รถไฟฟ้าครองโลก! ส่องตัวเจ็บพลังงานไฟฟ้าในงาน 2021 IAA Munich Motor Show

ส่องรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ ในงาน 2021 IAA Munich Motor Show แมวอาละวาด GWM ORA Good Cat ก็มา!

รถไฟฟ้าครองโลก! ส่องตัวเจ็บพลังงานไฟฟ้าในงาน 2021 IAA Munich Motor Show

สัปดาห์ที่ผ่านมา เมืองมิวนิกเป็นเจ้าภาพงานมอเตอร์โชว์ใหญ่ครั้งแรก นับตั้งแต่การยกเลิกจัดงานInternational Frankfurt Motor Showและเมื่อคุณไปเดินเล่นอยู่ที่นั่น คุณจะพบว่า อุตสาหกรรมยานยนต์โลก มีการเปลี่ยนแปลงระบบขับเคลื่อนครั้งใหญ่ที่มีความชัดเจนอย่างไม่น่าเชื่อ ยานพาหนะในอนาคตอันใกล้ จะกลายเป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าทั้งหมด พร้อมๆ กับการลาจากของเครื่องยนต์สันดาปภายในสุดคลาสสิก ที่มีความสกปรกด้านการปล่อยมลภาวะเพื่อให้ชื่อ IAA Mobility ถูกใช้อย่างเป็นทางการ การแสดงรถยนต์ในปีนี้ถือเป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี ยานยนต์พลังงานสะอาด และความคล่องตัวของระบบต่างๆ ที่คอยรองรับยานยนต์พลังงานไฟฟ้า พื้นที่จัดงานกว้างขวาง รวมถึงห้องโถงสามแห่ง ซึ่งจัดแสดง e-bikes สกูตเตอร์ไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า และตู้ชาร์จไฟควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ ทั้งหมด ถูกสร้างขึ้นเพื่อการก้าวเดินต่อไปข้างหน้า ด้วยพลังงานไฟที่เข้ามาแทนเชื้อเพลิง ภายในงาน IAA Munich motor show 2021 ที่มิวนิก คุณแทบจะหารถที่ใช้เชื้อเพลิงไม่เจอ มีรถรุ่นใหม่น้อยมากที่ยังใช้เครื่องยนต์และถูกนำมาจัดแสดง นั่นคือความก้าวล้ำของเทคโนโลยีไฟฟ้า ที่นำพาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกแห่งยนตรกรรม และต่อไปนี้คือไฮไลต์บางส่วน ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์

Audi grandsphere Concept 2022
เห็นได้ชัดว่ารถยนต์ในอนาคตจะไม่มีปุ่ม shift หรือ caps lock อีกต่อไป แดชบอร์ดที่ปราศจากปุ่มและถูกแทนที่ด้วยจอภาพระบบสัมผัสนั้นมีประสิทธิภาพไม่ได้ด้อยไปกว่าการใช้ปุ่มหมุนหรือกด เนื่องจาก Audi grandsphere Concept ไม่สนใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น การจัดรูปแบบของรถยนต์ซาลูนหรูในอดีต ที่อุดมไปด้วยปุ่มกดและหมุนสารพัดชนิด เช่นเดียวกับ Panoramic Roof ที่เปิดโล่งเพื่อสร้างบรรยากาศของการขับขี่ Audi grandsphere Concep มีห้องโดยสารที่กว้างขวางและโปร่งสบาย ฐานล้อยาวเหยียดทำให้มีพื้นที่ใช้สอยราวกับ Maybach วิศวกรของแบรนด์สี่ห่วงได้ทำการขยายความยาวของฐานล้อของรถต้นแบบที่ถูกเปิดเผยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และมีการคาดกันว่ารถรุ่นนี้จะเปิดตัวในฤดูใบไม้ผลิของปีหน้า (2022) ยานยนต์ต้นแบบแนวคิด Grandsphere รุ่นล่าสุดของ Audi มีมิติของตัวถังที่ใหญ่กว่า A8L ไม่น่าแปลกใจที่รถต้นแบบคันนี้มีขนาดความยาวมากถึง 5,350 มิลลิเมตร (ยาวกว่า A8L รุ่น LWB) ทุกสิ่งทุกอย่างของมันทำงานด้วยระบบไฟฟ้าทั้งหมด (ถ้าคุณไม่กังวลในเรื่องไฟดูด!) และมีการตกแต่งภายในที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีอันก้าวล้ำ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องบินส่วนตัว

Cupra UrbanRebel Concept
รถแข่งสำหรับเด็กโข่งที่ไม่ยอมโต Cupra UrbanRebel Concept มีล้อคล้ายเครื่องขูดชีส ปีกหรือวิงหลังขนาดใหญ่ราวกับกันสาดบนดาดฟ้าของตึกแถวย่านเยาวราช และการตกแต่งภายในที่ถอดแบบมาจากรถแข่ง ยานยนต์แนวคิดคันนี้มีความยาว 4,080 มิลลิเมตร กว้าง 1,795 มิลลิเมตร และสูง 1,444 มิลลิเมตร ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับ Volkswagen Polo คันเล็ก มีพละกำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าเทียบเท่า 429 แรงม้า Cupra UrbanRebel Concept สามารถเร่งความเร็วจาก 0 ถึง 62 ไมล์ต่อชั่วโมง (0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ใน 3.2 วินาที ตามทฤษฎีของรถไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง (อย่างไม่ต้องสงสัย) แต่ขอโทษเถอะ 3.2 วินาที ไม่มีทางที่รถที่ผลิตจริงจะวิ่งได้เร็วจี๋ขนาดนั้น อาจเป็นเพราะน้ำหนักของวิงหลังที่ทำให้มันไปเร็วกว่านั้นไม่ได้!!

Porsche Mission R
Porsche Mission R ในงาน IAA แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างรถแข่งพลังงานไฟฟ้าของค่ายม้าจากสตุ๊ตการ์ท Porsche กำลังเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งหลังจากความสำเร็จของ Taycan และอาจจะมีอะไรที่ดีกว่านั้นเกิดขึ้นในเร็วๆนี้! Porsche Mission R Concept คือแนวคิดการแข่งรถ ด้วยพลังงานจากมอเตอร์ประสิทธิภาพสูง มากถึง 1,073 แรงม้า เป็นคาบเวลาที่ดีในการที่จะทำให้รถต้นแบบรุ่นนี้เป็นจริงขึ้นมา Mission R มีขนาดกะทัดรัด คันเล็กนิดเดียว และมีมิติตัวถังเท่ากับ Cayman เมื่อมองไปที่การแข่งรถในอนาคต (อันใกล้) Mission R อาจเข้ามาแทนที่ Porsche GT3 ที่กำลังอาละวาดอยู่ในสนามแข่งทั่วโลก

E-Legend EL1
หากคุณยังเด็กเกินไปที่จะได้เห็นยุคทองของการแข่งขันแรลลี่ Group B และรถแข่งบ้าพลังเกือบ 700 แรงม้า ที่ถูกนำมาพาดหัวข่าวอุบัติเหตุหลุดโค้งพุ่งเข้าชนคนดูสองข้างทาง ปัจจุบัน ความบ้าพลังของรถแข่งแรลลี่ WRC ถูกลดทอนลงไป เพื่อทำให้การแข่งขันมีความปลอดภัยมากกว่าในอดีต ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าอย่าง E-Legend EL1 กำลังนำความสนุกสนานของรถแข่ง Rally กลับมาอีกครั้ง ด้วยระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าที่ทันสมัยคุณอาจเคยเห็นและจำภาพแรกในธีม EL1 ของ Audi Sport Quattro ในเดือนมิถุนายนได้ นี่คือรถต้นแบบที่มีรูปทรงย้อนยุค คล้ายกับรถแข่ง WRC Audi Quattro เจ้า E-Legend EL1 แบบใหม่ที่ใช้ตัวถังคาร์บอนไฟเบอร์และบอดี้ก็เป็นคาร์บอนล้วนๆ นับเป็นสิ่งสวยงามที่หาได้ยากE-Legend EL1 สร้างขึ้นจากสถาปัตยกรรมแพลตฟอร์มแบบคาร์บอนโมโนค็อก โดยมีน้ำหนักรถทั้งคันเพียง 1,680 กก. ติดตั้งมอเตอร์ขับเคลื่อนประสิทธิภาพสูง มีกำลังเพียงพอที่จะเร่งความเร็วจากศูนย์ถึง 100 กม./ชม. ในเวลาเพียง 2.8 วินาที และทะยานจาก 0-200 กม./ชั่วโมง ในเวลาน้อยกว่า 10 วินาที กำลังมาจากมอเตอร์ไฟฟ้าสามตัวที่ผลิตพลังงานรวมกันได้ 600 กิโลวัตต์ หรือประมาณ 815 แรงม้า คาดว่า E-Legend EL1 Concept จะถูกผลิตออกขายในเร็วๆนี้ ด้วยจำนวนการผลิตแค่ไม่กี่ร้อยคัน สำหรับเศรษฐีที่กำลังตามหาอดีตอันรุ่งเรืองของรถแข่ง Audi Quattro Coupe

Mercedes-Benz EQG
หากพูดถึงตำนานที่กำลังถูกจุดไฟขึ้นมาใหม่ นี่คือ Mercedes-Benz EQG G-Wagen ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า Mercedes กำลังเปลี่ยนกล่องของเล่นสุดคลาสสิก จากเครื่องยนต์ที่สูบเชื้อเพลิงมาเป็นพลังงานไฟฟ้าแสนสะอาด (จริงหรือ?) แบรนด์ตราดาวหวังว่าในอนาคตอันใกล้ Mercedes-Benz EQG จะกลายเป็นเครื่องประดับสุดฮอตที่วิ่งอยู่ในย่านธุรกิจของมหานครทั่วโลก ใช่ครับมันคือรถลุย แต่เศรษฐีน้อยรายที่จะเอามันลงไปลุยแบบจริงๆ จังๆ เมื่อเปลี่ยนจากรถต้นแบบแนวคิด มาเป็นรถที่ผลิตจริง EQG จะรักษาโครงสร้างทรงกล่องของรถรุ่นพี่ เฟรมและเพลาหลังแบบใช้งานหนักได้ของ G-Class รุ่นมาตรฐาน ดังนั้นมันจึงไม่ใช่รถเอสยูวีไฟฟ้าหรูที่บอบบางอย่างแน่นอน EQG จะคงความเป็นออฟโรดเอาไว้ แต่คุณจะมีเจ้าไฟฟ้ารุ่นใหม่นี้ หรือเดินไปที่ G63 ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการ แต่เครื่อง AMG V8 4.0 ลิตร ทวินเทอร์โบ จะถูกยกเลิกสายการผลิตในปีหน้านี้ (2022) Mercedes ยังไม่พร้อมที่จะแจ้งถึงรายละเอียดของชุดส่งกำลัง เช่น แรงม้าจากมอเตอร์ แรงบิด ตัวเลขอัตราเร่ง ความเร็วสูงสุด และระยะทางที่สามารถวิ่งไปถึงต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง รถแนวคิดรุ่นใหม่นี้ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าสี่ตัว ที่ติดตั้งใกล้กับล้อทั้งสี่ มอเตอร์แต่ละตัวสามารถทำงานได้อย่างอิสระ เพื่อทำให้ EQG มีลักษณะการขับขี่ที่ไม่เหมือนใครแต่ยังคล้ายกับ G-Wagon ระบบขับเคลื่อนยังมีเกียร์ไฟฟ้าแบบสองสปีด ที่สามารถแปรผันอัตราทดได้อย่างอิสระ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเกียร์ถูกออกแบบสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินบนทางวิบากที่ยากลำบาก

Mercedes EQE
ไม่จำเป็นต้องปรับจอภาพของคุณอีกต่อไป เพราะเท่าที่ดู นี่ไม่ใช่ EQS แต่เป็น EQE ที่มีขนาดย่อมกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับรถรุ่นพี่อย่าง EQS มันเป็นรถไฟฟ้า Luxury EV 100% ที่ถูกออกแบบมาให้ดูค่อนข้างเหมือนกันทุกประการอยู่แล้ว เช่นเดียวกับ EQS ที่ใหญ่กว่า EQE คือรถเก๋งซีดานไซส์กลางอย่างหรู ที่มีรูปลักษณ์ไหลลื่นราวกับปลาโลมา พร้อมความหรูหราระดับไฮเอนด์ของ S-Class โมเดล EQE เป็นรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเดียวกับ E-Class ภายใน คุณจะพบกับงานตกแต่งที่ปราศจากปุ่มหรือสวิตท์ (อีกแล้ว) พร้อมด้วยไฮเปอร์สกรีนขนาดใหญ่ราวกับจอหนังกลางแปลงของแอ๊ด เทวดา ความสามารถในการสั่งงานด้วยเสียง ระบบขับอัตโนมัติและความสบายในแบบที่ E-Class เคยมี

Hyundai Ioniq 5 Robotaxi
Hyundai ใช้งาน IAA ในมิวนิก ทำการเปิดตัวรถยนต์ซีดานพลังงานไฟฟ้า Ioniq 5 ROBOTAXI เป็นรถโดยสารเพื่อการพาณิชย์แบบไฟฟ้าพร้อมระบบขับอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ซึ่งจะถูกใช้เป็นแท็กซี่ไร้คนขับ ในอนาคตนับตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป Robotaxi เป็นผลงานพิเศษ จากความร่วมมือระหว่าง Hyundai และ Motional บริษัทเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับในเมืองบอสตัน Ioniq 5 Robotaxi เป็นยานยนต์ไร้คนขับระดับ 4 ด้วยการเพิ่มเซนเซอร์มากกว่า 30 ตัว รวมถึงกล้องเรดาร์ คุณจะได้ไม่ต้องมาทะเลาะกับคนขับแท็กซี่มารยาทไม่ดีอีกต่อไป

Ora Cat Race Car Concept
ชื่อ Great Wall จะถูกจดจำในฐานะผู้เล่นจากเอเชียที่มาแรง เป็นที่รู้กันดีว่า GWM มีแบรนด์ใหม่ซึ่งเป็นแบรนด์รถไฟฟ้า โดยใช้ชื่อว่า ORA Good Cat เป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า ทั้งหมดมีกำหนดที่จะเดินทางจากแผ่นดินใหญ่มาถึงทวีปยุโรปในปีหน้านี้แล้ว (2022) ด้วยยานยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นแรก นั่นก็คือ ORA Good Cat นอกเหนือไปจากนั้น วิศวกรชาวจีนที่มีความสามารถ ยังลงมือลงแรงสร้าง ORA ในรูปแบบของรถแข่ง แต่มันดูเหมือนการทดลองผสมพันธุ์กันเองระหว่างรูปลักษณ์ของรถทั้งสองโมเดล (Porsche 911 และ Mini Cooper) ORA มีความแปลกตาและไม่ค่อยจะลงตัวเท่าที่ควร แต่ก็ใช้งานได้ดี รถ ORA รุ่นมาตรฐาน อยู่ในกลุ่มเดียวกับคู่แข่งขันอย่าง Volkswagen ID3 และ MINI Cooper SE คาดว่าเจ้าแมวตัวแสบจะสามารถทำระยะทางการใช้งาน ต่อการชาร์จแบตฯ จนเต็ม ที่ 250 ไมล์ หรือประมาณ 402 กิโลเมตร พลังงานไฟฟ้าที่จ่ายให้กับมอเตอร์ขับเคลื่อน ได้มาจากแบตเตอรี่ขนาด 63kWh ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่มีกำลัง 169 แรงม้า ขับเคลื่อนด้วยล้อคู่หน้า เจ้าแมว ORA เร่งจาก 0-62 ไมล์ต่อชั่วโมง (0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ใน 8.5 วินาที คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณว่าจะเลือก ID3 หรือ MINI Cooper SE หรือเดินขึ้นไปที่กำแพงเมืองจีน เพื่ออุ้มแมวหลงทางมาเลี้ยงแบบทาสแมว!

BMW i Vision Circular
ถ้าคุณต้องการทราบว่า BMW ในอนาคตจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรในปี 2040? เมื่อแฟนคลับพากันคิดไปว่า BMW M3 ใหม่ มีกระจังหน้าไตคู่ขนาดใหญ่เกินไป ลองสำรวจโฉมหน้าของยานยนต์แนวคิด BMW i Vision Circular เป็นรถยนต์ต้นแบบพลังงานไฟฟ้าที่ BMW คาดการณ์ว่า รถยนต์หรูหราไฟฟ้าขนาดกะทัดรัดจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรในปี 2040 เห็นได้ชัดว่าเป้าหมายคือการใช้วัสดุรีไซเคิล 100 เปอร์เซ็นต์ในการผลิต โดย 100 เปอร์เซ็นต์ของชิ้นส่วนทั้งหมด สามารถนำไปรีไซเคิลเมื่อหมดอายุการใช้งานแบบวงจร Circular นอกเหนือจากการเพิ่มไลน์อัพให้กลุ่มผลิตภัณฑ์ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า การเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด สำหรับการผลิตยานยนต์ของ BMW แล้ว โดยมุ่งเน้นไปที่หลักเศรษฐกิจใหม่ และใช้กรรมวิธีในการหมุนเวียนชิ้นส่วนต่างๆ ของรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งาน การใช้วัสดุที่ผ่านการรีไซเคิลจากรถยนต์ที่หมดสภาพ วัสดุเหล่านั้นถูกหลอมและขึ้นรูปใหม่ทั้งหมด เช่น อะลูมิเนียมเหล็ก รวมถึงพลาสติก ที่ได้มาจากการรีไซเคิลวัสดุเหลือใช้แล้วนำกลับมาใหม่ กล่าวกันว่า กระบวนการในการจัดหาวัสดุเหลือใช้นั้นเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า และมีค่าความเข้มข้นของการปล่อยคาร์บอนน้อยกว่ามาก เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในแบบเก่า การรีไซเคิลนำมาซึ่งการปรับปรุงที่สำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านซัพพลายเชน เมื่อดูที่อุปกรณ์กักเก็บพลังงาน แบตเตอรี่โซลิดสเตทแบบใหม่ ใน BMW i Vision Circular มีชิ้นส่วนของตัวแบตฯ ที่สามารถรีไซเคิลได้ทุกชิ้น หรือเท่ากับ 100 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว แบตฯ ของรถต้นแบบคันนี้มีต้นทุนการผลิตที่ลดลง และมีประสิทธิภาพในการกักเก็บพลังงานไฟมากกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน รถ i Vision Circular ใช้แบตฯ แบบใหม่ล่าสุด เพื่อทำให้การชาร์จไฟรวดเร็วมากกว่าเดิม และทำให้ได้พลังงานไฟฟ้าที่มีค่าความหนาแน่นสูงขึ้นมาก โดยใช้ทรัพยากรในการผลิตแบตฯ รุ่นใหม่นี้ลดลง (อย่างมาก) แนวทางการออกแบบให้ความชัดเจน เมื่อดูรูปทรงของรถ BMW i Vision Circular มีการดีไซน์ที่แปลกใหม่ ด้วยแนวคิดของนักออกแบบรุ่นใหม่ในแบรนด์ตราใบพัด ซึ่งประกอบด้วยชิ้นส่วนเพียงไม่กี่ชิ้น มีการลดการใช้วัสดุใหม่ประเภทต่างๆ ให้เหลือน้อยที่สุด โดยทั่วไป BMW มักจะสร้างรถตันแบบแนวคิดที่มีความแปลกแยกไปจากรถที่ผลิตออกขายจริง บางคันถูกแนะนำในงานแสดงรถยนต์ระดับโลก และมีหลายคันที่ไม่ได้ถูกผลิตออกขาย แค่ทำออกมาโชว์เท่านั้น

Mercedes-AMG One
นี่คือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาแบบพิเศษ สำหรับคนที่ชอบเครื่องยนต์กลไก ในยุคที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เครื่องยนต์ที่ดีที่สุดก็คือ เครื่องยนต์ของรถแข่งฟอร์มูล่าวัน AMG One นำขุมพลังของรถแข่ง F1 มาควบรวมกับมอเตอร์ขับเคลื่อนประสิทธิภาพสูง แต่เครื่องยนต์ Formula One ที่ดีนั้นมีความสลับซับซ้อนและยุ่งยากมาก เมื่อถูกนำมาผลิตจริง การกระทำดังกล่าวของ Mercedes-AMG ทำให้โครงการนี้ยังยืดเยื้อและประสบกับความล่าช้าอย่างมาก สื่อมวลชนสายยานยนต์ทั่วโลกได้รับแจ้งว่าอีกไม่นาน Mercedes-AMG One จะถูกส่งมอบให้กับลูกค้าที่จองรถตั้งแต่ปลายปี 2017 ทีมวิศวกรและช่างของ Mercedes AMG นำเทคโนโลยีของรถแข่ง F1 ในทีม Mercedes Benz มาปรับแต่งเพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมกับการทำตัวเป็นรถถนนที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีการนำขุมกำลังของรถแข่ง W07 ที่ประสบความเร็จในสนามแข่งความเร็วสูงหรือฟอร์มูลาวันมาปรับใช้ ปีศาจไฟฟ้า AMG One คันนี้ยังเป็นไฮเปอร์คาร์ที่มีระบบขับเคลื่อนแบบไฮบริด คล้าย Ferrari SF90 และ McLAREN Artura เครื่องยนต์เบนซิน V6 ปริมาตรความจุแค่ 1.6 ลิตร อัดอากาศด้วย Turbocharged แบบ Twin Turbo เทอร์โบ 1 ตัวรับผิดชอบอัดอากาศเข้ากระบอกสูบแต่ละฝั่งแบบแยกส่วน เครื่องยนต์ V6 ของรถแข่ง F1 ทำงานผสมผสานกับมอเตอร์ไฟฟ้า 4 ตัว โดยใช้มอเตอร์ขับเคลื่อนถึง 3 ตัว และมอเตอร์สำหรับเทอร์โบอีก 1 ตัว กำลังของเครื่องยนต์และมอเตอร์รวมกันแล้วมากถึง 1,000 แรงม้าเลยทีเดียว

AMG One ใช้โครงสร้างคาร์บอนไฟเบอร์เหมือนกับรถแข่ง Mercedes F1 เป็นรถสองที่นั่งเครื่องวางกลางลำขับเคลื่อนสี่ล้อ น้ำหนักรถ 1,300 กิโลกรัม กับพลังงานระดับ 1,000 แรงม้า สร้างอัตราเร่งที่น่าตื่นตาตื่นใจ เมื่อเร่งความเร็วจากจุดหยุดนิ่งไปถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง น้ำหนักที่เบากับแรงม้ามหาศาลทำให้มันวิ่งได้ราวกับรถฟอร์มูลาวันที่ 2.9 วินาที รูปแบบของการผลิตเพียงแค่น้อยนิดไม่ถึง 300 คัน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีของ F1 กับบานประตูปีกนก ทรงที่แบนและเตี้ย ตัวถังเพียบพร้อมไปด้วยระบบ Active AERO ชุดจัดกระแสลมรอบคัน สปอยเลอร์หลังแบบพิเศษรวมกับครีบหลังคาร์บอนอันแปลกประหลาดแต่เข้ากับรถและท่อระบายท้ายแมคนีเซียม ทำให้ปิศาจสายฟ้าคันนี้มีหน้าตาราวกับยานรบต่างดาว ระบบอากาศพลศาสตร์ หรือ AERODYNAMIC ของรถคันนี้เกิดขึ้นจากชิ้นส่วนคาร์บอนซึ่งทำหน้าที่สี่แบบคือ ปรับเป็นโหมด DRS เพื่อความลู่ลมสูงสุดสำหรับการวิ่งในย่านความเร็วสูง ปรับเพื่อสร้างแรงยึดเกาะกับถนนโดยใช้ Air Blade ทั้งสองข้าง ปรับองศาของครีบที่สร้างแรงกดเพื่อพยุงบาลานซ์ระหว่างหน้าและท้าย แบบสุดท้ายคือการปรับให้เกิดแรงต้านอากาศสูงสุดสำหรับการเบรก ช่วงล่างแบบ Active Suspension เฟืองทดกำลังของระบบ Torque Vectoring ที่สามารถเทแรงบิดไปยังล้อข้างใดข้างหนึ่งไม่ว่าล้อนั้นจะขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์หรือเครื่องยนต์ ส่วนราคาค่าตัวยังไม่บวกภาษีนำเข้าอยู่ที่ 91 ล้านบาท เป็นจำนวนเงินที่สามารถซื้อ McLaren Artura ในไทยได้ถึง 4 คันเลยทีเดียว!


อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/



คุณกำลังดู: รถไฟฟ้าครองโลก! ส่องตัวเจ็บพลังงานไฟฟ้าในงาน 2021 IAA Munich Motor Show

หมวดหมู่: รีวิวรถใหม่

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด