เรื่อง "โรคหัวใจ" ที่เราอาจเข้าใจผิด เสี่ยงเสียชีวิตไม่รู้ตัว

หากเผลอเข้าใจผิด หรือทำพลาดอะไรไป ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตเลยก็เป็นได้ ถึงแม้ว่าในตอนนี้วิทยาการทางการแพทย์จะพัฒนาก้าวหน้าไปมากเท่าไหร่ แต่สิ่งที่เรายังต้องรู้ก็ยังมีอยู่ไม่จำกัด โดยเฉพาะความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่เกิดได้ใกล้ตัว อย่าง "โรคหัวใจ"

เรื่อง "โรคหัวใจ" ที่เราอาจเข้าใจผิด เสี่ยงเสียชีวิตไม่รู้ตัว

ถึงแม้ว่าในตอนนี้วิทยาการทางการแพทย์จะพัฒนาก้าวหน้าไปมากเท่าไหร่ แต่สิ่งที่เรายังต้องรู้ก็ยังมีอยู่ไม่จำกัด โดยเฉพาะความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่เกิดได้ใกล้ตัว อย่าง "โรคหัวใจ" โดยในรอบหลายศตวรรษที่ผ่านมา ถึงจะมีการออกมาอัปเดต การค้นพบ เกี่ยวกับแนวทางการเกิดโรค การรักษา การป้องกัน แต่ก็ใช่ว่าทุกคนที่จะหันมาติดตามและให้ความสนใจกับข้อมูลใหม่ๆ อยู่ตลอด Sanook! Health เลยอยากขอยกเอาข้อมูลที่เราๆ อาจเข้าใจกันผิดเกี่ยวกับโรคหัวใจมาฝาก ซึ่งบางสิ่งก็เป็นเรื่องที่มีการเล่าต่อๆ กันมาให้เราได้ยินบ่อยๆ แต่ใครจะรู้จริงล่ะ ว่าเรื่องเหล่านั้นผิด หรือถูก ดีไม่ดี หากเผลอเข้าใจผิด หรือทำพลาดอะไรไป ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตเลยก็เป็นได้

เป็นโรคหัวใจ ไม่ควรทำอะไร ไม่ควรกินอะไรบ้าง

  • ป่วย "โรคหัวใจ" ไม่ควรออกแรง

เมื่อผู้ป่วยได้รับผลการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคหัวใจจริง คราวนี้ก็อาจเกิดความลังเลว่า หากเรากลับไปใช้ชีวิตกันต่ออย่างกระฉับกระเฉง กลับไปทำกิจกรรมหนักเบาต่างๆ ตามที่เราคุ้นเคย คงจะเป็นอันตรายกับหัวใจเราน่าดู แต่ในความเป็นจริงแล้ว การนั่งๆ นอนๆ ไม่ทำกิจกรรมอะไรเลย หรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายเนี่ยแหละที่เป็นอันตรายกับหัวใจมากกว่า เพราะการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดผลกระทบต่อหัวใจได้ อย่าง ภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ฉะนั้น การเคลื่อนไหวเล็กๆ น้อยๆ ก็นับเป็นการออกกำลังกาย อีกทั้งยังช่วยเสริมให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงขึ้นอีกด้วย

  • คนสูงอายุ "ความดันโลหิตสูง" เป็นเรื่องธรรมดา

ถ้าเป็นเรื่องนี้ก็ไม่ขอแย้งว่าไม่เป็นเรื่องจริง เพราะคนเราเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น ความดันโลหิตก็มักจะสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะมานอนใจได้ว่าเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากหลอดเลือดนั้นมักจะสูญเสียความยืดหยุ่นไปตามวัย พอผนังหลอดเลือดแข็งขึ้น หัวใจก็ต้องทำงานเพื่อสูบฉีดเลือดหนักขึ้นเพื่อจะส่งไปเลี้ยงตามอวัยวะต่างๆ ตามปกติ เมื่อเป็นอย่างนั้นก็อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมประสิทธิภาพลง ในขณะที่ผนังหลอดเลือดก็ต้องคอยรับแรงกระทำที่มากขึ้นจากการที่หัวใจเพิ่มแรงในการสูบฉีด ฉะนั้นโอกาสที่ผนังหลอดเลือดจะถูกทำลายและมีไขมันมาเกาะก็จะมากขึ้นตามไปด้วย เหตุนี้เอง ความดันโลหิตจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและหลอดเลือดสมอง

  • เป็น "โรคหัวใจ" ควรเลี่ยงทานของที่มีไขมันให้มากที่สุด

เรื่องนี้ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง การเลือกบริโภคไขมันแค่บางชนิดและจำกัดไม่บริโภคไขมันเกินความจำเป็นจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ โดยเฉพาะไขมันทรานส์ ไขมันอิ่มตัว และไขมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจน ซึ่งไขมันที่บอกมานี้อาจไม่ส่งผลดีต่อหัวใจ แต่ก็ไม่ใช่ว่าไขมันจะไม่ดีไปซะทั้งหมด เพราะยังมีไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวและไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนที่ผู้ป่วยยังสามารถบริโภคได้ ส่วนใหญ่จะพบได้ในน้ำมันและอาหารที่เป็นพืช อาทิ น้ำมันพืช ถั่ว และเมล็ดพืช ซึ่งนับว่าเป็นไขมันที่ดี อีกทั้งกรดไขมันและโอเมก้า 3 ที่พบในปลาทะเลน้ำลึกด้วย ไขมันเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

  • ทานยาลดไขมันแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องคุมอาหารอีก

คอเลสเตอรอล นั้นมีที่มาอยู่ 2 ทาง ทางแรกเกิดจากที่ร่างกายสร้างขึ้นโดยตับ และทางที่ 2 เกิดจากการที่เรารับจากอาหารที่รับประทานเข้าไป ซึ่งการที่ทานยาลดไขมันอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ทำให้เราปลอดภัยจากความเสี่ยง จนบางครั้ง เราก็รับประทานอาหารที่มีไขมันมากๆ อย่างไม่ระมัดระวัง จึงเป็นความคิดที่ผิด เพราะยาในกลุ่ม Statin หรือยาที่ช่วยลดคอเลสเตอรอล ถึงจะเป็นยาที่มุ่งไปจัดการกับไขมันที่ผลิตโดยตับ แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงคอเลสเตอรอลในส่วนที่ร่างกายได้รับจากอาหารอยู่ดี ดังนั้น แพทย์จึงมักจะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารด้วยเสมอ เพื่อให้ระดับคอเลสเตอรอลโดยรวมลดลง ลดโอกาสที่จะเกิดไขมันอุดตันในหลอดเลือดได้

  • ทำ "บายพาสหัวใจ" แล้ว ก็ไม่ต้องกังวลกับอะไรอีก

จริงอยู่ที่การทำหัตถการ อย่าง การสวนหัวใจ หรือ บายพาสหัวใจ นั้นอาจทำให้หัวใจของผู้ป่วยกลับมาทำงานได้ดีขึ้น ไม่มีอาการเจ็บหน้าอกแล้ว แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรประมาท เพราะถึงแม้ผู้ป่วยจะมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัวที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจก็ยังคงอยู่ และเสี่ยงที่จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดตามมาได้ทุกเมื่อ อีกทั้งยังอาจเกิดการตีบซ้ำที่บริเวณเดิม หรือเกิดรอยตีบใหม่ได้ ฉะนั้น ผู้ป่วยจึงมีความจำเป็นจะต้องควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอย่างเคร่งครัด

คุณกำลังดู: เรื่อง "โรคหัวใจ" ที่เราอาจเข้าใจผิด เสี่ยงเสียชีวิตไม่รู้ตัว

หมวดหมู่: รู้ทันโรค

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

แชร์ข่าว