"เริม" VS "HPV" โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เหมือน-แตกต่างกันอย่างไร ?
เริม กับ HPV ต่างก็เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งสองโรคอาจจะมีความคล้ายคลึงกัน แต่เราจะสามารถแยกแยะได้อย่างไร
เริมกับ HPV ต่างก็เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สามารถพบได้ทั่วไป ทั้งสองโรคนั้นอาจจะมีความคล้ายคลึงกันเนื่องจากเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อผิวหนังและเกิดขึ้นจากไวรัสด้วยกันทั้งนั้น แต่เราจะสามารถแยกแยะได้อย่างไรว่าแบบไหนคือโรคเริม แบบไหนคือการติดเชื้อ HPV บทความนี้มีคำตอบ
เริมกับ HPV ความเหมือนที่แตกต่าง โรคเริม (Herpes) คืออะไร
?
โรคเริม คือหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้มากที่สุด โรคนี้สามารถพบได้มากถึง 1 ใน 6 คน โรคเริมเป็นการติดเชื้อไวรัส herpes simplex virus โดยแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ herpes simplex virus ชนิดที่ 1 (HSV-1) ที่มักจะเกิดที่บริเวณปาก และชนิดที่ 2 (HSV-2) ที่มักจะเกิดขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ โรคเริมนี้สามารถส่งผลกระทบได้ทั้งกับผิวหนังและระบบประสาท โดยเฉพาะอาการแผลเริมที่มีลักษณะเป็นตุ่มใส ๆ เล็ก ๆ
โรคเริมสามารถติดต่อสู่ผู้อื่นได้จากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยป้องกัน การจูบ หรือการทำออรัลเซ็กส์โดยไม่ผ่านแผ่นยางอนามัย นอกจากนี้โรคเริมยังสามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้ ขณะที่ทำการคลอดบุตรโดยธรรมชาติ โดยปกติแล้วอาการของโรคเริมมักจะเป็น ๆ หาย ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอ และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
โรคเอชพีวี (Human Papillomavirus : HPV) คืออะไร
?
การเป็นโรคเอชพีวี หมายถึงการติดเชื้อไวรัส Human PapillomaVirus หรือ HPV เชื้อไวรัสที่มักติดต่อกันผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ เชื้อไวรัสเอชพีวี นั้นเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดหูด และมีสายพันธุ์อยู่มากกว่า 100 ชนิด แต่ละชนิดนั้นก็อาจจะทำให้เกิดอาการที่แตกต่างกันไป โดยอาการที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดก็คือ หูดหงอนไก่ (Genital warts) นอกจากนี้ เชื้อไวรัสเอชพีวี ยังสามารถนำไปสู่การเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูกได้อีกด้วย เชื้อไวรัสเอชพีวี สามารถติดต่อสู่ผู้อื่นได้โดยการติดต่อสัมผัสทางผิวหนังและกิจกรรมทางเพศ
ความแตกต่างระหว่างโรคเริม และโรคเอชพีวี
อาการของโรค อาการของโรคเอชพีวี ที่พบได้มากที่สุดก็คืออาการหูด แต่บ่อยครั้งที่โรคเอชพีวี นั้นจะไม่แสดงอาการใดๆ ในขณะที่โรคเริมนั้นมักจะอาการตุ่มหนองเล็กๆ หรือแผลพุพองในบริเวณที่ติดเชื้อ คือรอบปากหรืออวัยวะเพศ ในบางครั้งอาจมีอาการคล้ายกับเป็นไข้หวัดร่วมด้วย
การวินิจฉัยโรค โรคเอชพีวีสามารถตรวจได้ผ่านการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap test) ในบางครั้งอาจสามารถทำการตรวจหูดเพื่อทำการวินิจฉัยได้ ส่วนโรคเริมนั้นมักจะวินิจฉัยจากการตรวจร่างกายเพื่อดูอาการ หรืออาจนำตัวอย่างเนื้อเยื่อเพื่อไปตรวจเพาะเชื้อไวรัสได้เช่นกัน
การป้องกันโรค สำหรับโรคเริมนั้น การมีเพศสัมพันธ์โดยมีการป้องกัน เช่น ใช้ถุงยางอนามัย หรือแผ่นยางอนามัย ทั้งการมีเพศสัมพันธ์ทางอวัยวะเพศ ทางทวารหนัก และการปาก จะช่วยป้องกันไม่ให้ติดโรคเริมได้ แต่สำหรับโรคเอชพีวี นั้น แทบจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่าง 100% เพราะเชื้อไวรัสนี้สามารถติดต่อกันอย่างง่ายดายผ่านการสัมผัส แต่สามารถลดความเสี่ยงได้โดยการมีเพศสัมพันธ์โดยมีการป้องกัน และทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ
เราสามารถรักษาโรคเริมและโรคเอชพีวีได้อย่างไร
ทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์ล้วนแล้วแต่ก็มีความเสี่ยงที่จะติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั้งสองโรคนี้ได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะผู้ที่มีเซ็กส์โดยไม่ได้ป้องกัน เช่น ไม่ใช้ถุงยางอนามัย หรือแผ่นยางอนามัย ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงในการติดโรคทั้งสองนี้มากขึ้น โรคนี้สามารถติดต่อสู่ผู้อื่นได้ แม้ว่าคุณจะยังไม่มีอาการใด ๆ อยู่ก็ตาม การรักษาและป้องกันโรคจึงเป็นเรื่องสำคัญ และทั้งสองโรคนี้ต่างก็มีวิธีรักษาและป้องกันที่แตกต่างกัน
โรคเริมและโรค HPV นั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่แพทย์สามารถจ่ายยาต้านไวรัสเพื่อรักษาอาการของโรคเริมและลดโอกาสการเกิดอาการกำเริบได้ ส่วนโรคเอชพีวี นั้นแพทย์อาจให้ยาเพื่อรักษาอาการหูด และอาจต้องทำการผ่าตัดกำจัดหูดในบางกรณี นอกจากนี้ หากโรคเอชพีวี มีผลตรวจที่บ่งชี้ว่าเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก แพทย์จะต้องทำการรักษาเฉพาะทางที่แตกต่างออกไป
ในกรณีส่วนใหญ่ ผู้ที่ติดเชื้อเอชพีวี นั้นอาจจะไม่ต้องได้รับการรักษาอะไรเป็นพิเศษ เนื่องจากอาการมักจะหายไปได้เอง แต่ก็มีทางเลือกในการรักษาสำหรับอาการที่อาจจะรุนแรงหรือรบกวนผู้ป่วยได่เช่นกัน
อาการหูดหงอนไก่ที่เกิดจากเชื้อเอชพีวี นั้นโดยปกติแล้วมักจะสามารถหายไปได้เอง แต่ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการที่มาพร้อมกับหูด โดยแพทย์อาจจะสั่งให้ใช้ยาอิมิควิโมด (imiquimod) ยาโพโดฟิลอก (podofilox) หรือยาไซนีคาเทชิน (sinecatechins) นอกจากนี้แพทย์ก็อาจจะให้ผู้ป่วยใช้ยากรดไตรคลอโรอะเซติก (trichloroacetic acid) เพื่อช่วยรักษาอาการหูดหงอนไก่ให้หายได้เร็วยิ่งขึ้น หรือแพทย์อาจต้องทำการผ่าตัดเนื้อหูดออก หากจำเป็น
หากผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชพีวี นั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก แพทย์อาจต้องทำการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อไวรัสนั้นจะไม่พัฒนาไปเป็นโรคมะเร็ง หรือเพื่อทำการรักษาโรคมะเร็งได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่ระยะแรกๆ
สำหรับโรคเริมนั้น อาจจะยังไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ การรักษาในปัจจุบันจึงเน้นไปที่การบรรเทาอาการ ลดโอกาสการกำเริบของโรค และลดโอกาสการติดต่อเชื้อโรคไปสู่ผู้อื่น แพทย์อาจจะสั่งยาต้านไวรัส เช่น ยาอะไซโคลเวียร์ (acyclovir) หรือยาแฟมไซโคลเวียร์ (famciclovir) เพื่อช่วยบรรเทาอาการของโรคเริม และช่วยลดความถี่ในการกำเริบของโรคเริม
คุณกำลังดู: "เริม" VS "HPV" โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เหมือน-แตกต่างกันอย่างไร ?
หมวดหมู่: รู้ทันโรค