ภาวะเลือดออกในสมอง ที่เกิดจากอุบัติเหตุในเด็ก
ภาวะเลือดออกในสมอง คือ อาการที่มีเลือดออกในสมอง ทำให้สมองบวมและความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในวัยเด็กรวมถึงผู้ใหญ่
- หากเด็กได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ ตกจากที่สูง การกระแทก วิ่งชนกัน ถูกของแข็งกระทบหรือถูกตี อาจส่งผลกระทบถึงอาการเลือดออกในสมอง
- กรณีที่เด็กไม่รู้สึกตัวให้สังเกตว่าเด็กยังหายใจหรือไม่ หากเด็กไม่มีชีพจรจำเป็นต้องรีบทำการปฐมพยาบาลกู้ชีพโดยด่วนและพาส่งต่อโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
- อาการเลือดออกในสมอง ส่งผลกระทบทำให้พบปัญหาทางระบบประสาท ส่งผลต่อการเรียนรู้ การพูด และการเคลื่อนไหว บางคนอาจมีอาการชักหรือลมบ้าหมู รุนแรงสุดถึงขั้นเสียชีวิตได้
“ภาวะเลือดออกในสมอง” คือ อาการที่มีเลือดออกในสมอง ทำให้สมองบวมและความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในวัยเด็กรวมถึงผู้ใหญ่ ดังนั้น หากเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะจึงต้องมีการสังเกตอาการอยู่เสมอ โดยเฉพาะในวัยเด็กที่ยังมีการตัดสินใจของตัวเองต่ำ ผู้ปกครองและคุณครูที่อยู่ใกล้ชิดจึงควรใส่ใจเกี่ยวกับภาวะดังกล่าวเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นแก่ชีวิตของเด็ก
สาเหตุของการเกิดภาวะเลือดออกในสมองในเด็ก
แบ่งออกเป็น 2 ประเภท หลักๆ ดังต่อไปนี้
- ภาวะเลือดออกในสมองที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุ เช่น การผลัดตกจากที่สูง อาการเลือดออกในสมองจากการกระแทก วิ่งชนกัน การได้รับของแข็งตีบริเวณศีรษะ และรวมถึงการที่เด็กถูกจับมาเขย่าก็อาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกในสมองในเด็กได้
- ภาวะเลือดออกในสมองที่ไม่เกี่ยวกับอุบัติเหตุ เช่น โรคที่เกี่ยวกับสมอง เส้นเลือดในสมองแตก มีก้อนเนื้องอกในสมอง มีโรคประจำตัว อาทิ เลือดออกง่ายหยุดยาก โรคตับ เป็นต้น
เป็นที่สังเกตได้ว่า ภาวะเลือดออกในสมองที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ที่ประสบอุบัติเหตุนั้นเกิดได้ง่าย รวดเร็ว และมักคาดไม่ถึง ดังนั้น ภาวะเลือดออกในสมองในเด็กที่เกิดจากอุบัติเหตุจึงถือเป็นสาเหตุที่ผู้ปกครองควรให้ความสนใจและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
การปฏิบัติเมื่อเด็กได้รับอุบัติเหตุบริเวณศีรษะ
- ผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดต้องมีสติ เพื่อที่จะสามารถควบคุมและจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ต้องรีบประเมินเด็ก ต้องตรวจสอบว่ารู้สึกตัวหรือไม่
- ในกรณีที่เด็กไม่รู้สึกตัว ให้สังเกตว่าเด็กยังหายใจหรือไม่ ชีพจรเป็นอย่างไร หากเด็กไม่มีชีพจรจำเป็นต้องมีการกู้ชีพโดยด่วนและรีบพาส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที แต่หากเด็กยังหายใจเองได้ ชีพจรเต้นปกติ ไม่ควรช่วยเหลือเองเพราะอาจช่วยเหลือผิดวิธี ควรโทรเรียกรถพยาบาลหรือหน่วยกู้ชีพมาช่วยเหลือและดูแลเด็ก
- แม้พบว่าเด็กยังรู้สึกตัวดี ก็ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ ให้สังเกตอาการผิดปกติอื่นๆ ต่อไป
อาการผิดปกติของเด็กที่ต้องสังเกตและรีบพามาพบแพทย์
- เด็กสลบและตื่นขึ้นมาโดยไม่มีอาการบ่งชี้ใดๆ ก็ยังต้องคอยสังเกตเพราะอาจเกิดภาวะสมองกระทบกระเทือนจนสติดับและมีเลือดออกในสมองเล็กน้อย (Lucid interval) แต่เลือดอาจยังไม่มากพอจึงทำให้เด็กยังรู้สึกตัวปกติ ซึ่งต่อมาสมองจะบวมมากขึ้นและอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
- บริเวณศีรษะมีแผลบวม โน ฉีกขาด
- มีก้อนบวมโตบริเวณหู
- บริเวณศีรษะมีรอยช้ำ อาจเพราะเกิดภาวะที่ฐานกะโหลกมีรอยร้าวหรือรอยแตก (Battle sign)
- เด็กมีอาการซึม
- เด็กไม่สามารถตอบสนอง ไม่ทำตามคำสั่งหรือพูดคุยได้
- เด็กเดินแล้วดูอ่อนแรง เดินเซ
- เด็กมีอาการชักหรือช็อก
- มีเลือดไหลออกจากจมูกหรือหู
- เด็กมีอาการปวดศีรษะ อาเจียน
- สำหรับเด็กเล็ก ให้สังเกตอาการร้องกวน ปลอบอย่างไรก็ไม่หยุด
การวินิจฉัย อาการเลือดออกในสมอง
ภาวะเลือดออกในสมองถือเป็นภาวะฉุกเฉิน โดยเฉพาะในวัยเด็ก การวินิจฉัยอาการจึงต้องวินิจฉัยโดยแพทย์ทางด้านเวชบำบัดฉุกเฉินและวิกฤติในเด็กที่เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ รายละเอียดดังนี้
- แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับประวัติสุขภาพและอาการของเด็ก
- ทำ CT Scan การใช้รังสีเอกซเรย์เชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อถ่ายภาพโครงสร้างต่างๆ ในสมอง ในการวินิจฉัยนี้แพทย์จะให้เด็กนอนลงบนโต๊ะแล้วเคลื่อนเด็กเข้าไปใต้อุปกรณ์ถ่ายรูปที่มีลักษณะคล้ายโดนัท เป็นวิธีที่นิยมใช้วินิจฉัยภาวะเลือดออกในสมองมากที่สุด
- ทำ MRI ถ่ายภาพทางคอมพิวเตอร์โดยใช้คลื่นวิทยุและแม่เหล็กขนาดใหญ่ โดยระหว่างการวินิจฉัย เด็กจะนอนลงแล้วถูกเคลื่อนย้ายไปใต้อุปกรณ์คล้ายท่อหรืออุโมงค์ แต่การทำ MRI Scan นี้นำมาใช้ไม่บ่อยเท่า CT Scan เนื่องจากใช้เวลานานกว่า
นอกจากการวินิจฉัยข้างต้น แพทย์ยังอาจใช้การวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อระบุสาเหตุของภาวะเลือดออกในสมอง เช่น การเอกซเรย์หลอดเลือดด้วยการฉีดสีเข้าไป ให้สามารถมองเห็นการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดแดงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น การตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติของเกล็ดเลือด การแข็งตัวของเลือด ระบบภูมิคุ้มกัน การอักเสบและการเกิดลิ่มเลือดที่อาจเป็นปัจจัยของภาวะดังกล่าว
การรักษาภาวะเลือดออกในสมองในเด็ก
เมื่อแพทย์ได้ทำการตรวจวินิจฉัยเรียบร้อยแล้ว การรักษาจะเกิดขึ้นทั้งรูปแบบที่ไม่ต้องผ่าตัดหรือทำการผ่าตัดด่วน ขึ้นอยู่กับว่าการเกิดเลือดออกในสมองมีมากน้อยเพียงใด
- ในกรณีที่มีภาวะเลือดออกในสมองเพียงเล็กน้อยและไม่มีภาวะสมองบวม ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แพทย์จะให้การรักษาด้วยการใช้ยา และสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีเลือดออกมากขึ้น จะได้สามารถรักษาทันท่วงที
- สำหรับกรณีที่เลือดออกปานกลางถึงมาก
แพทย์จะตรวจอย่างละเอียดเพื่อพิจารณาต่อว่าเลือดออกบริเวณใด
โดยส่วนมากจะมีเลือดออกในบริเวณเยื่อหุ้มสมอง ซึ่งหลักๆ อยู่ 2 ชนิด
คือ
- ภาวะเลือดออกในสมองเหนือบริเวณเยื่อหุ้ม ซึ่งหากมีเลือดออกในบริเวณนี้ การรักษาทำได้ไม่ยาก จะทำเพียงเจาะรูและดูดเลือดบริเวณนั้นออกมาเท่านั้น
- ภาวะเลือดออกในสมองต่ำกว่าบริเวณเยื่อหุ้ม (Subdural Hematoma หรือ Intracranial Hemorrhage) ในบริเวณนี้ แพทย์จะประเมินว่าเลือดออกบริเวณส่วนไหนและจะมีการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะในส่วนนั้น เพื่อทำให้ตัวสมองที่บวมมีพื้นที่มากขึ้น ไม่เกิดการกดในก้านสมอง
โดยรายละเอียดข้างต้นเป็นการรักษาเบื้องต้นของอาการเท่านั้น รายละเอียดอื่นๆ แพทย์จะแจ้งและรักษาเป็นกรณีๆ ไปตามแต่ละอาการของบุคคล
การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเลือดออกในสมองเด็ก
- ควรระมัดระวังการเล่นของเด็กไม่ให้รุนแรงจนเกิดการปะทะ
- ควรให้เด็กเล่นในบริเวณที่ราบ ไม่ขึ้นที่สูงเพราะอาจก่อให้เกิดการพลัดตก
- ไม่ควรเล่นเขย่าตัวเด็กแรงๆ
- ควรเก็บข้าวของในบ้านให้เรียบร้อย ไม่วางเกะกะเพราะอาจทำให้เด็กสะดุดล้ม
- ในกรณีขับขี่/ซ้อนยานยนต์ หรือเล่นกีฬาโลดโผน ควรสวมหมวกนิรภัยหรือคาดเข็มขัดนิรภัยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนสมอง
- ดูแลสุขภาพเด็กให้แข็งแรง ไม่ให้มีภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะน้ำหนักเกิน เพราะจะทำให้มีความเสี่ยงเกิดภาวะเลือดออกในสมองมากกว่าผู้ที่มีสุขภาพปกติ
- ไม่ใช้ยาเสพติด เนื่องจากยาเสพติดเป็นอีกปัจจัยที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกในสมองได้
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กจากภาวะเลือดออกในสมอง
ผลข้างเคียงของเด็กแต่ละคนจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุและตำแหน่งของบริเวณเลือดออก เด็กบางคนไม่มีผลข้างเคียงหลังการรักษา แต่เด็กบางคนอาจมีปัญหาทางระบบประสาท ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ คำพูดหรือการเคลื่อนไหว บางคนอาจมีอาการชักหรือลมบ้าหมู ซึ่งในกรณีเหล่านี้ แพทย์จะให้คำแนะนำและติดตามอาการเป็นระยะ โดยอาจจำเป็นต้องมีการดูแลแบบประคับประคอง เช่น การทำกายภาพบำบัดหรือกิจกรรมบำบัด เป็นต้น
ภาวะเลือดออกในสมองในเด็ก ผู้ปกครองบางท่านอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวและเกิดขึ้นได้ยาก แต่ที่จริงแล้วอาการเลือดออกในสมองในเด็กนี้ สามารถเกิดขึ้นได้แม้มีเพียงอุบัติเหตุเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็น การวิ่งชน การพลัดตกเก้าอี้ ดังนั้น ผู้ปกครองและคุณครูที่เจอเหตุการณ์จึงไม่ควรนิ่งนอนใจและต้องประเมินอาการของเด็กว่าควรพาไปพบแพทย์หรือไม่ เพราะหากปล่อยปละละเลย อุบัติเหตุเล็กๆ เหล่านั้นอาจพรากชีวิตของเด็กไปตลอดกาล.
บทความโดย :พญ.พัชรินทร์ ตรีจักรสังข์ กุมารแพทย์ด้านเวชบำบัดวิกฤต โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช สุขุมวิท
คุณกำลังดู: ภาวะเลือดออกในสมอง ที่เกิดจากอุบัติเหตุในเด็ก
หมวดหมู่: แม่และเด็ก