วันมาฆบูชาคือวันอะไร พร้อมประวัติและความสําคัญวันมาฆบูชา

วันมาฆบูชาคือวันอะไร พร้อมประวัติและความสําคัญวันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา 2566 นี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 6 มีนาคม หรือวันเพ็ญ เดือน 3 ความสำคัญของวันมาฆบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาติโมกข์ “ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์” ซึ่งหลายจังหวัดสามารถจัดกิจกรรมทำบุญ ตักบาตร เวียนเทียนได้ เหมือนกับช่วงก่อนที่เคยมีโควิด-19 ระบาดที่ผ่านมา

ประวัติวันมาฆบูชา และความสำคัญ

วันมาฆบูชา คือวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 มักจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ในปฏิทินสากล แต่หากปีใดมีเดือน 8 สองหน เช่นเดียวกับปี พ.ศ. 2566 นี้ วันมาฆบูชาก็จะตรงกับช่วงเดือนมีนาคม วันมาฆบูชา คือวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแก่ศิษยานุศิษย์ว่า “ต่อไปนี้อีก 3 เดือน เราจักเสด็จดับขันธปรินิพพาน” หลังจากทรงสั่งสอนพระธรรมมาเป็นเวลา 45 ปี โดยพระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขารแสดงธรรมโอวาทปาติโมกข์

ความหมายของคำว่า “มาฆบูชา” ย่อมาจากคำว่า “มาฆปุรณมีบูชา” แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน 3 เหตุการณ์สำคัญในวันเพ็ญเดือน 3 ปีนั้นเกิดเหตุอัศจรรย์ 4 อย่าง เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” มีความหมายดังนี้

จาตุร แปลว่า 4
องค์ แปลว่า ส่วน
สันนิบาต แปลว่า ประชุม

มาฆบูชา เหตุการณ์สําคัญ ในวันจาตุรงคสันนิบาต

1. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ซึ่งพระสงฆ์เหล่านี้ต่างแยกย้ายไปจาริกเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสถานที่ต่างๆ
2. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูปเหล่านี้ ล้วนเป็นพระอรหันต์ทุกรูปโดยได้รับการบวชจากพระพุทธเจ้าโดยตรง เรียกว่าวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
3. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป ต่างมาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้มีการนัดหมาย
4. วันที่มาประชุม ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันเพ็ญกลางเดือน 3) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมเทศนา อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ โอวาทปาติโมกข์

บทสวดโอวาทปาติโมกขคาถา

(หันทะ มะยัง โอวาทะปาติโมกขะคาถาโย ภะณามะ เส)

สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง
- การไม่ทำบาปทั้งปวง

กุสะลัสสูปะสัมปะทา
- การทำกุศลให้ถึงพร้อม

สะจิตตะปะริโยทะปะนัง
- การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ

เอตัง พุทธานะสาสะนัง
- ธรรม3 อย่างนี้, เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา
- ขันติ คือความอดกลั้น, เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง

นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา
- ผู้รู้ทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง

นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี
- ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย

สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต
- ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย

อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต
- การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้าย

ปาติโมกเข จะ สังวะโร
- การสำรวมในปาติโมกข์

มัตตัญญุตา จะ ภัตตัส๎มิง
- ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค

ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง
- การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด

อะธิจิตเต จะ อาโยโค
- ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง

เอตัง พุทธานะสาสะนัง
- ธรรม6 อย่างนี้, เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

กิจกรรมวันมาฆบูชา ชาวพุทธพึงปฏิบัติ

พิธีปฏิบัติ หรือพิธีกรรมวันมาฆบูชาในประเทศไทย เริ่มต้นสมัยรัชกาลที่ 4 โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพิธีพระราชกุศลนิมนต์พระสงฆ์วัดบวรนิเวศ และวัดราชประดิษฐ์ 30 รูป ฉันในพระอุโบสถวันพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการแล้วพระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเหมือนอย่างที่วัดแล้ว จึงได้สวดมนต์ต่อไปมีสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ 1,250 เล่ม มีประโคมด้วยอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงได้มีเทศนาโอวาทปาติโมกข์กัณฑ์ 1 เป็นเทศนาทั้งภาษามคธและภาษาสยาม เครื่องกัณฑ์จีวรเนื้อดีผืนหนึ่ง เงิน 3 ตำลึงและขนมต่างๆ เทศน์จบพระสงฆ์ซึ่งสวดมนต์รับสัพพีทั้ง 30 รูป ถือปฏิบัติตามวิธีปักษคณนาฝ่ายธรรมยุติกนิกาย

หลักธรรม วันมาฆบูชา

หลักธรรมสำคัญในวันมาฆบูชา คือ “โอวาทปาติโมกข์” เป็นหลักธรรมอันเป็นหลักหัวใจสำคัญในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้แก่พระอรหันต์ทั้ง 1,250 รูปในวันนั้น ได้แก่ การทำความดี, ละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้บริสุทธิ์

การเวียนเทียนวันมาฆบูชา

ในวันมาฆบูชาช่วงเย็นถึงค่ำจะมีการเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ โดยเริ่มจากพระสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ประชาชนทั่วไป กระทำ 3 รอบ ด้วยการเวียนทางขวาเรียกว่า เวียนแบบทักขิณาวัฏ

- รอบที่ 1 ให้รำลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า โดยภาวนาคาถา บทอิติปิโส ภควาฯ ไปจนจบ เพื่อให้จิตใจมีสมาธิ
- รอบที่ 2 ให้รำลึกถึงคุณพระธรรม โดยภาวนาคาถา บทสวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโมฯ ไปจนจบ
- รอบที่ 3 ให้รำลึกถึงคุณพระสงฆ์ โดยภาวนาคาถา บทสุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆฯ ไปจนจบ

กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา ช่วงเช้าพุทธศาสนิกชนควรเตรียมภัตตาหารทำบุญตักบาตร ช่วงบ่ายเดินทางไปวัดเพื่อฟังเทศน์ เจริญสมาธิภาวนา และช่วงเย็นเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ หรือร่วมทำบุญเวียนเทียนออนไลน์ได้ที่บ้าน เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อตามมาตรการของรัฐ ลดการแพร่ระบาดของโรคด้วย

ที่มา : วันมาฆบูชา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :

คุณกำลังดู: วันมาฆบูชาคือวันอะไร พร้อมประวัติและความสําคัญวันมาฆบูชา

หมวดหมู่: วัฒนธรรม

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด