"ไขมันทรานส์" คืออะไร? มีในอาหารใด? อันตรายอย่างไร?

ไขมันทรานส์มีอยู่ในอาหารมากมายที่หลายคนอาจไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทานอยู่ทุกวัน อาหาร หรือส่วนประกอบของอาหารที่มีไขมันทรานส์ ได้แก่ เนยขาว มาร์การีน ครีมเทียม ครีมเทียมข้นหวาน

"ไขมันทรานส์" คืออะไร? มีในอาหารใด? อันตรายอย่างไร?

หลังจากราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายกรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) เพราะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ปรากฏชัดเจนว่า ไขมันทรานส์ ส่งผลเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด Sanook! Health จึงรวบรวมเรื่องน่ารู้ รวมถึงอันตรายของไขมันทรานส์มาฝากกัน

>> ต้นเหตุโรคหลอดเลือด และหัวใจ สธ.ประกาศ ห้ามผลิต-นำเข้า-จำหน่าย “ไขมันทรานส์”

>> องค์การอนามัยโลกรณรงค์ให้ยุติการใช้ "ไขมันทรานส์" ทั่วโลก

ไขมันทรานส์ คืออะไร?

ไขมันทรานส์ (trans fat) เป็นหนึ่งในประเภทของไขมันทั้งหมดที่มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภทคือ ไขมันอิ่มตัว ไขมันไม่อิ่มตัว และไขมันทรานส์ ที่มีส่วนประกอบหลักคือ กรดไขมันไม่อิ่มตัวที่มีโครงสร้างชนิดทรานส์ พบได้เล็กน้อยจากไขมันในเนื้อสัตว์ และนม แต่ส่วนใหญ่ไขมันทรานส์จะเป็นไขมันที่ได้จากการสังเคราะห์ระหว่างกระบวนการผลิตอาหาร โดยการเติมไฮโดรเจนเข้าไปในน้ำมันพืช เพื่อทำให้น้ำมันพืชแข็งตัวมากขึ้น และทำให้ไขมันที่ได้ดังกล่าวช่วยยืดอายุของอาหารได้มากขึ้น และเพิ่มความคงตัวของรสชาติอาหารได้ นอกจากนี้ยังมีราคาถูกกว่าไขมันทั่วไป ดังนั้นวงการอุตสาหกรรม หรือผู้ประกอบการต่างๆ จึงนิยมใช้อาหาร หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์มาประกอบอาหาร

อาหาร หรือส่วนประกอบของอาหารที่มีไขมันทรานส์ ได้แก่

เนยขาว มาร์การีน ครีมเทียม ครีมเทียมข้นหวาน (ที่นิยมนำมาใช้ทำขนม ผสมเครื่องดื่มต่างๆ แทนเนยสด ครีมจริง หรือนมข้นหวานล้วน) ดังนั้นเราถึงพบอาหารที่มีไขมันทรานส์สูงในอาหารตระกูลขนมหวานฝรั่งอย่าง คุกกี้ เค้ก โดนัท วิปครีม พาย ขนมกรุบกรอบต่างๆ อาหารฟาสต์ฟู้ดต่างๆ เครื่องดื่มต่างๆ และอาหารที่มีส่วนประกอบที่กล่าวไว้ข้างต้นทั้งหมด

นอกจากนี้ หากคิดว่าสามารถพลิกดูส่วนประกอบของอาหารจากตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการที่ผลิตภัณฑ์แล้ว แม้ว่าจะพบว่ามี Trans Fat หรือไขมันทรานส์เป็นเลข 0 แต่ก็ไม่ได้หมายความในอาหารนั้นๆ จะไม่มีไขมันทรานส์อยู่เลย เพราะผู้ผลิตอาศัยช่องโหว่ของการจำกัดตัวเลขในฉลากบรรจุภัณฑ์ว่า หากมีปริมาณของส่วนประกอบนั้นๆ น้อยกว่า 1 กรัมกล่าวคือตั้งแต่ 0.9 กรัมเป็นต้นไป จะสามารถปัดตัวเลขให้เหลือแค่ 0 โดยไม่ต้องแสดงจุดทศนิยมได้ ดังนั้นในหลายๆ ผลิตภัณฑ์จึงอาจจะมีไขมันทรานส์ได้มากถึง 0.9 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภคนั่นเอง หากผลิตภัณฑ์นั้นๆ ใส่ในบรรจุภัณฑ์ที่แสดงอาหารทั้งหมดมี 2 หน่วยบริโภค คือต้องแบ่งทาน 2 ครั้ง นั่นอาจหมายถึงมีความเป็นไปได้ว่าเราอาจมีความเสี่ยงที่จะทานไขมันทรานส์เข้าไปมากถึง 1.8 กรัมนั่นเอง (หากเราทานคนเดียวหมดทั้งห่อ/กล่องนั้นๆ) แม้ว่าในฉลากของผลิตภัณฑ์จะแสดงตัวเลขว่ามีไขมันทรานส์ 0 กรัม นั่นเอง

>> ปริมาณไขมันทรานส์ในอาหาร ยิ่งสูงยิ่งเสี่ยงโรค

อันตรายของไขมันทรานส์

การทานอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์มากๆ หรือติดต่อกันนานๆ อาจส่งผลเพิ่มความเสี่ยงอันตรายต่อร่างกาย ดังนี้

  • โรคอ้วน

  • หัวใจ และหลอดเลือด เช่น หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดหัวใจตีบ/ตัน

  • หลอดเลือดสมองตีบ/ตัน

  • ไขมันในเลือดสูง

  • โรคเบาหวาน

  • ความดันโลหิตสูง

  • โรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์

  • จอประสาทตาเสื่อม

  • นิ่วในถุงน้ำดี

ซึ่งโรคเหล่านี้อันตราย และหากมีอาการรุนแรงจะส่งผลต่อชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่นาที หากเราทานอาหารที่มีไขมันทรานส์ค่อนข้างมาก และไม่เคยตรวจสุขภาพหาค่าไขมันในเลือดมาก่อน

ลด ละ เลิก การทานไขมันทรานส์

อาจจะเป็นเรื่องยากหากเราไม่ได้ซื้อวัตถุดิบมาปรุงอาหารเอง หรือในท้องตลาดอาจจะมีวัตถุดิบที่ปราศจากไขมันทรานส์ได้น้อย แต่หลังจากมีการประกาศให้ผู้ผลิต และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันทรานส์หยุดการผลิต จำหน่าย และเร่งปรับปรุงสูตรเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ประกอบอาหารที่ไม่มีไขมันทรานส์ได้แล้ว (ใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนเต็มส่วน หรือ Fully Hydrogenated Oils แทน) เชื่อว่าคนไทยน่าจะหาอาหาร หรือวัตถุดิบทำอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ง่ายมากยิ่งขึ้น แม้ว่าจะต้องแลกมากับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่อาจจะสูงบขึ้น แต่หากเราได้ทานอาหาร และขนมที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น คนไทยก็จะได้ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ น้อยลงเช่นเดียวกัน

คุณกำลังดู: "ไขมันทรานส์" คืออะไร? มีในอาหารใด? อันตรายอย่างไร?

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด