รวมประวัติ Toyota Crown ตำนานรถหรูคู่แดนอาทิตย์อุทัย (ตอนที่ 1)

ย้อนรอย โคตรเหง้าเหล่ากอ รถเก๋งไซส์กลางแห่งตำนาน Toyota Crown ความหรูคู่กับความสบาย

รวมประวัติ Toyota Crown ตำนานรถหรูคู่แดนอาทิตย์อุทัย (ตอนที่ 1)

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ในการเปิดตัว Toyota Crown เจเนอเรชันที่ 16 นับเป็นการฉลองครั้งยิ่งใหญ่สำหรับระยะเวลา 67 ปีที่ชื่อนี้ยืนหยัดมาบนโลกของรถยนต์..เกิดมาโดยความตั้งใจของ Kiichiro Toyoda “ท่านพ่อ” ผู้ก่อตั้งรถยนต์ Toyota ที่อยากให้คนญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามโลกได้มีรถขับกันทั่วหน้า เป็นรถที่ประกอบมาดี ทนทาน และยังเก่งกล้าพอที่จะส่งไปขายในแดนตะวันตก ชื่อ Crown นั้นก็เป็นชื่อรุ่นที่ท่านพ่อตั้งให้เอง เพื่อให้มงกุฎนี้แสดงถึงเกียรติยศและความภูมิใจของชาวญี่ปุ่น

ชื่อ Crown แปลว่ามงกุฎ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านพ่อดูจะชื่นชอบ เพราะนอกจาก Crown แล้ว Corona ก็มาจากภาษาละตินที่แปลว่ามงกุฎ Corolla ก็ภาษาละตินเช่นกัน แปลว่ามงกุฎเล็กๆ แม้หลังท่านพ่อจากไปแล้ว รถรุ่นใหม่ๆ ที่ตามมานั้น.. Camry ก็เป็นเสียงที่เพี้ยนมาจากภาษาญี่ปุ่นว่า “คันมุริ” แปลว่ามงกุฎ กระทั่งรถอย่าง Avalon ที่ไม่ได้แปลตรงตัวว่ามงกุฎ แต่ก็ยังอุตส่าห์ลากไปเกี่ยวกับสถานที่ในนิยายกษัตริย์อาเธอร์ได้อีก..โคตรสรรหา

แต่ในวันนี้ ผมจะพาคุณผู้อ่านย้อนเวลาไปดูมงกุฎแรกอย่าง Crown เพราะเมื่อได้เห็นบรรยากาศงานเปิดตัว Crown รุ่นที่ 16 แล้วประทับใจ แม้ว่างานนี้ท่านประธาน Akio จะไม่ได้ใส่ชุดแข่งเอา Crown ตัวไหนมาดริฟต์หรือเบิร์นยางอย่างที่แกชอบทำกับรถรุ่นอื่น แกก็ยังสั่งให้ผู้จัดงานนำ Crown ตั้งแต่เจเนอเรชันแรกจนถึงไอ้ที่กำลังจะตกรุ่น รวม 15 คันมาจอดเรียงรายตรงทางเข้างาน เมื่อคุณมองผ่านรถเหล่านี้ทีละคัน คุณจะเห็นได้ถึงวิวัฒนาการของรถหรูในสายตาคนญี่ปุ่น Crown นี่ล่ะครับคือรถที่เริ่มจากความตั้งใจในการเป็นรถใช้งาน แล้วก็กลายเป็นรถคู่บารมีผู้บริหาร นักธุรกิจ เป็นขวัญใจแท็กซี่ เป็นรถประจำตำแหน่งข้าราชการ รถตำรวจ รถพยาบาล ไปจนถึงดัดแปลงเป็นรถขนศพ นี่คือความศรัทธาที่คนญี่ปุ่นมีต่อ Crown จนพูดได้ว่า หากต้องเลือกรถสักคันที่แสดงความเป็นญี่ปุ่นออกมาอย่างชัดเจนที่สุด มันต้องเป็น Crown นี่แหละ

เจเนอเรชันที่ 1-บุกเบิกในฐานะรถบ้านทนทานราคาดี

เคยสงสัยไหมว่าทำไมพูดถึงแท็กซี่มันต้องเป็น Toyota? เรื่องมันเริ่มตั้งแต่ตอนปู่คุณยังกระเตาะนี่ล่ะ Crown รุ่นแรกเกิดมาภายใต้การดูแลของวิศวกร Kenya Nakamura โดยมีจุดมุ่งหมายคือพาวัฒนธรรมรถเข้าไปถึงคนหมู่มากรวมถึงชนชั้นกลาง ราคาของรถจึงต้องง่ายที่จะเอื้อมถึง แต่ดีไซน์ของรถต้องมาในแบบที่คนไม่เห็นแล้วยี้ Nakamura เริ่มต้นโดยมีรถรุ่น Super เป็นพื้นฐาน แล้วจากนั้นก็แตกไลน์ออกเป็นสองรุ่น Toyopet (ชื่อ Toyota ในญี่ปุ่นสมัยนั้น ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสัตว์เลี้ยง) รุ่น Crown จะจับตลาดลูกค้าทั่วไป จึงออกแบบให้มีความหรูหรากว่า ประตูหน้าเปิดปกติ แต่ประตูหลังจะสวิงเปิดไปด้านหลัง เหมือนแค็บตู้กับข้าวของรถกระบะสมัยนี้นั่นล่ะ แล้วก็ใช้ช่วงล่างหน้าแบบคอยล์สปริงปีกนกสองชั้น ส่วนรุ่น Master ชื่อฟังดูเหมือนเจ้านาย แต่เขาทำมันออกมารับใช้ตลาดแท็กซี่โดยเฉพาะ ตัดอุปกรณ์บางส่วนออก เปลี่ยนช่วงล่างเป็นคานแข็งกับแหนบสี่ล้อ เน้นประหยัดค่าบำรุงรักษา รถทั้งสองรุ่นใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็กรหัส R ความจุ 1.5 ลิตร 48 แรงม้า เพื่อให้ทำราคารถได้ถูก และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 1955

กลายเป็นว่าลูกค้าที่เป็นชาวแท็กซี่ไปลองขับ แล้วพบว่า Crown ดูน่าใช้กว่า Master นั่งสบายกว่า ช่วงล่างนุ่มนวลกว่า พวกพี่เขาเลยพากันยกโขยงซื้อแต่ Crown โดยไม่ได้กลัวเรื่องค่าบำรุงรักษา เพราะ Nakamura เองก็พยายามทำรถให้ใช้ทิ้งใช้ขว้างได้ทั้งคู่อยู่แล้ว Crown จึงกลายเป็นขวัญใจของคนญี่ปุ่นยุคที่ทุกคนอยากเป็นเจ้าของรถ ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าของกิจการ หรือเป็นคนขับแท็กซี่ เมื่อคุณเติบโตมาด้วยกัน ผ่านความยากลำบากยุคหลังสงครามมาด้วยกัน ก็ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมนักธุรกิจญี่ปุ่นที่อนุรักษนิยม จึงให้เครดิตในชื่อเสียงของ Crown โดยไม่มีความว่ายี้เพราะแท็กซี่ใช้กันเยอะ

Crown ได้ไปต่อ ส่วน Master นั้นเจ๊งไม่เป็นท่าจนเลิกผลิตไปหลังจากวางขายได้แค่ปีเดียว ในปี 1957 ทาง Toyota เริ่มคิดนำ Crown ไปขายนอกประเทศ โดยนำไปเข้าแข่งแรลลี่พิสูจน์ความอึดที่ออสเตรเลียก่อน จากนั้นก็เริ่มมองหาดีลเลอร์ในอเมริกาและส่งออกรถไปขาย โดยพยายามทำตัวให้ดูหรู มีรุ่น Crown Deluxe ที่ใส่อุปกรณ์กับการตกแต่งจนคน Toyota สมัยนั้นตั้งชื่อเล่นว่า “Baby Cadillac” แล้วก็ส่งเข้าไปขายในอเมริกา ทว่าการตอบรับไม่ค่อยดีเท่าที่ควร เพราะ Crown ถูกสร้างขึ้นมาวิ่งบนถนนโคลนและลูกรังของญี่ปุ่น เมื่อมาเจอมอเตอร์เวย์ยาวๆ เรียบๆ ในเมืองลุงแซม Crown มีพลังไม่พอที่จะทำความเร็วได้ และเมื่อวิ่งด้วยความเร็วสูง เสียงรบกวนและการสั่นก็เยอะ ครั้น Toyota พยายามเรียกศรัทธาฝรั่งด้วยการเอารถไปลงแข่งวิ่งทางยาวข้ามประเทศ จาก Los Angeles ไป New York รถของพวกเขาก็ไปยกธงขาวยอมแพ้แถวๆ Las Vegas ไม่สามารถไปต่อจนจบ

เป็นเรื่องจริงที่ว่าการที่คุณเจ๋งสุดในซอย ไม่ได้แปลว่าคุณเก๋าสุดในหมู่บ้าน Crown ซึ่งคนที่บ้านเกิดต้อนรับอย่างดี กลับถูกเมินที่อเมริกา ยิ่งขายนานยิ่งขาดทุนจนบริษัทแม่ต้องเลิกขาย แต่นี่ล่ะคือโลกธุรกิจรถยนต์ และ Crown ซึ่งเป็นรถรุ่นแรกของค่ายที่บุกตลาดอเมริกาก็สร้างการรับรู้ในหมู่ผู้คนไว้แล้วในระดับหนึ่ง

เจเนอเรชันที่ 2-ใหญ่ขึ้น หรูขึ้น แรงขึ้นเยอะ

หลังจากเรียนรู้จุดอ่อนของรุ่นที่แล้ว Toyota ก็พยายามปรับปรุง Toyopet Crown รุ่นใหม่ ซึ่งเริ่มต้นขายในปี 1962 จะเห็นได้ว่าวิศวกร Toyota ระบายความเก็บกดที่โดนคนด่าจากรุ่นที่แล้ว เอามาลงในรถรุ่นนี้เต็มขั้น คุณบอกว่ารถเราเล็กสั้นป้อม? นี่เลย ตูยึดบอดี้ยาวออกไปอีก 40 ซม. คุณว่ารถเราไม่แรงเหรอ งั้นนี่เลย เอาเครื่อง 3R 1.9 ลิตร 80 แรงม้าไปใช้ ถ้ายังไม่พอ จะบอกว่าเจเนอเรชันที่ 2 นี้ เป็น Crown รุ่นแรกที่ใช้เครื่องยนต์ 6 สูบ รหัส M และ 2M ความจุ 2.0-2.3 ลิตร พละกำลัง 110-115 แรงม้า แรงกว่ารุ่นแรกแบบทิ้งไม่ต้องตามอ่านทะเบียน นอกจากนี้ยังเป็น Crown รุ่นแรกที่ได้ใช้เกียร์อัตโนมัติ เรียกว่าเกียร์ “Toyoglide” ซึ่งยังมีเกียร์เดินหน้าแค่ 2 จังหวะ บางคนอาจจะบอกว่าทำไมน้อยจังสู? คุณคะ นี่มันปี 1962 ขนาดเกียร์ธรรมดาตัวท็อปก็ยังมีแค่ 4 จังหวะเองค่ะ

ในด้านการออกแบบ คุณจะสังเกตได้ว่า Crown ในตัวถังนี้มีความยาว กว้าง แบน ต่างจากรุ่นที่แล้วโดยสิ้นเชิง เพราะ Toyota ต้องการหลีกหนีภาพลักษณ์รถเล็กวิ่งถนนลูกรัง ลูกค้าเห็นบอดี้ใหม่แล้วต้องรู้สึกว่ามันน่าจะขับได้เร็วและแรง นี่คือความพยายามในการแก้ไขภาพลักษณ์ของรุ่นที่แล้ว ซึ่งฝรั่งชอบ โดยเฉพาะทางออสเตรเลียนั้น Toyota สามารถตั้งรากฐานจนสร้างไลน์ประกอบ Crown นอกประเทศญี่ปุ่นครั้งแรกที่ออสเตรเลีย ซึ่งกลายเป็นกระดูกสันหลังของ Toyota Motor สำหรับรถที่ขายแดนจิงโจ้ต่อมายาวนานเกือบ 50 ปี และนอกจากนี้เจเนอเรชันที่ 2 นี่ล่ะ คือ Crown ตัวแรกที่เข้าไปขายในตลาดยุโรป โดยเริ่มที่ประเทศเดนมาร์ก

นอกจากรถรุ่นทั่วไปแล้ว Toyota ยังทำรุ่นพิเศษ “Toyopet Crown Eight” ออกมา ซึ่งไอ้คำว่า Eight นั้นก็มาจากการใช้เครื่องยนต์ V8 นั่นเอง ใช่แล้วครับ มันคือรถญี่ปุ่นรุ่นแรกที่ใช้เครื่องยนต์แปดสูบ โดยมีความจุ 2.6 ลิตร และมีพลัง 125 แรงม้า จับคู่กับเกียร์ Toyoglide ที่อัปเกรดเป็น 3 จังหวะ เมื่อบวกกับน้ำหนักตัวรถ ทำให้สมรรถนะไม่ได้หนีฉีก Crown S 2.0 ลิตรนัก แต่น่าจะไปเน้นเรื่องภาพลักษณ์ทางสังคม เพราะในสมัยนั้นข้าราชการชั้นสูงของญี่ปุ่นยังนั่งรถอเมริกันอยู่ เวลาผ่านไปรถพวกนี้เก่าและเริ่มจุกจิก รัฐบาลจึงอยากให้ Toyota สร้างรถสำหรับใช้ประจำตำแหน่งคนเหล่านั้น นี่คือสาเหตุที่ทำให้ Crown Eight ต้องมีเครื่องโต และลำตัวยาวกว่า Crown ปกติ

ซึ่ง Toyota ไม่ได้ประกอบ Crown Eight ที่โรงงาน Motomachi ของพวกเขา แต่ส่งให้ทางบริษัทรับสร้างรถ Kanto Auto Works ประกอบให้ เพราะจะได้ไม่ไปสร้างความยุ่งยากในไลน์ประกอบ Crown รุ่นปกติ ซึ่งกำลังขายดีอยู่ Crown Eight ยังมีของเล่นประจำตัวอีกหลายอย่างที่เกินหน้าเกินตาพี่น้อง มันมีแอร์และฮีตเตอร์ในตัว มีไฟหน้าแบบเปิด/ปิดอัตโนมัติ กระจกไฟฟ้า และ Cruise Control นี่คือรถปี 1964 นะครับ นับได้ว่ามันนี่ล่ะคือจุดเริ่มต้นของรถชั้นขุนนางและข้าราชการชั้นสูง เพราะ Toyota ก็ใช้พื้นฐานของ Crown Eight หลายส่วน นำไปพัฒนารถรุ่นโคตรเรือธงอย่าง Century ซึ่งเข้ามาแทนในปี 1967 และกลายเป็นรถพิเศษสำหรับชนชั้นสูงและเชื้อพระวงศ์นับแต่นั้นเป็นต้นมา

เจเนอเรชันที่ 3 - ปรับพื้นฐานสู่ความปลอดภัย

เปิดตัวในปี 1967 โดยรูปแบบของรถ และเครื่องยนต์กลไกมีความคล้ายคลึงกับเจนเนอเรชั่นที่ 2 ขนาดตัวรถไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักเพราะรุ่นที่แล้วก็นับว่าขยายจนโตพอ เครื่องยนต์รุ่นเริ่มต้น เป็นรหัส 5R ความจุ 2.0 ลิตร 94 แรงม้า ส่วนเครื่อง 6 สูบเรียง ก็ยังเป็นบล็อก M 2.0-2.3 ลิตร โดยที่ตัวแรงสุด กลับเป็นรุ่น Crown S เครื่อง 2.0 ลิตรที่นำมาโมดิฟายฝาสูบเปลี่ยนแคมชาฟท์องศาสูง ทำให้มีพลัง 125 แรงม้า สูงกว่ารุ่น 2.3 ลิตรในไลน์ปกติอยู่ 10 แรงม้า ระบบส่งกำลัง ก็ยกเกียร์ธรรมดา 3-4 จังหวะ กับเกียร์ออโต้ Toyoglide 2 จังหวะมาจากรุ่นที่แล้ว และเพิ่มรุ่น Toyoglide 3 จังหวะเข้ามาเพื่อสมรรถนะและอัตราสิ้นเปลืองที่ดีขึ้น

เรื่องอุปกรณ์และความหรูหรา ก็ไม่ยาก เพราะของดีๆ มีติดตั้งอยู่ใน Crown Eight เป็นเอกสิทธิ์ของเขา พอปี 1967 Crown Eight เลิกขาย กลายเป็นรถขุนนางอย่าง Century พวกวิศวกรประจำแผนก Crown รุ่นปกติก็ยิ้มร่า “ของเล่นพวกนี้..น้องขอไปใช้นะพี่” แน่นอน กระจกไฟฟ้า ฮีตเตอร์ในเครื่องปรับอากาศ Cruise Control ก็ถูกนำมาติดตั้งลงในรุ่นปกติ สิ่งที่เก๋ก็คือ ในรุ่นแพงๆ น่ะ คุณจะมีสวิตช์สำหรับควบคุมวิทยุจากเบาะหลังมาให้ด้วย และหลังจากปี 1968 เป็นต้นมา ก็มีพวงมาลัยพาวเวอร์ให้สั่งพิเศษ

นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ Crown มีรุ่นคูเป้ Hardtop สองประตูที่ไร้กรอบกระจกมาขาย คนญี่ปุ่นบางคนก็ยังเรียก Crown ในโมเดลนี้ว่า “The White Crown” ทำไม Crown ขาว? อ๋อ ก็เพราะ Chief Engineer คุณ Kameo Uchiyamada แกเดินไปตามลานจอดรถแล้วเห็นว่าผู้คนยุคนั้นเริ่มชอบรถสีอื่นๆ ที่ไม่ใช่สีดำกันมากขึ้น ก็เลยสั่งให้ Crown รุ่นนี้มีสีขาวให้เลือกเป็นครั้งแรก แค่นั้นล่ะครับ

อย่างไรก็ตาม จะขาวหรือดำ หัวใจของเจเนอเรชันที่ 3 นี้ อยู่ที่การพยายามปรับปรุงความปลอดภัยจากการชน เพราะมาตรฐานวัดของนานาประเทศเริ่มเข้มงวดขึ้นในช่วงยุค 60s โครงสร้างของรถจากเดิมเป็นโครงแชสซีส์วางบนเฟรมรูปตัว X (X-Frame) ก็ได้รับการออกแบบใหม่ เป็นแบบ Perimeter Frame ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับรถในยุคปัจจุบัน มีการคำนวณจุดรับและกระจายแรงกระแทกเพื่อให้โครงแชสซีส์ มีส่วนในการสร้างความปลอดภัยในกรณีที่เกิดการชน และยังมีความทนทานต่อการวิ่งในแถบทุรกันดารอันเป็นจุดเด่นของ Crown อยู่

Toyota ใช้โครงสร้าง Perimeter Frame รุ่นนี้อย่างโคตรคุ้ม คุณเชื่อหรือไม่ว่าพวกเขาใช้มันต่อมาอีก 32 ปี! โดยตัวซีดานนั้นใช้จนถึงปี 1995 และบอดี้สเตชั่นแวก้อน ใช้จนถึงปี 1999 พูดง่ายๆ ก็คือ เวลาคุณไปนั่ง Crown 4 ประตูที่ฮิตกันในหมู่แท็กซี่รับจ้างชุมพร หรือสหกรณ์แท็กซี่หาดใหญ่-เบตง เป็นไง? นั่งนุ่มสบายดีไหม แน่นดีไหม? นั่นล่ะครับดีไซน์เขาใช้มาตั้งแต่ยุค 60s อย่างนี้เรียกว่า “กั๊ก” หรือ “จ่ายหนักวิจัยหนักครั้งเดียวแล้วใช้ยาว” ก็แล้วแต่มุมมองของคุณเลย

เจเนอเรชันที่ 4- Crown ที่โฟกัสความหรูและเทคโนโลยี

เด็กๆ ยุคใหม่ทั้งหลาย เวลาได้ยินคนรุ่นลุงพูดถึง Crown กระโห้ บอกเลยว่ามันคือรถรุ่นนี้แหละครับ ที่มานั้นผมเองก็ไม่ทราบ แต่น่าจะเป็นเพราะธรรมชาติของคนไทยที่ชอบเอาหน้าตารถไปผูกกับสัตว์ บวกกับการที่ทั้ง Crownเจเนอเรชัน 4 และปลากระโห้มีดีไซน์รูปลักษณ์ด้านหน้าที่ดูตาตึงคางเชิดขึ้นเหมือนกัน ไม่ต้องแปลกใจหรอกเพราะคนญี่ปุ่นก็เรียกรถรุ่นนี้ว่า Kujira Crown แปลว่า Crown วาฬ

เมื่อเปิดตัวในปี 1971 Toyota ญี่ปุ่นตัดสินใจเลิกทำตลาด Crown ภายใต้ชื่อแบรนด์ Toyopet และหันไปเรียกว่า Toyota เหมือนตลาดโลก อีกทั้งยังมีการปรับตำแหน่งทางการตลาดให้ชัดเจนขึ้นเพื่อเป็นเรือธงของทางค่าย แต่เดิมนั้น Crown จะเป็นตัวเลือกให้กับกลุ่มลูกค้าฐานะปานกลางด้วย แต่พอพวกเขาเริ่มใช้เครื่องยนต์โตเกิน 2.0 ลิตร ก็โดนจัดเข้ากลุ่มภาษี Road Tax ในระดับที่แพงขึ้น ซึ่ง Toyota ก็แก้ปัญหาด้วยการเผยโฉมรถรุ่น Corona Mark II (ซึ่งภายหลังกลายเป็น Mark II, Chaser และ Cresta) และค่อยๆ ปรับคุณสมบัติรถให้เข้ามารับตลาดกลุ่มนี้ต่อจาก Crown นอกจากนี้แล้วตัวถังแบบปิกอัพเชิงพาณิชย์ ซึ่งเคยมีในรุ่น Crown ก็ถูกยกเลิก เหลือแค่บอดี้ 4 ประตูซีดาน บอดี้กระจกไร้กรอบ 2 ประตู และรุ่นสเตชั่นแวก้อน เพราะพวกเขาต้องการเอาภาพลักษณ์รถใช้งานออก เน้นความเป็นรถชั้นสูงนั่นเอง

เครื่องยนต์ 5R ยังมีให้เลือกอยู่ รวมไปถึงเครื่องรหัส M 2.0 ลิตร และมีการเพิ่มเครื่องยนต์ 4M ขนาด 2.6 ลิตร 125 เข้ามา และพอเป็นรุ่นไมเนอร์เชนจ์ ก็มีการเพิ่มระดับการตกแต่งชื่อคุ้นหูอย่าง “Royal Saloon” มาเป็นตัวชูโรง แพงกว่ารุ่น Deluxe ไปแล้ว

อุปกรณ์ต่างๆ ที่มีนั้น หลายอย่างยกมาจากรถรุ่นพิเศษอย่าง Century และเพิ่มความสวยงามของดีไซน์ภายในจนดูทันสมัย ลูกเล่นที่สามารถสั่งเพิ่มได้ ก็ยังมีระบบควบคุมวิทยุ ปรับคลื่นได้จากผู้นั่งเบาะหลัง มีการเพิ่มเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะเป็นครั้งแรกของ Crown ส่วนเกียร์อัตโนมัตินั้น ก็เลิกใช้แบบ 2 จังหวะ เหลือแต่เพียงแบบ 3 จังหวะ ลูกเล่นอีกอย่างของ Crown รุ่นนี้คือ ในบางคัน เมื่อคุณดับเครื่องยนต์แล้ว บิดกุญแจไปทางซ้ายจนสุด จะสามารถเปิดฝากระโปรงท้ายรถได้ จัดว่าเด็ด แต่คนทั่วไปไม่รู้ ก็เดินไปเปิดท้ายรถเองอยู่ดี ในรุ่นหลังๆ จึงทำเป็นคันโยก หรือสวิตช์เปิดแยกเป็นเอกเทศน์ เข้าใจง่ายกว่า

แม้จะได้ชื่อว่าปฏิวัติด้านการออกแบบภายนอกภายใน และใส่ของเล่นเพิ่มเข้าไปมาก แต่ตามที่ Akio Toyoda เล่า เขาบอกว่ารถเจเนอเรชันนี้กลับขายได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะมีปัญหาทางเทคนิคเยอะ ทำให้ Toyota ต้องกลับมาทบทวนวิธีการสร้างรถแล้วนำไปแก้ไขกับรุ่นถัดไป Crown กระโห้ จึงกลายเป็นบอดี้ที่มีอายุการทำตลาดสั้นมาก คือเพียงแค่ 3 ปีกับอีก 9 เดือนเท่านั้น

เจเนอเรชันที่ 5 - กลับมาเน้นความหรูคู่ความอึดอีกครั้ง

เดือนตุลาคม ปี 1974 ทาง Toyota รีบแก้ลำโดยเปิดตัวรถบอดี้ใหม่ ซึ่งได้รับการปรับปรุงเรื่องความทนทาน ความง่ายในการบำรุงรักษา เพิ่มพื้นที่สำหรับการซ่อมบำรุงใต้ฝากระโปรงรถและจัดการเรื่องกระแสลมและระบบระบายความร้อนใหม่ รวมถึงปรับลดเสียงรบกวนจากภายนอก และพยายามลดความสั่นสะเทือน ทั้งจากเครื่องยนต์และช่วงล่างเพื่อให้เป็นรถที่โดยสารได้สบายขึ้น สิ่งที่สำคัญในด้านการออกแบบ ก็คือการเปิดตัวรถรุ่น 4 ประตู แบบไร้กรอบกระจก (Frameless) ซึ่งก่อนหน้านี้จะมีเฉพาะรุ่น 2 ประตูเท่านั้น Toyota มองว่าพวกเขาอยากสร้างรถที่ใช้งานสะดวกสบายแบบซาลูน แต่มีเส้นสายตัวถังที่ดูเนียนตาไปทางคูเป้ Crown 4-Door Hardtop จึงถือกำเนิดขึ้น แต่เอกสารของ Toyota จะเรียกว่า “Pillared-Hardtop” ทั้งนี้เพราะการเป็นรถแบบ Hardtop ตามนิยามญี่ปุ่นนั้น รถจะต้องไม่มีเสากลาง ซึ่ง Toyota มองว่า ยอมมีเสาดีกว่า เพื่อความปลอดภัยเวลาพลิกคว่ำ นับจากรุ่นนี้เป็นต้นไปจนถึงสิ้นสุดเจนเนอเรชั่นที่ 10 ในปี 1999 รถ Crown บอดี้ 4-Door Hardtop นี้ จะกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญของรุ่น และเป็นรถแบบที่ลูกค้าญี่ปุ่นอยากได้มากกว่าตัวซาลูนปกติ

สำหรับเจเนอเรชันที่ 5 นี้ ขุมพลังที่ใช้ก็ยังยกมาจากรุ่นที่แล้ว แต่ด้วยมาตรการด้านมลภาวะของทางญี่ปุ่นที่เริ่มเข้มข้น จึงยกเลิกการใช้คาร์บิวเรเตอร์คู่ SU ของเดิมไป เปลี่ยนเป็นคาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว มีการเปิดตัวเครื่อง M-E 2.0 ลิตร 6 สูบ 130 แรงม้า ซึ่งใช้ระบบจ่ายเชื้อเพลิงหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์เป็นครั้งแรกของ Crown และยังมีเวอร์ชัน M-EU ที่ติดตั้งเครื่องกรองไอเสีย TTC-Toyota Total Clean ออกจำหน่าย แต่ว่ารุ่นที่แรงที่สุด ก็ยังเป็นเครื่อง 4M 2.6 ลิตร 140 แรงม้า และมีเครื่องยนต์ดีเซล 2.2 ลิตรให้เลือกแต่ต้องซื้อผ่านดีลเลอร์เครือข่าย Toyota Diesel Store เท่านั้น

รถรุ่น 4 ประตู ในรุ่นย่อย 2600 Royal Saloon นับเป็นตัวท้อปด้านราคาและความหรู บอดี้ของรถรุ่นนี้จะยาวกว่ารุ่นอื่น คือ 4.74 เมตร ในขณะที่ความกว้างยังอยู่ที่ 1.69 เมตรเท่ากันทุกรุ่น

Crown เจเนอเรชันที่ 5 นี้นอกจากเน้นเรื่องความทนทานในการใช้งานแล้ว ยังเน้นเรื่องความปลอดภัย นี่คือ Toyota Crown รุ่นแรกที่ได้ใช้ระบบเบรกแบบดิสก์ 4 ล้อ พร้อมเบรก ABS ซึ่งมีให้เลือกในรุ่นไมเนอร์เชนจ์ปี 1978 ซึ่งเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับ Mercedes-Benz โดยดูจากเวลาในอดีต เบนซ์ทำเสร็จก่อนจริง แต่ Toyota คือเจ้าที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าเลือกและนำมาขายในโชว์รูมจริงได้ก่อน พวงมาลัยพาวเวอร์ ยังเพิ่มระบบปรับการหน่วงตามความเร็วรถ เพื่อให้ขับสบายบนทางด่วน แต่หักหลบสิ่งกีดขวางได้คล่องมือ ส่วนถ้าใครเป็นพวกชอบลูกเล่นจอสมัยนั้น Crown ก็มีออปชันที่เรียกว่า “OK Monitor” ซึ่งเป็นจอแสดงสถานะรถ ตรวจเช็คว่ามีอะไรพังก็แจ้งขึ้นให้ผู้ขับทราบ

เจเนอเรชันที่ 6-มงกุฎอะไรมีหอยด้วย?

เปิดตัวเดือนกันยายนปี 1979 ซึ่งนอกจากจะมุ่งมั่นในการสร้างรถแบบที่นั่งสบายดุจโซฟาเคลื่อนที่ มีความปลอดภัย และทนทานงานหนัก ซึ่งเป็นหัวใจของ Crown มาตั้งแต่เจเนอเรชันที่ 2 แล้ว มาคราวนี้วิกฤติด้านน้ำมัน และสิ่งแวดล้อมที่เริ่มส่งผลชัดเจนในญี่ปุ่น ทำให้วิศวกร Toyota ต้องใส่ใจกับเรื่องมลภาวะมากขึ้น

ในด้านการออกแบบ Crown เจนเนอเรชั่นนี้ เน้นรูปทรงแบบที่ดูแข็งแกร่ง ภูมิฐาน พูดง่ายๆ คือมีความเป็นรถถังตะวันออกมากขึ้น และยังมีบอดี้ทั้งแบบ 4 ประตูปกติ, 4 ประตูไร้กรอบกระจก, 2 ประตูไร้กรอบกระจก และ Custom Station Wagon นอกจากนี้ ยังมีการพยายามจัดพื้นที่ภายในรถ ปรับตำแหน่งติดตั้งที่นั่งให้โดยสารสบายขึ้น เพิ่มพื้นที่เก็บของใต้ฝากระโปรงหลัง ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องทำให้ได้โดยที่ความยาวและความกว้างของตัวรถนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ยกเว้นในตัว Royal Saloon ซึ่งเป็นรุ่นที่ชอบแหกกฎ ทำตัวให้ยาวใหญ่กว่ารุ่นอื่น ซึ่งความยาวปาเข้าไปถึง 4.86 เมตร และความกว้าง 1.715 เมตร ทะลุพิกัดรถขนาดกลางจนกลายเป็นรถขนาดใหญ่อย่างสมบูรณ์แบบ

อีกสิ่งหนึ่งที่ก้าวหน้าไปไกลจากรถรุ่นเดิมมาก คือพัฒนาการทางด้านเครื่องยนต์ เจเนอเรชัน 5 นี้ เป็นครั้งแรกที่ Toyota Crown มีเครื่องยนต์เทอร์โบชาร์จให้ลูกค้าเลือก ทั้งรุ่นเบนซินและดีเซล โดยรุ่น 2.0 เทอร์โบเบนซินจะใช้เครื่อง M-TEU ที่มีพลัง 145 แรงม้า ซึ่ง Toyota มองว่าการใช้เครื่องเทอร์โบความจุเล็ก ช่วยประหยัดค่าภาษีและผ่านมาตรฐานมลภาวะง่ายขึ้น ส่วนเครื่องดีเซลเทอร์โบจะมาในช่วงหลัง เป็นเครื่อง L-T มีกำลัง 96 แรงม้า ส่วนเครื่องยนต์รุ่นอื่นๆก็มีอีกหลายรุ่น เครื่อง 5R 4 สูบ 2.0 ลิตรก็ยังอยู่ ส่วนเครื่องในตัวท้อป เปลี่ยนจาก 2.6 เป็น 2.8 ลิตร รหัส 5M-E ที่มีพลัง 145 แรงม้าสำหรับในตลาดส่งออก บางที่จะยังใช้เครื่อง 4M 2.6 ลิตรตัวเดิม หรือเครื่อง 5M เวอร์ชันคาร์บิวเรเตอร์ ส่วนระบบส่งกำลัง ก็มีการนำเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะมาให้เลือกเป็นครั้งแรก

ในด้านเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก ชื่อ Crown นั้นตีเมืองได้อยู่แล้ว เบาะคนขับปรับตำแหน่งด้วยไฟฟ้า หลังคามูนรูฟ ระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติ ซึ่งยังพ่วงระบบแอร์ผู้โดยสารตอนหลัง ซึ่งมีตู้แอร์แยกต่างหาก แล้วก็ยังทำตู้แช่ไวน์ที่อาศัยแอร์ตู้หลังมาเป่า เป็นจุดเด่นของ Crown ต่อมาอีกหลายเจนเนอเรชั่น นอกจากนี้ยังมีเข็มทิศ ระบบเครื่องเสียงแบบ Stereo Sound จูนคลื่นด้วยระบบดิจิตอลแทนลูกบิด และอื่นๆ อีกมาก เหมือนว่า Toyota จะแอบมองค่ายเยอรมันอยู่ตลอด และพยายามมีของเล่นไว้ข่มขวัญฝ่ายนั้นอยู่เสมอ

นับว่าเป็น Crown เจเนอเรชันที่ค้นหาตัวตนเจอแล้วว่าจุดเด่นที่พวกเขาควรเน้น คืออะไร เยอรมันอาจจะทำรถให้วิ่ง 200 นิ่งๆ ได้ แต่ญี่ปุ่นจะมี Crown ซึ่งคอยบอกว่า “เอ็งจะรีบ 200 ไปหาพ่อตาที่ไหน? ไม่ต้องรีบหรอก มาลองความนุ่มความสบาย ลองเล่นของในรถที่เรามี แล้วคุณจะหมดตัณหากับการใช้ความเร็ว”

เจเนอเรชันที่ 7 - Crown ที่นั่งก็สบาย ขับก็สนุก

Toyota วางแผนการตลาดและการผลิตอย่างรัดกุม ก่อนหน้านี้พวกเขาเปิดตัวสปอร์ตคูเป้อย่างรุ่น Soarer ออกมาแล้ว เมื่อผู้คนให้การตอบรับที่ดี ก็หันมาทาง Crown..ยิ้ม..แล้วก็เชือด Crown บอดี้คูเป้ 2 ประตูทิ้ง และจากนี้ไปจะไม่มี Crown สองประตูอีก แต่จะไปโฟกัสที่การพัฒนาบอดี้แบบ 4 ประตู, 4 ประตู Hardtop กับพวกแวนและสเตชั่นแวก้อน เพราะภาพลักษณ์ของ Crown ในขณะนี้เป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้ว

เจเนอเรชันที่ 7 นี้ คุณ Kenichi Imaizumi เป็นหัวหน้าทีมวิศวกรพัฒนา ซึ่งต่อให้ไม่พูดก็รู้ว่า Crown จะต้องคงเอกลักษณ์ หรู สบาย ทนมือทนเท้าเอาไว้ แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือการขับขี เพราะ Imaizumi บอกว่า คนนั่งน่ะ ยังไงก็สบาย แต่คนขับล่ะ? เอนจอยกับการขับด้วยหรือเปล่า ที่ผ่านมา Toyota ยังไม่เคยให้โฟกัสเรื่องการขับมากขนาดนี้มาก่อน ทีมวิศวกรลองทดสอบรถเจเนอเรชันที่ 6 แล้วลงความเห็นว่า จุดที่ทำให้ Crown ยังไปไม่สุด ก็เพราะยังใช้ช่วงล่างหลังแบบคาน ในขณะที่คู่แข่งพรีเมียมจากเยอรมนีไม่มีใครเขาใช้กันแล้ว ทีมวิศวกรจึงต้องพยายามออกแบบช่วงล่างอิสระ 4 ล้อ มาใช้กับตัวถังที่เป็นบอดี้วางบนเฟรม ซึ่งบัดนี้กลายเป็นเอกลักษณ์ที่แม้จะโคตรโบราณแต่ลูกค้าส่วนใหญ่กลับชอบ เพราะเข้าใจว่าทนกว่าตัวถังแบบชิ้นเดียวโมโนค็อก

Crown รุ่นนี้ เลยกลายเป็นรถยนต์นั่งรุ่นเดียวในโลกที่ผสานเอาตัวถังที่วางรูปคล้ายรถกระบะ เข้ากับช่วงล่างหลังแบบอิสระ และขับเคลื่อนล้อหลัง แต่มันก็ให้ผลที่ดีเลิศเมื่อทดสอบออกมาแล้ว อาการโยนโคลงตัวลดลง เลี้ยวโค้งแม่นขึ้น Toyota ตั้งชื่อระบบช่วงล่างอิสระของพวกเขาว่า PEGASUS ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเซนต์เซย่า แต่ย่อมาจาก Precision Engineered Geometrically Advanced Suspension (เชื่อเขาเลยว่ะเรื่องคิดคำการตลาดเนี่ย) แล้วยังมีการติดตั้งระบบ ESC-Electronic Skid Control ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือเป็นบรรพบุรุษของระบบ VSC ในปัจจุบัน ที่ช่วยลดอาการหมุนฟรีของล้อ รวมถึงปรับเสถียรภาพของรถในขณะเบรกบนถนนเปียก โดยทำงานร่วมกับระบบเบรก ABS

ในด้านสมรรถนะ Crown รุ่นใหม่นี้ ไม่มีเครื่องเบนซิน 4 สูบแล้ว แต่มีไฮไลต์คือเครื่องทวินแคม 24 วาล์ว 6 สูบเรียงสองรุ่นใหม่ คือ 1G-GE 2.0 ลิตร เป่งพลังได้ 160 แรงม้าโดยไม่ต้องมีหอยสักลูก และ 5M-GE ซึ่งเป็นเครื่อง 2.8 ลิตร ให้พลังถึง 175 แรงม้า กลายเป็น Crown ที่มีแรงม้าเยอะสุดนับตั้งแต่ชื่อนี้เกิดมาบนโลก และบอกไว้ก่อนเลยว่าในปี 1983 นั้น พวก 5 Series ที่ไม่ใช่รุ่นพิเศษมอเตอร์สปอร์ต กับ E-Class ยังไม่มีเครื่องมัลติวาล์วแบบนี้ให้เลือกนะครับ อันนี้พูดได้เลยว่าญี่ปุ่นทำมาใช้ก่อนเยอรมัน แม้ว่าพอไปดูสเป็คแล้ว 280E ของเบนซ์ตอนนั้น แม้จะมี 12 วาล์วแต่ก็มีม้าพอกันแหละ (อ้าว)

ส่วนเรื่องเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกนั้น มาเต็มพิกัดเช่นเคย นี่คือรถปี 1983-87 นะครับ..พวงมาลัยปรับไฟฟ้า 4 ทิศทางเชื่อมกับระบบความจำเบาะ ระบบช่วงล่างหลังไฮดรอลิกปรับความสูงชดเชยน้ำหนักบรรทุกอัตโนมัติ เบาะหน้าเบาะหลังปรับด้วยไฟฟ้า แถมยังมีเบาะนวดมาให้ ช่องแอร์ปรับส่ายซ้ายขวาอัตโนมัติได้ เครื่องเสียง Royal Sound System ที่ปรับ Equalizer ได้ในปุ่มเดียว และปรับเลือกโทนเครื่องเสียงเพื่อเอาใจคนขับ/คนนั่งหลังได้ด้วยการปรับโหมด พวงมาลัยเพาเวอร์ไฮดรอลิก แต่มี ECU ควบคุมการปรับน้ำหนัก เกียร์อัตโนมัติในบางรุ่น เป็นแบบ Full ECT คือเป็นระบบคุม/สั่งการด้วยอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด

พูดได้ว่า Crown ในเจเนอเรชันนี้ ใส่เทคโนโลยีไฟฟ้าเข้าไปมาก จนในรุ่นสูงๆ นั้นต้องใช้กล่องควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้ามากถึง 9 ใบ แต่แปลกใจหรือไม่ว่า รถบางคันที่รักษาสภาพดีๆ อุปกรณ์เหล่านี้ยังสามารถทำงานได้เป็นปกติ นี่ล่ะครับคือเสน่ห์ของ Crown ที่มาจากจิตวิญญาณแท็กซี่..แค่เป็นแท็กซี่ที่โคตรรวย นั่นล่ะ

เจเนอเรชันที่ 8 - Crown ที่ขายดีที่สุดตลอดกาล

ในปี 1987 นั้น เป็นช่วงเวลาที่ฟองสบู่ยังขยายอยู่สำหรับเศรษฐกิจของแดนอาทิตย์อุทัย ความมั่งคั่งของผู้คนทำให้บริษัทรถกล้าที่จะอัดออปชันแพงๆ มาให้เลือก เช่นเดียวกันกับ Crown เจเนอเรชันที่ 8 ซึ่งสานต่อแนวทางจากรุ่นเดิมทั้งในเรื่องความสบาย ความไฮเทคของอุปกรณ์ รวมถึงสมรรถนะการขับ อย่างที่ผมบอกว่า Crown เขาหาตัวตนของเขาเจอแล้ว เหลือเพียงแค่ทำทุกอย่างให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ

จะบอกให้ด้วยว่า ท่านประธาน Akio Toyoda เข้ามาทำงานกับ Toyota ในปี 1984 และ Crown เจเนอเรชันที่ 8 คือรถรุ่นแรกที่เขามีส่วนในการพัฒนา แม้ว่าตอนนั้นเขาจะอายุแค่ 28 ปีก็ตาม

รูปทรงของตัวรถ ถูกออกแบบให้เน้นการบาลานซ์ระหว่าง รูปลักษณ์ที่แสดงออกถึงความหรูหรา กับความปราดเปรียวเพรียวลม เกิดเป็น Crown ยังไงคุณก็ต้องมีโครเมียม มีความหรู แต่ลักษณะตัวรถที่ดูยาวและเพรียวทำให้ตัวรถดูมีภาพลักษณ์ต้องตาลูกค้าวัยหนุ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในรุ่น 4 ประตู Hardtop กระจกไร้กรอบ ซึ่งในบอดี้นี้ Toyota จะตั้งใจทำให้ดูทันสมัย ในขณะที่รุ่นซาลูนปกติ จะเน้นความหรูแบบวัยกลางคน

เครื่องยนต์กลไก ก็เป็นการพัฒนาต่อยอดจากรุ่นที่แล้ว เครื่องยนต์ 2.8 ลิตร กลายเป็น 3.0 ลิตร ฝาสูบทวินแคม 24 วาล์วเหมือนเดิม รหัสคือ 7M-GE ซึ่งมีพลัง 190 แรงม้า รุ่น 2.0 ก็ยังมีรุ่น 1G-GE 140 แรงม้า ส่วนรุ่น 2.0 เทอร์โบ 12 วาล์วเครื่อง M เดิม ถูกเขี่ยทิ้งแล้วเปลี่ยนเป็นเครื่อง 1G-GZE ซูเปอร์ชาร์จ 160 แรงม้า ไว้เอาใจคนที่อยากเลี่ยงไม่จ่ายภาษีรถเครื่องโต ต้องบอกด้วยว่าในช่วงหลัง Toyota ก็เอาเครื่องยนต์ 1UZ-FE V8 4.0 ลิตร มาใส่ใน Crown เจเนอเรชันนี้ เดิมที Toyota พัฒนาเครื่องบล็อกนี้มาใช้กับ Lexus LS400 ซึ่งจะมาเป็นเรือธงของค่ายแทน Crown แต่ทำอิท่าไหนก็ไม่ทราบ Crown กลับเปิดตัวรุ่น V8 ในญี่ปุ่นก่อน LS400 เปิดตัวในตลาดโลกแค่เดือนเดียว

เครื่องยนต์ 1JZ-GE ฝาขาวตัวแรกๆ 180 แรงม้า 2.5 ลิตร ที่คนยุค 90s และรุ่นน้าๆ จะชอบพูดกันว่าวางเจๆ ก็..นี่ล่ะครับเริ่มต้นวางใน Crown บอดี้นี้เป็นรุ่นแรกๆ เลยในปี 1990

ทางด้านเทคโนโลยีไฮเทคต่างๆ ถ้าคุณคิดว่ารุ่นก่อนๆ นั้นดีพอแล้ว ยัง..นี่ครับ Toyota ภูมิใจนำเสนอ ระบบนำทางครั้งแรกของตลาดรถยนต์ อยู่ใน Crown Royal Saloon G เป็นระบบที่ยังไม่ออนไลน์ เพราะสมัยนั้นคอมพิวเตอร์ยังเป็นแค่ 386 เลยมั้ง แต่ Toyota อัดข้อมูลแผนที่เอาไว้ใน CD-ROM แล้วติดตั้งลงไปบนรถ เวลาจะไปไหน คุณก็ต้องป้อนค่าที่คุณอยู่ และที่ที่คุณกำลังจะไป ..ฟังดูตลก แต่สำหรับปี 1987 นี่ก็ถือว่าเด็ดพอแล้ว จอกลางตรงนี้จะเป็นแบบทัชสกรีนด้วยนะครับ ล้ำมาก! หน้าปัดในรุ่นท้อปเป็นแบบดิจิตอลที่เวลามองเข้าไปแล้วจะมีมิติหลอกตาเหมือนมาตรวัดอยู่ลึกเข้าไปในเบ้า แสดงค่าได้ทั้งแบบปกติ และปรับให้โชว์แค่ความเร็วเพื่อไม่ให้รบกวนสายตา แล้วยังมีโทรศัพท์ติดรถแบบ Hands-free และครั้งแรกของ Crown กับกุญแจรีโมตที่ล็อกและปลดล็อกจากระยะไกลได้

ในด้านความนุ่มนวลและสมรรถนะ Crown รุ่น Royal Saloon G 3.0 และ 4.0 จะมีออปชันช่วงล่างถุงลมให้เลือก ควบคุมความหนืดแบบอัตโนมัติผ่านระบบ TEMS ที่ทำให้ Crown ซึ่งปกติก็นุ่มอยู่แล้ว กลายเป็นรถที่นุ่มยิ่งกว่าเดิม แต่มีเสถียรภาพเมื่อหักพวงมาลัยแรงๆ นอกจากนี้การเก็บเสียงรบกวนก็ปรับให้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม พื้นรถรองวัสดุยูรีเธน และปรับยางขอบกระจกเพื่อลดเสียงลมให้เบาลงอีก

Crown เจเนอเรชันที่ 8 นี้มีความล้ำสมัย และยังรักษาเอกลักษณ์ความเป็นรถหรูที่มีความเป็นญี่ปุ่นอยู่เต็มพิกัด ทำให้มันเป็น Crown ที่สร้างยอดขายสะสมได้ดีที่สุดตลอดกาล

เวลาของ Crown มาถึงจุดที่อายุ 32 ขวบ เป็นจุดที่ทุกอย่างในชีวิตของเขาลงตัวที่สุดทั้งงาน เงิน และแรงกาย ทว่านับจากจุดนี้ไป ชะตาชีวิตของ Toyota Crown จะหันเข้าสู่จุดใหม่ที่พิสูจน์ได้ว่า โลกนี้ไม่มีอะไรจีรัง และไม่มีใครที่โชคดีไปตลอดกาล จะเป็นอย่างไรนั้น ไว้ว่ากันสัปดาห์หน้าครับ.

Pan Paitoonpong

คุณกำลังดู: รวมประวัติ Toyota Crown ตำนานรถหรูคู่แดนอาทิตย์อุทัย (ตอนที่ 1)

หมวดหมู่: รีวิวรถใหม่

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด