“ไข้หวัดแดด” ตากแดดนานๆ ก็เป็นหวัดได้ และอาการไม่เหมือนไข้หวัดปกติ

ไข้หวัดแดด อาการเป็นอย่างไร อันตรายหรือไม่ มาเช็กกัน

“ไข้หวัดแดด” ตากแดดนานๆ ก็เป็นหวัดได้ และอาการไม่เหมือนไข้หวัดปกติ

ท่ามกลางอากาศทะลุ 40 องศาเซลเซียสในบ้านเรา เสี่ยงเป็นโรคที่มาพร้อมแดดร้อนๆ อยู่หลายโรคด้วยกัน เช่น ฮีทสโตรก (>> 6 กลุ่มเสี่ยง "ฮีทสโตรก" จากอากาศร้อน อันตรายถึงเสียชีวิต) แต่ยังมีอีกโรคที่ชื่อคุ้นๆ แต่อาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิดนัก นั่นคือ “ไข้หวัดแดด”


ไข้หวัดแดด เป็นอย่างไร?

ไข้หวัดแดด เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ ประกอบกับต้องเผชิญอากาศที่ร้อนจัด หรือ อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ร่างกายปรับตัว กับสภาพอากาศไม่ทัน ทำให้ร่างกายเกิดการสะสมความร้อนไว้ภายใน และด้วยสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อนชื้น เชื้อโรคจึงมีชีวิตอยู่ได้นานยิ่งขึ้น


สาเหตุของโรคไข้หวัดแดด

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า การเจ็บป่วยจากภาวะอากาศร้อน เป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้ มีสาเหตุมาจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม 4 ประการ ได้แก่

  1. อุณหภูมิของอากาศที่ร้อน

  2. ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศที่สูงขึ้น

  3. การอยู่กลางแจ้งหรืออยู่ในที่ที่อาจได้รับรังสีความร้อน

  4. สภาวะที่มีลมหรือการระบายอากาศน้อย


กลุ่มเสี่ยงโรคไข้หวัดแดด

ไข้หวัดแดดนี้เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่มักพบบ่อยในกลุ่มคนเหล่านี้

  • ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น เกษตรกร นักกีฬา

  • เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง, คนอ้วน

  • ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ

  • ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

  • ผู้ที่ต้องเข้าออกบ่อยๆ ระหว่างสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ และสภาพอากาศภายนอกที่ร้อนจัด


อาการของโรคไข้หวัดแดด

  1. มีไข้ต่ำๆ (ไม่เกิน 40 องศาเซลเซียล)

  2. วิงเวียน ปวดศีรษะ

  3. ครั่นเนื้อครั่นตัว

  4. อ่อนเพลีย ไม่มีแรง

  5. ปากแห้ง คอแห้ง แสบคอ

  6. ท้องไส้ปั่นป่วน ท้องเสีย

  7. คลื่นไส้ อาเจียน

  8. นอนไม่ค่อยหลับ


ข้อแตกต่างระหว่าง ไข้หวัด VS ไข้หวัดแดด

หลายครั้งผู้ที่เป็นหวัดมักเกิดความสับสนระหว่าง ไข้หวัดแดด กับ ไข้หวัด เพราะอาการค่อนข้างคล้ายคลึงกัน แต่ในความจริงแล้ว ไข้หวัดจะมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก เจ็บคอ มีเสมหะ ร่วมด้วย ส่วนไข้หวัดแดดจะไม่ค่อยมีน้ำมูก หรือมีน้ำมูกใสๆ เพียงเล็ก น้อย และไม่มีอาการเจ็บคอ แต่จะรู้สึกขมปาก คอแห้ง และแสบคอแทน


วิธีรักษาโรคไข้หวัดแดด

ไข้หวัดแดดเกิดขึ้นจากเชื้อตัวเดียวกับไข้หวัดใหญ่ หากดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง อาการที่เกิดขึ้นมักจะหายเป็นปกติใน 2 สัปดาห์

ดังนั้นผู้ที่เป็นไข้หวัดแดด จึงควรปฏิบัติตัว ดังนี้

  1. พักผ่อนให้เพียงพอ

  2. หมั่นเช็ดตัวเพื่อระบายความร้อนภายใน

  3. ดื่มน้ำอุ่นมากๆ

  4. รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่

  5. อาจทานยาลดไข้ร่วมด้วย


วิธีป้องกันโรคไข้หวัดแดด

  1. หลีกเลี่ยงการเผชิญแสดงแดดโดยตรง หรือที่อากาศร้อนจัด หากจำเป็นควรใส่เสื้อคลุมกันแดด หรือพกร่มไปด้วย

  2. หลีกเลี่ยงสถานที่ที่ผู้คนแออัด

  3. สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ที่ระบายอากาศได้ดี

  4. ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว

  5. ทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินซีสูง เพื่อป้องกันหวัด

  6. หากต้องเผชิญสภาพอากาศที่ร้อนจัด ควรนั่งพักในที่ร่มที่อากาศถ่ายเทสะดวกสักพัก ก่อนเข้าในสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ เพื่อให้ร่างกายปรับตัวกับอุณหภูมิที่แตกต่างได้ทัน

คุณกำลังดู: “ไข้หวัดแดด” ตากแดดนานๆ ก็เป็นหวัดได้ และอาการไม่เหมือนไข้หวัดปกติ

หมวดหมู่: รู้ทันโรค

แชร์ข่าว