โรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika) คืออะไร? ป้องกันอย่างไร?

ไวรัสซิกา เป็นหนึ่งในไวรัสที่สามารถส่งผลกระทบร้ายแรงต่อมนุษย์ โดยมียุง เป็นพาหะสำคัญในการแพร่เชื้อ และเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika) คืออะไร? ป้องกันอย่างไร?

ไวรัสซิกา (Zika virus) เป็นหนึ่งในไวรัสที่สามารถส่งผลกระทบร้ายแรงต่อมนุษย์ ถูกค้นพบครั้งแรกในป่าซิกาของยูกันดา เมื่อปี 1947 ในลิงและต่อมาพบในมนุษย์ในปี 1952 ที่ยูกันดาและสหพันธรัฐแทนซาเนีย การแพร่กระจายของไวรัสซิกามักเกิดขึ้นผ่านยุง ซึ่งเป็นพาหะสำคัญในการแพร่เชื้อ ยุงชนิดนี้ยังเป็นพาหะสำหรับไวรัสเดงกีและไข้เหลืองด้วย 

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika) คืออะไร?

ไวรัสซิกา เป็นไวรัสซึ่งอยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส จำพวกเดียวกับไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ไวรัสเวสต์ไนล์ และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี

แหล่งระบาดของไวรัสซิกา

ก่อนหน้านี้ สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคติดต่อสหรัฐฯ (CDC) เคยออกมาเตือนประชาชนไม่ให้เดินทางไปที่ประเทศ บราซิล โคลอมเบีย เอลซัลวาดอร์ เฟรนช์เกียนา กัวเตมาลา เฮติ ฮอนดูรัส มาร์ตีนิก เม็กซิโก ปานามา ปารากวัย ซูรินาเม เวเนซุเอลา และเครือรัฐเปอร์โตริโก ปัจจุบันสถานการณ์ควบคุมได้ ไม่ระบาดหนักอย่างที่กลัวกัน แต่หากใครที่ต้องเดินทางไปที่ประเทศเหล่านี้ ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสซิกาได้

นอกจากนี้ แหล่งร้อนชื้นที่มียุง เช่นประเทศไทย ก็พบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาได้เหมือนกัน จังหวัดที่เคยพบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกา คือ ลำพูน เพชรบูรณ์ ศรีษะเกศ ราชบุรี สมุทรสาคร กระบี่ ภูเก็ต และกรุงเทพฯ

ไวรัสซิกา ติดต่อกันได้อย่างไร?

ไวรัสซิกาติดต่อจากผู้ป่วย สู่ผู้ป่วยด้วย “ยุงลาย” ที่เป็นพาหะ มีระยะฟักตัวราว 4-7 วัน

อาการของเชื้อไวรัสซิกา

  1. มีไข้

  2. ออกผื่นตามลำตัว แขน ขา

  3. ตาแดง

  4. ปวดข้อ ข้อบวม ปวดหลัง

  5. อาจมีอาการอื่นๆ เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต หรืออุจจาระร่วง

ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง อาการทุกอย่างอาจบรรเทาลงภายใน 2-7 วัน แต่หาก 1 สัปดาห์แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือเป็นหญิงมีครรภ์ ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

ความแตกต่างระหว่างโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

3 โรคนี้มีอาการที่ใกล้เคียงกันมาก และมียุงลายเป็นพาหะเหมือนกัน แต่มีบางอาการที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละโรค เช่น

โรคไข้เลือดออก มักมีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อรุนแรง และเมื่อไข้เริ่มลด อาจมีอาการรุงแรงแทรกซ้อนเฉียบพลัน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงอาการ “เลือดออก” ที่เป็นจุดเริ่มต้น และหนึ่งในสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยไข้เลือดออกเสียชีวิต

โรคไข้ปวดข้อยุงลาย นอกจากไข้สูงแล้ว อาการที่พบได้ชัดเจน คือ อาการปวดข้อรุนแรงที่มือ เท้า หัวเข่า และหลัง จนอาจไม่สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตตามปกติได้ เช่น ไม่สามารถลุกขึ้นเดินไปทำงานได้

แต่สำหรับโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ยังไม่มีลักษณะที่ชัดเจนเหมือนไข้เลือดออก และไข้ปวดข้อยุงลาย แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีผื่นที่ผิวหนัง และบางส่วนจะตาแดง เพราะเยื่อบุตาอักเสบ

แนวทางในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสซิกา

  1. ระวังอย่าให้ตัวเองโดนยุงกัด หากจำเป็นต้องไปในที่ยุงชุม เช่น ป่าดิบชื้น ใกล้แหล่งน้ำนิ่ง แหล่งชุมชนแออัด ขอให้ทายากันยุง นอนในมุ้ง หรือพักในห้องที่มีมุ้งลวด

  2. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายรอบที่อยู่อาศัย รวมถึงที่ทำงาน และโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการเทน้ำในจานรองกระถางต้นไม้ เปลี่ยนน้ำในแจกัน คว่ำกะละมัง อ่างต่างๆ นอกบ้าน ใส่ทรายอะเบทลงในจานรองกระถางต้นไม้ต่างๆ และฉีดยาป้องกันยุงลายตามสถานที่ทำงาน และโรงเรียน

  3. หญิงตั้งครรภ์ควรฝากครรภ์กับสถานพยาบาล หรือโรงพยาบาล เพื่อตรวจร่างกายตามเวลาที่แพทย์กำหนด ป้องกันการเกิดความผิดปกติกับลูกน้อย

ถึงแม้ปัจจุบันจะยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ไวรัสซิกาก็ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด หากมีการป้องกันยุงลายที่ดีและมประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นในช่วงหน้าร้อน หน้าฝนแบบนี้ หมั่นดูแลสุขภาพให้ดี และอย่าให้ตัวคุณเอง และคนที่คุณรักโดนยุงกัดนะคะ

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก กรมควบคุมโรคติดต่อ, สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, bangkokhealth.com
ภาพประกอบจาก istockphoto

คุณกำลังดู: โรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika) คืออะไร? ป้องกันอย่างไร?

หมวดหมู่: รู้ทันโรค

แชร์ข่าว