รีวิว Honda City 2024 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ขับดีเหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมออปชันคุ้ม
รีวิว Honda City 2024 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ แม้ว่าในด้านรูปลักษณ์จะมีการเปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อย แต่ก็ได้มีการเพิ่มอุปกรณ์มาตรฐานเน้นความคุ้มค่าตั้งแต่รุ่นเริ่มต้น โดยเฉพาะการใส่ระบบความปลอดภัย Honda SENSING มาให้แบบจุกๆ ประกอบกับขุมพลังเบนซิน 1.0 ลิตร VTEC TURBO และไฮบริด e:HEV ที่ล้วนแต่มีคุณงามความดีกันคนละแบบอยู่แล้วล่ะก็ ยิ่งทำให้รถรุ่นนี้น่าใช้ขึ้นเป็นกองเลยทีเดียว รายละเอียดจะเป็นอย่างไรติดตามได้ในบทความนี้ครับ
Honda City รุ่นปี 2013 - 2014 โฉมไมเนอร์เชนจ์ ถูกเปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยแบ่งออกเป็น 5 รุ่นย่อย พร้อมราคาจำหน่ายของแต่ละรุ่น ดังนี้
- รุ่น 1.0 V ราคา 629,000 บาท
- รุ่น 1.0 SV ราคา 679,000 บาท
- รุ่น 1.0 RS ราคา 749,000 บาท
- รุ่น e:HEV SV ราคา 769,000 บาท
- รุ่น e:HEV RS ราคา 839,000 บาท
จะเห็นได้ว่าในรุ่น VTEC TURBO 1.0 ลิตร มีการตัดรุ่นย่อย S ออกไปจากรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ พร้อมทั้งปรับราคาของแต่ละรุ่นขึ้นอีก 10,000 - 20,000 บาท ขณะที่รุ่น e:HEV RS ซึ่งเป็นตัวท็อปสุดยังคงราคาจำหน่ายเท่าเดิมอยู่ที่ 839,000 บาท แต่ที่น่าสนใจคือการเพิ่มรุ่น e:HEV SV เข้ามาเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการความประหยัดแบบไฮบริด แต่ไม่ต้องการจ่ายเงินข้าม 8 แสนบาท เพื่อแลกกับรถซีดานพิกัด B-segment หนึ่งคัน
ในการทดสอบครั้งนี้ ผมเองได้มีโอกาสทดลองขับทั้งรุ่น VTEC TURBO และ e:HEV ดังนั้นบทความนี้จึงขอกล่าวโดยรวมถึงการปรับปรุงโฉมทั้งสองรุ่นไปพร้อมๆ กันเลยแล้วกันนะครับ
ภายนอก
จุดเปลี่ยนสำคัญของ Honda City 2013 - 2014 โฉมไมเนอร์เชนจ์ใหม่ อยู่ที่การปรับดีไซน์กันชนหน้า-หลัง, กระจังหน้า และล้ออัลลอย ของทั้งรุ่นปกติและรุ่น RS โดยที่รุ่น RS จะมีการเพิ่มสเกิร์ตข้างเข้ามาเพื่อช่วยให้ตัวรถดูมีความสปอร์ตมากยิ่งขึ้น ขณะที่ชุดไฟหน้า-ไฟท้ายยังคงเหมือนเดิมทั้งหมด และยังคงสงวนไฟหน้าแบบ LED ไว้เฉพาะเกรด RS เท่านั้น ส่วนรุ่นอื่นๆ จะได้ไฟหน้าแบบโปรเจกเตอร์ Halogen ที่มีหน้าตาเหมือนกับรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์เปี๊ยบ
ล้ออัลลอยของแต่ละรุ่นมีการปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด โดยรุ่นเทอร์โบ V และ SV จะได้ล้อขนาด 15 นิ้ว ส่วนเกรด RS และไฮบริด e:HEV ทั้งหมดจะได้ล้อขนาด 16 นิ้ว พร้อมยางขนาด 185/60 R16 ที่ช่วยให้ดูเต็มซุ้มมากยิ่งขึ้น
แต่ถ้าหากรู้สึกตะหงิดๆ ว่าทำไมล้อของตัวไมเนอร์เชนจ์ มันดันดูคล้ายกับเจเนอเรชันก่อนหน้าที่เป็นโฉมไมเนอร์เชนจ์เหมือนกันแล้วล่ะก็ สามารถจ่ายเงินเพิ่มเพื่อเลือกเป็นล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้ว หรือ 16 นิ้ว ในแพ็กเกจตกแต่งของ Modulo ได้อีกด้วย
ภายใน
ภายในห้องโดยสารของ ฮอนด้า ซิตี้ โฉมไมเนอร์เชนจ์ ถูกยกชุดมาจากรุ่นก่อนหน้าด้วยเช่นกัน โดยที่เกรด V จะได้เบาะนั่งหุ้มวัสดุผ้าสีดำ และแผงคอนโซลตกแต่งด้วยวัสดุสีเงิน ขยับมาที่เกรด SV จะได้เบาะนั่งหุ้มหนังแท้สลับหนังสังเคราะห์สีดำ พร้อมด้วยแผงคอนโซลและแผงประตูที่ถูกตกแต่งด้วยวัสดุสีแดง
ขณะที่เกรด RS จากเดิมที่ได้เบาะนั่งหุ้มหนังสลับหนังกลับ มารอบนี้ถูกเปลี่ยนเป็นเบาะหนังแบบเต็มตัว (หนังแท้สลับหนังสังเคราะห์) พร้อมตกแต่งด้วยตะเข็บสีแดง ขณะที่แผงคอนโซลก็ถูกตกแต่งด้วยวัสดุหนัง พร้อมวัสดุสีแดงเช่นเดียวกัน และเพิ่มความสปอร์ตขึ้นไปอีกด้วยเพดานหลังคาสีดำ ช่วยให้บรรยากาศภายในห้องโดยสารดูมีความพรีเมียมมากยิ่งขึ้น
ในด้านอุปกรณ์มาตรฐานที่เพิ่มเข้ามาในรุ่นไมเนอร์เชนจ์นั้น ทุกรุ่นย่อยมีการเพิ่มเติมด้วยระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ, ระบบล็อกรถอัตโนมัติเมื่อกุญแจรีโมตอยู่ห่างจากตัวรถ (Walk Away Auto Lock), ระบบสตาร์ทเครื่องยนต์และระบบปรับอากาศด้วยรีโมต (Remote Engine Start) และไฟเตือนเบาะนั่งด้านหลัง (Rear Seat Reminder)
ขณะที่เกรด SV ขึ้นมาจะได้เครื่องเสียงหน้าจอสัมผัส Advanced Touch ขนาด 8 นิ้ว รองรับการเชื่อมต่อ Apple CarPlay และ Android Auto แบบไร้สายทั้งคู่ สามารถแสดงภาพจากกล้องมองหลังปรับมุมมองได้ 3 ระดับ (Multi-Angle Rearview Camera) พร้อมด้วยช่องเชื่อมต่อ USB Type A จำนวน 2 ตำแหน่งสำหรับผู้โดยสารตอนหน้า แต่จะมีเฉพาะเกรด RS เท่านั้น (หมายรวมทั้งรุ่น TURBO และ e:HEV) ที่ได้ลำโพง 8 ตำแหน่ง นอกเหนือจากนั้นจะมีลำโพงมาให้ 4 ตำแหน่ง
ในรุ่นที่เป็นไฮบริด e:HEV ทั้งหมด (e:HEV SV และ e:HEV RS) จะได้หน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ TFT ขนาด 7 นิ้ว เพื่อรองรับการแสดงผลของระบบไฮบริด, ช่องจ่ายไฟแบบ USB Type C สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง 2 ตำแหน่ง, ระบบเบรกมือไฟฟ้าพร้อม Auto Brake Hold, แป้นชะลอความเร็วรถที่พวงมาลัย (Deceleration Paddle Selectors) และช่องเก็บของหลังเบาะนั่งคู่หน้าพร้อมช่องขนาดเล็กแยกต่างหากสำหรับเสียบสมาร์ทโฟน
ส่วนเกรด RS ทั้งหมด (RS และ e:HEV RS) จะได้ม่านถุงลมนิรภัยด้านข้าง นอกเหนือไปจากถุงลมนิรภัยคู่หน้าและด้านข้างคู่หน้าในรุ่นรอง และระบบเชื่อมต่อ Honda CONNECT ที่สามารถแจ้งเตือนสถานะตัวรถผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ และยังมีฟังก์ชัน Remote Vehicle Control เพื่อใช้ในการสั่งล็อก-ปลดล็อกประตู, สตาร์ทเครื่องยนต์, ตั้งค่าอุณหภูมิระบบปรับอากาศ, ดับเครื่องยนต์ และเปิดไฟหน้า-ไฟท้ายเพื่อส่องทางในเวลากลางคืนได้อีกด้วย
ในรุ่นท็อปสุดนั่นคือ e:HEV RS ยังมีอุปกรณ์มาตรฐานเพิ่มเติม คือ ระบบแสดงภาพมุมอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน (Honda LaneWatch) และระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ
จุดเด่นสำคัญของ ฮอนด้า ซิตี้ ไมเนอร์เชนจ์ในครั้งนี้ อยู่ที่การติดตั้งระบบความปลอดภัย Honda SENSING เป็นอุปกรณ์มาตรฐานตั้งแต่รุ่นเริ่มต้น ทำงานผ่านกล้องมุมกว้างที่ติดตั้งไว้บริเวณกระจกหน้า โดยจะประกอบไปด้วย 6 ฟังก์ชันการทำงาน ดังนี้
- ระบบเตือนการชนพร้อมระบบช่วยเบรก CMBS
- ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ LKAS
- ระบบเตือนและช่วยควบคุมเมื่อรถออกนอกช่องทางเดินรถ RDM with LDW
- ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ AHB
- ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน ACC -หรือ- ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน พร้อมระบบปรับความเร็วตามรถคันหน้าที่ความเร็วต่ำ ACC with LSF (เฉพาะเกรด e:HEV ทั้ง 2 รุ่น)
- ระบบเตือนเมื่อรถคันหน้าเคลื่อนที่ LCDN
เครื่องยนต์และช่วงล่าง
ด้านขุมพลังและระบบช่วงล่างของโฉมไมเนอร์เชนจ์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ไปจากเดิมทั้งสิ้น จะมีก็เพียงการเพิ่มขนาดแก้มยางให้หนาขึ้นเล็กน้อย (จากซีรี่ย์ 55 เป็นซีรี่ย์ 60 ในรุ่นที่ติดตั้งล้อขนาด 16 นิ้ว)
รุ่นเบนซิน 1.0 ลิตร VTEC TURBO ติดตั้งเครื่องยนต์เบนซิน 3 สูบเทอร์โบ ความจุ 1.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 122 แรงม้า ที่ 5,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 173 นิวตัน-เมตร ที่ 2,000 - 4,500 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ CVT ให้อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 23.8 กม./ลิตร และรองรับน้ำมันทางเลือกสูงสุด E20
รุ่นไฮบริด e:HEV ติดตั้งเคริ่องยนต์เบนซิน 4 สูบ ความจุ 1.5 ลิตร Atkinson-cycle ให้กำลังสูงสุด 98 แรงม้า ที่ 5,600 - 6,400 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 127 นิวตัน-เมตร ที่ 4,500 - 5,000 รอบต่อนาที ทำงานคู่กับมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 109 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 253 นิวตัน-เมตร ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ E-CVT พร้อมแบตเตอรี่แบบลิเธียม-ไอออน ให้แรงบิดมอเตอร์ไฟฟ้าสูงสุด 258 นิวตัน-เมตร มีอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 27.8 กม./ลิตร
ทุกรุ่นมาพร้อมระบบกันสะเทือนด้านหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตรัทอิสระ พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังแบบทอร์ชันบีม พร้อมระบบดิสก์เบรกคู่หน้าแบบมีครีบระบายความร้อน ขณะที่ด้านหลังของรุ่นเทอร์โบจะใช้ระบบดรัมเบรกเหมือนกันทุกรุ่นย่อย จะมีเฉพาะรุ่นไฮบริด e:HEV เท่านั้นที่ให้ดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ
การขับขี่
ในแง่ของการขับขี่ Honda City 2024 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ต้องบอกว่ายังคงรักษาคุณงามความดีของโฉมก่อนไมเนอร์เชนจ์เอาไว้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นช่วงล่างที่ถูกเซ็ตมาอย่างพอเหมาะพอเจาะ ไม่นิ่มหรือแข็งจนเกินไป สามารถดูดซับแรงสะเทือนจากพื้นถนนได้ดี ในขณะเดียวกันก็สามารถเข้าโค้งได้อย่างมั่นใจ ถือว่าเป็นช่วงล่างที่เหมาะสมสำหรับการขับขี่ในชีวิตประจำวัน เพราะไม่ได้แข็งกระด้างจนตึงตังเวลาขับรูดฝาท่อหรือรอยต่อถนน แต่ก็ยังให้ความมั่นใจพอสมควรเมื่อใช้ความเร็วสูง
ขณะที่รุ่นเครื่องยนต์เทอร์โบก็ต้องยอมรับว่าแรงสมคำล่ำลือ เมื่อใช้ระบบส่งกำลังแบบ CVT ก็ช่วยให้เครื่องยนต์สามารถเค้นแรงบิดได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องลากรอบสูง แอบมีบุคลิกคล้ายกับเครื่องยนต์ดีเซล คือแค่เพิ่มน้ำหนักคันเร่งลงไปเบาๆ ก็มากพอที่จะเร่งแซงรถคันหน้าได้แบบไม่ต้องลุ้นแล้ว
ส่วนรุ่นเครื่องยนต์ไฮบริด e:HEV ก็มีบุคลิกที่แตกต่างไปจากรุ่นเทอร์โบพอสมควร โดยจะออกไปในแนวมีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่า แม้ว่าการตอบสนองอาจจะไม่จี๊ดจ๊าดเท่า แต่ก็มีพละกำลังให้เรียกใช้อย่างเหลือเฟือไม่แพ้กัน
จุดต่างสำคัญอีกหนึ่งอย่างระหว่างรุ่นเทอร์โบและไฮบริด จะอยู่ที่อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงสำหรับการขับขี่ในเมือง เนื่องจากรุ่นเครื่องยนต์เทอร์โบก็จะมีอัตราสิ้นเปลืองเหมือนกับรถสันดาปทั่วไป คือขับทางไกลก็ประหยัดนั่นแหละ แต่พอเจอรถติดขัดในเมืองตัวเลขก็จะหล่นฮวบไปทันที
แต่สำหรับรุ่นเครื่องยนต์ไฮบริด e:HEV กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะแม้ว่าการขับขี่นอกเมืองจะประหยัดน้ำมันชนิดถึงอกถึงใจแล้ว การขับขี่ในเมืองก็ยังคงมอบความประหยัดไม่แพ้กัน เนื่องจากเป็นระบบ Full-hybrid ที่มีมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่เข้ามาช่วยเสริมการทำงานของเครื่องยนต์ได้อย่างเต็มที่ จึงกลายเป็นข้อได้เปรียบสำหรับใครก็ตามที่ต้องขับรถในเมืองอยู่เป็นประจำ รุ่น e:HEV น่าจะตอบโจทย์ในเรื่องความประหยัดน้ำมันได้ไม่น้อยทีเดียว
อันที่จริงการทดสอบในครั้งนี้ ฮอนด้าก็ได้มีกิจกรรมให้ร่วมสนุกกันเล็กน้อย นั่นคือการทดสอบขับประหยัดน้ำมันในรุ่นเครื่องยนต์ 1.0 ลิตร VTEC TURBO ซึ่งจากการที่เราฝ่ารถติดสาหัสบนถนนมอเตอร์เวย์มุ่งหน้าบางปะอิน ก่อนที่เส้นทางจะเปิดโล่งพอให้ใช้ความเร็วคงที่ประมาณ 80 กม./ชม. ไปจนถึง จ.สิงห์บุรีนั้น เราสามารถทำอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยได้อยู่ที่ 28.90 กม./ลิตร (อ้างอิงจากตัวเลขที่ปรากฏบนหน้าจอ) ซึ่งถือว่าเกินที่เคลมไว้อยู่มากโขทีเดียว
แต่ถึงแม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะมาจากความพยายามอย่างยิ่งยวดในการปั้นตัวเลขนี้ออกมา แต่ก็เชื่อเหลือเกินว่าหากชีวิตจริงขับทางไกลแบบไม่รีบร้อน ใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด หลีกเลี่ยงการเร่งแซงโดยไม่จำเป็น ก็น่าจะทำตัวเลขได้ไม่ต่ำกว่า 20 กม./ลิตรอย่างแน่นอน
สรุป
Honda City 2023 - 2024 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ แม้ว่าจะมีการปรับปรุงภายนอกแค่เพียงเล็กน้อย (ซึ่งก็ถือเป็นธรรมเนียมปกติของฮอนด้าแทบทุกรุ่น) แต่การเพิ่มอุปกรณ์มาตรฐานหลายอย่างเข้ามา ก็พอที่จะช่วยสร้างแรงดึงดูดให้หลายคนตัดสินใจเลือกซื้อรถรุ่นนี้ได้ง่ายขึ้น และไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจกันจนเกินไปนัก ยิ่งการเพิ่มรุ่นย่อย e:HEV SV เข้ามาด้วยราคาต่ำกว่า 8 แสนบาท ส่งผลให้กลายเป็นรถไฮบริดที่มีราคาจำหน่ายเข้าถึงง่ายที่สุดในขณะนี้ แม้ว่าอุปกรณ์หลายอย่างจะถูกลดทอนไปจากรุ่น RS พอสมควรก็ตาม
เอาเป็นว่าหากคุณจำเป็นต้องซื้อรถเพียงคันเดียวของบ้าน เน้นขับไปทำงานในวันธรรมดา และพาครอบครัวไปเที่ยวพักผ่อนในวันหยุด มาพร้อมเทคโนโลยีเครื่องยนต์ที่ทันสมัย ให้ความประหยัดน้ำมันเกินตัว มีช่วงล่างที่นุ่มนวลนั่งสบาย และมีอุปกรณ์มาตรฐานเพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไปแล้วล่ะก็ ฮอนด้า ซิตี้ ไมเนอร์เชนจ์ ถือว่าตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีทีเดียวครับ
คุณกำลังดู: รีวิว Honda City 2024 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ขับดีเหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมออปชันคุ้ม
หมวดหมู่: รีวิวรถใหม่