กสทช. ร่วมกับภาครัฐ เปิดตัว “กะทิ” สายรัดข้อมืออัจริยะสำหรับวัยเก๋า

กสทช. ร่วมกับภาครัฐ เปิดตัว “กะทิ” สายรัดข้อมืออัจริยะสำหรับวัยเก๋า

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ประกาศเปิดตัว “โครงการวิจัยแนวทางเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคมและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มผู้สูงอายุ” พร้อมวางแผนเพื่อหาแนวทางการทำความร่วมมือ Thailand Smart Living Lab ต่อไป เพื่อส่งเสริมให้เกิดสวัสดิการผู้สูงอายุ ยุค 5G Digital Health Innovation และเตรียมตัวก้าวสู่ Thailand Personal Health AI”

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยสถิติผู้สูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดช่องว่างและข้อจำกัดบางประการของการปรับตัวระหว่าง “ผู้สูงอายุ” กับ “เทคโนโลยียุคใหม่” ที่ทำให้ไม่มีความรู้ความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ ส่งผลให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในด้านต่าง ๆ ยังไม่ได้รับการเชื่อมต่อข้อมูลและใช้งานจากเทคโนโลยีดิจิทัลเท่าที่ควร ดังนั้น การเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มผู้สูงอายุ จึงนับว่าเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีดิจิทัลในการยกระดับคุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม

“ทาง กสทช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อดำเนินโครงการวิจัยแนวทางเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคม และการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยผลลัพธ์ของโครงการจะได้เป็นแนวทางการเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มผู้สูงอายุ และได้แบบสถานการณ์จำลองหรือระบบนำร่องของบริการสวัสดิการทางสังคมบนพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งกองทุน กทปส. มีความคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าระบบนำร่อง หรือ Prototype ที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนโครงการดังกล่าว จะถูกนำไปใช้ประโยชน์และขยายผลการใช้งานไปทั่วประเทศ

ด้าน รศ.ดร. รินา ภัทรมานนท์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวถึง โครงการวิจัยแนวทางเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคม และการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ดำเนินการโดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เกิดขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์ที่ต้องการพัฒนาการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคมและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มผู้สูงอายุ จึงได้มีการศึกษาถึงปัญหาและอุปสรรคการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคมในกลุ่มผู้สูงอายุ ภาระหน้าที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสวัสดิการทางสังคมกับผู้สูงอายุ รวมถึงวิเคราะห์สวัสดิการทางสังคมที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อจัดทำแนวทางการเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยการพัฒนาสถานการณ์จำลองหรือระบบนำร่องของบริการสวัสดิการทางสังคมบนพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับสังคมผู้สูงอายุ

ด้านอาจารย์ จตุรภรณ์ โชคภูเขียว จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า “จากการศึกษาที่ผ่านมาของโครงการนี้ ทำให้ได้ข้อเสนอแนวทางเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคมและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มผู้สูงอายุ รวมถึงการสร้างระบบนำร่องสารสนเทศอุปกรณ์ Medical IoT ที่พัฒนาขึ้นจากสถานการณ์จำลองของบริการดิจิทัลบนพื้นฐานเทคโนโลยี Internet of Things หรือ 5G  โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานไม่น้อยกว่า 5 หน่วยงาน และผู้สูงอายุได้ทดลองใช้ระบบนำร่องดังกล่าวถึง 2,000 ราย  อีกทั้งโครงการต้นแบบสามารถนำไปบรรจุเป็นแผนปฏิบัติราชการของจังหวัดพื้นที่เป้าหมายได้ ได้แก่ จังหวัดลำปาง จังหวัดขอนแก่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสงขลา และผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจในโครงการไม่น้อยกว่า 80%”

ปัจจุบัน โครงการที่ กทปส. สนับสนุนได้ดำเนินการมานั้น สามารถสร้าง Prototype เพื่อนำร่องไปใช้ประโยชน์ได้ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กทปส. กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.), สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช),  ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผู้ว่าราชการจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาล โดยหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันหารือเรื่อง“การวางแผนการดำเนินงานร่วมกันแบบบูรณาการ เพื่อส่งเสริมให้เกิดสวัสดิการผู้สูงอายุ ยุค 5G Digital Health Innovation เพื่อเตรียมตัวก้าวสู่ Thailand Personal Health AI” เพื่อช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้โครงการเดินหน้าในระยะถัดไป

เริ่มที่ ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) กล่าวว่า “เป้าหมายสูงสุดของ บพค. ก็คือการที่เห็นคนไทยมีสุขภาพที่ดีเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยด้วยเป้าหมายที่ทางร่างกายและจิตใจสุขภาพแข็งแรงเป็นผู้สูงวัยที่เปลี่ยนแปลงอนาคตของประเทศได้ และภายในสามปีนี้เราจะได้เห็นประโยชน์ที่เกี่ยวกับ สุขภาพของคนไทยหรือคอมมูนิตี้ ที่เป็น Personal AI อย่างแน่นอน”

ในขณะที่ พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็มีความยินดีที่จะสนับสนุนโครงการวิจัยเพื่อเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคมและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับผู้สูงอายุ โดยเชื่อว่าจะสามารถเป็นส่วนที่เข้ามาช่วยเสริมระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการดูแลผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้าน นายประสิทธิ์ ทองแท่งไทย รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น มองว่า การที่จะให้ผู้สูงอายุในพื้นที่ได้รับข้อมูลข่าวสาร ต้องมีหน่วยบริการที่ใกล้พี่น้องประชาชนที่สุดโดยเฉพาะ รพสต. ที่ต้องให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุเกี่ยวกับอุปกรณ์IoTต่าง ๆ เพราะโรคหลายหลายโรคจะต้องมีการเก็บข้อมูลและใช้ความเร่งด่วนในการรักษาอย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงการให้ความสำคัญในเรื่องการทำข้อมูลให้เป็นข้อมูลรายบุคคลด้วยการใช้ระบบดิจิทัล เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถทราบสิทธิ์ของตัวเองในการเข้าถึงสวัสดิการที่มีอยู่แล้วของแต่ละบุคคลรวมถึงมีการจัดเก็บข้อมูลสุขภาพ เพื่อให้การเข้าถึงทางการแพทย์มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่ง ดร.มนต์ศักดิ์  โซ่เจริญธรรม ที่ปรึกษาอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญฐานข้อมูลดิจิทัลภาครัฐ ก็สนับสนุนแนวคิดเรื่องการเก็บข้อมูล Data ส่วนบุคคลของทุกคน และให้มีมาตรการมารองรับและดูแลข้อมูลส่วนบุคคล อีกทั้ง นางพรนิภา มาสิลีรังสี รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เห็นด้วยว่าการนำนวัตกรรม Personal AI เข้ามาช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุนั้น สอดคล้องกับภารกิจของกรมกิจการผู้สูงอายุ คือการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในทุกระดับ ในทุกมิติ

สำหรับPrototype ที่ประสบความสำเร็จจากโครงการโครงการวิจัยแนวทางเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคม และการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มผู้สูงอายุ ก็คือ Box set ที่ประกอบไปด้วย สายรัดข้อมืออัจฉ ริยะ “กะทิ” ที่เป็น Health Monitoring ที่ช่วยสามารถติดตามข้อมูลสุขภาพของผู้สูงอายุ โดยสามารถวัดความเข้มข้นของออกซิเจน อัตราการเต้นของหัวใจ สเต็ปก้าวเดิน ซึ่งในอนาคตจะสามารถต่อยอดในเรื่องของ Calling feature และ SOS feature จะส่งพร้อมตำแหน่งที่อยู่ปัจจุบันหากเกิดอุบัติเหตุกับผู้สวมใส่ได้ด้วย นอกนี้รวมถึงยังมีเครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องวัดความเค็มและเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด

สำหรับ ความร่วมมือ Thailand Smart Living Lab ในครั้งนี้นับว่าเป็นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการบูรณาการความร่วมมือของ กระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานภาครัฐระดับจังหวัด รวมถึงผู้บริหารส่วนท้องถิ่นที่ได้เข้ามาช่วยกันสนับสนุนผลักดันให้เกิดสวัสดิการผู้สูงอายุยุค 5G ผ่านการทำ Digital Health Innovation เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความมั่นคงในสุขภาพ และสามารถใช้ชีวิตสังคมในระยะยาวได้อย่างมีความสุข ตลอดจนทางภาครัฐยังได้มีข้อมูลสุขภาพของผู้สูงอายุทั้งประเทศไทย เพื่อเตรียมตัวก้าวสู่การทำ Thailand Personal Health AI กับกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) รวมทั้งหน่วยงานภาคีเครือข่าย ในลำดับต่อไป โดยมุ่งหวังให้คนไทยมีสุขภาพที่แข็งแรงยิ่งขึ้น

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการวิจัยครั้งนี้ จะเป็นก้าวสําคัญในการขับเคลื่อนการเข้าถึงสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุในประเทศ และจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ช่วยลดภาระพึ่งพิงสวัสดิการจากภาครัฐ ในการดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย ค่ารักษาพยาบาลของผู้สูงอายุได้ในอนาคต ผมขอสนับสนุนให้ประสบความสำเร็จจนสามารถเกิดการผลักดันต่อให้เป็นนโยบายสวัสดิการทางสังคมและสุขภาพด้วยเทคโนโลยี 5G ต่อไปในอนาคต” นายไตรรัตน์ กล่าวเพิ่มเติม

คุณกำลังดู: กสทช. ร่วมกับภาครัฐ เปิดตัว “กะทิ” สายรัดข้อมืออัจริยะสำหรับวัยเก๋า

หมวดหมู่: ผู้หญิง

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด