รู้จัก “จอตาเสื่อมชนิดเปียก” โรคอันตรายที่มองเห็นภาพผิดเพี้ยน

สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาโรคจอตาเสื่อมชนิดเปียก

รู้จัก “จอตาเสื่อมชนิดเปียก” โรคอันตรายที่มองเห็นภาพผิดเพี้ยน

โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age-related Macular Degeneration-AMD) เป็นอีกปัญหาสุขภาพสำหรับคนสูงวัย เพราะเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น ดังนั้น การป้องกัน ดูแล และตระหนักรู้จึงมีความจำเป็นอย่างมากเพื่อถนอมดวงตาไว้ใช้ได้ยาวนานที่สุด 

นายแพทย์คณินท์ เหลืองสว่าง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาจอตาและน้ำวุ้นตา กล่าวว่า “โรคจอตาเสื่อมชนิดเปียก มีการดำเนินโรคที่รวดเร็วและรุนแรง แต่หากตรวจพบในช่วงแรกๆ ส่วนใหญ่จะสามารถควบคุมไม่ให้ลุกลามได้ด้วยการรักษาวิธีต่างๆ เช่น การฉายเลเซอร์ และการฉีดยา Anti-VEGF เข้าน้ำวุ้นตา เป็นต้น โดยจักษุแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาและแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย”  

คนไทยเสี่ยงโรคจอประสาทเสื่อมไม่น้อยในแต่ละปี

จากผลสำรวจสำหรับโรคจอตาเสื่อมนั้นอุบัติการณ์ของโรคในประเทศไทยมักพบในผู้สูงวัยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยพบในกลุ่มนี้สูงถึง 12% ของผู้ป่วยทั้งหมด และมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยระยะแรกอาจไม่มีอาการแสดง จนระยะท้ายๆ จะมีอาการตามัว สูญเสียการมองเห็นตรงกลางภาพ อาจมองเห็นภาพบิดเบี้ยวหรือสีผิดปกติ โดยมักไม่มีอาการปวดตาใดๆ 

โรคจอตาเสื่อมยังแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ 

  • จอตาเสื่อมชนิดแห้ง (Dry AMD) ซึ่งพบได้มากถึง 80-90% ในผู้ป่วยจอตาเสื่อมตามวัยทั้งหมด โดยอาการสูญเสียการมองเห็นเป็นแบบไม่รุนแรง การดำเนินโรคเป็นไปอย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป
  • จอตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet AMD) ที่แม้จะพบได้น้อยประมาณ 10-15% ของผู้ป่วยทั้งหมด หากแต่อาการของโรคเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่า และหากไม่รักษาจะนำไปสู่การตาบอดได้สูง และนั่นย่อมส่งผลเป็นอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงวัยหากต้องเผชิญกับสภาพร่างกายที่มีข้อจำกัดเช่นนั้น เมื่อต้องทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตา เช่น อ่านหนังสือ ขับรถ และการมองในระยะไกล 

อาการโรคจอตาเสื่อมชนิดเปียก

อาการของผู้ป่วยโรคจอตาเสื่อมชนิดเปียกที่สังเกตได้ คือ มีเส้นเลือดงอกใหม่ผิดปกติใต้จอตา (Choroidal neovascularization) ที่ทำให้มีเลือดออก หรือสารน้ำรั่วบริเวณใต้จอตาและในจอตา ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นได้ไม่ชัดเจน 

สาเหตุของโรคจอตาเสื่อมชนิดเปียก

สาเหตุของโรคจอตาเสื่อมชนิดเปียกในทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคได้หลายอย่าง อาทิ 

  • อายุ 
  • พันธุกรรม 
  • การสูบบุหรี่ 
  • โรคความดันโลหิตสูง 
  • การรับแสงยูวีเป็นประจำ 

เป็นต้น 

การรักษาโรคจอตาเสื่อมชนิดเปียก

ด้านการรักษาในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการที่รักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ แต่สามารถช่วยชะลออาการ ลดความรุนแรงและป้องกันการสูญเสียการมองเห็น เช่น 

  • ฉีดยากลุ่ม Anti-VEGF เข้าน้ำวุ้นตา 
  • รักษาด้วยเลเซอร์ 
  • อาจใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากร่างกายของผู้ป่วยแต่ละรายมีการตอบสนองที่แตกต่างกัน ดังนั้น ก่อนเริ่มการรักษาจึงควรมีการพูดคุยปรึกษากันระหว่างจักษุแพทย์ ผู้ป่วย และญาติ เพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด ผู้ป่วยส่วนมากมักมีคำถามว่าต้องฉีดยาบ่อยแค่ไหน หรือการมองเห็นยังดีอยู่ ทำไมต้องฉีดยา 

สำหรับผู้ป่วย แม้ว่าสายตาจะดีขึ้นหลังการรักษาแล้วแต่หากยังตรวจพบว่ามีสารน้ำในตา ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ถึงการดำเนินไปของโรคจอตาเสื่อม ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้โรคกลับมาเป็นมากกว่าเดิม หรือไม่ให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นในระยะยาว โดยแพทย์อาจเลือกใช้ยาที่มีประสิทธิภาพในการลดสารน้ำในตา และยาที่สามารถยืดระยะเวลาการฉีดยาได้นานขึ้น ซึ่งผู้ป่วยเองควรมีการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

พันโทนายแพทย์ศีตธัช วงศ์กุลศิริ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาจอตาและน้ำวุ้นตา กล่าวว่า “สำหรับทางเลือกในการรักษาด้วยยาแบบฉีดเข้าวุ้นตานั้น ซึ่งล้วนมีประสิทธิภาพและราคาที่แตกต่างกัน โดยการเลือกใช้ยาแต่ละชนิดจะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ผู้รักษา ส่วนข้อแนะนำในการใช้ยารักษาแบบฉีดนั้นแนะนำให้รับการรักษาและฉีดยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ และป้องกันการสูญเสียการมองเห็น 

“ในปัจจุบันมีการพัฒนายาใหม่ๆ ที่มีฤทธิ์ยาวนานขึ้นในการควบคุมโรค เพื่อลดภาระในเรื่องความถี่ของการฉีดยาทั้งต่อผู้ป่วย ผู้ดูแล และค่าใช้จ่ายของระบบสาธารณสุข โดยรูปแบบการรักษาหรือระยะห่างในการฉีดยานั้นอาจขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย”  

สิ่งที่สำคัญและไม่ควรละเลยคือการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ โดยบุคคลทั่วไปควรได้รับการตรวจสุขภาพตาทุก 2-4 ปี และผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ควรได้รับการตรวจจอตาอย่างน้อยปีละครั้ง แม้จะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ และด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาการทำให้การตรวจสุขภาพตามีพัฒนาการไปมาก สามารถตรวจได้หลายวิธี เช่น เครื่องถ่ายภาพจอตาแบบตัดขวาง (OCT) ซึ่งสามารถตรวจได้ง่าย รวดเร็ว ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด ทั้งยังสามารถติดตามการรักษาได้อย่างแม่นยำอีกด้วย

คุณกำลังดู: รู้จัก “จอตาเสื่อมชนิดเปียก” โรคอันตรายที่มองเห็นภาพผิดเพี้ยน

หมวดหมู่: รู้ทันโรค

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด