ไขข้อสงสัย ทำไม “กินข้าวเหนียว” แล้ว "ง่วงนอน"?

ใครเคยกินข้าวเหนียวแล้วง่วงบ้าง สงสัยกันไหมว่าทำไม

ไขข้อสงสัย ทำไม “กินข้าวเหนียว” แล้ว "ง่วงนอน"?

มีใครเคยสังเกตตัวเองหรือคนรอบข้างบ้างหรือไม่ว่า ถ้าหากวันใดที่มื้อกลางวันเป็นปาร์ตี้ส้มตำที่ต้องกินร่วมกับข้าวเหนียวแล้วล่ะก็ หลังจากกินอิ่มได้ไม่นานจะต้องรู้สึกง่วงเหงาหาวนอนขึ้นมา อาการง่วง ความอยากนอนที่ว่านี้เป็นความรู้สึกของร่างกายจริงๆ หรือเราแค่คิดไปเองกันแน่

คำตอบคือ เป็นเรื่องจริง เราไม่ได้คิดเองเออเอง แต่เพราะเหตุใด การกินข้าวเหนียวจึงทำให้เรารู้สึกง่วงนอนขึ้นมาได้

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับข้าว

ข้าว หากแบ่งตามลักษณะของเมล็ดจะแบ่งเป็นข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ข้าวทั้ง 2 มีลักษณะเหมือนกันแทบทุกอย่าง แต่ต่างกันที่เนื้อเมล็ด ข้าว โดยข้าวเป็นอาหารจำพวกแป้ง ที่ให้คาร์โบไฮเดรตในปริมาณสูง คุณค่าทางโภชนาการของข้าวในปริมาณ 100 กรัม จะให้คาร์โบไฮเดรตถึง 80 กรัม น้ำประมาณ 12 กรัม โปรตีนอีกประมาณ 7 กรัม และส่วนที่เหลือจะเป็นไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ แต่คาร์โบไฮเดรตหลักในข้าว คือ อะไมโลส (Amylose) และ อะไมโลเพกติน (Amylopactin)

อะไมโลส เป็นคารโบไฮเดรตที่มาจากน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวต่อกันเป็นเส้นตรง ย่อยง่าย พบในข้าวเจ้า (ที่หุงออกมาเป็นข้าวสวย) มากกว่าข้าวเหนียว ส่วนข้าวเหนียว จะมีอะไมโลเพกตินอยู่ในปริมาณที่มากกว่าข้าวเจ้า ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตที่มาจากน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวต่อกันแบบกิ่งก้านสาขา ซึ่งจะทำให้ย่อยได้ยากกว่าอะไมโลส

เมื่อข้าวที่เรากินเข้าสู่กระบวนการย่อยอาหาร ข้าวจะถูกย่อยเป็นน้ำตาล ซึ่งเมื่อปริมาณน้ำตาลสูงขึ้น ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ออกมาเพื่อปรับให้ปริมาณน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ปกติ อย่างไรก็ตาม การหลั่งอินซูลินทำให้มีฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) และเมลาโทนิน (Melatonin) ออกมาด้วย (เมลาโทนิน ได้จากการสังเคราะห์เซโรโทนินอีกที) ซึ่งฮอร์โมนทั้ง 2 นี้เอง คือสาเหตุของอาการง่วงนอน


"ข้าว" กับอาการ "ง่วงนอน"

ในขณะที่ร่างกายกำลังย่อยอะไมโลเพกตินในข้าวเหนียวอยู่นั้น ก็จะหลั่งเซโรโทนินและเมลาโทนินออกมามากขึ้นตามไปด้วย (เพราะอะไมโลเพกตินย่อยยาก) ทำให้เกิดอาการง่วงนอนได้มากกว่าการกินข้าวเจ้า อีกทั้งในข้าวเหนียวก็ยังมีสารทริปโตเฟน (Tryptophan) ที่ไปกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งทั้งเซโรโทนินและเมลาโทนินออกมาเพิ่มขึ้น

เซโรโทนิน มีส่วนสำคัญในการทำงานของทั้งร่างกายและจิตใจ ควบคุมเซลล์สมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ เช่น ความหิว ความง่วง จึงมีผลต่อการนอนหลับ ส่วนเมลาโทนิน จะมีผลต่อการกระตุ้นนาฬิกาของร่างกาย โดยเกี่ยวข้องกับความสว่างและความมืด (เมื่ออยู่ในห้องมืดจะหลับได้ดีกว่า) ซึ่งฮอร์โมนทั้ง 2 นี้ มีผลทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายและทำให้เกิดอาการง่วงซึม

พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่ว่าจะกินข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียว ต่างก็ทำให้เกิดอาการง่วงได้ทั้งนั้น แต่การที่กินข้าวเหนียวแล้วรู้สึกง่วงนอนกว่ากินข้าวเจ้า เพราะมันย่อยยากกว่า และใช้เวลาย่อยนานกว่าข้าวเจ้า จึงทำให้ร่างกายหลั่งสารง่วงนอนทั้ง 2 ออกมามากและนานกว่านั่นเอง

เพราะฉะนั้น การกินข้าวเหนียว ทำให้ง่วงนอนได้จริง ดังนั้น ถ้าอยากง่วงนอนและหลับสบายๆ ลองกินข้าวเหนียวก่อนนอนสักประมาณ 4 ชั่วโมงดู

อย่างไรก็ตาม มีเคล็ดลับง่ายๆ ที่จะช่วยลดอาการง่วงนอนหลังจากกินข้าว คือเคี้ยวข้าวให้ละเอียดก่อนกลืน เพราะข้าวที่ผ่านการบดอย่างละเอียด (โดยฟัน) แล้วจะทำให้ย่อยได้ง่ายขึ้น เมื่อย่อยง่าย ย่อยเร็ว ก็จะทำให้ไม่ค่อยง่วงนอน


สารอาหารอื่นๆ ในข้าว

นอกจากนี้ ข้าวยังอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญ อาทิ 

  • โปรตีน ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในร่างกาย และเสริมสร้างกล้ามเนื้อ

  • แคลเซียม เป็นองค์ประกอบของกระดูกและฟัน การกินอาหารประเภทแคลเซียมจึงเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง ควบคุมการเต้นของหัวใจ และระบบประสาททำงานเป็นปกติ

  • แมกนีเซียม มีความสำคัญต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ควบคุมระดับคอเลสเตอรอล ให้หัวใจและหลอดเลือดแข็งแรง รวมถึงบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน

  • ฟอสฟอรัส เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานของร่างกายเกือบทุกส่วน และสำคัญต่อการทำงานของไต และการส่งต่อสัญญาณทางประสาท
  • โพแทสเซียม มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายเป็นปกติ ควบคุมสมดุลน้ำในร่างกาย เสริมสร้างการทำงานของหัวใจ รักษาความดันโลหิต กำจัดของเสีย และยังเกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์

  • เหล็ก ช่วยในการบำรุงเลือด แก้ภาวะโลหิตจาง

  • วิตามินบี ข้าวเป็นแหล่งรวมวิตามินบีเกือบทุกชนิด ซึ่งวิตามินบีช่วยในการทำงานของการผลิตและควบคุมพลังงานในร่างกาย และสร้างเม็ดเลือดแดง รวมถึงกล้ามเนื้อ ระบบประสาท ควบคุมการผลิตฮอร์โมน และระบบภูมิคุ้มกัน 

  • กรดโฟลิก หรือ วิตามินบี 9 เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างกรดโฟลิกได้เอง จึงจำเป็นต้องรับจากสารอาหาร ซึ่งกรดโฟลิกมีส่วนช่วยในการสร้างเม็ดเลือด และใช้รักษาภาวะโลหิตจาง อีกทั้งการกินอาหารที่มีกรดโฟลิกเป็นประจำยังสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจได้ อีกทั้งยังลดโอกาสเสี่ยงการเกิดวุ้นนัยน์ตาเสื่อมเนื่องจากอายุได้

สารโอพีซี (OPC) ช่วยชะลอความเสื่อมถอยของร่างกาย จึงทำให้เซลล์ผิวหนังแข็งแรงไม่เหี่ยวย่น หลอดเลือดมีความยืดหยุ่น ไม่เปราะแตกง่าย และป้องกันการเสื่อมสภาพของดวงตา นอกจากนี้ยังบำรุงร่างกาย และป้องกันได้อีกหลายโรค

คุณกำลังดู: ไขข้อสงสัย ทำไม “กินข้าวเหนียว” แล้ว "ง่วงนอน"?

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด