เมื่ออุตสาหกรรม Fast Fashion กำลังจะพังโลก

เมื่ออุตสาหกรรม Fast Fashion กำลังจะพังโลก

รู้หรือไม่ว่าสถานการณ์ด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกเราในเวลานี้มันเลวร้ายแค่ไหน อันที่จริงมันไม่ได้สังเกตได้ยากเลย เพราะทุกวันนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มันก็เริ่มส่งผลกับ “มนุษย์โลก” อย่างเรา ๆ ในฐานะที่เป็นตัวแปรที่ร้ายกาจที่สุดในการทำลายโลก และก็ยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่กำลังเดือดร้อนเนื่องมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตัวเองก่อเช่นเดียวกัน

ไม่นานมานี้ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ออกมาชี้แจงว่า อุณหภูมิของพื้นผิวโลกและอุณหภูมิของมหาสมุทรในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาในปีนี้ อยู่ในระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งมันเป็นสัญญาณเตือนว่าเรากำลังเริ่มต้นที่จะสิ้นสุดยุคของ “ภาวะโลกร้อน (Global Warming)” และกำลังเข้าสู่ยุค “ภาวะโลกเดือด (Global Boiling)” แล้ว ซึ่งจากสถานการณ์ในปีนี้ ก็เชื่อว่าคนไทยหลายคนคงสัมผัสได้ถึงสภาพอากาศที่ร้อนสุด ๆ จนเป็นประจักษ์พยานว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์ “ภาวะโลกเดือด” กันแล้วจริง ๆ

แล้วรู้หรือไม่ว่าแค่ “เสื้อผ้า” ที่เราใช้สวมใส่กันในชีวิตประจำวัน มันเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำพาโลกของเรามาประสบกับปัญหาโลกร้อนจนถึงจุดที่กลายเป็นโลกเดือดอย่างทุกวันนี้ด้วย โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่เป็น Fast Fashion หรือก็คือเสื้อผ้าตามกระแสแฟชั่นที่มาไวไปไว ใส่จริงได้แค่ไม่กี่ครั้ง แต่เราต้องซื้อต้องเปลี่ยนกันบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้ “ตกเทรนด์” นำไปสู่การมีเสื้อผ้าในตู้กองเป็นภูเขาเลากา ซึ่งเสื้อผ้าแฟชั่นสุดฮิตในแต่ละช่วงนี้กลับไม่ค่อยจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่าไรนัก ตั้งแต่กระบวนการผลิต ไปจนถึงจุดที่เราไม่ใส่แล้ว และมันก็กลายเป็นขยะในที่สุด

Fast Fashion คืออะไร แล้วปัญหาอยู่ที่ตรงไหน
Fast Fashion คือ เป็นกระบวนการผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นที่เน้นความรวดเร็วฉับไวตามกระแส เน้นสวมใส่เพียงไม่กี่ครั้งแล้วไปซื้อตัวใหม่แทน พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นเสื้อผ้าตามกระแสแฟชั่นที่มาไวไปไว ผลิตและซื้อขายกันอย่างรวดเร็วในปริมาณมาก ๆ ใช้ต้นทุนต่ำทั้งในส่วนของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตและแรงงาน เพื่อที่ให้เสื้อผ้านั้นมีราคาถูก เข้าถึงได้ง่าย ไม่ว่าใครก็มีเสื้อผ้าสวย ๆ สวมใส่ได้ในทุกโอกาส ด้วยความที่เป็นแฟชั่นวงจรสั้น ๆ เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อย ๆ เมื่อหมดเทรนด์ในช่วงเวลานั้นไป ก็จะมีเสื้อผ้าเทรนด์ใหม่เข้ามาแทนที่ ทำให้เสื้อผ้าที่ตกเทรนด์ไปแล้วจำนวนมากไม่สามารถขายได้ รวมไปถึงเสื้อผ้าในตู้ของใครหลายคนก็กลายเป็นส่วนเกิน เพราะไม่อยากหยิบมาใส่แล้ว

การมาถึงของเสื้อผ้าประเภท Fast Fashion ทำให้วงจรของแฟชั่นสั้นลง เนื่องจากผู้ผลิตมักจะใช้การตลาดเชิงจิตวิทยาเพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกว่าต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่ตลอดเวลาจะได้ตามแฟชั่นใหม่ให้ทัน พอใหม่มาเก่าก็ต้องไป ใคร ๆ ก็ไม่อยากดูเชยที่สวมใส่เสื้อผ้าที่ตกรุ่นไปแล้ว จากการที่มัน “ตกรุ่น” ได้อย่างง่าย ๆ และมีแฟชั่นใหม่เข้ามาแทนที่อยู่ตลอดเวลา มันจึงกลายเป็นจุดด้อยที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงกระบวนการทิ้งเสื้อผ้า เกิดเป็นขยะสิ่งทอกองมหึมาที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เอง ฝังกลบก็ลำบาก อีกทั้งยังมีสารเคมีในเส้นใยผ้าตกค้างอยู่อีกมากมาย และเป็นพิษกับสิ่งแวดล้อมในที่สุด

การที่อุตสาหกรรม Fast Fashion กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันกระแสของ Fast Fashion ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เพราะตลอดทุกขั้นตอนการผลิตได้ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะในแง่ของการใช้ทรัพยากร การเกิดขยะสิ่งทอ การใช้สารเคมี น้ำเสีย ภาวะแห้งแล้ง การตัดไม้ทำลายป่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมไปถึงเรื่องของจริยธรรมในการใช้แรงงาน ที่ส่อแววว่าอาจกลายเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนระดับโลก

ด้วยมีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับแรงงานที่เกี่ยวข้องกับโรงงานผลิตเสื้อผ้า Fast Fashion พบการใช้แรงงานเด็กหรือการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมในหลายประเทศ เพราะอุตสาหกรรมนี้ใช้งานแรงงานค่อนข้างหนัก แต่กลับได้รับค่าแรงที่ต่ำ ปัญหาการกดขี่แรงงานด้วยค่าแรงที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ด้านสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ก็ไม่เอื้อต่อชีวิตแรงงาน หรือแม้แต่การบังคับใช้แรงงานชาติพันธุ์ มีแรงงานจำนวนไม่น้อยถูกบังคับขู่เข็ญให้ทำงานโดยปราศจากการยินยอม โดยรวมก็คือ Fast Fashion ถูกตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งประเด็นเรื่องของจริยธรรมการใช้แรงงาน และการทำลายสิ่งแวดล้อม ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมนี้จะสร้างปัญหาให้กับโลกใบนี้มากมาย

ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรม Fast Fashion
รายงานขององค์การสหประชาชาติในปี 2019 พบว่าในระหว่างปี 2000-2014 ปริมาณการผลิตเสื้อผ้าบนโลกเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวด้วยกระแสความนิยมของ Fast Fashion ทำให้เสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้งานแล้วถูกทิ้งกลายเป็นขยะสิ่งทอที่ทำลายได้ยาก รวมไปถึงการทิ้งร่องรอยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิต ที่นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อมโลก

เนื่องจากหัวใจของอุตสาหกรรม Fast Fashion คือการลดต้นทุน ผลิตให้มาก ขายให้ได้มากและเร็วที่สุด เมื่อต้องผลิตทีละเยอะ ๆ และออกจำหน่ายให้เร็ว ผลที่ตามมาคือ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเข้มข้น โดยเริ่มตั้งแต่วัตถุดิบที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมนี้อย่าง “ฝ้าย” เพราะฝ้ายเป็นพืชที่ต้องการน้ำมหาศาล กว่าจะผลิตใยฝ้ายออกมาได้ 1 กิโลกรัมนั้นต้องใช้น้ำถึง 10,000 ลิตร หรือประมาณ 3,000 ลิตรต่อเสื้อผ้า 1 ตัวเลยทีเดียว ทำให้น้ำกว่า 1.5 พันล้านล้านลิตรถูกใช้ไปในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในแต่ละปี ในขณะที่คน 750 ล้านคนทั่วโลกไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้

รวมไปถึงการใช้สีที่ใช้ย้อมเสื้อผ้า ที่ต้องสังเคราะห์ขึ้นจากสารเคมี เป็นผลให้เกิดน้ำเสียที่ไม่ได้ผ่านการบำบัด คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ สร้างมลพิษลงแหล่งน้ำขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำย้อมสีผ้ากว่า 200,000 ตันถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำทุกปี จะเห็นว่าอุตสาหกรรม Fast Fashion เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมที่ใช้น้ำในกระบวนการผลิตและทำความสะอาดมากที่สุดในโลก

เรื่องของการเน้นต้นทุนถูกและกำไรสูง ทำให้มีการพยายามหาวัตถุดิบอื่นที่ต้นทุนถูกกว่าการใช้เส้นใยฝ้าย คือการผสมพลาสติกสังเคราะห์ขนาดเล็กที่เรียกว่า “ไมโครไฟเบอร์” เข้าไปด้วย ได้ออกมาเป็นชนิดเสื้อผ้าอีกรูปแบบ อย่างโพลีเอสเตอร์ ไมโครไฟเบอร์กว่าร้อยละ 85 ที่มนุษย์ผลิตขึ้น มักจะอยู่บริเวณชายฝั่งทั่วโลก ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ย่อยสลายได้ยากมาก และปลายทางของน้ำเสียที่มีไมโครไฟเบอร์ 190,000 ตันคือมหาสมุทร อีกทั้งปริมาณขยะพลาสติกที่ได้จากเสื้อผ้าเหล่านี้ในแต่ละปียังเปรียบได้กับขวดพลาสติกจำนวน 50,000 ล้านขวด ไมโครพลาสติกที่หลุดไปปนเปื้อนกับสิ่งแวดล้อมทั้งในน้ำและดิน จะแทรกซึมไปในห่วงโซ่อาหารของสัตว์โดยปริยาย

มาดูที่เรื่องของขยะสิ่งทออันเป็นเสื้อผ้าที่ไม่สามารถย่อยสลายได้กันบ้าง มีเส้อผ้าเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่จะได้กลับไปรีไซเคิลหรือบริจาค และทางเลือกเดียวที่จะกำจัดขยะที่เกิดจากเสื้อผ้าคือการฝังกลบดิน ซึ่งจะทิ้งสารตกค้างจำนวนมากไว้ในดิน ตามมาด้วยดินเสียหายและเสื่อมคุณภาพได้ โดยดินที่เสื่อมสภาพจะนำไปสู่การลดลงร้อยละ 30 ของกำลังการผลิตอาหารในอีก 20-50 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ กระบวนการผลิตเสื้อผ้าในอุตสาหกรรม Fast Fashion ยังมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ค่อนข้างสูง คิดเป็นร้อยละ 8-10 ของอัตราการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3.3 พันล้านตันต่อปี โดยเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ซึ่งเป็นเส้นใยสังเคราะห์ผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียม เสื้อโพลีเอสเตอร์หนึ่งตัวจะมีรอยเท้าคาร์บอน 5.5 กิโลกรัม ในขณะที่เสื้อเชิ้ตผ้าฝ้ายจะมีรอยเท้าคาร์บอนเพียง 2.1 กิโลกรัม รวมไปถึงปัญหาการตัไม้ทำลายป่าที่สืบเนื่องกัน ในแต่ละปี ต้นไม้ 90 ล้านต้นถูกตัดเพื่อมาผลิตเสื้อผ้า ร้อยละ 30 ของเสื้อผ้าใยสังเคราะห์ผลิตมาจากป่าที่ต้องเร่งอนุรักษ์ และร้อยละ 5 ของโรงงานเสื้อผ้าทั่วโลกใช้ต้นไม้เป็นวัตถุดิบหลัก

“แฟชั่น” เข้าใจว่าของมันต้องมี แต่เรามีส่วนช่วยอะไรได้บ้าง
ทุกวันนี้ การใช้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของมนุษย์เรามันเกินความจำเป็นของปัจจัย 4 ไปแล้ว การแต่งกายของคนเราสามารถยกระดับบุคลิกภาพและสถานะทางสังคม รวมถึงบอกบุคลิกภาพ บอกนิสัย บอกวัฒนธรรม การแต่งกายจึงไม่ใช่แค่การปกปิดร่างกายอีกต่อไป ในขณะเดียวกัน การมาของ Fast Fashion ยิ่งตอบโจทย์ เพราะมันทำให้เราได้สวมใส่เสื้อผ้าที่ดูดีในราคาที่จับต้องได้ ยิ่งไปกว่านั้น แบรนด์เสื้อผ้าแบบ Fast Fashion ยังเน้นย้ำทำการตลาดด้วย “เทรนด์” ที่จะปรับเปลี่ยนคอลเลกชันใหม่อยู่บ่อย ๆ ทำให้เราสามารถเปลี่ยนสไตล์ได้บ่อย ๆ และเข้าถึงแฟชั่นที่มาและไปอย่างรวดเร็วได้อย่างต่อเนื่อง

Fast Fashion เปลี่ยนนิยามของเสื้อผ้าจาก “สิ่งจำเป็น” กลายเป็น “ของมันต้องมี” ตามความคิดที่ว่าเราต้องตามให้ทันแฟชัน นำไปสู่การอยากได้ของใหม่อยู่ตลอดเวลา ทั้งที่ในเวลานี้ โลกกำลังเผชิญกับหายนะด้านสิ่งแวดล้อมจาก Fast Fashion อย่างหนักหน่วง ดังนั้น มันจะดีกว่าไหมหากเราจะมีวิธีเลือกซื้อและเลือกใช้เสื้อผ้าที่ยั่งยืนได้มากกว่าด้วยแฟชั่นหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า และดีต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงบนโลกมากกว่าด้วย

เสื้อผ้าแต่ละตัวไม่ได้ออกแบบมาให้ใช้ไม่กี่ครั้งแล้วทิ้ง มันมีอายุการใช้งานที่ยาวนานมาก ๆ เพราะฉะนั้น มันจะดีกว่าหากเราซื้อเสื้อผ้าใหม่ให้น้อยลง นำเอาที่มีอยู่ในตู้มา mix and match ใหม่อย่างสร้างสรรค์ ก็น่าจะทำให้การแต่งตัวในแต่ละวันสนุกสนานขึ้น ในขณะที่เราก็ยังคงความเป็นสายแฟชั่นได้อยู่ หรืออาจจะต้องพิจารณาให้มากขึ้นเวลาจะซื้อเสื้อผ้า เลือกซื้อผ้าอย่างไรที่จะมีผลกระทบต่อโลกให้ได้น้อยที่สุด อาจเลือกเสื้อผ้าที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ 100% เลือกซื้อผ้าที่สวมใส่ได้หลาย ๆ โอกาส ใช้งานได้ยาวนาน และท้ายที่สุด ถ้าเราไม่อยากใส่เสื้อผ้าตัวนี้แล้ว เราจะทำอย่างไรกับมัน บริจาคไหม? ให้คนอื่นไหม? ขายมือสองไหม? หรือจะส่งไปรีไซเคิลดี?

ข้อมูลจาก Fashionista, Good On You, Sustain Your Style, BBC

คุณกำลังดู: เมื่ออุตสาหกรรม Fast Fashion กำลังจะพังโลก

หมวดหมู่: ผู้หญิง

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด