"241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์" ศรัทธากับการไหว้ศาลหลักเมือง
ครบรอบ "241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์" วันสถาปนากรุงเทพมหานคร ซึ่งมีพระราชพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2325 บรรยากาศที่ศาลหลักเมืองในวันนี้จึงมีความคึกคัก มีประชาชนมากราบไหว้จำนวนมาก โดยหลายคนซื้อชุดไหว้ เครื่องสักการะ พร้อมอธิษฐานขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต
ด้วยเหตุนี้ ในวันที่ 21 เมษายน ของทุกปี จึงเป็นวันสถาปนากรุงเทพมหานคร ซึ่งในปี 2566 นี้ จะเป็นวันครบรอบ 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ โดยตามประเพณีเดิมของคนไทย เชื่อกันว่า “ศาลหลักเมือง” เป็นปูชนียสถานสำคัญอันศักดิ์สิทธิ์ของประเทศไทย รวมถึงเป็นศาลหลักเมืองของชาวกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระหลักเมือง และเทพารักษ์ทั้ง 5 ที่คอยปกปักรักษาเมืองและประเทศชาติเอาไว้
ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บริเวณมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของท้องสนามหลวง ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ใกล้ๆ กับกระทรวงกลาโหม เป็นศาลที่สร้างขึ้น พร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน) เป็นราชธานีในสมัยรัชกาลที่ 1 ในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2325 โดยศาลหลักเมืองได้ประกอบพิธีตามธรรมเนียมของพราหมณ์ ซึ่งเชื่อว่าก่อนที่จะสร้างเมือง จะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองไว้ในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น แต่เดิมเสาหลักเมืองใช้เป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์ มีไม้แก่นจันทน์ประกับนอก ยอดเสารูปบัวตูม
สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร มีเสาหลักเมือง 2 เสา ด้วยกัน เนื่องมาจากเสาเดิมมีการชำรุดลงอย่างมาก ทำให้ในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเสาหลักเมืองต้นใหม่แทนต้นเดิมที่ชำรุดไป เสาหลักเมืองใหม่นี้ทำมาจากไม้สัก เป็นแกนอยู่ภายในประกับด้วยไม้ชัยพฤกษ์ยอดเม็ดทรงมัณฑ์ และผูกดวงชาตาพระนครขึ้นใหม่ เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยทั้งหลาย ประสบความเจริญรุ่งเรืองถาวรยิ่งขึ้นนั่นเอง
จากที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากเสาหลักเมืองแล้ว ภายในศาลหลักเมือง ยังมีศาลเทพารักษ์ เพื่อเป็นที่สถิตแห่งเทพารักษ์ทั้ง 5 ได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และ เจ้าหอกลอง และอาคารหอพระพุทธรูปขึ้นภายในอีกด้วย ซึ่งเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน
ลำดับวิธีการไหว้ศาลหลักเมืองที่ถูกต้อง จะมีอยู่ 5 จุดด้วยกัน ดังนี้
- จุดที่ 1 หอพระพุทธรูป
- จุดที่ 2 องค์พระหลักเมือง จำลอง
- จุดที่ 3 องค์พระหลักเมือง องค์จริง
- จุดที่ 4 หอเทพารักษ์ทั้ง 5
- จุดที่ 5 เติมน้ำมันพระประจำวันเกิด และสะเดาะเคราะห์
ด้านในมีบริการชุดของไหว้พร้อมให้บริการประกอบด้วย พวงมาลัยดอกดาวเรือง ดอกบัว น้ำมันตะเกียง ผ้าสามสี ธูป ในราคาชุดละ 60 บาท หรือหากท่านใดสะดวกนำมาเองก็ได้เช่นกัน ภายในงานยังมีบริการจำหน่ายวัตถุมงคลหรือของที่ระลึก เช่น พระเหรียญ ชุดน้ำมนต์ และโมเดลจำลองเสาหลักเมือง ให้ได้ติดไม้ติดมือกลับไปเพื่อเป็นสิริมงคล
โดยความเชื่อในการกราบไหว้ศาลหลักเมือง และการสักการะสิ่งศักดิ์สำคัญภายในบริเวณศาลหลักเมือง จะส่งผลดีต่อตนเอง และเสริมสิริมงคลในการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก ช่วยส่งเสริมในเรื่องของความมั่นคงในชีวิต ครอบครัว คู่ครอง และหน้าที่การงานเฉกเช่นเดียวกันกับเสาหลักเมือง นอกจากในวันครบรอบแล้ว ในทุกๆ ต้นปี และวันสำคัญ ผู้คนก็จะนิยมมากราบไหว้เพื่อเสริมสิริมงคลให้แก่ตนเอง ซึ่งศาลหลักเมืองเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน.
ภาพ: ชุติมน เมืองสุวรรณ
คุณกำลังดู: "241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์" ศรัทธากับการไหว้ศาลหลักเมือง
หมวดหมู่: วัฒนธรรม