รู้จักโรค SFTS ติดเชื้อจาก "เห็บ" ในสัตว์เลี้ยง-สัตว์ป่า
เกิดการระบาดของโรค SFTS ที่แพร่เชื้อจาก “เห็บ” ในประเทศจีน โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ มาทำความรู้จักกัน
โรค SFTS คืออะไร?
โรค SFTS หรือชื่อเรียกเต็มๆ ว่า Severe Fever with Thrombocytopenia Syndrome มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสชนิด RNA อยู่ใน genus phlebovirus, family Bunyaviridae พบมากใน 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยในจีนพบการระบาดเป็นระลอกๆ เช่นในปี 2549, 2552 และล่าสุดในปี 2563 แต่ยังไม่มีรายงานโรคนี้ในประเทศไทย
โรค SFTS มีสาเหตุในการแพร่เชื้อจาก “เห็บ” ที่เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ ชนิดของเห็บที่เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญคือ H. longicornis ส่วนสัตว์ที่เป็นรังโรค ได้แก่ แพะ แกะ หมู วัว ควาย สุนัข ไก่ นกบางชนิด หนู และสัตว์ป่าชนิดต่างๆ แต่ยังไม่มีหลักฐานการก่อโรคในสัตว์
อาการของโรค SFTS
- หลังถูกเห็บกัด มีไข้สูงราว 5-11 วัน
- ปวดศีรษะ
- อ่อนเพลีย
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- มีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้อง
- เมื่อตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล พบว่าเกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ และมีระดับไวรัส (viral load) สูง
- เมื่อเข้าสู่วันที่ 5 เป็นต้น อาจพบอวัยวะบางอย่างทำงานไม่ปกติ เช่น ตับ หัวใจ ปอด และไตมีอาการเลือดออก ระบบประสาททำงานผิดปกติ เป็นต้น
วิธีรักษาโรค SFTS
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรค SFTS โดยตรง เป็นเพียงการรักษาไปตามอาการที่เกิดขึ้นเท่านั้น และยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้โดยตรงเช่นกัน แม้ว่าจะอันตรายถึงเสียชีวิตได้ แต่ยังมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ไม่สูงนัก หากร่างกายเดิมค่อนข้างแข็งแรง มีภูมิต้านทานดีพอสมควร และไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ หรือกำลังรับยาลดภูมิต้านทานโรคอยู่ รวมถึงเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ก็ยังสามารถรักษาให้หายจากโรคนี้ได้
วิธีป้องกันโรค SFTS
ระมัดระวังอย่าให้โดนเห็บกัด ไม่คลุกคลีกับสัตว์ป่าอย่างใกล้ชิดมากเกินไป ตรวจสุขภาพ เช็กความสะอาดของสัตว์เลี้ยงในบ้านให้ อย่าให้มีเห็บหมัดต่างๆ และหากถูกเห็บกัด ควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง
คุณกำลังดู: รู้จักโรค SFTS ติดเชื้อจาก "เห็บ" ในสัตว์เลี้ยง-สัตว์ป่า
หมวดหมู่: รู้ทันโรค