ความหมายของการไหว้และการกราบ แต่ละระดับมีความต่างกันอย่างไร
การไหว้และการกราบคือมารยาทของการทักทายในวัฒนธรรมไทย ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายระดับตามความเคารพและความอาวุโสของผู้รับไหว้ ในแต่ละระดับมีความหมายต่างกันอย่างไร เรารวมข้อมูลมาให้ดังนี้
การไหว้และการกราบ มีความหมายต่างกันอย่างไร
สำหรับการไหว้นั้น ในวัฒนธรรมไทยคือการทักทายและแสดงความเคารพต่อกัน ซึ่งการไหว้ถูกแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือไหว้พระ ไหว้ผู้อาวุโส และไหว้ผู้ที่เสมอกัน แต่ละระดับมีรูปแบบการไหว้และความหมายแตกต่างกันไป ส่วนการกราบนั้นหมายถึงการแสดงความเคารพอย่างสูง แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือการกราบเบญจางคประดิษฐ์ และการกราบผู้ใหญ่
การไหว้ 3 ระดับ
1. ระดับที่ 1: การไหว้พระ หมายถึง การไหว้พระรัตนตรัยรวมทั้งปูชนียวัตถุและปูชนียสถานที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ในกรณีที่ไม่สามารถกราบเบญจางคประดิษฐ์ได้ โดยประนมมือขึ้นให้นิ้วหัวแม่มือจรดที่กลางระหว่างคิ้ว นิ้วชี้แตะที่เหนือหน้าผาก ก้มหัวให้หน้าขนานกับพื้น ค้อมหลังพอประมาณ
2. ระดับที่ 2: การไหว้ผู้มีพระคุณและผู้อาวุโส ได้แก่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ครู อาจารย์และผู้ที่เราเคารพอย่างสูง โดยประนมมือขึ้นเช่นเดียวกับการไหว้พระ แต่นิ้วหัวแม่มือจรดปลายจมูก นิ้วชี้จรดระหว่างคิ้ว
3. ระดับที่ 3: การไหว้บุคคลทั่วไปและผู้เสมอกัน ให้ประนมมือขึ้นก้มศีรษะเล็กน้อย หัวแม่มือจรดที่ปลายคาง นิ้วชี้แตะที่จมูก ค้อมหลังพอประมาณ ส่วนการไหว้ผู้เสมอกันทั้งชายและหญิงให้ยกมือขึ้นไหว้พร้อมกัน หรือในเวลาใกล้เคียงกัน
การกราบ 2 ระดับ
1. ระดับที่ 1: การกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ เป็นการใช้อวัยวะทั้ง 5 คือ หน้าผาก มือ และข้อศอกทั้ง 2 เข่าทั้ง 2 สัมผัสกับพื้น การกราบมี 3 ลักษณะ คือ
ท่าเตรียม
- ชาย นั่งคุกเข่าตัวตรงปลายเท้าตั้ง ปลายเท้าและส้นเท้าชิดกัน นั่งบนส้นเท้า เข่าทั้งสองห่างพอประมาณ มือทั้งสองวางคว่ำเหนือเข่าทั้งสองข้าง นิ้วชิดกัน (ท่าเทพบุตร)
- หญิง นั่งคุกเข่าตัวตรงปลายเท้าราบ เข่าถึงปลายเท้าชิดกัน นั่งบนส้นเท้า มือทั้งสองว่างคว่ำเหนือเข่าทั้งสองข้าง นิ้วชิดกัน (ท่าเทพธิดา)
ท่ากราบ
- จังหวะที่ 1 (อัญชลี) ยกมือขึ้นในท่าประนมมือ
- จังหวะที่ 2 (วันทา) ยกมือขึ้นไหว้ตามระดับที่ 1 การไหว้พระ
- จังหวะที่ 3 (อภิวาท) ทอดมือทั้งสองลงพร้อมๆ กัน ให้มือและแขนทั้งสองข้าง ราบกับพื้น คว่ำมือห่างกันเล็กน้อย พอให้หน้าผากจรดพื้นระหว่างมือทั้งสอง
- ชาย ศอกทั้งสองข้าง ต่อจากเข่าราบไปกับพื้น หลังไม่โก่ง
- หญิง ศอกทั้งสองข้างคร่อมเข่าเล็กน้อย ราบไปกับพื้น หลังไม่โก่ง
2. ระดับที่ 2: การกราบผู้ใหญ่ เป็นการกราบผู้มีพระคุณและผู้ที่มีอายุมากกว่า ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ครู อาจารย์ และผู้ที่เราเคารพ ลักษณะการปฏิบัติของชายและหญิงเหมือนกัน คือ นั่งพับเพียบทอดมือทั้งสองข้างลงพร้อมกัน ให้แขนทั้งสองคร่อมเข่าที่อยู่ด้านล่างเพียงเข่าเดียว มือประนมตั้งกับพื้นไม่แบมือ ค้อมตัวลงให้หน้าผากแตะส่วนบนของมือที่ประนม ในขณะกราบ ไม่ต้องกระดกนิ้วมือขึ้นมารับหน้าผาก และกราบเพียงครั้งเดียว
นอกจากการกราบ 2 ระดับนี้ที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันแล้ว ยังมีการกราบในรูปแบบอื่นๆ ที่มักใช้เพื่อแสดงความเคารพอย่างสูงในโอกาสพิเศษ เช่น
- กราบเท้า มักใช้เพื่อแสดงความเคารพอย่างสูงแก่บุคคลที่กราบ เช่น กราบเท้าพ่อแม่ กราบเท้าบุคคลที่เคารพหรือผู้ที่นับถือ
- กราบสามี ธรรมเนียมไทยในอดีตมีความเชื่อว่าภรรยาต้องกราบสามีก่อนนอนเพื่อแสดงความเคารพที่สามีเลี้ยงดูอย่างดีจนสุขสบาย แต่ในปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนไป ภรรยาและสามีต่างมีหน้าที่การงานเพื่อหารายได้ของตนเอง การกราบสามีก่อนนอนจึงค่อยๆ หายไป แต่กลายเป็นธรรมเนียมเล็กๆ ในพิธีแต่งงานที่ให้เจ้าสาวกราบตักเจ้าบ่าวเพื่อเป็นการฝากเนื้อฝากตัวให้เขาดูแลแทน
อ้างอิงข้อมูล: กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง
คุณกำลังดู: ความหมายของการไหว้และการกราบ แต่ละระดับมีความต่างกันอย่างไร
หมวดหมู่: วัฒนธรรม