คลายข้อสงสัยนักปั่นหน้าใหม่ ทำไงไม่ "เจ็บก้น-ชาเป้า"

คลายข้อสงสัยนักปั่นหน้าใหม่ ทำไงไม่ "เจ็บก้น-ชาเป้า"

          เป็นปัญหาสำหรับนักปั่นหน้าใหม่เกือบทุกราย หลังลงจากอานจักรยานคันงามของตัวเองแล้ว ต้องได้ของแถมหลังการขี่เป็นอาการเจ็บปวด หรือบาดเจ็บไม่ว่าจะเป็นปวดคอ ปวดหลัง ปวดเข่า แม้แต่เจ็บก้น และ ชาเป้า!!!
          นรภัทร์ สกุลสุรเอกพงศ์ นักกายภาพบำบัด ประจำร้านร้านจักรยาน Velo Fabric ย่านประชาชื่น อธิบาย "ประชาชาติธุรกิจออนไลน์" ในกรณีข้างต้นว่า ปัจจุบันนี้คนซื้อจักรยานมักจะเดินเข้าไปในร้านเห็นว่าสวย ลองคร่อมขี่ได้ก็ซื้อเลย หลังจากนำไปขี่แล้วอาจเกิดปัญหาตามมาทันทีหลังการปั่นจักรยาน เพราะจักรยานที่ปั่นและตัวผู้ขี่นั้นอยู่ในองศาที่ไม่ถูกต้อง
          ซึ่งการบาดเจ็บนั้นไม่ได้มีผลระยะสั้น แต่มีผลระยะยาว เช่น การปรับมุมของบันไดเหยียบกับอานนั่ง ถ้ามุมไม่เหมาะสมในอนาคตมีโอกาสเข่าเสื่อมสูง
          "ทำไมแค่ออกกำลังกายต้องยุ่งยากขนาดนี้" คงเป็นความคิดแว๊บแรกของใครหลายคนอย่างแน่นอน แต่นักกายภาพมีคำตอบว่า การออกกำลังกายไม่ว่ากีฬาอะไรก็ตามต้องเลือกให้เหมาะสมกับตัวเอง เพราะการออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงไม่ใช่ออกกำลังกายให้ร่างกายบาดเจ็บ และหากคุณอยากออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรง และอยู่ไปได้นาน ๆ คุณต้องศึกษาในเรื่องที่คุณออกกำลังกาายให้ดีเสียก่อน


            ดังนั้น ร้านจักรยานใหญ่ ๆ มักจะมีแผนกฟิตติ้ง (Fitting) ไว้คอยให้บริการลูกค้าจักรยานด้วย ซึ่งที่ Velo Fabric ไม่เพียงมีการฟิตติ้ง และช่างจักรยานผู้ชำนาญเท่านั้น ยังมีให้นักกายภาพบำบัดมาคอยบริการร่วมอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุดอีกด้วย โดยที่ร้านจะใช้เวลาฟิตติ้งจักรยาน 3 ชั่วโมง ประกอบด้วย
             แนะนำให้คำปรึกษาการเลือกชนิดและขนาดของจักรยาน การแนะนำปรับแต่งท่าทางการขี่จักรยานที่ถูกต้อง สมดุลย์ระหว่างประสิทธิภาพและความสบาย การปรับปรุงท่าทางและตำแหน่งการขี่จักรยานเพื่อลดอาการเจ็บ และในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ที่ร้านจะเริ่มนำระบบ Software และ Simulation มาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อปรับแต่งการปั่นจักรยานให้เกิดการ Optimize ที่สุด
            นรภัทร์ อธิบายคร่าว ๆ ว่า อันดับแรกจะนำจักรยานแบบเดิมมาบันทึกภาพ ก่อนที่ผู้ขี่จะขึ้นปรับองศาจะต้องวัดร่างกาย และทำการยืดกล้ามเนื้อมัดหลัก ๆ และมัดสำคัญ อาจมีการรักษาทางกายภาพบำบัดเพิ่มเติม เพื่อให้ร่างกายได้ยืดหยุ่นที่สุด จากนั้นจะวัดความยาวของกล้ามเนื้อ และองศาการเคลื่อนไหวของข้อต่อเพื่อหาข้อจำกัดในการปรับจักรยาน
            และดูว่าท่าการปั่น แขน ขา หลัง เหยียดได้ปกติหรือไม่ เขาเคลื่อนที่ได้ปกติไหม และความยาวกล้ามเนื้อ เช่น กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง เขาสามารถเหยียดได้แค่ไหน ความสามารถเหยียดของเขาว่าได้เยอะหรือน้อย ถ้าเขาเหยียดในเกณฑ์ปกติ ก้มหลังได้ในเกณฑ์ปกติ เราก็สามารถบอกได้ว่าคนนี้สามารถจะฟิตติ้งจักรยานได้อยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่ามีแอโรไดนามิกส์มากขึ้น
            "บางคนปั่นเสือหมอบยังไงก็ต้องอยากได้ท่าสวยถึงแม้ร่างกายเขาไม่เหมาะกับการที่ต้องก้มมาก ๆ ก็ตาม เราอาจจะต้องชั่ง และคุยกับลูกค้าให้รู้เรื่องว่า คุณอาจจะก้มได้น้อยหน่อยไม่อย่างนั้นร่างกายจะบาดเจ็บ แต่อย่างไรก็ตามร่างกายคนเรามันพัฒนาความแข็งแรงกล้ามเนื้อได้ ซึ่งความแข็งแรงกล้ามเนื้อที่จะทำให้เราก้มได้มาก คือ กล้ามเนื้อมัดลึก ๆ ของแกนกลางร่างกาย ภาษาอังกฤษ เรียก Core muscle รวมไปถึงความยืดหยุ่นของหลังส่วนล่างอีกด้วย ซึ่งเมื่อผมเก็บข้อมูลต่าง ๆ จากการตรวจร่างกายแล้ว ก็จะนำไปประเมินร่วมกับช่างจักรยานก็จะสามารถกะเกณฑ์ได้ว่าผู้ขี่จะขี่ในมุมองศาประมาณเท่าไหร่"

ปัจจุบันร้านจักรยานที่มีนักกายภาพบำบัดในเมืองไทยคาดว่ามีไม่เกิน3ที่
          นรภัทร์เล่าว่า เคสล่าสุดมาที่ร้านบอกว่าขี่จักรยานล้มมา 4 รอบ ล้มลงที่หัวไหล่ข้างเดียว ทำให้หัวไหล่ไม่เท่ากัน จากการตรวจร่างกายพบว่าข้อไหล่ไม่มั่นคง เวลาเขาปั่นจะรู้สึกปวดหัวไหล่มาก แม้กระทั่งเวลาขึ้นไปคร่อมแล้วจะรู้สึกว่าหัวไหล่ข้างซ้ายเกร็งตลอดเวลา เราบอกลูกค้าของเราบอกว่าเวลาตอนปั่นให้ยกหัวไหล่ขึ้นนิดหนึ่ง เหมือนยักไหล่ขึ้นเบา ๆ ให้สองข้างขึ้นเท่ากันโดยที่ตนเป็นคนบอกว่าเท่านี้เท่ากันแล้ว ให้จำความรู้สึกนี้ไว้แล้วเกร็งแบบนี้ไว้เรื่อย ๆ พอปั่นไป 5 นาที ลูกค้าบอกตนว่าไม่ปวดแล้ว จะเห็นว่าในส่วนนี้ถ้าคนไม่ได้เรียนมาในสายนี้เขาจะไม่รู้เลย
          แล้วคนปั่นจักรยานส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองปกติแล้วแต่จักรยานผิดปกติฉะนั้นเจ็บทีไรก็เปลี่ยนจักรยาน เปลี่ยนคันบ้าง เปลี่ยนอุปกรณ์บ้าง ปรับเองบ้าง ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ ดังนั้นไม่ใช่เพียงมาปรับมุมให้ถูกต้อง แต่รวมไปถึงท่าทางในการปั่นที่ถูกต้องด้วย ก็จะทำให้กีฬาสนุกมากขึ้น


              หลังจากที่ปรับทุกอย่างเรียบร้อยทางร้านก็จะให้ลูกค้าขึ้นจักรยาน แน่นอนว่าทุกคนจะรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง "อะไรที่รู้สึกว่าใช่แล้วตำแหน่งนี้" เราถามต่อ "สบาย" นรภัทร์ ตอบและว่า ความสบายเป็นอย่างแรกเลย ถ้าสบายเมื่อไหร่ก็จะทำให้เราไม่ต้องเกร็งมาก กล้ามเนื้อจะสามารถทำงานได้ปกติขึ้น
              นรภัทร์บอกว่า นักปั่นหน้าใหม่ที่มาหาที่ร้าน ส่วนใหญ่จะมีอาการมือชา ปวดคอ ปวดหลัง ปวดเข่า หรือ ปวดก้น ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ว่าใช้อุปกรณ์ไม่เหมาะสม เพราะพื้นฐานของเราไม่ได้อยากให้ลูกค้าเปลี่ยนจักรยาน แต่อยากให้มาปรับจักรยาน

ปั่นยังไงเจ็บก้น-ชาเป้า

         กับ ปัญหาสุดคลาสสิคของนักปั่นหน้าใหม่ก็คือเจ็บก้น-ชาเป้าหากอาการร้ายแรงสุด สำหรับคุณผู้ชายนั้นถึงขั้นเสื่อมสมรรถภาพทางเพศเลยทีเดียว สำหรับปัญหาชาเป้านี้  นรภัทร์ อธิบายว่า บริเวณอวัยวะเพศเป็นทางผ่านของเส้นประสาท และหลอดเลือดดำ-แดง ดังนั้นการเลือกเบาะจักรยานผิดประเภทจะทำให้เกิดการกดอวัยวะส่วนนี้ เป็นที่มาของอาการเจ็บ และ ชา
การเลือกเบาะที่เหมาะสมมีหลักคร่าว ๆ ดังต่อไปนี้
          1.เบาะต้องแข็งพอ คือ ต้องไม่นิ่มยวบยาบ หลายคนคิดว่าเบาะจักรยานยิ่งนิ่มยิ่งสบาย แต่จริง ๆ แล้วท่าปั่นจักรยานเสือหมอบ เสือภูเขาต้องโน้มตัวไปข้างหน้า ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งนั่งปกติของคนเรา เพราะการโน้มไปข้างหน้าเป็นการเพิ่มแรงกดให้เยื้องไปทางอวัยวะเพศมากขึ้น ซึ่งหากเราใช้เบาะนุ่ม นั่นแปลว่าส่วนข้างของเบาะจะยวบลง พร้อมกับดันส่วนตรงกลางให้นูนขึ้นโดยอัตโนมัติ
          2.พื้นที่เบาะต้องกว้างพอสำหรับตำแหน่งกระดูกเชิงกรานแน่นอนว่าผู้หญิงจะมีกระดูกเชิงกรานที่กว้างกว่าผู้ชายเพราะธรรมชาติต้องคลอดลูก ดังนั้นส่วนที่นั่งของเบาะจักรยานต้องกว้างกว่ากระดูกเชิงกรานของเรา หากเรานั่งอานที่แคบนั่นแปลว่ากระดูกเชิงกรานจะถูกบังคับให้ถ่างออกตลอดเวลาด้วยน้ำหนักตัว
ความสำคัญของการฟิตติ้งจักรยานกับเบาะจักรยาน
          เพราะว่าตัวเบาะนั้นเกี่ยวข้องกับมุมองศาของขาและแขนถ้าหากเลื่อนเบาะมาข้างหน้ามากเกินไปน้ำหนักแทนที่จะกดลงที่เท้าพอดี ก็ต้องไปลงที่ลูกสะบ้าหัวเข่าแทน เป็นเหตุให้เข่าเสื่อม หรือบาดเจ็บที่เข่าในอนาคตได้ และหากเลื่อนไปข้างหลังมากเกินไป ขาก็จะเหยียดมากเกินเป็นเหตุเรื่องการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อหลังหัวเข่า
          ดังนั้นตำแหน่งของเบาะก็สำคัญหากตำแหน่งถูกต้องก็ไม่จำเป็นต้องปรับเพิ่มอุปกรณ์อื่น ๆ
          "เราเอาจักรยานไปออกกำลังกาาย ไม่ได้เอาไปทำร้ายตัวเอง จักรยานไม่เหมือนเสื้อสำเร็จรูปที่เป็นไซส์ S M L เสียทีเดียว ขนาดเป็นเพียงโครง แต่หากจะให้เหมาะสม เบาะ บันได แฮนด์ ต่างเป็นมุมเฉพาะ ดังนั้นการฟิตติ้งจึงมีความสำคัญมาก"
            สำหรับผู้ที่สนใจ ร้าน Velo fabric มีนักกายภาพอยู่ตลอด ยกเว้นวันอาทิตย์ และจันทร์ และหากต้องการใช้บริการสามารถโทรนัดและถามราคาได้ที่ เฟซบุ๊ค Velofabric

 

 

 

 

คุณกำลังดู: คลายข้อสงสัยนักปั่นหน้าใหม่ ทำไงไม่ "เจ็บก้น-ชาเป้า"

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด