ภาวะ "เปลือกตาหย่อน" อันตรายหรือไม่ แก้ไขได้อย่างไร

ภาวะ "เปลือกตาหย่อน" อันตรายหรือไม่ แก้ไขได้อย่างไร

นอกจากเปลือกตาหย่อนจะทำให้ดูมีอายุแล้ว ยังอันตรายเพราะบดบังทัศนวิสัยด้วย จะมีวิธีแก้ไขได้อย่างไรบ้าง

สาเหตุของการเกิด “เปลือกตาหย่อน”

อ. พญ. พิมพ์ขวัญ จารุอำพรพรรณ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ภาวะเปลือกตาหย่อน หรือหนังตาหย่อน (dermatochalasis) เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อยคือ เกิดในผู้สูงอายุ เนื่องจากหนังตามีความยืดหยุ่นมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ทำให้สามารถหย่อนคล้อยลงมาได้ 

แต่ว่าในกรณีที่เป็นบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้สูงอายุ มักจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมหรือชาติพันธุ์ เช่น ในคนเอเชียที่มีตาชั้นเดียว และมีการสะสมของไขมันใต้ชั้นหนังตามาก ทำให้ชั้นหนังตาห้อยลงมาต่ำกว่าระดับขนตา และโดยเฉพาะในผู้สูงอายุอาจพบภาวะเปลือกตาตก (blepharoptosis) และคิ้วตก (brow ptosis) ร่วมด้วยได้ ซึ่งต้องแยกสาเหตุเพราะวิธีการรักษาแตกต่างกัน

อันตรายของ “เปลือกตาหย่อน”

นอกจากจะเป็นเรื่องความไม่สวยงามแล้ว การที่เปลือกตาหย่อนคล้อยจนลงมาปิดจนเหมือนหรี่ตาอยู่ตลอดเวลา ทำให้การทัศนวิสัยในการมองเห็นของลดลงด้วย เป็นอันตรายต่อการใช้ชีวิต หรือทำงานที่ต้องใช้สายตาเป็นสำคัญ เช่น ขับรถ เย็บผ้า ทำงานกับเครื่องจักร และอื่นๆ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเมื่อยล้าหน้าผาก เนื่องจากใช้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าผากช่วยยกเปลือกตาบนขึ้นตลอดเวลา จนกระทั่งอาจมีรอยย่นที่หน้าผากถาวรได้ ในบางกรณีขนตาอาจถูกหนังตาที่หย่อนกดลงและม้วนเข้าในทำให้กระจกตาตรงตาดำเป็นแผลหรือระคายเคืองได้ หากมีอาการตามนี้ให้รีบพบแพทย์

แก้ไขเปลือกตาหย่อนได้อย่างไร

อ. พญ. พิมพ์ขวัญ ระบุว่า ภาวะเปลือกตาหย่อน สามารถแก้ไขโดยการผ่าตัดเปลือกตา โดยเลือกตัดบริเวณหนังตาที่ห้อยย้อยลงมาออก รอยแผลผ่าตัดจะซ่อนอยู่ตรงบริเวณชั้นตา (ถ้ามีชั้นตา) ระหว่างการผ่าตัดอาจจะมีการนำไขมันส่วนเกินที่ทำให้เปลือกตาอูมออกได้ด้วย ก่อนที่จะเย็บปิดแผลตรงชั้นตาให้สวยงามและมีความเป็นธรรมชาติ อาจทำร่วมกับการผ่าตัดตาทำตาสองชั้นได้ ผู้ป่วยจะมีอาการบวมหรือเขียวช้ำบริเวณที่ผ่าตัดประมาณ 2-3 สัปดาห์ หลังจากนั้นอาการจะดีขึ้นและกลับมาใกล้เคียงปกติ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน

หลังผ่าตัดควรรับประทานยา หรือทายาตามคำแนะนำของแพทย์ และควรระวังไม่ให้แผลถูกน้ำ เหงื่อหรือสิ่งสกปรกเปรอะเปื้อน เพราะอาจทำให้แผลติดเชื้อได้ หลังผ่าตัดประมาณ 1 สัปดาห์แพทย์จะนัดมาทำการตัดไหม หลังจากนั้นยังไม่ควรขยี้ตาเพราะจะทำให้แผลเปิดได้ รวมถึงมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อติดตามดูอาการ

คุณกำลังดู: ภาวะ "เปลือกตาหย่อน" อันตรายหรือไม่ แก้ไขได้อย่างไร

หมวดหมู่: รู้ทันโรค

แชร์ข่าว