พิษโลหะหนัก กำจัดได้เร็ว ลดเสี่ยงหลายโรค (ตอน 1)

พิษโลหะหนัก กำจัดได้เร็ว ลดเสี่ยงหลายโรค (ตอน 1)

หลายคนเข้าใจว่าผู้ที่ทำงานในโรงงาน หรือผู้ที่ต้องอยู่กับสารเคมีเท่านั้น ถึงจะได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย แต่จริงๆ แล้ว ทุกวันนี้เราอยู่ใกล้กับโลหะหนักในทุกๆ วัน ได้สัมผัสและรับสารพิษเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ตัวอีกทีอาจส่งผลร้ายกับอวัยวะ ระบบต่างๆ ภายในร่างกายไปแล้ว

โลหะหนักในอาหาร

เราจะได้รับสารโลหะหนัก ทั้งจากการรับประทานอาหารและจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ร่างกายตลอดเวลา ซึ่งหากมีการสะสมสารโลหะหนักในร่างกายเป็นปริมาณมาก ก็จะส่งผลต่อสุขภาพ ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ ตามมาได้

โลหะหนักคืออะไร อันตรายต่อร่างกายอย่างไร?

โลหะหนัก ภาษาอังกฤษ คือ Heavy Metalsโลหะหนัก คือโลหะที่มีความถ่วงจำเพาะมากกว่าน้ำ 5 เท่าขึ้นไป เช่น ปรอท สารหนู ตะกั่ว อะลูมิเนียม แคดเมียม สังกะสี ทองแดง ซึ่งสารเหล่านี้จะสลายตัวได้ช้าและปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างยาวนาน เมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ก็จะเกิดการสะสมเป็นอนุมูลอิสระ (Free radical) สารออกซิแดนต์ (Oxidant) ที่นำไปสู่ความเสื่อมของเซลล์และทำให้เกิดโรคภัย เร่งความชราวัยของอวัยวะต่างๆ ให้เกิดเร็วกว่าที่ควรจะเป็น

สารพิษโลหะหนักจะรบกวนการทำงานของแร่ธาตุต่างๆ ในร่างกาย ทำให้เรารู้สึกอ่อนเพลีย ขณะที่อนุมูลอิสระจะส่งผลกระทบต่อผนังเซลล์ สุดท้ายเซลล์ก็จะถูกทำลายลง ในทุกขณะร่างกายของเราจะสร้างสารต้านอนุมูลอิสระ (Anti Free Radical) หรือ Anti-oxidant เพื่อมากำจัดอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้น หากเราได้รับอนุมูลอิสระเข้ามามากและต่อเนื่องจากสิ่งแวดล้อมและจากที่ร่างกายสร้างขึ้น สารต้านอนุมูลอิสระที่เราสร้างขึ้นเองตามธรรมชาติ ก็จะไม่เพียงพอต่อการกำจัดอนุมูลอิสระ ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดเริ่มขรุขระเป็นแผล ต่อมาจะเกิดเป็นหลอดเลือดแข็งตัว เกิดคราบตะกรันในหลอดเลือด ซึ่งทำให้เกิดลิ่มเลือด อีกทั้งหลอดเลือดยังขาดความยืดหยุ่นและหดตัวลง จนในที่สุดก็จะเกิดโรคหลอดเลือดตีบ ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ไม่เพียงพอ จึงเกิดความเสื่อมอย่างรวดเร็ว เราจึงพบว่าการมีสารโลหะหนักในร่างกายมากเกินไป อาจเกี่ยวพันกับโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตเสื่อม และโรคเรื้อรังอื่นๆ อีกมาก นอกจากนี้ การสะสมของโลหะหนัก อาจส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนต่างๆ และนำไปสู่ความเสื่อมของระบบประสาท ความคิดความทรงจำอาจมีปัญหา รวมถึงมีส่วนที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าด้วย

โลหะหนักเข้าสู่ร่างกายผ่านทางไหนได้บ้าง?

โลหะหนักเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ช่องทางหลักๆ ดังนี้
1. การสัมผัส เพราะสารโลหะหนักสามารถถูกดูดซึมผ่านทางผิวหนัง ผู้ที่มีความเสี่ยงมาก เช่น ผู้ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือผู้ที่ใช้เครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐานที่มีการผสมสารโลหะหนัก ก็จะเป็นไปในลักษณะเดียวกัน
2. การสูดดม เช่น ควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ ควันบุหรี่ หรือควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมไปถึงฝุ่นที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ ก็มีการปนเปื้อนของโลหะหนักอยู่ค่อนข้างมาก
3. การรับประทานสัตว์หรือพืช โดยเฉพาะที่มาจากพื้นที่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรม หรือมีการปนเปื้อนโลหะหนักจากแหล่งอื่นๆ บางประเทศออกคำแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์หลีกเลี่ยงการรับประทานปลาบางชนิด เนื่องจากพบว่ามีสารปรอทปนเปื้อน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้

กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการมีโลหะหนักในร่างกายสูง...คือใคร

ผู้ที่ทานอาหารทะเลที่มาจากแหล่งปนเปื้อนน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ที่ชอบทำสีผม ทำเล็บด้วยผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ผู้ที่มีวัสดุอุดฟันแบบอะมัลกัม ซึ่งเคยใช้กันมากในอดีต และผู้ที่รับประทานผักผลไม้ที่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลงเป็นประจำ

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ร่างกายของเรามีโลหะหนักมากน้อยแค่ไหน?

ปัจจุบัน เราสามารถตรวจวัดระดับโลหะหนักที่สะสมในร่างกายได้ ด้วยการตรวจเลือดหรือปัสสาวะ ซึ่งใครที่ปวดศีรษะบ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลียง่าย เหนื่อยง่าย มีอาการชาตามปลายมือปลายเท้า เป็นตะคริวบ่อย มีผื่นแพ้หรือลมพิษเป็นประจำ รวมไปถึงมีอาการจากโรคเรื้อรังหรือโรค NCDs ต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคอัลไซเมอร์ และโรคมะเร็ง อาจเป็นผลที่ตามมาจากการมีระดับของอนุมูลอิสระที่สูงเรื้อรัง และการมีไลฟ์สไตล์ที่ทำลายสุขภาพ การตรวจพบว่ามีสารโลหะหนักมากเกินไป แพทย์จะพิจารณาให้การรักษา หรือกำจัดออกด้วยการให้กินยาหรือฉีดยา เพื่อให้สารโลหะหนักระบายออกตามธรรมชาติได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพโดยรวม.

บทความโดย : แผนกเวชศาสตร์ป้องกันภณา โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์

คุณกำลังดู: พิษโลหะหนัก กำจัดได้เร็ว ลดเสี่ยงหลายโรค (ตอน 1)

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด