ปรากฏการณ์ต่อคิวกินร้านดัง อดทนรอเป็นวัน ๆ ก็ยังจะกิน!

ปรากฏการณ์ต่อคิวกินร้านดัง อดทนรอเป็นวัน ๆ ก็ยังจะกิน!

คนเราสามารถมีความอดทนในการรอคิวเพื่อ “กินอาหาร” ได้นานแค่ไหน จากปรากฏการณ์ในสังคมยุคนี้ที่เรามักจะเห็นว่าร้านอาหารชื่อดังที่ฮอตฮิตตามโซเชียลมีเดียนั้นมีการต่อคิวกันยาวเหยียด และยังมีความเชื่อที่ส่งต่อกันมาว่าหากไม่ได้กินร้านนี้ถือว่าพลาด กลายเป็นว่าคนเราก็มีทั้งความพยายามและความอดทนที่จะรอคิวเพื่อกินอาหารร้านนั้นอย่างไม่ลดละ ต่อให้ต้องรอคิวนับร้อยคิว หรือต้องเสียเวลารอคิวทีละครึ่งค่อนวันก็ยังอดทนรอได้ แน่นอนว่ามันคงไม่ใช่ความหิว เพราะคนเราอดทนต่อความหิวไส้กิ่วกันนานขนาดนั้นไม่ได้ คงได้เปลี่ยนใจย้ายไปร้านที่ได้กินเดี๋ยวนั้นเสียมากกว่า แต่เพราะอะไรใครหลายคนถึงยังคงรอวนไปเพื่อให้ได้กินอาหารร้านนั้น

รอคิวอื่นยังเข้าใจได้ แต่รอคิวกินไปเพื่ออะไรล่ะ? ในเมื่อเรามีตัวเลือกเป็นร้านอื่น ๆ ให้เข้าไปนั่งกินอาหารได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องต่อคิงวรอ!

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอาหารมีคุณค่ามากกว่าแค่ทำให้เราอิ่มท้อง อาหารอาจมีความสำคัญในฐานะที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ แต่สำหรับบางคนเรื่องกินมันเป็นเรื่องใหญ่กว่านั้น ดังนั้น อาหารไม่ใช่แค่ปัจจัยสี่ที่เราเน้นกินเพื่ออยู่ แต่อาหารถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสุขส่วนตัวให้กับคนหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นความสุขของการได้กลืนกินมันลงไป “รอนานนักนะ!” หรือความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการโพสต์ภาพลงโซเชียลมีเดีย “ฉันได้มากินอาหารร้านที่คนต่อคิวกันยาว ๆ ด้วยแหละ” มันจึงกลายเป็นความนิยมของคนบางกลุ่มที่ทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ได้กินอาหารที่จะทำให้ตัวเองมีความสุข (สุขจริงไหมอีกเรื่อง) ถ้าต้องรอ ก็ขอให้อวดว่าได้รอ และได้รับความคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปก็พอ

เห่อของใหม่ตามกระแส

ทุกวันนี้เรามีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มีสมาร์ตโฟนที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ทุกเครื่อง และเราก็มีโซเชียลมีเดียที่ทำให้ไม่พลาดทุกข่าวสารและการอัปเดตสิ่งที่น่าสนใจ เพราะฉะนั้น อะไรที่มาใหม่ อะไรที่เป็นกระแส อะไรที่เป็นไวรัล อะไรที่รีวิวเขาว่าดีต้องไปหาตำ ไม่มีทางที่เราจะพลาดกันได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องของไลฟ์สไตล์การกิน ร้านไหนเปิดใหม่ ร้านไหนอร่อย ร้านไหนราคาถูกและคุ้มค่า ก็จะมีเพื่อน ๆ ชาวเน็ตนำมาอัปเดตและรีวิวให้เราได้ดูได้ชมกันจนน้ำลายสอ และถ้าเราเป็นสายกินที่ไม่อยากจะตกกระแส เราก็จะรีบตามไปลอง เพราะเดี๋ยวจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง อย่างไรก็ตาม พอร้านนั้น ๆ เป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย ย่อมไม่ได้มีแค่เราคนเดียวที่อยากจะตามไปลอง!

เมื่อชาวเน็ตทั้งหลายเกิดอยากจะไปลองอาหารร้านใหม่ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ กลายเป็นปรากฏการณ์ “เห่อของใหม่” ที่ต้องรีบไปลองก่อนใคร เพื่อให้มีภาพถ่ายสวย ๆ ในโซเชียลมีเดียว่าได้มาลองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้มีคอนเทนต์รีวิวบอกต่อใครต่อใครให้ตามไปลิ้มลองด้วย เมื่อใคร ๆ ก็คิดกันแบบนี้ เลยไปต่อแถวเข้าคิวร้านนั้น ๆ มันเลยกลายเป็น “สิ่งที่ขาดแคลน” แต่ “ขาดไม่ได้” ทำให้เรามีความอยากซื้ออยากลอง “ก่อนใคร” ยิ่งก่อนที่จะมีร้านแบบเดียวกันมาเปิดกันให้เกลื่อนได้ยิ่งดี เลยทำให้เกิดภาพคนจำนวนมากไปต่อแถวเข้าคิวเพื่อรอกินกันในช่วงแรก ๆ ที่ร้านเปิด สำหรับช่วงที่พีคมาก ๆ เราอาจต้องรอคิวหลายร้อยคิว และใช้เวลารอครึ่งค่อนวันเลยทีเดียว

เห็นคิวยาว ๆ ก็อยากรู้อยากลอง

เรื่องของความอยากรู้อยากเห็นไม่เคยเข้าใครออกใคร มันเป็นเรื่องปกติมาก เวลาที่เราเห็นว่ามีกลุ่มคนจำนวนมากไปยืนออกันเยอะแยะที่ตรงไหนสักที แล้วเราจะเกิดอยากรู้ขึ้นมาเขาไปมุงดูหรือทำอะไรกัน บางคนอาจจะตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นแค่พยายามทำคอยื่นคอยาวมองเข้าไป ก่อนจะเดินผ่านไปเฉย ๆ แต่กับบางคนก็อาจจะเดินทะลุเข้าไปดูเลยว่าคนพวกนั้นเขาทำอะไรกัน ซึ่งพอเห็นแล้วว่าคนเหล่านั้นกำลังต่อคิวรอกินบุฟเฟต์ร้านเปิดใหม่ หรืออาจจะเป็นขนมร้านดังสักร้าน ความอยากรู้ต่อมาก็คือ แล้วบุฟเฟต์หรือขนมร้านนี้มันมีอะไรดี คนถึงต้องมาต่อคิวรอกินกันเยอะแยะมากมายขนาดนี้ และนั่นจะกระตุ้นให้เราอยากรู้ขึ้นมาบ้างว่าร้านนี้มันมีอะไรดี!

อิทธิพลจากคนรอบข้างจะเริ่มทำงาน เราจะเริ่มคิดกับตัวเองว่า “ลอง” บ้างดีไหมนะ เพราะถ้ามีคนยอมเสียเวลาต่อแถวรอกันเยอะขนาดนี้ มันก็น่าจะมีดีแหละไม่งั้นคนจะมาเสียเวลาเข้าคิวรอกันขนาดนี้ไปทำไม ยิ่งถ้าราคาไม่ใช่ราคาโปรโมชันชนิดที่คนต้องแห่กันมารับสิทธิ บวกกับการได้พูดคุยกับคนที่เขากำลังต่อคิวรออยู่ ที่สาธยายถึงความน่าสนใจในการรอคิวนี้แล้ว มันยิ่งเกิดเป็นความคาดหวังว่าเราน่าจะได้รับของดีอะไรบางอย่างกลับมาเหมือนกันถ้าเราร่วมต่อคิว ซึ่งถ้าเวลานั้นเราไม่ได้มีธุระเร่งรีบ การเดินไปต่อคิวที่ท้ายแถวก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ลองให้รู้ว่ามันมีดีจริงไหม เมื่อใครต่อใครก็คล้อยตามการเห็นคิวยาว ๆ แล้วอยากรู้อยากลองเองบ้าง ก็เลยทำให้คิวยิ่งยาวมากกว่าเดิม

การได้รอทำให้เกิดความคาดหวังที่น่าตื่นเต้น

แม้ว่าใครผู้คนส่วนมากจะไม่ชอบการรอคอย แต่การรอคอยก็ไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้ายเสมอไป มันก็มีอยู่บ่อยครั้งที่เรารู้สึกว่าเรารอได้และยินดีที่จะรอ หากสิ่งที่จะได้รับหลังจากการรอคอยสิ้นสุดลงมันคุ้มค่ากับทุกสิ่งอย่างที่เสียไปในระหว่างรอ คือการรอสามารถสร้าง “ความคาดหวัง” ที่น่าตื่นเต้นให้กับเราได้ในหลาย ๆ ครั้ง ความรู้สึกเดียวกันกับเวลาที่เรากำลังรอคิวที่จะกินบุฟเฟต์เจ้าดังอย่างอดทน ถึงจะหิวแล้วแต่ก็ไม่ยอมหมดใจทิ้งคิวเปลี่ยนใจไปหาอย่างอื่นกินแทน เพราะกลิ่นน้ำซุปหอม ๆ ที่ลอยออกมา เสียงช้อนกระทบจาน หรือปฏิกิริยาของผู้คนที่นั่งอยู่ในร้าน เขาดูสนุกสนานและเอร็ดอร่อย เราก็เลยคาดหวังว่าอีกไม่นานเราจะได้สัมผัสประสบการณ์นั้นบ้างในอีกไม่กี่อึดใจ ตื่นเต้นจัง!

ด้วยเหตุนี้ บางครั้งการรอมันก็สร้างความคาดหวังที่น่าตื่นเต้นให้กับเรา คือทั้งมีความรู้สึกคาดหวังต่อผลลัพธ์ของการรอ และตื่นเต้นที่ได้คาดหวัง (และรอ) เป็นความรู้สึกทางบวกว่าอดใจรออีกนิด แค่นิดเดียวเท่านั้น ซึ่งมันทำให้การรอคอยไม่ใช่เรื่องที่ต้องรู้สึกหงุดหงิดหรือมันนานขนาดที่ทนได้ยากลำบากขนาดนั้น ซึ่งยิ่งใกล้ถึงคิวของเราเท่าไรเราก็ยิ่งตื่นเต้นมากกว่าเดิม แต่ถ้าให้พูดตรง ๆ การรอด้วยความรู้สึกคาดหวังที่น่าตื่นเต้นนี้ มันก็อาจจะเสี่ยงดวงอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เพราะมันมีความเป็นไปได้ว่าเราจะประทับใจกับผลลัพธ์ของการรอว่าคุ้มค่า หรืออาจจะรู้สึกไม่ถูกใจ ไม่คุ้มค่ากับเวลาที่ต้องรอนานขนาดก็ได้เหมือนกัน กรณีหลังจะทำให้ประสบการณ์การรอของเราล้มเหลว

คนเยอะ=ของดี

อีกจิตวิทยาที่น่าสนใจ คือ อะไรก็ตามที่มัน “แมส” คือ เป็นที่นิยมของคนจำนวนมาก มีคนจำนวนมากพูดถึงสิ่งเดียวกันไปในทิศทางบวกเหมือนกันหมด โดยเฉพาะคนใกล้ตัวเราที่ชอบพูดกรอกหูอยู่ทุกวี่วัน จากของธรรมดา ๆ มันอาจจะกลายเป็น “ของดี” หรือ “ของที่คุ้มค่า” ในความรู้สึกของเราได้ และเมื่อมันเป็นของดี ก็ไม่ควรที่จะพลาด ลักษณะนี้ก็จะคล้าย ๆ การที่เราเห็นคนต่อแถวรอกินร้านอาหารบางร้านยาว ๆ แล้วเกิดสงสัยขึ้นมานั่นแหละว่าร้านนี้มีดีอะไร คนถึงต้องพยายามและอดทนที่เพื่อจะรอกินกันขนาดนี้ เพราะบางร้านเริ่มเปิดให้จองคิวกันตั้งแต่ห้างเปิด แต่กว่าจะได้เข้าไปกินจริง ๆ คือมื้อเย็น คิวมหาศาลมากขนาดไหน (เวลารอคิว+เวลากว่าคนด้านในจะลุก)

แน่นอนว่าการที่ร้านอาหารมีคนต่อคิวเยอะ มันก็อาจไม่ใช่ของดีเสมอไป แต่การที่มีคนส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอร่อยอย่างนั้นอร่อยอย่างนี้ เราก็อาจจะหลงเชื่อไปด้วยว่าหรือมันดีจริง ๆ ซึ่งกว่าที่เราจะรู้ว่ามันดีจริง ๆ หรือดีเพราะคนอื่นบอกว่าดีตอนที่เป็นกระแสในช่วงนั้น บางทีเราก็อาจต้องหลวมได้ไปลองสัมผัสด้วยตัวเองก่อน หรืออาจจะต้องมีใครสักคนที่ให้รีวิวแบบแย้งมหาชน เรื่องของอาหารการกินที่อร่อยหรือไม่อร่อย มันเป็นเรื่องของรสนิยม พอได้ไปลองจริง ๆ อาจจะรู้สึกว้าวมาก ไม่แปลกใจที่คนเยอะ คุณภาพสมกับที่ต้องรอคิวนาน หรืออาจจะเฉย ๆ ก็งั้น ๆ รสชาติดีแต่ไม่ได้ถึงขั้นที่ต้องกลับมารอคิวเป็นครั้งที่สอง หรืออาจจะไม่ชอบ ไม่อร่อย ไม่ประทับใจเลยก็ได้เหมือนกัน

สร้างประสบการณ์ความคุ้มค่า

บางทีการที่เราไปต่อคิวกินร้านดัง มันอาจจะเป็นแค่เรื่องของการสร้างประสบการณ์การรอให้กับตัวเอง ถ้าปกติเราเป็นคนที่ไม่ชอบต่อคิวรอกิน แค่อยากรู้ว่าตัวเองจะทำได้ไหมกับการที่ต้องอดทนรอคิวยาวเหยียดเป็นชั่วโมงเพื่อกินข้าว แล้วประสบการณ์นั้นมันคุ้มค่าแค่ไหน หลายคนไม่ได้รู้สึกอยากเห่อกินตามกระแส บางคนไม่ได้สนใจกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่ยืนมุงอยู่หน้าร้านอาหาร แต่แค่อยากสร้างประสบการณ์ความคุ้มค่าให้ตัวเองว่ามีจริงไหม การรอนาน ๆ เพื่อของดีของอร่อย การที่ต้องอดทนรอคิวร้านอาหารทีละ 3-4 ชั่วโมง ทั้งที่เวลากินจริง ๆ แค่ประมาณ 1-1.5 ชั่วโมง มันเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ที่ถ้ารอนานแล้วมันคุ้มค่า อาหารอร่อย คุ้มค่ากับราคา มันก็เป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่าดี

เมื่อเราได้ลองให้ตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การรอคิวกินร้านดัง แม้ว่าจะเจอร้านที่อร่อยถูกใจบ้าง เฉย ๆ บ้าง หรือไม่ถูกใจบ้างก็ตามแต่ ทุกอย่างก็ล้วนแล้วแต่เป็นประสบการณ์ที่เราเจอด้วยตัวเอง ว่าครั้งหนึ่งฉันก็เคยต้องใช้เวลานานทีเดียวสำหรับการรออาหาร ซึ่งถ้าเราได้ประสบการณ์ที่คุ้มค่ากลับมาก เราก็สามารถที่ลืมการรอคอยที่แสนน่าเบื่อในตอนนั้นไปได้ และยังนำไปพูดกับคนอื่นได้ด้วยว่าเคยมีโอกาสได้ไปต่อคิวร้านนี้ตอนที่คนยังเยอะ ๆ อยู่ อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ในการรอคิวยาวเหยียดก็มีประโยชน์ในเรื่องการตลาดของร้าน เพราะเรากลายเป็นคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการสร้างสตอรี่การต่อแถวยาว ๆ ให้คนอื่นสงสัยว่าร้านนี้มีอะไรดี แล้วจำเป็นที่ต้องตามไปลองไหม

อิทธิพลของราคาและเวลา

ต้องยอมรับว่าร้านอาหารหลาย ๆ ร้าน โดยเฉพาะพวกร้านบุฟเฟต์ มีจุดขายที่ว่า “ของดีไม่จำเป็นต้องแพง” การใช้ราคาที่ถูกกว่าดึงดูดลูกค้า ราคาในระดับที่สามารถแวะกินได้บ่อย ๆ เท่าที่ต้องการ โดยที่พวกวัตถุดิบต่าง ๆ ก็มีความหลากหลาย และคุณภาพก็อยู่ในระดับมาตรฐานทั่วไป อาจไม่ใช่ของเกรดพรีเมี่ยม แต่มันก็ไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นกินไม่ได้ เรื่องของราคาจึงมีอิทธิพลสำคัญต่อการต่อคิวเพื่อรอกิน จะเห็นได้ว่าร้านอาหารที่เป็นบุฟเฟต์ ทั้งปิ้งย่าง ชาบู จะใช้เรื่องของราคาต่อหัวเป็นจุดขายเสียส่วนมาก ราคาอยู่ในช่วง 200-300 บาท อีกทั้งยังขยายสาขาในแหล่งชุมชน เพื่อให้คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้ กลุ่มคนรายได้น้อยพอจะกินได้ กลุ่มชนชั้นกลางกินได้บ่อย คิวเลยยาวตลอด

นอกจากราคา เรื่องของเวลาก็มีอิทธิพลเช่นกัน เนื่องจากปัจจัยในการรอคอยคือเวลา ซึ่งการรอคอยอาจกลายเป็นจุดขายของร้าน ว่าถ้าอยากจะกินอาหารร้านนี้ต้องเผื่อเวลาไว้ เนื่องจากต้องจองล่วงหน้า หรือไม่สามารถ walk in เข้าไปจองคิวที่หน้าร้านได้ แต่ต้องจองล่วงหน้ากันเป็นวัน ๆ บางทีจองล่วงหน้าเป็นสัปดาห์ หรืออาจต้องจองกันข้ามเดือน ถ้าใครรอได้ก็รอ ใครรอไม่ได้ก็ไปกินร้านอื่น มันจึงเป็นลูกเล่นของร้านว่าต้องรอเพื่อให้ได้กิน ซึ่งถ้ารอแล้วคุ้มค่า ต่อให้ต้องรอไปเรื่อย ๆ สำหรับการต่อคิวใหม่ในการกลับมากินครั้งที่สองครั้งที่สาม ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะเราสามารถอดทนรอสิ่งที่เราต้องการได้ และเราก็รู้ด้วยว่าการรอของเรามันมีจุดสิ้นสุดที่ตรงไหน

คุณกำลังดู: ปรากฏการณ์ต่อคิวกินร้านดัง อดทนรอเป็นวัน ๆ ก็ยังจะกิน!

หมวดหมู่: วัยรุ่น

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด