รถจีน vs รถจีน

รถจีน vs รถจีน

จบจากงาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 40” หรือ MOTOR EXPO 2023 สิ่งที่เป็นที่ฮือฮาในพื้นที่ข่าว คือยอดจองรถในงาน ที่แบรนด์รถจากจีนที่เป็นไฟฟ้าล้วน (EV) ทำยอดจองพุ่งกระฉูดแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนครับ โดยแม้ว่าหลังจบวันสุดท้าย อันดับ 1 และ 2 ยังคงเป็นสองค่ายญี่ปุ่นอย่างโตโยต้าและฮอนด้า แต่หากดู 10 อันดับแรก รถจีนทำยอดจองแซงรถญี่ปุ่นไปแล้ว!

หากรวมตัวเลขในตาราง ยอดจองกลุ่มท็อปเท็น 20,644 คัน คือยอดจองรวมกันของค่ายรถจีน ซึ่งแน่นอนว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นไฟฟ้าล้วน (ยังมี MG และ GWM บางรุ่นที่เป็นรถไฮบริด และมีเครื่องยนต์สันดาปเป็นส่วนประกอบ) ขณะที่ค่ายรถญี่ปุ่นมียอดจองรวมกัน 20,271 คัน ซึ่งหากจะบอกว่าตลาดรถยนต์บ้านเรา รถจีนผงาดเหนือรถญี่ปุ่นไปแล้วก็คงจะไม่ผิดนักครับ

หนึ่งในคำถามจากคนใกล้ตัวที่ถามผมเข้ามาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ ระหว่าง BYD ATTO 3 กับ AION Y PLUS ควรซื้อรุ่นไหนดี? นั่นหมายความว่า ตอนนี้เขาไม่ได้มองไปที่รถสันดาปแล้ว แต่มองไปที่ EV อย่างเดียว เท่ากับว่าสมรภูมิรถยนต์ในงาน MOTOR EXPO รอบนี้ แต่ละคนมีธงของตัวเองว่าจะไปทางรถไฟฟ้า ซึ่งปฏิเสธไม่ได่ว่าในงบ 1 ล้านบาท ก็มีแต่ยี่ห้อจีนเท่านั้นครับที่ทำได้

aion_y_plus_17

ขณะที่เพื่อนผมอีกคนหนึ่งที่ได้บัตรเข้าไปดูงาน ก็บอกไว้ก่อนเลยว่าจะเข้าไปเดินดูรถ EV สักหน่อย นั่นก็เท่ากับว่ากระแสรถไฟฟ้าในบ้านเรากำลังมาอย่างต่อเนื่อง และที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือเจ้าตลาด EV จากสหรัฐฯ อย่าง Tesla ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยโผล่ไปงานแสดงรถยนต์ในบ้านเราแม้แต่ครั้งเดียวนับตั้งแต่ทำตลาดในเมืองไทย ยังมาออกบูธในงานนี้ด้วย

อย่างที่ผมเคยเขียนไว้ในคอลัมน์นี้เมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน ว่าเราปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้รถไฟฟ้าจะมีแนวคิดเพื่อลดการปล่อยมลพิษ แต่ด้วยความเคารพครับ เหตุจูงใจของผู้ซื้อไม่มีใครเขามองจุดนั้นหรอกครับ จุดที่ทำให้คนหันมาสนใจ EV ก็คือเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายในการเติมเชื้อเพลิง เพราะหากเทียบกันแล้ว การจ่ายค่าชาร์จไฟจะถูกกว่าเติมน้ำมันถึง 5 เท่า

กลับมาไล่ดูตัวเลขยอดจองกันอีกครั้ง ผมเองยอมรับว่าไม่ได้เซอร์ไพรส์ตอนที่ BYD ทำยอดเหนือโตโยต้าเมื่อผ่านครึ่งทางแรก เพราะที่ผ่านมา BYD ก็ทำตลาดและสร้างชื่อขึ้นมาอยู่หลายรุ่น แม้จะมีปัญหาบ้างในบางคัน แต่คนส่วนใหญ่รู้ว่านี่คือค่ายรถไฟฟ้าเบอร์หนึ่งของจีน และมีเทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบ Blade Battery ที่ Tesla ยังไม่สามารถทำได้

deepal_l07_06

ทว่าสองยี่ห้อจากจีนที่มาแรงชนิดเหนือความคาดหมายก็คือ AION กับ CHANGAN ทำยอดจองหลังจบงานอยู่ในอันดับที่ 4 และ 6 ตามลำดับ มียอดจองรวมกันที่ 8,117 คัน ทั้งที่เพิ่งจะเปิดตัวและทำตลาดในบ้านเราได้ไม่นาน นั่นเป็นสัญญาณที่บอกว่าตลาด EV ในเมืองไทย เป็นการสู้กันเองของค่ายรถสัญชาติจีน โดยที่ค่ายญี่ปุ่นทำได้แค่มองอยู่ห่าง ๆ เท่านั้น

ซึ่งกลยุทธ์ในการเข้ามาของ 2 ผู้เล่นหน้าใหม่นี้ ก็ไม่ได้ต่างจาก BYD สักเท่าไรครับ โดยเฉพาะการใช้ดีลเลอร์เจ้าเก่า ๆ ที่มีอยู่แล้วในบ้านเราจัดจำหน่ายและดูแลหลังการขาย อาทิ CHANGAN ที่ตามรายงานบอกว่าได้ดีลเลอร์ระดับพรีเมียมอย่าง AAS ที่ขายรถยุโรปแบรนด์อย่าง ปอร์เช่ เบนท์ลีย์ มาช่วยดูแลการขายอีกด้วย

ไม่เพียงแค่ในบ้านเราครับ ตัวเลขยอดส่งออกรถยนต์ทั่วโลก หากย้อนไป 5 ปีที่แล้ว รถจีนยังตามหลังรถญี่ปุ่น รถยุโรป และรถเกาหลีใต้อยู่เลย ตอนนี้กำลังจะแซงรวบขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของโลก เรียกได้ว่ากำลังผลิตรถ EV ที่มีมหาศาล บวกกับแหล่งวัตถุดิบที่สามารถทำราคาได้ถูกกว่า ทำให้อุตสาหกรรมรถของจีนผงาดขึ้นมาภายในเวลาอันรวดเร็ว

สุดท้ายคงต้องบอกว่านี่คือนาทีทองของรถ EV จากจีน ที่คาดว่าจะทำยอดขายแบบนี้ต่อไปได้อีกหลายปีครับ ส่วนค่ายรถญี่ปุ่นที่แม้บางค่ายจะพัฒนาแบตเตอรี่ Solid State ที่ทำวิ่งได้ยาวร่วม 1,000 กิโลเมตรได้สำเร็จแล้ว แต่ยังไม่สามารถทำต้นทุนให้สู้กับรถจีนได้ ก็เชื่อว่าพวกเขาก็จะยังคงยึดแนวทางไฮบริดต่อไปได้อีกเรื่อย ๆ

เพราะหากค่ายญี่ปุ่นจะลงมาสู้ตลาดรถ EV กับรถจีนจริง ๆ ชั่วโมงนี้คงมีแต่แพ้อย่างเดียวครับ

ผู้เขียน: ธันยเดช เกียรติศิริ

คุณกำลังดู: รถจีน vs รถจีน

หมวดหมู่: รถยนต์

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด