในสนามมากขึ้น

หัวใจของ Integra Type-R คือเครื่องยนต์ B18C “SpecR” ซึ่งจะมีฝาครอบเครื่องพ่นสีแดง เป็นที่มาของศัพท์วัยรุ่นไทยสมัยก่อนว่า “ฝาแดง” กับ “ฝาดำ” โดยไอ้อย่างหลังก็คือเครื่อง B18C ตัว 180 ม้านั่นเอง เครื่องของ Type-R นั้นจะประกอบโดยช่างผู้ชำนาญการพิเศษ มีการแต่งพอร์ต บ่าวาล์ว เก็บรายละเอียดข้างในเครื่องเพิ่ม ทำให้แรงม้าพุ่งไปถึง 200 แรงม้า และสามารถลากรอบได้ถึง 8,600 รอบต่อนาที ตัวรถจะมีหางหลังสูงใหญ่กว่าปกติ วัยรุ่นไทยยุค 2000 ต้นที่ใช้ Civic ชอบเอาหางตัวนี้มาใส่กัน ในเวอร์ชันปี 98 มีการปรับเปลี่ยนล้อจาก 15 นิ้ว นอต 4 รู เป็น 16 นิ้ว นอต 5 รู และเปลี่ยนท่อร่วมไอเสียเป็นเฮดเดอร์ 4-1 ที่ช่วยดึงรอบกำลังให้ลงมาหาช่วงกลางมากขึ้น กดคันเร่งออกจากโค้งแล้วไปเร็วขึ้นกว่ารุ่นก่อนๆ สื่อญี่ปุ่น “Best Motoring” นำมาทดสอบ พบว่ารถเดิมๆ นี่ล่ะควอเตอร์ไมล์ได้ 14.9-15.2 วินาที ซึ่งสมัยนั้นถือว่าแสบสันมากแล้วสำหรับรถราคานี้ ขนาดตัวเท่านี้

ผมไม่เคยได้เป็นเจ้าของรถรุ่นนี้ เพราะพ่อถามว่าจะซื้อไปทำไม Honda เล็กแต่ราคามือสองในช่วงนั้นยังมีห้าหกแสน (สมัยนี้..ก็ยังไม่ได้ลดนะเผลอๆ เพิ่มไปอีกต่างหาก) และถึงแม้พ่อจะยอมให้ซื้อแต่ก็ต้องแลกด้วยการขายรถทุกคันที่ตัวเองมีในขณะนั้นแล้วหาเงินมาเพิ่มอีก แต่ในภายหลังก็มีโอกาสได้ขับรถคนอื่น รถลูกค้าที่วานให้นำไปส่งอู่เพื่อนกัน ทุกครั้งที่ได้ขับ ผมถือว่าวันนั้นทำบุญมาดี อาจจะฟังดูโอเวอร์ แต่คุณต้องลองถามคนที่เคยเป็นเจ้าของดูครับว่าความสนุกจากเครื่อง High REV มันเป็นยังไง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเป็นรถที่ยั่วให้คุณแต่งเติมเสริมมันไปเรื่อย บุคลิกของรถที่เด่น แต่ไม่ดูแพงจนอยากจอดอวดสาวมากกว่าเอาลงสนาม ซึ่งถึงแม้ทุกวันนี้จะมี Honda ใหม่ๆ กว่าหลายรุ่น ที่ยังเป็นรถโมดิฟายง่าย แต่งสนุก แต่ไม่มีอีกแล้วที่รถใหม่ๆ ของ Honda จากโรงงานจะแผดเสียงกร้าวลั่นในขณะที่เข็มวัดรอบตวัดผ่านเลข 8 กระตุ้นให้คุณพลุ่งพล่าน อยากกระแทกคลัตช์สับเกียร์แรงๆ แต่ใช้งานง่าย จุดบำรุงรักษาน้อย ทนมือทนเท้าอย่างนี้

ถ้ามีใครจะขาย บอกผมนะครับ ผมไม่ซื้อหรอก แต่ขอลองอีกสักรอบแลกกับเติมน้ำมันกลับเต็มถังให้ เอาน่า...

Pan Paitoonpong


คุณกำลังดู: Honda Integra DC2 แจ็คผู้ฆ่ายักษ์จากยุค 90s

หมวดหมู่: รีวิวรถใหม่

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด