มะเร็งหลังโพรงจมูก กับ 4 สาเหตุสำคัญของโรค

มะเร็งหลังโพรงจมูก กับสิ่งที่คุณต้องรู้

มะเร็งหลังโพรงจมูก กับ 4 สาเหตุสำคัญของโรค

หลังจากที่ต้นสังกัดของดาราหนุ่มชาวเกาหลี คิมอูบิน ออกมาคอนเฟิร์มว่า คิมอูบิน กำลังเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกระยะแรก ทำให้แฟนๆ หลายคนสนใจโรคนี้กันมาก ว่าเป็นเพราะอะไร มีโอกาสหายหรือไม่

Sanook! Health จึงขออนุญาตนำบาทความของ รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มาให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจกันค่ะ

____________________

มะเร็งหลังโพรงจมูก เป็นโรคที่อยู่ในตำแหน่งซ่อนเร้น จึงทำให้ผู้ป่วยมาหาด้วยอาการของระยะแพร่กระจาย ในแต่ละปีพบผู้ป่วยทั่วโลกไม่ถึง 1 ต่อแสนคน แต่ในบางบริเวณจะพบผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้สูงอย่างเด่นชัด ได้แก่ จีนตอนใต้  แคนาดา  อลาสกา  ชาวเอสกิโมในกรีนแลนด์  บางส่วนของแอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย  สำหรับในประเทศไทยพบมะเร็งหลังโพรงจมูก ในผู้หญิง 1.6 ต่อแสนคนต่อปี  ในชาย 4.5 ต่อแสนคนต่อปี  จัดเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับเก้าสำหรับผู้ชายไทย ทั้งนี้พบอุบัติการณ์ในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิงประมาณสองเท่า  ส่วนมากอยู่ในวัยหนุ่มสาวถึงกลางคน  ในโรงพยาบาลศิริราชตรวจพบผู้ป่วยใหม่ประมาณ 90 – 100 คนต่อปี

 สาเหตุมะเร็งหลังโพรงจมูก

  1. พันธุกรรม จากการที่พบว่ามะเร็งหลังโพรงจมูกมีความชุกสูงเฉพาะในบางเขตภูมิศาสตร์ เช่นในประเทศจีนตอนใต้ และส่วนอื่นๆที่ชาวจีนอพยพไป ทำให้มีการศึกษาว่าพันธุกรรมอาจเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดมะเร็งชนิดนี้

  2. ไวรัส เป็นที่ยอมรับกันว่าไวรัสเอปสไตน์บาร์ (Epstein-Barr virus - EBV) มีส่วนสำคัญต่อการเกิดมะเร็งหลังโพรงจมูก โดยศึกษาพบว่าผู้ป่วยมะเร็งหลังโพรงจมูกจะมีสารภูมิคุ้มกันต่อไวรัสชนิดนี้ ในปริมาณที่สูงกว่าประชากรทั่วไปที่มีสุขภาพดี

  3. อาหารการกิน พบว่าในมณฑลกวางตุ้งซึ่งมีอุบัติการณ์ของมะเร็งหลังโพรงจมูกในอัตราสูงนั้น ประชาชนนิยมบริโภคปลาหมักเค็มกันมากกว่าจีนส่วนอื่น

  4. สิ่งแวดล้อม มีปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมหลายอย่างที่อาจมีผลต่อการเกิดมะเร็งหลังโพรงจมูก ได้แก่ฝุ่นละออง  ควันไฟจากการเผาไม้หรือหญ้า  สารเคมีต่างๆ ตลอดจนบุหรี่

 อาการมะเร็งหลังโพรงจมูก

  1. ก้อนที่คอ เป็นอาการที่พบมากที่สุดของผู้ป่วยมะเร็งหลังโพรงจมูกที่มาพบแพทย์ โดยก้อนที่คอนั้นอาจมีเพียงข้างใดข้างหนึ่งหรือเป็นทั้งสองข้างก็ได้

  2. อาการทางจมูก เช่น มีน้ำมูกปนเลือดบ่อยครั้ง แน่นจมูกหายใจไม่ค่อยสะดวก หรือมีน้ำมูกไหลลงคอเรื้อรัง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยหลายรายอาจได้รับการรักษาแบบโพรงจมูกหรือโพรงไซนัสอักเสบเรื้อรังมาก่อน

  3. อาการทางหู ได้แก่ การได้ยินบกพร่อง  มีเสียงดังในหู  ปวดหู หรือมีของเหลวไหลออกจากหู ซึ่งเกิดจากการทำงานผิดปกติของท่อเชื่อมหูชั้นกลาง  เนื่องจากมะเร็งหลังโพรงจมูกกระจายตัวมาถึง

  4. ระบบประสาท ได้แก่ อาการปวดศีรษะ  มองเห็นภาพซ้อน  ชาที่ใบหน้า ในรายที่ลุกลามมาก  ผู้ป่วยก็อาจมีอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้า  เวียนศีรษะ  เสียงแหบ  กลืนลำบาก หรือสำลักได้

  5. อาการของการกระจายของมะเร็งไปสู่อวัยวะอื่นๆ

การวินิจฉัยมะเร็งหลังโพรงจมูก

  1. โดยการซักประวัติ

  2. จากการตรวจร่างกาย ในบริเวณศีรษะและคออย่างละเอียดรวมถึงการตรวจร่างกายทั่วไปซึ่งมีความสำคัญในการวินิจฉัยมะเร็งหลังโพรงจมูก และประเมินขอบเขตของมะเร็งที่อาจกระจายไปแล้ว ตลอดจนประเมินการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลือง  ปัจจุบันการใช้กล้องส่องตรวจขนาดเล็กทั้งแบบแข็งหรือแบบอ่อนช่วยให้แพทย์สามารถเห็นตำแหน่งของมะเร็งได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น

  3. การตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา เป็นการให้การวินิจฉัยที่แน่นอนที่สุด การตัดชิ้นเนื้อตรวจสามารถทำได้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกโดยการใช้ยาชาเฉพาะที่ และอาจใช้ กล้องส่องช่วยในการตัดชิ้นเนื้อด้วยได้

  4. การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ

          - การตรวจเซลล์ ผู้ป่วยมะเร็งหลังโพรงจมูกบางรายมาพบแพทย์ครั้งแรกด้วยปัญหาต่อมน้ำเหลืองข้างลำคอโต โดยที่แพทย์ไม่พบความผิดปกติที่บริเวณหลังโพรงจมูก การเจาะและดูด (fine needle aspiration biopsy -FNA) บริเวณต่อมน้ำเหลืองเพื่อตรวจเซลล์ สามารถช่วยในการวินิจฉัยได้

          - การตรวจเลือด โดยการตรวจสารภูมิต้านทานอิมมูโนโกลบูลินเอ( IgA antibodies) ต่อไวรัสเอปสไตน์บาร์ (Epstein-Barr virus specific antigens) โดยพบว่าผู้ป่วยมะเร็งหลังโพรงจมูกจะมีปริมาณสารภูมิต้านทาน สูงกว่าประชากรปกติ นอกจากนี้จะมีการส่งตรวจเลือด  เพื่อดูความเข้มของเลือด  ตรวจดูระดับการทำหน้าที่ของตับ  เพื่อประเมินสภาพผู้ป่วยในการวางแผนการรักษาต่อไป

          - การตรวจทางรังสีวิทยา ดังได้กล่าวแล้วว่าผู้ป่วยบางรายที่แพทย์สงสัยว่าเป็นมะเร็งหลังโพรงจมูกแต่ตรวจร่างกายไม่พบก้อนเนื้อหรือแผลที่บริเวณหลังโพรงจมูก  การตรวจ computed tomography (CT) และ magnetic resonance imaging (MRI) จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยวินิจฉัยโรค และการตรวจทั้งสองอย่างนี้ยังสามารถบอกขอบเขตการลุกลามของตัวมะเร็งตลอดจนการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองได้เป็นอย่างดี   นอกจากนั้นการตรวจทางรังสีวิทยาอย่างอื่น ยังมีประโยชน์ในการตรวจหาว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นๆอีกหรือไม่ ได้แก่ การตรวจ bone scan และการตรวจอัลตราซาวด์ตับ (liver ultrasound) เป็นต้น

การรักษามะเร็งหลังโพรงจมูก

การรักษามะเร็งหลังโพรงจมูกโดยหลักแล้วคือการใช้รังสีรักษา  โดยอาจร่วมกับการให้เคมีบำบัดทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะการดำเนินโรคของมะเร็ง  สำหรับการผ่าตัดนั้นไม่มีบทบาทในการรักษาโดยตรงเนื่องจากมะเร็งหลังโพรงจมูกมีขอบเขตของรอยโรคใกล้กับอวัยวะที่สำคัญ อาทิเส้นเลือดแดงใหญ่ที่เลี้ยงคอและสมอง  ฐานกะโหลกศีรษะ ตลอดจนส่วนของสมองเอง  อย่างไรก็ตามการผ่าตัดก็ยังคงมีบทบาทในการรักษามะเร็งหลังโพรงจมูก ในกรณีที่สามารถควบคุมตัวมะเร็งหลังโพรงจมูกได้แล้ว แต่ยังคงมีก้อนที่คออยู่ หรือในผู้ป่วยที่มีมะเร็งเกิดซ้ำหรือหลงเหลือในบริเวณที่จำกัด ก็อาจพิจารณาผ่าตัดได้ในบางราย

 

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>>  SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

คุณกำลังดู: มะเร็งหลังโพรงจมูก กับ 4 สาเหตุสำคัญของโรค

หมวดหมู่: รู้ทันโรค

แชร์ข่าว