ระวัง! วงจร แบงก์ปลอม มีความผิดตามกฎหมาย

ระวัง! วงจร แบงก์ปลอม มีความผิดตามกฎหมาย

เรื่องราวของ “แบงก์ปลอม” ก็ไม่เคยหายไปจากสังคม อาจจะมีบางช่วงที่ระบาดหนัก ๆ แล้วก็แผ่วไปจากการปราบปราม แต่ในตลาดก็น่าจะมีเงินบางส่วนที่เป็นแบงก์ปลอมหมุนเวียนใช้อยู่เรื่อย ๆ จากการที่คนไม่รู้ เพราะเงินเปลี่ยนมือบ่อย การใช้จ่ายด้วยแบงก์นั้นจะค่อนข้างรวดเร็ว โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่ ๆ ที่คนจะต้องแตกแบงก์อยู่เสมอ ได้มา-จ่ายไป ทำให้บางทีเราไม่ทันได้ตรวจสอบหรือสังเกตว่าที่เราเพิ่งรับมาเมื่อครู่เป็นเงินจริงหรือเงินปลอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับธนบัตรที่มีมูลค่าสูง ซึ่งมักจะถูกนำมาใช้เข้าสู่ระบบได้ง่าย และก็ทำให้ผู้ที่รับมาโดยไม่รู้ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากไม่ใช่เงินที่ใช้ได้จริง

Tonkit360 จึงมีวิธีสังเกตและตรวจสอบแบงก์จริง-ปลอมอย่างง่าย ๆ รวมถึงข้อปฏิบัติเมื่อมีแบงก์ปลอมอยู่ในครอบครอง และบทลงโทษที่ควรรู้
จุดสังเกตบนธนบัตรรัฐบาลไทย

เนื่องจากธนบัตรนั้นเป็นเงินตราที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ลักษณะพิเศษของธนบัตรจึงต้องยากต่อการปลอมแปลง และง่ายต่อการสังเกตตรวจสอบ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้วิธีสังเกตตรวจสอบธนบัตรด้วยวิธีการสัมผัส ยกส่อง และพลิกเอียง ซึ่งจะเป็นวิธีการดูง่าย ๆ โดยที่ไม่ใช้อุปกรณ์
การสัมผัส

สัมผัสกระดาษธนบัตร

ธนบัตรจริงจะทำจากกระดาษที่มีใยฝ้ายเป็นส่วนประกอบหลัก เนื้อกระดาษจะเหนียว แกร่ง ทนทาน และไม่ยุ่ยง่าย เมื่อสัมผัสจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากกระดาษทั่ว ๆ ไป

สัมผัสลายพิมพ์เส้นนูน

ลายพิมพ์ที่เกิดบนธนบัตรจริงนั้นเกิดจากการพิมพ์โดยใช้แม่พิมพ์ที่มีร่องหมึกลึกและใช้แรงกดพิมพ์สูง หมึกพิมพ์จะนูนขึ้นมาจากเนื้อกระดาษ ภาพ ลายเส้นที่ได้จะมีรายละเอียดคมชัด ซึ่งจะใช้ในการพิมพ์พระบรมฉายาทิสลักษณ์, รัฐบาลไทย, ตัวอักษร และตัวเลขแจ้งชนิดราคา เมื่อลูบสัมผัสด้วยปลายนิ้วจะรู้สึกสะดุด
การยกส่อง

ยกส่องดูลายน้ำ

จะเห็นลายน้ำเป็นส่วนหนึ่งในเนื้อกระดาษ ซึ่งเกิดขึ้นจากขั้นตอนการผลิตกระดาษที่ใช้กรรมวิธีพิเศษ ที่ทำให้เนื้อกระดาษมีความหนาบางไม่เท่ากัน จึงเกิดเป็นภาพตามที่ต้องการ ลายน้ำบนธนบัตรจะเป็นพระบรมฉายาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อยกส่องกับแสงจะเห็นภาพได้อย่างชัดเจนทั้งด้านหน้าและด้านหลังของธนบัตร อีกทั้งยังมีตัวเลขชนิดราคารูปลายไทยที่โปร่งแสงเป็นพิเศษด้วย

ยกส่องดูภาพซ้อนทับ

ภาพซ้อนทับเกิดจากเครื่องพิมพ์ที่สามารถพิมพ์ภาพทั้งสองด้านได้ในเวลาเดียวกัน ทำให้ลวดลายที่ออกแบบไว้ในตำแหน่งตรงกันทั้งด้านหน้าและหลังซ้อนทับกันสนิท หรือจะประกอบกันขึ้นเป็นลวดลายหรือภาพที่สมบูรณ์ จะสังเกตได้เมื่อยกธนบัตรขึ้นส่องดูกับแสงสว่าง
การพลิกเอียง

พลิกหาตัวเลขแฝง

บริเวณที่เป็นลายประดิษฐ์ เมื่อเอียงธนบัตรเข้าหาแสงสว่าง จะเห็นตัวเลขแจ้งชนิดราคาแฝงไว้อยู่ในลายประดิษฐ์นั้น

พลิกดูหมึกพิมพ์พิเศษ

บริเวณลายดอกประดิษฐ์ บนธนบัตรชนิดราคา 500 บาท และ 1000 บาท จะพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์แม่เหล็กสามมิติเปลี่ยนสีได้ โดยภายในจะมีตัวเลขแจ้งชนิดราคา เมื่อพลิกธนบัตรขึ้นลงหรือพลิกซ้ายขวา จะเห็นการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนสลับสี ส่วนชนิดราคา 100 บาท ลายดอกประดิษฐ์ก็จะพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษ เมื่อพลิกธนบัตรไปมาจะเห็นเป็นประกาย

พลิกดูแถบสี

จะเกิดขึ้นในขั้นตอนผลิตกระดาษ ซึ่งจะใช้กรรมวิธีพิเศษที่ฝังแถบพลาสติกขนาดเล็กที่เคลือบด้วยสีโลหะไว้ในเนื้อกระดาษตามแนวตั้ง มีบางส่วนของแถบปรากฏให้เห็นเป็นระยะ และจะเปลี่ยนสีได้เมื่อเปลี่ยนมุมมอง ภายในแถบจะมีตัวเลขและตัวอักษรแจ้งชนิดราคาขนาดเล็ก เมื่อยกธนบัตรส่องดูกับแสงจะมองเห็นและอ่านได้ชัดเจน ทำให้เห็นแถบสีเคลื่อนไหวสลับสีไปมา

พลิกดูแถบฟอยล์ภาพ 3 มิติ 

แถบฟอยล์ภาพ 3 มิติจะผนึกไว้ตามแนวตั้ง ภายในเป็นภาพมีมิติ เมื่อพลิกเอียงธนบัตรไปมาจะเห็นองค์ประกอบต่าง ๆ ที่อยู่ในแถบฟอยล์เคลื่อนไหวได้ และเปลี่ยนสีสะท้อนแสงวาววับสวยงาม

ลักษณะพิเศษภายใต้รังสีเหนือม่วง (แสงแบล็กไลต์)

เนื่องจากธนบัตรพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษเรืองแสง ทำให้สามารถมองเห็นการเรืองแสงเมื่ออยู่ภายใต้รังสีเหนือม่วง บริเวณลายประดิษฐ์บริเวณกลางธนบัตร ตัวเลขแจ้งชนิดราคา หมวดเลขหมายจะเรืองแสง และเส้นใยที่ฝังในเนื้อกระดาษก็จะเรืองแสงเป็นสีเหลือง แดง และน้ำเงิน

มีแบงก์ปลอมในครอบครองทำไงดี

ปกติแล้วการสังเกตเงินจะค่อนข้างทำได้ยาก เพราะไม่ค่อยมีใครทำกัน เนื่องจากเป็นสิ่งที่ได้มาแล้วใช้ไป ยิ่งถ้าหากเป็นธนบัตรราคาน้อย ๆ ก็ยิ่งไม่มีใครสนใจจะดู แต่เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดไม่ให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจก็ควรต้องตรวจสอบดูก่อน

หากเราใช้จ่ายไปด้วยแบงก์ปลอม โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นแบงก์ปลอมก็อาจไม่มีความผิดอะไร แต่หากตรวจดูแล้ว และก็รู้ว่าเป็นแบงก์ปลอมแน่ ๆ แต่ก็ยังจะใช้ กรณีนี้ถือว่ามีความผิดแน่นอน ดังนั้น เมื่อมีแบงก์ปลอมอยู่ในครอบครอง จะต้องปฏิบัติดังนี้

  1. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นแบงก์ปลอม โดยเฉพาะแบงก์ที่มีราคาสูง
  2. จากนั้นแยกออกจากแบงก์จริง แล้วเขียนว่า “ปลอม”
  3. ห้ามนำไปใช้จ่ายอีกโดยเด็ดขาด
  4. แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ
  5. นำไปส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ธนาคารพาณิชย์ เพื่อขึ้นบัญชีเป็น “ธนบัตรปลอม”
  6. หากจำได้ว่าใครเป็นผู้นำมาใช้ ควรจดจำรูปพรรณสัณฐานให้ดี เพื่อใช้ในการเป็นเบาะแสจับกุม และยืนยันความบริสุทธิ์ให้ตัวเอง

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้กับธนาคารแห่งประเทศไทย หมายเลขสายด่วน 1213

บทลงโทษที่เกี่ยวกับแบงก์ปลอม

  • การผลิต การใช้ และการครอบครองแบงก์ปลอมนั้น มีบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 คือ
  • บทลงโทษสำหรับผู้ปลอมแปลงเงินตรา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240 ระบุว่ามีโทษจำคุก 10-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 200,000-400,000 บาท
  • บทลงโทษสำหรับผู้มีเงินปลอมในครอบครองและนำออกมาใช้จ่าย “โดยตั้งใจ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244 ระบุว่ามีโทษจำคุก ตั้งแต่ 1-15 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-300,000 บาท
  • บทลงโทษสำหรับผู้มีเงินปลอมโดยไม่ตั้งใจ แต่กลับนำออกมาใช้จ่ายหลังจากตรวจสอบแล้วว่าเป็นแบงก์ปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 245 ระบุว่ามีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • บทลงโทษสำหรับผู้ผลิตเครื่องมือปลอมแปลงเงินตรา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 246 จำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-300,000 บาท

หมายเหตุ อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560

คุณกำลังดู: ระวัง! วงจร แบงก์ปลอม มีความผิดตามกฎหมาย

หมวดหมู่: วัยรุ่น

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด