การตรวจสุขภาพตา ที่นักบินต้องใส่ใจ

การตรวจสุขภาพตา ที่นักบินต้องใส่ใจ
  • นักบินจะต้องผ่านการตรวจสุขภาพตาทั่วไปทุกปี และจะต้องผ่านการตรวจตาอย่างละเอียดโดยจักษุแพทย์ ทุกๆ 5 ปี จนอายุครบ 40 ปี หลังจากนั้นจะตรวจทุก 2 ปี หรือเมื่อมีโรคหรือความผิดปกติใดๆ ที่จักษุแพทย์เห็นว่าจำเป็นต้องมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติม
  • โรคจอประสาทตา อาทิ โรคจอประสาทตาบวมน้ำ โรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงวัย ต้องได้รับการตรวจประเมินว่าการมองเห็นยังอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการบิน ในบางกรณีอาจต้องงดทำการบินชั่วคราวและรักษาให้หาย จึงจะสามารถกลับไปทำการบินต่อได้
  • การผ่าตัดแก้ไขสายตาที่เลนส์ตา กรณีของนักบินบางรายที่มีข้อจำกัด ทำให้ไม่สามารถผ่าตัดที่กระจกตาได้ ทางเลือก คือ การผ่าตัดแก้ไขที่เลนส์ตาด้วยการใส่เลนส์เสริม (ICL) หรือในรายของนักบินอาวุโสที่มีต้อกระจกร่วมด้วย ควรพิจารณาผ่าตัดใส่เลนส์เทียมเพื่อรักษาต้อกระจกและแก้ไขค่าสายตาในคราวเดียวกัน

“นักบิน” เป็นอาชีพที่ต้องปฏิบัติงานที่ค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อน ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์ และการตัดสินใจที่แม่นยำ เพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด การที่จะเป็นนักบินได้นั้น จึงต้องผ่านการคัดเลือกจากผู้ที่มีความเหมาะสม ทั้งบุคลิกภาพ ความรู้ความสามารถ ตลอดจนสภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงสมบูรณ์ และมีความจำเป็นต้องตรวจสุขภาพสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนด

เวชศาสตร์การบิน (Aviation Medicine) คืออะไร

เวชศาสตร์การบินเป็นสาขาการแพทย์เฉพาะทางแขนงหนึ่งของเวชศาสตร์ป้องกัน มีทั้งงานที่คาบเกี่ยวกับงานอาชีวเวชศาสตร์ คือการตรวจประเมินและดูแลสุขภาพนักบินและลูกเรือ ทั้งในด้านสรีรวิทยาและจิตวิทยาเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดขณะทำการบิน อีกส่วนหนึ่งคืองานที่คาบเกี่ยวกับงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คือการลำเลียงผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บทางอากาศ

การตรวจสุขภาพนักบิน

เนื่องจากนักบินเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยง มีความกดดัน และมีความรับผิดชอบในการทำงานสูงมากเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ ดังนั้นสุขภาพทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ การตรวจสุขภาพเพื่อออกใบสำคัญแพทย์ของนักบินประกอบใบอนุญาตให้ทำการบินนั้น อยู่ภายใต้มาตรฐานการออกใบสำคัญแพทย์ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2562 และแพทย์ที่ตรวจสุขภาพนั้น จะต้องเป็นนายแพทย์ผู้ตรวจหรือนายแพทย์ผู้ตรวจอาวุโส ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยเท่านั้น

การตรวจสุขภาพสำหรับนักบินนั้นจะประกอบด้วยการตรวจตามรายการ ดังต่อไปนี้

  • ตรวจวัดส่วนสูง ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต และชีพจร
  • ตรวจเลือดและปัสสาวะ
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • ตรวจการได้ยิน
  • ตรวจเอกซเรย์ปอด (X-ray)
  • ตรวจฟัน
  • ตรวจสุขภาพตาอย่างละเอียด ซึ่งประกอบไปด้วย
    7.1 การวัดสายตาทั้งการมองใกล้และไกล ด้วยตาเปล่าหรือแว่น
    7.2 การวัดค่าการหักเหแสงและความโค้งกระจกตา
    7.3 การวัดความดันลูกตา
    7.4 การทดสอบการมองเห็นสี
    7.5 การทดสอบลานสายตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์
    7.6 ตรวจตาโดยจักษุแพทย์ที่มีความชำนาญด้านเวชศาสตร์การบิน
  • ตรวจร่างกายโดยนายแพทย์ผู้ตรวจ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

การเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพสำหรับนักบิน

  • งดน้ำและอาหาร 8-12 ชั่วโมง
  • งดอาหารเสริมที่แพทย์ไม่ได้สั่งทุกชนิด 2-3 สัปดาห์
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง
  • ผู้ที่ใช้แว่นแก้ไขสายตา ให้นำใบสั่งแว่น หรือแว่นที่ใช้เพื่อทำการบินอันปัจจุบันมาวัดค่าสายตาด้วย
  • ผู้ที่เคยทำผ่าตัดแก้ไขสายตา ให้นำใบรับรองแพทย์ที่มีค่าสายตาก่อนผ่าตัดมาในวันตรวจ
  • หากมีโรคประจำตัวหรืออยู่ระหว่างเจ็บป่วยต้องแจ้งและนำยาที่ใช้มาให้แพทย์ดูด้วย

สุขภาพตาของนักบิน

นักบินต้องสามารถมองเห็นได้ดี เพราะการรับรู้ของนักบิน ใช้ประสาทสัมผัสการมองเห็นเป็นหลัก นักบินต้องสามารถมองเห็นได้ชัดเจนทั้งระยะไกล เพื่อการรับรู้สภาพภูมิประเทศ การกะระยะในการวิ่งขึ้นและร่อนลงจอด และระยะใกล้ อาทิ การดูแผนภูมิ ข้อมูล และการอ่านค่าต่างๆ บนหน้าจอควบคุมของเครื่อง ปัญหาการมองเห็นในนักบินส่วนใหญ่ เกิดจากความผิดปกติของสายตาหรือการหักเหของแสงในลูกตา ได้แก่ สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง และสายตายืดในผู้ที่มีอายุ ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจทำให้ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานในการตรวจร่างกาย

ปัญหาการมองเห็นและโรคทางตาที่ต้องได้รับการประเมินในนักบิน

การมองเห็น

  1. ความผิดปกติของการมองเห็น ที่เกิดจากการหักเหแสงผิดปกติในลูกตา (สายตาสั้น ยาว เอียง ยืด)
  2. ความผิดปกติของกล้ามเนื้อตา นักบินต้องไม่มีตาเหล่หรือกล้ามเนื้อตาผิดปกติ ที่ทำให้เกิดภาพซ้อน
  3. ความผิดปกติของการมองเห็นสี รับรู้สี นักบินต้องสามารถแยกแยะสีได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากเครื่องบินในปัจจุบันมีจอแสดงผลที่ใช้สัญญาณสีเพื่อจำแนกข้อมูล (Color-coded display) จำนวนมาก รวมถึงการมองเห็นภายนอกเครื่องซึ่งใช้สีเป็นสัญลักษณ์ อาทิ สีไฟบริเวณทางวิ่ง สัญญาณไฟ โดยเฉพาะสัญญาณกะระยะร่อนลงจอด (PAPI)
  4. ความผิดปกติของการมองเห็นในเวลากลางคืน โดยเฉพาะการมองเห็นแสงจ้า (Glare) การมองเห็นแสงอาทิตย์ทรงกลด (Halo) และความเปรียบต่างของภาพลดลง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดกับผู้ที่ผ่านการผ่าตัดแก้ไขสายตา
  5. ความผิดปกติของลานสายตา ซึ่งอาจเกิดจากโรคภายในลูกตา อาทิ ต้อหิน โรคของจอประสาทตาอื่นๆ หรืออาจเกิดจากโรคที่อยู่ในสมอง อาทิ เนื้องอกของต่อมใต้สมองที่มีการกดทับเส้นประสาทตา ก็เป็นได้เช่นกัน

โรคทางตาที่สำคัญ

  1. ต้อลม ต้อเนื้อ ซึ่งเกิดจากความเสื่อมสภาพของเยื่อบุตา ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคืออายุ และการสัมผัสกับรังสี UV ในแสงอาทิตย์ ซึ่งนักบินจะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ที่ทำอาชีพอื่นที่ทำงานในสำนักงาน ต้อลมและต้อเนื้อมักไม่ส่งผลต่อการมองเห็น แต่อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา จึงควรใส่แว่นกันแดดกันลม และหยอดน้ำตาเทียมในระหว่างทำการบิน
  2. ต้อกระจก คือความเสื่อมสภาพของเลนส์ตา (เลนส์ตาขุ่น) ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคืออายุ และการสัมผัสกับรังสี UV ในแสงอาทิตย์ เช่นเดียวกับต้อลมและต้อเนื้อ แต่ต้อกระจกมักส่งผลต่อการมองเห็น ทำให้การมองเห็นแย่ลง ซึ่งหากไม่ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานการตรวจ จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดใส่เลนส์เทียมก่อน จึงจะสามารถทำการบินต่อได้
  3. ต้อหิน คือการเสียของเซลล์ประสาทตา ทำให้เห็นลักษณะขั้วประสาทตาที่บางลง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคืออายุ กรรมพันธุ์ และความดันลูกตาที่สูงผิดปกติ นักบินที่มีต้อหินระยะเริ่มต้นและลานสายตายังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ อาจทำการบินต่อได้ โดยต้องมีการตรวจประเมินพิเศษตามระยะเวลาที่จักษุแพทย์เห็นสมควร
  4. โรคจอประสาทตาอื่นๆ อาทิ โรคจอประสาทตาบวมน้ำ โรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงวัย ต้องได้รับการตรวจประเมินว่าการมองเห็นยังอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการบิน ในบางกรณีอาจต้องงดทำการบินชั่วคราวและรักษาให้หายก่อนจึงจะสามารถกลับไปทำการบินต่อได้

การตรวจสุขภาพตาในนักบิน

นักบินจะต้องผ่านการตรวจตาทั่วไปทุกปี เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจร่างกายเพื่อต่ออายุใบสำคัญแพทย์ และจะต้องผ่านการตรวจตาอย่างละเอียดโดยจักษุแพทย์ ทุกๆ 5 ปี จนอายุครบ 40 ปี หลังจากนั้นก็จะทำการตรวจทุก 2 ปี หรือเมื่อมีโรคหรือความผิดปกติใดๆ ที่จักษุแพทย์เห็นว่าจำเป็นต้องมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติมในระยะเวลาที่ถี่กว่านั้น นายแพทย์ผู้ตรวจจะกำหนดข้อจำกัดให้ตรวจตาเป็นกรณีพิเศษลงในใบสำคัญแพทย์ตามระยะเวลาที่เหมาะสม

การแก้ไขปัญหาการมองเห็นในนักบิน

ปัญหาสายตาที่เกิดจากการหักเหแสงผิดปกติ อาทิ สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง และสายตายืดในผู้สูงวัย แก้ไขได้ด้วยการใช้อุปกรณ์ช่วยการมองเห็น ได้แก่ แว่นสายตา และเลนส์สัมผัส เพื่อให้การมองเห็นกลับมาปกติและทำการบินได้อย่างปลอดภัย หากไม่ต้องการใส่อุปกรณ์ช่วยการมองเห็น ยังมีอีกทางเลือกหนึ่งคือการผ่าตัดแก้ไขสายตา เพื่อให้สายตากลับมาปกติและสามารถมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น ในปัจจุบันเทคโนโลยีการผ่าตัดแก้ไขสายตาได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมาก มีความแม่นยำและความปลอดภัยสูง จึงได้รับการยอมรับจากองค์กรการบินพลเรือนทั่วโลกให้นักบินที่ผ่านการผ่าตัดแก้ไขสายตา สามารถกลับไปทำการบินได้เช่นเดียวกับนักบินที่สายตาปกติ

การผ่าตัดแก้ไขสายตาของนักบิน

1. การผ่าตัดแก้ไขสายตาที่กระจกตา

คือการผ่าตัดปรับความโค้งกระจกตาด้วยแสงเลเซอร์ ที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบันได้แก่ PRK, LASIK และ ReLEx SMILE ให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ มีภาวะแทรกซ้อนน้อย การมองเห็นกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว อย่างไรก็ตามการมองเห็นในระยะ 3 เดือนแรก อาจยังไม่คงที่ ดังนั้นจึงต้องงดบินหลังผ่าตัดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน

2. การผ่าตัดแก้ไขสายตาที่เลนส์ตา

กรณีของนักบินบางรายมีข้อจำกัด เช่น กระจกตามีความบางมากเกินไป มีความโค้งผิดปกติ หรือมีโรคของกระจกตา ทำให้ไม่สามารถทำการผ่าตัดที่กระจกตาได้ ทางเลือกในการทำการผ่าตัดแก้ไขสายตา คือ การผ่าตัดแก้ไขที่เลนส์ตาด้วยการใส่เลนส์เสริม (ICL) หรือในรายของนักบินอาวุโสที่มีต้อกระจกร่วมด้วย ควรพิจารณาผ่าตัดใส่เลนส์เทียมเพื่อรักษาต้อกระจกและแก้ไขค่าสายตาในคราวเดียวกัน

บทความโดย :น.ท.นพ. เตชิษฐ์ มีระเสน แพทย์ผู้ชำนาญด้านเวชศาสตร์ป้องกัน (แขนงเวชศาสตร์การบิน) และจักษุวิทยา Certificate of Aviation Medicine (Germany)นายแพทย์ผู้ตรวจ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
ศูนย์เวชศาสตร์การบินพลเรือน โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์

คุณกำลังดู: การตรวจสุขภาพตา ที่นักบินต้องใส่ใจ

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด