รู้ไว้ จะได้ไม่เป็น "ซีสต์ที่รังไข่"
ซีสต์ที่รังไข่ ความผิดปกติที่ผู้หญิงมีสิทธิ์เป็นกันได้ทุกคน
เป็นเรื่องไม่แปลกใหม่สำหรับผู้หญิงอย่างเราไปแล้ว หากเห็นเพื่อนๆ ในกลุ่มทยอยกันเข้าผ่าตัดซีสต์ที่รังไข่ อย่างเราเอาก็เคยผ่าตัดไปครั้งหนึ่ง อีกปีต่อมาเพื่อนก็เข้าห้องผ่าตัดด้วยอาการเดียวกัน ทำไมใครๆ ก็เป็นซีสต์ที่รังไข่ สาเหตุมาจากอะไร แล้วมีทางป้องกันไหม Sanook! Health หาข้อมูลมาให้แล้วค่ะ
ซีสต์ คืออะไร? ต่างจากก้อนมะเร็งอย่างไร?
ตัวซีสต์เองเป็นถุงน้ำ ที่สามารถงอกขึ้นมาได้ในทุกส่วนของร่างกาย
ไม่ว่าจะเป็นรังไข่ เต้านม ต่อมไขมัน ลำไส้ ฯลฯ
ซึ่งตัวซีสต์เองถือว่าเป็น “เนื้องอก” ชนิดหนึ่ง
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นซีสต์ หรือเนื้องอกชนิดอื่นๆ
ก็มีทั้งแบบไม่เป็นมะเร็ง และเป็นมะเร็งเช่นเดียวกัน
หลังผ่าตัดคุณหมอจะส่งชิ้นเนื้อไปตรวจว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่
หากเป็นเนื้อร้าย หรือเป็นมะเร็งก็จะเริ่มทำการรักษามะเร็งต่อไป
หากเป็นก้อนเนื้อธรรมดายังไม่เป็นมะเร็ง
ก็สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ต่อไป
ประเภทของซีสต์
จริงๆ แล้วซีสต์มีมากมายหลายประเภทมาก
แต่หากเป็นซีสต์ที่พบได้บ่อยในผู้หญิงชาวไทย จะมีอยู่ 2 ประเภท
คือ
- ช็อคโกแลต ซีสต์ เกิดจากเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่
ไปอยู่บนรังไข่ ทำให้มีลักษณะเหมือนมีเลือดประจำเดือนไปสะสมอยู่
- เดอร์มอยด์ ซีสต์ มีลักษณะเหมือนก้อนไขมัน
และอาจมีบางอย่างอยู่ในก้อนนั้นด้วย เช่น ฟัน เส้นผม
ใครที่เป็นซีสต์ชนิดนี้ อาจมีโอกาสที่จะปวดท้องเฉียบพลัน
เนื่องจากก้องซีสต์บิดขั้วจนอักเสบ เลือดไม่ไหลเวียน จนต้องผ่าตัดด่วน
มีทั้งผ่าตัดเอาถุงน้ำ หรือก้อนซีสต์ออกไปเฉยๆ
หรืออาจจะตัดปีกมดลูกไปข้างหนึ่ง
หากก้อนซีสต์บิดขั้วจนทำให้รังไข่อักเสบมาก
(แต่ปีกมดลูกยังเหลืออีกข้าง มีโอกาสตั้งครรภ์
และมีประจำเดือนทุกเดือนตามปกติ)
สาเหตุของการเกิดซีสต์
มาจากหลายๆ สาเหตุ เช่น
- กรรมพันธุ์
- ทานอาหารที่เสี่ยงต่อการกระตุ้นมะเร็ง เช่น ของทอดไหม้เกรียม
อาหารกระป๋อง อาหารปนเปื้อนสารเคมี ฯลฯ
(อ่านพฤติกรรมเสี่ยงโรคมะเร็งที่นี่)
- ร่างกายไม่แข็งแรง
- ที่อยู่อาศัยอยู่ในเขตอุตสาหกรรม มีปัญหาทางมลพิษ
- ฯลฯ
ปวดท้องแบบไหน
ถึงควรสงสัยว่าเป็นซีสต์ที่รังไข่?
ปวดท้องแบบเจ็บลึก หรือเป็นๆ หายๆ อาการปวดท้องคล้ายปวดท้องไส้ติ่ง
หรือกระเพาะอาหาร เพียงแต่จะปวดเฉพาะบริเวณหน้าท้องด้านซ้ายล่าง
(ปวดท้องโรคกระเพาะจะปวดกลางท้อง
ปวดท้องไส้ติ่งจะปวดด้านขวา) สามารถปวดได้ทุกเวลา
ไม่ว่าจะช่วงมีประจำเดือน หรือไม่มีก็ตาม
ทำอย่างไร ถึงจะปลอดภัยจากซีสต์ในรังไข่
1. สังเกตความผิดปกติของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ หากปวดท้องบ่อยๆ
หน้าท้องโตขึ้น จับคลำเจอก้อน ให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย
(โดยปกติแล้ว เพียงตรวจปัสสาวะ หรือตรวจเลือด
ก็ทราบได้แล้วค่ะว่าเป็นซีสต์หรือไม่)
2. ตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจทั้งมะเร็งปากมดลูก
และตรวจหาก้อนที่ผิดปกติในอุ้งเชิงกราน ทั้งมดลูกและรังไข่
3. ตรวจอัลตร้าซาวนด์ อาจไม่ได้แนะนำให้ตรวจเป็นประจำทุกคน
แต่สำหรับใครที่มีความจำเป็น หรือไม่สามารถตรวจภายในได้
หรือมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งรังไข่จากรรมพันธุ์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม โรคแบบนี้พบก่อน รักษาก่อน
หายไวกว่าโดยที่อาจจะไม่ต้องผ่าตัดก็ได้นะคะ
เพราะฉะนั้นอยากให้หาเวลาว่างไปตรวจภายในกันบ้าง เพื่อสุขภาพที่ดี
ปลอดภัยจากโรคร้ายต่างๆ ของคุณผู้หญิงทุกคนค่ะ
คุณกำลังดู: รู้ไว้ จะได้ไม่เป็น "ซีสต์ที่รังไข่"
หมวดหมู่: รู้ทันโรค