คุณแม่ “ตั้งครรภ์-เตรียมคลอด-ให้นมบุตร” ควรวางแผนวัคซีนอย่างไร
หญิงตั้งครรภ์จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ควรเข้ารับวัคซีนโควิดในสถานการณ์การระบาด แต่ในขณะเดียวกันก็มีวัคซีนตัวอื่นๆ ที่ควรฉีดขณะที่ตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันโรคที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน 3 วัคซีนที่ CDC สหรัฐอเมริกาได้ระบุให้ฉีดเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ ได้แก่
วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน 1 เข็ม และวัคซีนป้องกันบาดทะยัก 2 เข็ม โดยฉีดได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 27 – 36 สัปดาห์ เพื่อช่วยปกป้องคุ้มกันคุณแม่ เนื่องจากในไตรมาส 3 ภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อจะลดน้อยลง ทำให้คุณแม่ป่วยและติดเชื้อได้ง่าย
วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 1 เข็ม
เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้หญิงตั้งครรภ์ป่วยเป็น ไข้หวัดใหญ่
จึงช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัดใหญ่
และช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์
วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 (Covid-19)
เพื่อป้องกันไม่ให้หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ
และส่งผลอันตรายต่อตัวเองและบุตรในครรภ์ได้มากกว่าคนทั่วไป
เนื่องจากประสิทธิภาพในการทำงานของปอดในหญิงที่กำลังตั้งครรภ์จะน้อยกว่าคนทั่วไป
สาเหตุมาจากหญิงตั้งครรภ์จะมีมดลูกที่ใหญ่ขึ้น และเบียดบังกะบังลม
ทำให้ปริมาตรปอดลดน้อยลงได้
และตัวคุณแม่จะมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าคนปกติอยู่แล้วด้วย
หากมีการติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) จะมีโอกาสที่จะเสียชีวิต หรือ
แอดมิท ICU มากกว่าคนทั่วไป
ตรวจสุขภาพจากแพทย์ประจำตัวก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 จำเป็นไหม
จำเป็น เนื่องจากมาตรฐานของประเทศไทย หญิงตั้งครรภ์สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 (Covid-19) ได้ เมื่ออายุครรภ์ ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เพราะฉะนั้นคุณแม่จำเป็นต้องพบแพทย์ประจำตัวเพื่อเช็กอายุครรภ์ที่แน่นอน ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถฉีดได้หรือไม่ และเป็นการตรวจเช็กความแข็งแรงของลูกในครรภ์ก่อนว่า น้องแข็งแรงดีไหม สภาวะการเต้นของหัวใจอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่
คุณหมอจะตรวจเช็กโรคประจำของคุณแม่ หรือการรับประทานยาบางตัวว่ามีผลต่อการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 (Covid-19) หรือไม่
การเตรียมตัวของคุณแม่ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19)
การเตรียมตัวของคุณแม่ก่อนฉีดวัคซีน เหมือนคนทั่วไป นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้เยอะๆ เตรียมตัวเองให้แข็งแรง หากจะฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) และไข้หวัดใหญ่ในหญิงตั้งครรภ์ ควรเว้นระยะเวลาในการฉีดห่างกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์
คุณแม่หลังคลอดให้นมบุตร สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่
คุณแม่หลังคลอดให้นมบุตร สามารถฉีดได้เลยไม่มีข้อห้าม ไม่ต้องกังวลเรื่องแผลผ่าคลอด เพราะตัววัคซีนเองไม่ได้มีผลต่อแผล และไม่มีผลต่อลูก หรือน้ำนม ไม่ได้มีผลทำให้น้ำนมลดน้อยลง
ระยะเวลาที่สามารถฉีดวัคซีนป้องกัน Covid-19 ได้หลังคลอดบุตร
หลังจากคลอดหากคุณแม่อยู่สภาวะแข็งแรง ปลอดภัย มีโรคประจำตัว หรือมีอาการแทรกซ้อน สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 (Covid-19) ได้ทันที หรือในบางกรณีคุณหมอประจำตัวอาจจะให้คุณแม่มีการพักผ่อนเพื่อดูอาการหลังจากคลอดบุตร ผ่าน 7 วันแรก เนื่องจากคุณแม่บางรายอาจมีแผลติดเชื้อ มดลูกอักเสบ ทำให้มีไข้ได้
ฉีดวัคซีนโควิดไปแล้ว 1 เข็ม แต่เข็ม 2 อยู่ระหว่างช่วงคลอด สามารถเลื่อนได้ไหม และต้องฉีดหลังคลอดระยะเวลาเท่าไร
การคลอดบุตรไม่มีผลต่อการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 (Covid-19) สามารถเลื่อนออกไปได้ ประมาณ 7 วัน
สุดท้ายนี้คุณหมอฝากคำแนะนำวิธีดูแลตัวเองในขณะตั้งครรภ์ในช่วงการระบาด
ถึงการมาโรงพยาบาลของคุณแม่
แน่นอนว่าโรงพยาบาลเป็นสถานที่ที่มีคนป่วยเยอะ
คุณแม่ควรสวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น หรือถ้าเพื่อความมั่นใจ ใส่หน้ากาก
N95 และแปะเทปตรงขอบเพื่อลดช่องว่าง หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คนอื่นๆ
ควรนัดพบแพทย์ในเวลาที่พอดี
เพื่อลดระยะเวลาการอยู่ในโรงพยาบาลให้น้อยที่สุด การล้างมือด้วยเจล
หรือสเปรย์แอลกอฮอล์
บทความโดย : พญ.ชลธิดา เอี่ยมสำอาง สูตินรีแพทย์ รพ.เปาโลโชคชัย 4
คุณกำลังดู: คุณแม่ “ตั้งครรภ์-เตรียมคลอด-ให้นมบุตร” ควรวางแผนวัคซีนอย่างไร
หมวดหมู่: แม่และเด็ก