“น้ำยาบ้วนปาก” ใช้ไม่ถูกวิธี เสี่ยงช่องปากพังหนักกว่าเก่า

น้ำยาบ้วนปาก จำเป็นหรือไม่ ใช้อย่างไรจึงจะถูกวิธี

“น้ำยาบ้วนปาก” ใช้ไม่ถูกวิธี เสี่ยงช่องปากพังหนักกว่าเก่า

หลังจากที่ Sanook! Health นำเสนอบทความเกี่ยวกับ 4 สัญญาณอันตราย ได้เวลารักษา “รากฟัน” แล้วมีผู้สนใจอ่านเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เราคิดว่าสุขภาพปาก และฟัน เป็นเรื่องสำคัญที่ใครหลายคนอาจมองข้าม สนใจแต่โรคหนักๆ อย่างหัวใจ เบาหวาน ไต และมะเร็ง ซึ่งอันที่จริงแล้วจุดเริ่มต้นของทุกโรคที่กล่าวมา ก็มาจากการทานอาหารผ่าน “ปาก” ของเรานั่นเอง จึงอาจพูดได้ว่าช่องปากสำคัญต่อสุขภาพโดยรวมของเราตั้งแต่ต้น

การดูแลทำความสะอาดช่องปาก ทำได้ง่ายๆ เพียงแปรงฟัน แต่ในความง่ายก็ยังมีความยากซ่อนอยู่ เพราะหลายคนยังแปรงฟันไม่สะอาด จนก่อให้เกิดโรคฟันผุ เหงือกอักเสบ และอื่นๆ ตามมา (อ่านต่อ >> 3 วิธีแปรงฟันที่คุณอาจเข้าใจผิดมาตลอด!) ดังนั้นเพื่อเพิ่มความมั่นใจเหงือก และฟันของเราได้รับการดูแลเป็นอย่างดี จึงมีนวัตกรรม น้ำยาบ้วนปาก ออกมา น้ำยาบ้วนปากก็ใช้ง่าย ไม่ยุ่งยาก แต่ยังไม่หลายคนที่ใช้น้ำยาบ้วนปากไม่ถูกต้องอีกเช่นกัน จนเสี่ยงเป็นอันตรายต่อสุขภาพในภายหลังได้

 

น้ำยาบ้วนปาก จำเป็นหรือไม่?

น้ำยาบ้วนปาก เป็นของเหลวที่ช่วยในการทำความสะอาดช่องปากเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่อาจทดแทนการทำความสะอาดฟัน และเหงือกจากการแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันได้ เพราะการบ้วนปากเพียงอย่างเดียวไม่สามารถกำจัดเศษอาหารที่ตกค้างตามซอกเหงือกซอกฟันทั้งหมดได้ น้ำตาบ้วนปากจึงมีหน้าที่ช่วยลดเชื้อโรคภายในปากบางส่วน ระงับกลิ่นปากชั่วคราว และทำให้ปากสดชื่นจากกลิ่นของน้ำยาบ้วนปากเท่านั้น หากมั่นใจว่าทำความสะอาดช่องปากได้เป็นอย่างดีแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้น้ำยาบ้วนปากค่ะ

 

อันตรายจากการใช้น้ำยาบ้วนปากไม่ถูกต้อง

  1. ห้ามใช้น้ำยาบ้วนปากแทนการแปรงฟัน เพราะการใช้น้ำยาบ้วนปากเป็นเพียงเพิ่มกลิ่นหอมสดชื่นให้กับช่องปากเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่คราบจุลินทรีย์ เศษอาหาร และอื่นๆ ยังคงอยู่ตามซอกเหงือกซอกฟัน รวมไปถึงกระพุ้งแก้ม ลิ้น และอื่นๆ ดังนั้นควรใช้น้ำยาบ้วนปากเพิ่มเติมหลังจากแปรงฟัน แล้วเท่านั้น (ถ้าไม่สามารถแปรงฟันได้ ควรใช้ไหมขัดฟัน แล้วจะต่อด้วยน้ำยาบ้วนปากก็ได้)

  2. น้ำยาบ้วนปาก ไม่สามารถรักษาอาการต่างๆ ของโรคในช่องปากได้ หลายคนอาจใช้ในการอมไว้บริเวณเหงือก หรือจุดที่มีฟันผุ เพื่อหวังจะช่วยลดอาการเหงือกบวมอักเสบ หรือรักษาฟันผุได้ รวมไปถึงอาการเสียวฟัน ที่แม้ว่าน้ำยาบ้วนปากจะมีส่วนผสมที่ช่วยในเรื่องของอาการเสียวฟัน แต่หากเป็นอาการเสียวฟันที่มีสาเหตุมาจากคอฟันสึก แล้วเราใช้น้ำยาบ้วนปากช่วย แล้วเพิกเฉยต่ออาการดังกล่าว อาจทำให้เราไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจากแพทย์ และอาการคอฟันสึกก็แย่ลง ไม่อุดคอฟัน จนทำให้คอฟันสึกลึกลงไปถึงโพรงประสาทฟัน จนปวดฟัน แล้วต้องเปลี่ยนไปรักษารากฟันแทนการอุดคอฟันที่รักษาง่ายกว่า หรือหากเป็นโรคปริทันต์อักเสบ น้ำยาบ้วนปากก็ไม่ได้ช่วยรักษาโรคจากต้นเหตุจริงๆ หากปล่อยไว้อาจทำให้เราเพิกเฉยต่อโรคจนมีอาการหนักมากขึ้นเรื่อยๆ

  3. หากใช้น้ำยาบ้วนปากบ่อยเกินไป อาจเข้าไปทำลายเชื้อแบคทีเรียดีๆ ที่อาศัยอยู่ในปาก และอาจก่อให้เกิดเชื้อราภายในปากตามมาภายหลังได้ นอกจากนี้ยังอาจทำให้ฟันเกิดคราบหินปูนได้ง่าย ตุ่มรับรสชาติจากลิ้นเพี้ยนไป และสีเคลือบผิวฟันเปลี่ยนอีกด้วย

  4. หากเลือกใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หรือกรดแรงจนเกินไป อาจทำให้เยื่อบุภายในช่องปากระคายเคือง ผิวฟันบางลง จนอาจทำให้เกิดอาการเสียวฟันตามมา

 

 mouth-wash-2iStock

วิธีใช้น้ำยาบ้วนปากที่ถูกต้อง

น้ำยาบ้วนปากมีหลายชนิดเหมือนยาสีฟันค่ะ หลายสูตร หลายส่วนผสม แต่ควรเลือกที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หรือมีน้อยที่สุด เพื่อป้องกันการระคายเคืองต่อเยื่อบุช่องปาก และยังอาจทำให้แสบช่องปากอีกด้วย  นอกจากนี้ยังต้องระวังส่วนผสมที่เป็นกรด ที่อาจทำให้ผิวฟันกร่อน เคลือบฟันบางลง และอาจเกิดอาการเสียวฟันตามมาได้

ก่อนใช้น้ำยาบ้วนปาก ควรทำความสะอาดฟันด้วยการแปรงฟัน หรือใช้ไหมขัดฟันเพื่อกำจัดเศษอาหารออกมาจากซอกฟันเสียก่อน เพื่อให้น้ำยาบ้วนปากสัมผัสส่วนต่างๆ ของช่องปากได้ดี และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

น้ำยาบ้วนปากแต่ละสูตรอาจมีวิธีใช้ที่แตกต่างกันออกไป เช่น อมค้างไว้ 15-30 วินาทีก่อนค่อยบ้วนทิ้ง ไม่บ้วนปากด้วยน้ำเปล่าตาม หรืออาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ รวมถึงความถี่ในการใช้น้ำยาบ้วนปากของแต่ละชนิดก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นควรอ่านศึกษาจากฉลากข้างผลิตภัณฑ์ให้ดีค่ะ

 

น้ำยาบ้วนปาก ช่วยให้ช่องปากของเราหอมสดชื่น แต่ไม่ได้ช่วยรักษาโรค และอาการผิดปกติต่างๆ ในช่องปากแต่อย่างใด หากมีอาการเหงือกบวมอักเสบ ฟันผุ มีแผลในช่องปาก เหงือกร่น หรือปัญหาอื่นๆ ควรไปพบทันตแพทย์ และควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันทุกๆ 6 เดือนค่ะ

คุณกำลังดู: “น้ำยาบ้วนปาก” ใช้ไม่ถูกวิธี เสี่ยงช่องปากพังหนักกว่าเก่า

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด