ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 1)

ส่อง 8 ซีดานยุโรป ไซส์กลางมือสอง ตอนที่ 1 ซ่อมจบก็น่าใช้ ซ่อมไม่ไหวก็ขายทิ้ง!!

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 1)

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 1)

หัวข้อวันนี้ ต้องขอขอบพระคุณท่านผู้อ่าน คุณไอยศูรย์ วรรณสรณ์ ให้เกียรติเสนอหัวข้อเขียนว่า อยากให้ผมแนะนำรถเก่า ที่อาจจะอายุ 20 ปีบวก แต่มีความเก๋ มีเสน่ห์ และความน่าเล่นในระดับที่ แม้จะไม่เหมาะแก่การนำมาใช้แบบสมบุกสมบัน แต่ยังสามารถขับใช้งานได้ ไปต่างจังหวัดได้ ส่วนจะจุกจิกมากแค่ไหน บางทีก็ขึ้นอยู่กับบุญของคุณ และนิสัยประจำตัวของรถยี่ห้อที่คุณเลือก บวกกับการที่รุ่นพี่ชายผู้หนึ่งที่ผมสนิทในวงการรถ ซึ่งตอนนี้ลูกๆ ของพี่เขาโตจนไม่คบพ่อแม่แล้ว (ยกเว้นตอนสิ้นเดือนจะดีกับพ่อแม่เป็นพิเศษ) ภาระที่น้อยลงทำให้พี่แกอยากหาบิ๊กซีดานกลับมาไว้ขับเล่นสักคัน โดยที่ภรรยาของพี่เขาบอกว่า ค่ารถไม่รวมซ่อม ห้ามเกินสามแสน..ดีเลย ผมขอตอบทั้งสองท่านแบบรวบในบทความเดียวแล้วกันครับ

รถที่จะนำมาให้เลือกกันวันนี้ จะมีตั้งแต่พวกคลาสขนาดกลางตัวยาว 4.5-4.9 เมตร ไปจนถึงพวกตัวใหญ่ๆห้าเมตรบวก คุณเลือกได้ตามใจชอบ แต่เกณฑ์ของผมก็คือ เราจะเลือกรถที่มีศักยภาพในการใช้ต่อ บางคัน รักษาสภาพเดิมสุดๆ แล้วปัง บางคันแต่งได้หลากหลาย บางคันอาจเด่นที่ความหาดูได้ยาก แต่เราจะไม่เอารถประเภทที่อะไหล่หมดโลก หรือตามหาคนซ่อมไม่ได้นะครับ ซื้อมาใช้อย่างน้อย 3-4 ปี ถึงจะเจ็บตัวบ้างแต่ก็ต้องซ่อมได้ และต้องยังสามารถวิ่งไป-กลับกรุงเทพฯ-พัทยาได้ ไม่ใช่จะไปงานมีตติ้งทีก็ต้องขึ้นรถสไลด์ไปและกลับ แบบนั้นไม่เอา

รถที่เข้าข่ายน่าพูดถึง มีเยอะหลายสิบรุ่น โปรดให้อภัย ถ้าผมไม่ได้เขียนถึงบางรุ่นที่คุณคิดว่าควรเขียน เพราะถ้าเขียนทุกรุ่น พรุ่งนี้ก็คงส่งต้นฉบับไม่ได้ น้าฉ่างจะแมะหัวผมเอา ก็เลยใช้เป็นข้ออ้างเน่าๆ ในการเอาแต่ใจตัวเอง เลือกตามที่ชอบ ฮ่า ฮ่า ฮ่า

Mercedes-Benz E-Class W124
ใช้แบบสภาพเดิม: ได้
ใช้แบบแต่งสวย: ได้ แต่ระวังแต่งเพลินแพงเกินรถ
เป็นรถหาดูยาก: ไม่
ความยากในการดูแล: ปานกลาง

W124 คือสิ่งที่ขาดไม่ได้ถ้าพูดถึงโลกของรถซีดานผู้บริหารในประเทศไทย ก่อนที่ฟองสบู่จะแตก มันคือรถที่คนรวยรัก คนฐานะปานกลางก็พยายามไขว่หาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือเลื่อนขั้นทางสังคม ในยุค 30 ปีก่อน รถรุ่นนี้ได้ฉายาว่า “โลงจำปา” ซึ่งก็มาจากการที่ตัวรถมีทรงเหลี่ยมทั้งคันแต่ส่วนปลายจะมีการหักโค้งนิดๆ คล้ายโลง บางคนที่เป็นสายมูฯก็ถือเคล็ดว่าได้ขับไปไหนมาไหนในโลง เหมือนเป็นการต่ออายุให้ยั่งยืน แต่แม้ทรงจะเป็นก้อนสบู่แบบนี้ W124 เป็นรถที่มีความลู่ลมมากที่สุดในเวลาที่มันเกิด ค่า Cd แค่ 0.28 เท่านั้นในรถคันที่ใส่ยางเล็ก Mercedes-Benz ทุ่มเวลาวิจัยในอุโมงค์ลม จัดการไหลของกระแสอากาศ ให้กดรถนิ่งที่ความเร็วสูงได้ และยังมีการเก็บเสียงที่ดี

W124 เกิดในยุคที่เบนซ์ยังเน้นความสมบุกสมบันในการใช้งาน ช่างซ่อมช่วงล่างที่ร้านรวมยางเทเวศร์เคยบอกผมว่า “ถ้าคุณขับท่าไหนให้ปีกนกของช่วงล่าง 124 งอได้ คนขับก็น่าจะเจ็บหนักไม่ก็ตายเท่านั้น” ช่วงล่างนี่คือหัวใจของรถรุ่นนี้ รถที่ใช้เครื่อง 6 สูบ จะมีน้ำหนัก 1.39-1.47 ตัน แต่วิ่งเร็วแล้วนิ่ง ขึ้นลูกระนาดแล้วนุ่ม วิ่งถนนขรุขระนั่นแหละถึงจะมีอาการสะเทือนบ้าง บุคลิกรถหนักแน่น เบรกแข็ง คันเร่งหนัก เป็นรถที่อุ้ยอ้ายเวลาขับรีบๆในเมือง แต่ผงาดอย่างองอาจบนทางด่วนหรือทางไกล นอกจากนี้ยังเป็นรถที่แต่งแล้วขึ้นมาก ใช้ล้อแค่ขอบ 17 ก็เต็มซุ้มแบบกำลังสวย สามารถจัดธีมชุดแต่งได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็น AMG, Brabus, MAE, หรือ WALD ซึ่งจะทำให้รถดูมีความวัยรุ่น หรือดูเหมือนมาเฟีย ก็แล้วแต่สีกับชุดแต่งที่เลือก อย่างไรก็ตาม ราคาชุดแต่งถือว่าแพง เพราะเริ่มหายาก บางชุด ขนาดเป็นงานหล่อขึ้นรูปใหม่ก็ยังมีราคาหลายหมื่น จึงไม่แปลกที่บางท่านเลือกจะปล่อยใช้ในสภาพเดิมๆ ซึ่งก็ดูแก่แต่สง่างามดีอยู่

W124 มีเครื่องยนต์หลายรุ่น ผมมักแนะนำให้อยู่ห่างๆ พวก 230E กับ 300E ที่เป็นเครื่อง 2 วาล์วต่อสูบ ระบบจ่ายเชื้อเพลิงแบบเก่า เพราะอะไหล่บางตัวเวลาเบิกใหม่แพงมาก และสภาพเครื่องส่วนมากโทรมหมดแล้ว หากเน้นประหยัดน้ำมัน E220 2.2 ลิตร 150 แรงม้าพร้อมระบบแคมชาฟท์แปรผันฝั่งไอดี คือตัวเลือกที่เหมาะสม สำหรับคนเท้าหนัก E280 193 แรงม้า หกสูบ คือตัวจบถ้าสามารถหารถเครื่องเดิมสภาพ 90% บวกลบได้ รถรุ่นนี้ตอนยังใหม่ๆพวกผมหวดกัน 230 กม./ชม. แบบไม่ต้องรอนานครับ นี่คือเอกลักษณ์ของเบนซ์จากการที่ทดเฟืองท้ายไม่ยาวแบบรถญี่ปุ่น และเกียร์ 4 อัตราทดเป็น 1 ต่อ 1 คุณจะสังเกตได้ว่าเบนซ์ยุคนั้น ขับในเมืองอืดอาด เพราะมันชอบใช้เกียร์สองเป็นหลัก ถ้าจะใช้เกียร์ 1 ก็ต้องกดกันมิด ทำให้ขับในเมืองรีบๆ แล้วยาก แต่พอเจอถนนโล่ง ความเร็ว 120 ขึ้นไป คุณจะเข้าใจว่ารถที่สร้างมาเพื่อการวิ่งบนเอาโต้บาห์นมันซ่อนความดีไว้ตรงไหน

ข้อเสียของ W124 ก็คือ ชิ้นส่วนบางชิ้น เริ่มหมดไปจากโลกด้วยความอายุเยอะ แต่ยังพอหาได้จากการใช้ชิ้นส่วนไต้หวัน หรือจากรถในประเทศที่แยกอะไหล่ขายซาก แต่เมื่อได้รับการเปลี่ยนใหม่ คราวนี้ใช้ยาวๆ ครับ นิสัยของรถ พวงมาลัยจะหย่อนยานทดยาวๆ เหมือนขับรถกระบะ ถ้าเป็นพวกชอบขับเล่นโค้ง ผมแนะนำว่าอย่ายุ่งกับมันเลยครับ ฟีลมันตายด้านมาก เกียร์อัตโนมัติ ทนทานมาก แต่เป็นระบบทำงานด้วยแรงดันสุญญากาศแบบโบราณ การตอบสนองจะช้า และเปลี่ยนเกียร์กระตุกกว่ารถกระบะสมัยใหม่คนละเรื่อง

เตรียมเงินไว้ซื้อรถได้ตั้งแต่ 50,000-150,000 บาทครับ แต่แนะนำว่า ให้เตรียมไว้สองแสนแล้วหาคันที่ เครื่องเดินเรียบ เร่งเนียน ชิ้นส่วนภายใน และอุปกรณ์ต่างๆเอาให้อยู่ในสภาพดีที่สุดเท่าที่หาได้ ส่วนช่วงล่าง กับสีภายนอก ไม่ต้องคิดมากครับเพราะรื้อทำสีและประกอบกลับไม่ยาก ช่วงล่างนี่ยิ่งขนม ทน ถูก ซ่อมอู่นอกได้เลย ส่วนภายในนั้นหน้าปัดนั้น มักจะขึ้นราเป็นฝ้าขาวๆ ซึ่งส่วนมากจะเจอกัน ต้องรื้อออกมาแกะพลาสติก พ่นสีทำใหม่ ชิ้นส่วนภายในบางชิ้นต้องหาในตลาดมือ

สอง ซึ่งเท่าที่ผมเคยเดินดูเอง รถภายในสีเทา จะหาชิ้นส่วนมือสองได้ง่ายที่สุด รองลงมาคือสีครีม ที่เหลือคือพวกสีแปลกๆที่ต้องลุ้นเอา W124 มีสีภายใน 7-8 สีครับ ซึ่งบางสีผมไม่เคยพบเลยในชีวิตตั้งแต่เกิดมา

มันไม่ใช่รถหายาก หลังจากอ่านบทความนี้เสร็จคุณออกไปขับรถ ก็อาจจะเจอ 3-4 คันได้ แต่คุณซื้อมันเพราะนี่คือหนึ่งในรถซีดานที่เยี่ยมยอดที่สุดในยุคที่โลกยังไม่ค่อยรู้จักโทรศัพท์มือถือ วัสดุรีไซเคิล และการลดต้นทุน มันคือจุดที่ความทนทาน ความคิดสร้างสรรค์ ความหรูหรา และสมรรถนะ พบกันตรงกลางพอดีสำหรับ Mercedes-Benz

Mercedes-Benz S-Class W140/V140
ใช้แบบสภาพเดิม: ได้
ใช้แบบแต่งสวย: ได้ แล้วเผลอๆ ถูกกว่าชุดแต่งของ W124 ด้วย
เป็นรถหาดูยาก: ไม่ยาก แต่ก็อาจไม่ใช่เจอได้ทุกวัน
ความยากในการดูแล: มาก แต่ทำจบได้

“The Last Over-engineered Mercedes” หรือพูดแบบไทยๆ คือเป็นเบนซ์รุ่นสุดท้ายที่ผู้ผลิตทุ่มทุนในจุดต่างๆ ของรถมาจนดีเกินสเปก แต่พอเปิดตัวมา ยอดขายกลับไม่ปังเท่าที่ควรเพราะฟากยุโรปเริ่มแอนตี้รถที่ดูใหญ่เกะกะถนน และ S-Class 140 คือ “สุดโคตรของความใหญ่” ในสไตล์ซีดานสมัยนั้น สาเหตุของความโตนั้นเกิดจาก CEO เบนซ์ในยุคนั้น ไปลองนั่งรถคันต้นแบบแล้วหัวติดเพดาน (คุณ CEO แกตัวสูงมากกว่าคนปกติ) จึงสั่งให้ทีมออกแบบสร้างรถให้หลังคาสูงขึ้น เมื่อหลังคาสูง ส่วนอื่นของรถจึงดูลีบเล็ก เลยต้องมีการออกแบบใหม่หมดให้คนตัวสูง 1.9 เมตร นั่งได้แล้วหน้าตารถไม่ตลก

แต่ความใหญ่ของรถที่บางประเทศรังเกียจ กลับทำให้มันเป็นที่ชื่นชอบของเศรษฐีรัสเซีย จีน ยากูซ่า และพ่อค้าชาวไทยยิ่งนัก โดยเฉพาะถ้าเลือกรถสีดำและติดฟิล์มดำจะเป็นทางแบบที่ยากูซ่าญี่ปุ่นนิยมมาก แต่ถ้าคุณอยากดูเป็นคนใจดีขึ้นก็แค่เลือกรถสีโทนอ่อนก็จะช่วยได้มาก 140 เป็นรถที่พัฒนาหลังจาก W124 หลายปี คุณจึงได้ความทันสมัยที่เหนือกว่าทั้งภายนอก ภายใน ความที่ตอนเป็นรถใหม่ ราคาถูกสุดในสมัยนั้นคือ 4.3 ล้านบาท จึงอัดอุปกรณ์มาให้เพียบ หน้าปัดแพรวพราวลูกเล่นเยอะกว่า เครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ ครูสคอนโทรล ม่านซีกหลัง กระจกมองหลังปรับด้วยไฟฟ้า เบาะหลังเอนได้ คุณอยากจะสัมผัสนิยามของคำว่ารถหรูของจริงจากยุค 90s มันก็คงต้องเป็น S-Class รุ่นนี้นี่แหละครับ

เรื่องช่วงล่างและการขับขี่ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ขนาด E-Class ตัวเล็กกว่ายังวิ่งแน่นและนิ่ง S-Class ตัวหนัก 2 ตันจะเหลืออะไรล่ะ มันคือความสบายแบบที่คุณรู้สึกได้ถึงเสถียรภาพ นอกจากพวงมาลัยแล้ว ไม่มีอะไรที่จะมาเบนทิศทางของรถขณะวิ่งไปข้างหน้าด้วยความเร็วระดับหาพระแสงได้ทั้งสิ้น คุณสามารถวิ่ง 160-170 ยาวๆลงใต้ได้โดยที่คนนั่งหลังก็อาจไม่ทราบว่าคุณวิ่งเร็วขนาดนั้น และแม้ระบบเสถียรภาพต่างๆจะเป็นเวอร์ชั่นโบราณ มันเป็นรถที่รักถนน ไม่ค่อยลงข้างทางบ่อยๆ ในอเมริกา เคยมีโจรขโมย S-Class V8 แล้วขับหนี รถตำรวจที่เป็น Ford Crown Victoria กับ Chevrolet Impala เทคโนโลยีเก่ากว่า ก็ไล่ไม่ทัน พอมีจังหวะขนาบข้างได้ ตำรวจพยายามชนเบียดปาด แต่รถเบนซ์ขยับแค่นิดเดียวแล้ววิ่งต่อไป ส่วนรถตำรวจ ยับ การไล่ล่าไปจบลงเพราะไล่กันข้ามรัฐแล้วเบนซ์น้ำมันหมดนั่นแหละครับ นี่คงแสดงให้เห็นแล้วว่า วิศวกรเบนซ์คิดยังไงกับคำว่า “เสถียรภาพของรถ”

S-Class ตัวถัง 140 ยังเป็นรถที่มีอนาคต จับมาใช้ต่อ 4-5 ปีได้ ถ้าไม่ไปได้รถผีมา มีทั้งรุ่น S280 193 แรงม้า เรี่ยวแรงอัตราเร่งพอพึ่งพาได้ S320 220 แรงม้า ที่ถีบออกตัวแรงขึ้น ไปจนถึง S500 V8 318 แรงม้า และ S600 V12 สูบ 394 แรงม้า ความน่าเล่นแต่ละรุ่น มีเสน่ห์แตกต่างกัน แต่ในงบสามแสน ตัวเลือกที่มี ก็คงเหลือแค่พวก 280 เป็นหลัก ซึ่งรุ่นนี้จะมีแต่รุ่นฐานล้อสั้น เบาะหลังมีที่เหยียดขาพอสมควร แต่ถ้าเป็นพวก 320 นั้น จะมีรุ่น S 320 L ที่เป็นฐานล้อยาว มาให้เลือกด้วย ซีกหน้าของรถนั้นเหมือนกันหมด แต่ประตูหลังของพวก L จะยาวกว่าแบบชัดเจน ถ้าคิดจะนำมาแต่งเสริมเติมสเกิร์ตต่อ จะบอกว่า พวกฐานล้อยาว หาของแต่งเซียงกงหลุดมาจากญี่ปุ่นได้ง่ายกว่านะครับ

การที่เป็นรถหรู อุปกรณ์เยอะ บวกกับการที่มีหลายคัน นำเข้ามาผ่านผู้นำเข้าอิสระ ที่ไม่ได้เลือกสเป็ครถให้ตรงกับอากาศร้อนๆแบบบ้านเรา ยิ่งเจอช่างประเภทซ่อมไม่ศึกษา ก็เลยพังบ่อยและจุกจิกอย่างไม่น่าเชื่อ S-Class 140 จึงมีฉายาว่า “เบนซ์รุ่นปราบเสี่ย” เพราะเสี่ยที่เคยชินกับการจ่ายบิลค่าซ่อม 190E หรือ 300E มาเจอบิลค่าซ่อมแบบคูณห้าบ้าไปแล้วของ S-Class แล้วบางคนถอดใจขายรถทิ้งก็มี ส่วนในยุคนี้ ทำใจว่าด้วยอายุรถ ยังไงก็ควรเตรียมเงินซ่อมไว้หลักแสน แต่ข้อดีคือ อะไรชอบพัง พังท่าไหน แก้ยังไง ช่างเบนซ์เก่งๆบ้านเรา รู้ทางหมดแล้วครับ...เพราะมีรถมาให้ซ่อมบ่อยจนแม่ช่างยังจำได้ ส่วนรุ่น 500 V8 ถ้าโผล่มาในงบสามแสน ให้เช็คสภาพเครื่องกับเกียร์ให้ดี นอกนั้นจุดอื่นซ่อมถูกเท่ารุ่นหกสูบครับ

BMW 5 Series E34
ใช้แบบสภาพเดิม: ได้
ใช้แบบแต่งสวย: ได้ และเท่โคตร
เป็นรถหาดูยาก: ไม่หรอก เดินไปปากซอยเดี๋ยวก็เจอ
ความยากในการดูแล: มาก แต่ทำจบได้

จากชตุทการ์ท เราข้ามมาเมืองมึนเช่น (มิวนิก) เพื่อพบกับซีรีส์ 5 บ้าง ในสมัยที่ประเทศไทยยังตั้งกำแพงภาษีรถนำเข้าสูงลิ่ว ซีดานยุโรปก็จะมีแค่ซีรีส์ 5 กับเบนซ์โลงจำปาที่บรรดาเสี่ยตลอดจนเมียเสี่ยเลือกใช้ ความน่าเล่นของ E34 ที่แตกต่างจากดาวสามแฉกคือดีไซน์ของตัวรถที่ปราดเปรียว เพรียว แต่งง่ายกว่า ลักษณะการเซ็ตรถ มีความคล่องแคล่วบนทางโค้ง หรือการขับในเมืองมากกว่า เบนซ์เป็นรถที่หรู และมีความเป็นผู้ใหญ่สูงมาก (จะว่าแก่ก็ได้) แต่ E34 เป็นรถที่วัยรุ่นกว่า มีลูกเล่นมากกว่า รวมถึงอุปนิสัยของรถ ก็ขับโยนโค้งเล่นสนุกกว่า มีเสียวได้มากกว่าเบนซ์ถ้าเล่นกันจริงๆ

E34 คือ BMW เส้นสายแบบคลาสสิก ไฟหน้ากลมแบบไม่มีพลาสติกปิดรุ่นสุดท้าย หลังจากนั้นมาพวกเขาก็เปลี่ยนไปใช้ไฟแบบกลมคู่ซุกอยู่หลังฝาครอบใส ดังนั้นถ้าอยากได้กลิ่นอายแบบ BMW รุ่นลุง แต่ยังทันสมัยพอให้นำมาขับใช้งานได้ หรือขับแบบเอามันส์ได้ ก็ต้องรุ่นนี้ล่ะครับ ขนาดฝากระโปรงเวลาเปิด ก็ยังโล้ไปข้างหน้าเหมือน BMW ยุค 70s กระจกประตูหลังมีความตวัดเส้นของหูช้างที่เรียกว่า Hoffmeister’s Kink อันเป็นเอกลักษณ์มาตั้งแต่ชาติปางก่อน รวมถึงแดชบอร์ดแบบโค้งหันเข้าหาคนขับ

คุณมีหลากหลายทางเลือกกับรุ่นย่อย ที่แบ่งกันตามลักษณ์เครื่อง M20 เป็นพวกเครื่อง 2 วาล์วต่อสูบ แคมชาฟท์เดี่ยวยุคแรกๆ และอีกพวกคือ M50 กับ M50TU ซึ่งเป็นเครื่องทวินแคมฯ 24 วาล์วยุคใหม่แล้ว อย่างหลังนี่มีระบบแปรผันองศาแท่งเพลาลูกเบี้ยวที่ฝั่งไอดีมาให้ด้วย พวกรถ M20 จะมีกระจังหน้าฟันหนูขนาดเล็ก บวกกับกระจกมองข้างแบบก้านโต “เท่านั้น” เช่นเดียวกับรถ M50 ล็อตแรก จมูกเล็ก กระมองข้างก้านโต พวก M50 ล็อตแรกจะมีโลโก้ 24V อยู่ท้ายรถ อันบ่งบอกถึงการมี 24 วาล์ว เนื่องจากปี 1991-1992 นั้นเบนซ์ในไทยยังเป็น 12 วาล์วอยู่ (สมัยน้าอ่ะ..เขาขิงกันเรื่องจำนวนวาล์วนี่แหละ) ส่วนรถ M50TU นั้น จะมีกระจกส่องข้างก้านเล็กเรียว มีทั้งโฉมจมูกเล็ก ไม่มีถุงลมนิรภัย จำหน่ายปี 1993-1994 และโฉมจมูกโต มีถุงลมนิรภัยคนขับ ที่มีฉายาว่า “Big Nose” จำหน่ายปี 1994-1996

รุ่นไหนน่าเล่น? ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการว่า อยากเล่นแบบจบง่าย อยากเล่นรถที่เป็นตำนาน หรือจะจับมาแต่งซิ่งแต่งสวย ที่สำคัญคือ ต้องพิจารณาถึง ความสู้ของคุณในการบูรณะ เพราะแน่นอนว่า BMW อายุ 24-33 ปี สภาพภายในรถส่วนมากจะเหมือนมีใครมาปล่อยไซบีเรียนฮัสกี้ที่เจ้าของไม่ค่อยรักมานอนแทะนอนทึ้งวัสดุภายในเล่น เป็นที่ทราบกันนะครับ ว่าตอนมันแก่เท่ากัน ภายในของ BMW นั้นเสื่อมสภาพเร็วกว่าเบนซ์มาก (ในยุคนั้นนะไม่ใช่ปัจจุบัน) ผ้าบุเพดานย้อย เบาะเสื่อม พลาสติกแตก เป็นเรื่องปกติมาก

ถ้าหากคุณต้องการซื้อมาสัมผัสความเป็น BMW ยุคคลาสสิก แต่ไม่ประสงค์จะซ่อมเยอะ 525i 2.4 โฉม Big Nose ปีท้ายๆมักเป็นตัวเลือกที่ดี รถล็อตท้ายๆยังมีโอกาสหาคันที่สภาพดีได้ ถ้าจะใช้แบบรีบซึมซับประสบการณ์แล้วขาย ก็ให้เลือกคันที่ภายในสวย สีดี เพราะเรื่องเครื่องยนต์ ถ้าไม่ได้พังแบบควันขาวออกท่อ หลายส่วนซ่อมได้ไม่ถึงกับถังแตก...แต่ถ้าอยากได้รถที่มีความเป็นตำนาน จะมี E34 ยุคกระจังเล็ก ชื่อรุ่น 520iS กับ S5 ซึ่งสองคันนี้ มีความศักดิ์สิทธิ์เพราะมีขายเฉพาะที่ประเทศไทยเท่านั้นในโลก

รถสองรุ่นนี้ เกิดจากการที่ BMW ในไทยสมัยนั้น ติดต่ออาจารย์ศิริบูรณ์ เนาว์ถิ่นสุข ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญมอเตอร์สปอร์ตชาวไทยที่นานาประเทศโทรหาเวลาจะทำรถลงสนามแข่ง ให้มาปรับสเป็คเครื่องยนต์ M20 ใน 520i ให้มีสมรรถนะสูงขึ้น ในช่วงเปิดตัวแรกๆ E34 มีแค่รุ่น 520i 129 แรงม้า ในขณะที่เบนซ์มี 300E 188 แรงม้า อาจารย์ศิริบูรณ์ท่านจึงใช้บางส่วนจากเครื่องยนต์ M20 ใน 325e รถสเป็คอเมริกา ขยายความจุเป็น 2.7 ลิตร จากนั้นก็เลือกความแรง 2 ระดับ รุ่น 160 แรงม้า ทำไว้สำหรับผู้ใหญ่ขับ กดแล้วพลังมาดีตั้งแต่รอบต่ำ รุ่น 190 แรงม้า ทำมาฆ่า 300E จึงมีการขัดพอร์ท ปรับปรุงฝาสูบ แต่งบ่าวาล์ว และอื่นๆอีกมาก รถรุ่น 520iS จะมีเครื่องทั้ง 2 แบบ และมีทั้งเกียร์ธรรมดาที่ทดโคตรจัด กับเกียร์อัตโนมัติ ส่วน S5 จะมีแต่รุ่น 190 แรงม้าจับคู่เกียร์อัตโนมัติ S5 นั้นผมไม่เคยเห็นตัวเป็นๆมา 20 ปีแล้ว ส่วน 520iS เคยเห็นและได้ขับรุ่นเกียร์ธรรมดา 160 แรงม้า บอกเลยว่าเรื่องแรงน่ะเฉยๆแต่แรงบิดกลางดี มันส์ขับสับเกียร์สนุกมาก

BMW 5 Series E39
ใช้แบบสภาพเดิม: ได้
ใช้แบบแต่งสวย: ได้ และเท่เหมือน E34 แต่ดูหนุ่มกว่า
เป็นรถหาดูยาก: ไม่ยาก
ความยากในการดูแล: มีปัญหาเล็กๆ เยอะ แต่ปัญหาใหญ่มีไม่มาก

เข้าช่วงปี 1994-95 ค่ายเยอรมัน 2 เจ้าหลักถึงเวลาเปลี่ยนโฉมซาลูนตัวทำเงินของค่าย เบนซ์พลิกโฉมจากโลงวิ่งได้ กลายเป็นตั๊กแตนสี่ตาที่ลูกค้าอนุรักษ์นิยมหลายคนส่ายหน้า ในขณะที่ BMW เลือกเดินสายเซฟ จัดทรงตัวรถออกมาหล่อล่ำ ไม่เล่นเส้นสายที่จะดูขัดสายตา ความเรียบง่ายแต่ไม่ขาดลูกเล่นนี้ทำให้ดีไซน์ของ E39 เป็นที่ชื่นชอบของคนจำนวนมากแม้เวลาจะผ่านไป 27 ปีก็เป็นรถที่มองแล้ว ไม่เตะตูดเตะตา แต่ไม่เคยน่าเบื่อ แถมยังเป็นรถที่แฝงความเป็นสปอร์ตซีดานไว้ได้ ไม่ว่าคุณจะใช้มันในสภาพเดิมสนิท หรือนำไปแต่งสวย ใส่ล้อได้หลายแบบดูไม่ขัดตา ชุดแต่งมีให้เลือกตั้งแต่ M-Sport Parts สวยแบบสงวนท่าที ไปจนถึงชุดแต่งหลากหลายสำนักที่ใส่แล้วแทบจำรถไม่ได้

เมื่อเราคุยกันถึง E39 ที่อยู่ในงบสามแสน ผมคิดว่าเราควรจะพูดถึง 523i แต่เพียงรุ่นเดียว (แต่หลายรุ่นย่อย มีให้เลือกตามปี) ส่วน 528i ที่นำเข้ามาขายเป็นรุ่นพิเศษในช่วงแรกที่เปิดตัวนั้น มีรถเข้ามาน้อยนิด และ 530i ซึ่งเป็นรถล็อตหลังช่วงปี 2002 ซึ่งใส่อุปกรณ์ครบ ล้อ 17 เครื่อง 218 แรงม้า ชุดแต่งรอบคัน เป็นรถที่เราเอาเข้ามาจากประเทศอื่นในอาเซียนอีกที ทุกวันนี้กลายเป็นเหมือนจอกศักดิ์สิทธิ์เพราะมีเข้ามาแค่หลักร้อยคัน ราคาขายต่อจึงดึงได้ตึง ผิดกับ 523i ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังแห่งชาติของ E39 ในไทย จำนวนรถเยอะ มีการตกแต่งกับโฉมปีหลากหลาย

523i โฉมแรกๆ ช่วงปี 1997-2000 นั้นราคาจะถูกสุด รถเหล่านี้จะใช้เครื่อง 2.4 ลิตร 190 แรงม้า เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ไม่มี Steptronic ไว้โยกเล่นเกียร์แก้เซ็ง และมากับล้อ 15 นิ้ว ยางแก้มหนาราวรถปิคอัพ คุณเปิดฝากระโปรงมาดูส่วนหน้าของเครื่องยนต์จะมีโหนกใหญ่ปูดออกมาปูดเดียว นั่นคือตัวบ่งบอกว่ามันคือเครื่องที่มีแคมชาฟท์แปรผัน VANOS แค่ฝั่งไอดี คล้ายกับเครื่องของ E34 โดยส่วนตัว ผมมองว่าถ้าคิดจะนำไปแต่งต่อ ไปวางเครื่องใหม่ พวกนี้น่าเล่นเพราะเซฟเงินตอนซื้อ

สำหรับการใช้งานจริง รถปี 2001 เป็นต้นมาน่าสนกว่า รถพวกนี้จะได้เครื่อง 184 แรงม้า แต่ได้เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะพร้อมระบบ Steptronic โยก+/- เปลี่ยนเกียร์ได้ เปิดกระโปรงดูเครื่อง ส่วนหน้าบนของเครื่องจะเรียบเสมอกันตลอด แรงม้าน้อยลงแต่ขับจริงแล้วคล่องขึ้นเร็วขึ้นกว่ารุ่นแรกชัดเจน ไฟเลี้ยวหน้าหลังจะเปลี่ยนจากแบบส้มใหญ่ชัด มาเป็นแถบส้มเล็กๆแฝงอยู่กับดวงไฟแทน ยิ่งหลังจากช่วงปลายปี 2001 เป็นต้นมา มีการแบ่งการตกแต่งออกเป็น Comfort, Executive และ Sport ก็แบ่งแนวออกไปเลย ตัวแรกธรรมดาสุด ตัวที่สองเน้นหรูกับสบาย ตัวที่สาม เน้นความวัยรุ่นด้วยล้อ 17 นิ้วลายคล้ายดอกทานตะวัน ชุดแต่งรอบคันและพวงมาลัยสามก้าน “หล่อแบบไม่ต้องแต่งเพิ่ม”

จากช่วงนั้น จนถึงวันสิ้นสุดการขาย รายละเอียดของอุปกรณ์จะมีเปลี่ยนตลอด ไม่ต้องตกใจ รุ่น Executive บางคันก็ได้พวงมาลัยสามก้าน เบาะนั่งแบบปรับตอนบนรับสรีระได้ บางคันกระจกสองชั้น บางคันก็ชั้นเดียว ถ้าจำไม่ผิด ต้องเป็นรถปี 2002 เป็นต้นมา ถึงจะได้กระจกสองชั้นแบบชัวร์ๆ รถพวกนี้เวลาวิ่งเสียงลมจะเงียบกว่า รื่นหูเป็นยิ่งนัก แลกกับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นนิดหน่อย กับราขาวๆจุดๆที่ไม่มีกาลเทศะ ชอบมาขึ้นอยู่ตรงข้างในกระจกตรงระหว่างชั้น แล้วจะดูยังไงว่าเป็นรถ 2002? ให้ดูที่ระบบ Steptronic ครับ เวลาโยก +/- เกียร์ ถ้า + โยกไปข้างหน้าคือรถก่อนปี 2002 ถ้า + โยกไปข้างหลังคือรถ 2002 และใหม่กว่า

ใน E39 คุณนั่งสบายบนเบาะหนัง คอนโซลที่หน้าตาเรียบร้อยกว่าสมัย E34 แต่ยังคงแอบหันเข้าหาคนขับ เบาะนั่งไฟฟ้าคู่หน้า มีระบบความจำมาให้ฝั่งคนขับ แอร์ออโต้ที่บางรุ่นเป็น 2 Zone แยกแล้ว บรรยากาศจะผสมอย่างลงตัวระหว่างความคลาสสิคตามนิยามความหรูยุคที่เรายังไม่บ้าคาร์บอนกับพลาสติกสีๆกัน และความทันสมัยอย่างเรียบร้อยประหนึ่งชายในชุดสูทที่พอดีตัว ในการขับขี่ E39 จะให้ฟีลแบบเยอรมันยุค 90s ที่เบรกหนัก คันเร่งหนัก รถทั้งคันให้ความรู้สึกหนัก แต่ถ้าคุณเคยขับ E34 มาก่อน จะพบว่า E39 แม้ตัวจะหนักแต่ก็คล่องแคล่ว เพราะช่วงล่างเป็นอะลูมิเนียม และพวงมาลัยเปลี่ยนมาเป็นแร็คแอนด์พิเนียนแล้ว (แต่ E39 ที่เป็น 8 สูบยังเป็นลูกปืนแบบเดิม) ในความหนัก ก็เปี่ยมไปด้วยความมั่นคงนุ่มนวล ช่วงล่าง E39 เดิมๆ คือช่วงล่างแบบที่ให้คุณวิ่งทางไกล 160-170 กม./ชม. ได้นานหลายชั่วโมงถ้าคุณยอมจ่ายค่าใบสั่งหลายหมื่น เล่นโค้งได้คมกว่ารถหรูระดับเดียวกัน จากยุคเดียวกัน

E39 รุ่นท้ายๆ ที่เป็นเครื่อง M52 หรือ M54 ไม่ค่อยมีเรื่องจุกจิกกับเครื่องยนต์ หรือเกียร์มากนัก เพราะมันพัฒนาต่อมาจาก M50 ที่ BMW ทำขายตั้งแต่ปี 1991 จุดอ่อนหลายอย่างถูกแก้ไปหมดแล้ว ในแง่การบำรุงรักษาออกจะง่ายกว่าเครื่อง N-Series ตัวใหม่ด้วยซ้ำ การซ่อมโอเวอร์ฮอลเกียร์ก็ถูกกว่ารถ BMW รุ่น 6 เกียร์ที่ใหม่กว่า อย่างไรก็ตาม E39 มักมีเรื่องจู้จี้กับระบบไฟฟ้า จากการที่เป็นรถรุ่นแรกที่ BMW เปลี่ยนระบบสายไฟในรถเป็น iBUS ที่หนึ่งสายส่งหลายข้อมูล การเปลี่ยนอุปกรณ์โดยไม่รู้เรื่อง บางทีก็จะนำพาปัญหามาเพิ่มเติม เช่น ถ้าเราเปลี่ยนจอเครื่องเสียง ถ้าร้านไม่มีประสบการณ์กับ BMW บางทีเปลี่ยนไปแล้ว ปุ่ม BC กดรีเซ็ตค่าบนจอ Information ไม่ได้ หรือของบางอย่างที่เราลืมนึก เช่นแผงกันน้ำใต้กระจกหน้า เวลาเก่าแล้วเสื่อม ฝนตกแล้วน้ำรั่ว ข้างในลงไปนี่มีกล่องคอนโทรลรออยู่เลย ถ้าน้ำเข้าก็รวน E39 มีกล่องแบบนี้อยู่ในตัวรถหลายใบ ซึ่งมีโอกาสพังได้ ทำให้อุปกรณ์บางชิ้นใช้การไม่ได้หรือผิดปกติไป

อย่างไรก็ตาม จุดที่จะพังถึงขั้นเรียกรถสไลด์ มีไม่เยอะ ส่วนไฟเตือนที่ขึ้นนู่นขึ้นนี่บ่อย บางทีเราต้องดูว่ามันเป็น Fault ของรถจริงๆ หรือรถมันเตือนด้วยความหวังดี เช่น บางคนอ่านภาษาอังกฤษไม่ออก รถมันอุตส่าห์เตือนว่าหลอดไฟเบรก หลอดไฟตัดหมอกขาด ก็ไปหาว่าอะไรฟระ ไฟเตือนนู่นนี่ขึ้นตลอด คือต้องพูดตามตรงนะครับว่ารถหรูญี่ปุ่น กับ BMW เอารถเกรดเดียวกันราคาเดียวกันปีเดียวกันมาเทียบ BMW มีเรื่องให้ต้องดูแลมากกว่าเยอะ มันจึงไม่เหมาะสำหรับคนไม่มีเวลาว่าง ไม่ชอบคุยกับเพื่อนที่ใช้รุ่นเดียวกัน ไม่ชอบการไปอู่ คือถ้าจะสักแต่ใช้ อย่าใช้ BMW เก่า แต่ถ้าคุณรัก BMW เก่า E39 คือผู้สอนที่ดี ที่ยังปรานีกระเป๋าเงินคุณ

เราจบกับเยอรมันกันที่ E39 นี่แล้วกันครับ สัปดาห์หน้าเราจะไปว่ากันต่อกับซาลูนไซส์ L และ XL จากประเทศอื่นกันบ้าง เอ้า..ก็ไม่ได้มีแต่เยอรมันนี่ครับที่ทำรถแบบนี้ได้ ญี่ปุ่น กับ สวีเดน เขาก็มีนะ บางคันที่ผมจะเขียนถึง ตอนป้ายแดงราคาสี่ล้านกว่า ตอนนี้ไม่ถึงสามแสน เข้าโจทย์ที่เรากำลังต้องการเป๊ะเลย เดี๋ยวจะมาเขียนเล่าให้ฟังกันต่อครับ.

Pan Paitoonpong

คุณกำลังดู: ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 1)

หมวดหมู่: รีวิวรถใหม่

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด