เล่นมือถือนานๆ เสี่ยง “ตาบอด” ได้หรือไม่?

การจ้องมองหน้าจอมือถือหรือแท็บเล็ตนานๆ ส่งผลร้ายแรงต่อดวงตาถึงขั้นตาบอดได้เลยหรือไม่

เล่นมือถือนานๆ เสี่ยง “ตาบอด” ได้หรือไม่?

หลายคนอาจทราบดีว่าแสงสีฟ้าจากหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ ส่งผลเสียต่อดวงตา จึงควรลดการใช้เวลาจ้องหน้าจอลงในแต่ละวัน แต่ถ้าจ้องมองหน้าจอมากๆ จะมีอันตรายถึงขั้น “ตาบอด” ได้เลยหรือไม่ Sanook Health มีคำตอบจาก อ.พญ.วฎาการ วุฒิศิริ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาฝากกัน

เล่นมือถือนานๆ เสี่ยง “ตาบอด” ได้หรือไม่?

แสงสีฟ้าจากหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ได้ทำร้ายสุขภาพดวงตาของเราจนถึงขั้นตาบอดได้ ดวงอาทิตย์มีรังสียูวีหลายประเภท ทั้ง UVA UVB และ UVC โดย UVC จะถูกโอโซนของโลกเป็นตัวป้องกันไว้ ส่วน UVA และ UVB นั้นจะทะลุเข้ามาภายในโลกของเราได้ แต่โอกาสที่จะเข้าไปทำลายจอประสาทตาได้นั้นมีน้อยมาก เนื่องจาก รังสี UVA และ UVB  จะถูกดูดกลืนแสงไว้ 99% และตกไปยังจอประสาทตาเพียง 1% เท่านั้น ซึ่งไม่มีรังสีเหล่านี้ออกมาจากหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แต่อย่างใด

หน้าจอโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ เป็นแสงสีฟ้า (Blue Light) ที่มีความยาวของคลื่นสั้นอยู่ที่ 380-500 นาโนเมตร ทำให้มีการกระจายตัวของแสงสีได้มาก จึงทำให้มีอาการปวดตา สายตาล้าได้ง่าย แต่ไม่มีอันตรายถึงขั้นตาบอด

ประโยชน์ของแสงสีฟ้า

อย่างไรก็ตาม แสงสีฟ้าจากหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้มีแต่โทษเท่านั้น ยังมีประโยชน์อยู่ด้วย หากนำมาใช้อย่างถูกวิธี เพราะการใช้แสงสีฟ้าอาจมีผลต่อระบบการนอนและการตื่นของร่างกายได้ โดยแสงสีฟ้าสามารถกระตุ้นให้ร่างกายมีการตื่นตัวได้นั่นเอง ดังนั้นหากใช้แสงสีฟ้าในช่วงเวลาที่เหมาะสม อาจทำให้เราตื่นตัวกระปรี้กระเปร่าได้ ในขณะเดียวกันหากเราต้องการความสงบ ผ่อนคลาย ก็ไม่ควรให้จ้องมองไปที่แสงสีฟ้าด้วยนั่นเอง 

แสงสีฟ้า ไม่ได้มีแค่เพียงจากหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างหน้าจอมือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ยังสามารถพบได้ทั่วไปจากแสงอาทิตย์ และจากหลอดไฟภายในบ้านและทั่วไป แต่แสงสีฟ้าไม่ได้ทำให้ผู้ใช้ตาบอดแต่อย่างใด

แสงสีฟ้า ไม่ได้ทำให้จอประสาทตาเสื่อม หรือจอประสาทตาหลุดลอก

ที่เคยมีบางคนกล่าวไว้ว่า การใช้มือถือในที่มืดจะทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อม หรือจอประสาทตาหลุดลอกนั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องด้วยจากงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ ยังไม่พบความสัมพันธ์ของแสงสีฟ้ากับ การเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมอย่างชัดเจน เพราะโรคนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ไม่ใช่แค่แสงสีฟ้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

โดยสรุปคือ การใช้งานคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือในที่มืด ไม่ได้ทำให้ตาบอด แต่จะทำให้เกิดความไม่สบายตามากกว่าการเล่นขณะเปิดไฟ เพราะจะต้องเพ่งมากกว่าปกติ และมีแสงสะท้อนเข้าตามากกว่าปกติ ทำให้เกิดความไม่สบายตา ทำให้ตาล้ามากขึ้น อาการจากการใช้อุปกรณ์เหล่านี้จะเป็นอาการเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อพักและหยุดใช้งานไป ก็จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม

คุณกำลังดู: เล่นมือถือนานๆ เสี่ยง “ตาบอด” ได้หรือไม่?

หมวดหมู่: รู้ทันโรค

แชร์ข่าว