รีวิว Honda WR-V RS 2023 ใหม่ ขับอย่างเนียน แต่ราคาแอบแรง!
รีวิว Honda WR-V 2023 รุ่น RS ใหม่ เอสยูวีรุ่นเล็กสุดของค่าย กับราคาตัวท็อปทะลุ 8 แสนบาท จะดีพอสมกับที่ฮอนด้าตั้งค่าตัวไว้หรือไม่? มาติดตามได้ในบทความนี้ครับ
Honda WR-V 2023 ถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา โดยเลือกสถานที่เปิดตัวอยู่ใจกลางสยามสแควร์ อันเป็นจุดแลนด์มาร์กของเหล่าบรรดาวัยรุ่นไทยทั้งหลาย เพื่อสื่อเป็นนัยๆ ว่าทางฮอนด้าตั้งเป้าจับกลุ่มคนอายุน้อยที่เพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่วัยทำงาน ซึ่งกำลังมองหารถเอสยูวีคันแรกเพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตในเมือง และยังสามารถขับออกไปเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อนๆ ได้อย่างไม่เคอะเขินในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์
จะติดอยู่นิดเดียวตรงที่ว่า Honda WR-V ตั้งราคาจำหน่ายเริ่มต้นเอาไว้ที่ 799,000 บาท ในรุ่น SV และ 869,000 บาท ในรุ่น RS หากเทียบกับ Honda City Hatchback 1.0 Turbo ที่มีราคาจำหน่ายอยู่ระหว่าง 599,000 บาท ไปจนถึง 749,000 บาท ก็เลยเกิดคำถามว่ารถคันนี้พยายามจับกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในวัยเริ่มต้นทำงานจริงๆ ใช่ไหมเนี่ย? เพราะลำพังจะซื้อ City Hatchback ตัวท็อป RS ก็คิดหนักแล้ว แต่ WR-V ตัวท็อปก็ดันตั้งราคาแทบจะไปชนกับรถเก๋งพิกัด C-segment เลยทีเดียว
ผู้เขียนลองเดาเล่นๆ ถึงผลลัพธ์ที่ได้จากการตั้งราคาของ Honda WR-V ไว้เช่นนี้ ก็พอจะอนุมานได้ว่า คนที่กำลังมองหารถยนต์คันแรกจริงๆ ก็อาจตัด WR-V ทิ้งไปก่อน เพราะด้วยราคาจำหน่ายที่ค่อนข้างสูงสำหรับผู้ที่มีเงินเดือนประมาณ 2 หมื่นบวกลบ น่าจะแฮปปี้กับการเริ่มต้นด้วยรถในกลุ่มอีโคคาร์มากกว่า
ส่วนคนที่ใช้อีโคคาร์เดิมอยู่แล้ว ต้องการขยับขยายไปรถกลุ่มเอสยูวีที่มีความอเนกประสงค์มากขึ้น ก็อาจมองข้าม WR-V ไปอีก เพราะมองว่าเป็นรถเอสยูวีขนาดเล็กเกินไป จะเปลี่ยนรถทั้งทีก็ขยับไป HR-V เลยดีกว่า เผื่อว่าอนาคตจะมีเจ้าตัวน้อยโผล่มาอีกคนสองคน หรือถ้าอยู่เป็นโสดก็ยังสามารถพาคุณพ่อคุณแม่ขับรถไปเที่ยวต่างจังหวัดได้อย่างสบายๆ แล้วแบบนี้ WR-V จะเอามาขายใครล่ะเนี่ย...?
เอาล่ะ! เรามาพักเรื่องราคาเอาไว้ก่อน เพราะอันที่จริงหากมองในเรื่องสมรรถนะการขับขี่ของ Honda WR-V แล้วล่ะก็ มันคือรถ B-SUV ที่สามารถขับขี่ได้อย่างน่าทึ่งมากที่สุดคันหนึ่งเลยทีเดียว จะติดนิดเดียวก็เรื่องของราคาที่มันค่อนข้าง... แน่ะ! วกกลับไปที่เรื่องราคาอีกแล้ว
ภายนอก
Honda WR-V รุ่น RS มาพร้อมไฟหน้าแบบ LED และไฟส่องสว่างเวลากลางวันแบบ LED เสริมด้วยไฟเลี้ยวแบบ LED Sequential เพิ่มความสวยงามเมื่อเปิดใช้งาน อีกทั้งยังมีระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติมาให้ พร้อมด้วยกระจังหน้าดีไซน์ RS ที่เน้นความสปอร์ตเป็นพิเศษ โดยที่รุ่น RS ยังมีไฟตัดหมอกคู่หน้าแบบ LED มาให้ด้วย
ขณะที่ด้านท้ายติดตั้งไฟท้ายแบบ LED ที่ส่องสว่างเป็นรูปตัว L คว่ำในเวลากลางคืน พร้อมทั้งไฟเบรก LED ที่มองเห็นได้ชัดและช่วยเพิ่มความสวยงาม กระจกมองข้างสามารถปรับและพับด้วยไฟฟ้า พร้อมฟังก์ชันพับเก็บอัตโนมัติเมื่อล็อกรถ (เฉพาะรุ่น RS) ส่วนระบบปัดน้ำฝนด้านหน้าเป็นแบบปรับตั้งหน่วงเวลาได้ และมีที่ปัดน้ำฝนหลังมาให้ตามมาตรฐานรถทรงท้ายตัดเช่นนี้ เสริมหล่อด้วยเสาอากาศแบบครีบฉลามและล้ออัลลอยแบบทูโทนขนาด 17 นิ้ว
ภายใน
ห้องโดยสารของ Honda WR-V รุ่น RS ถูกตกแต่งด้วยโทนสีดำตั้งแต่พื้นไปจรดเพดานหลังคา มาพร้อมเบาะนั่งหุ้มหนังสังเคราะห์ตกแต่งด้วยผ้าและด้ายสีแดง (รุ่น SV ตกแต่งด้วยสีน้ำเงิน) โดยเบาะนั่งคู่หน้าเป็นแบบปรับมือ สามารถปรับสูง-ต่ำฝั่งผู้ขับได้ และไม่มีกลไกปรับดันหลังมาให้ ส่วนเบาะนั่งแถวที่ 2 ไม่สามารถปรับเอนได้ แต่ก็ถือว่ามีองศาพนักพิงที่เหมาะสม ไม่ตั้งตรงจนน่าเกลียดเหมือนรถบางรุ่น (รุ่นไหนไปเดากันเอาเอง) แถมมีพนักพิงศีรษะมาให้ทั้ง 3 ตำแหน่ง พร้อมด้วยเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดทุกตำแหน่ง โดยที่ตำแหน่งกลางจะติดตั้งไว้บริเวณเหนือเพดานหลังคา ซึ่งวิธีใช้งานก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร
ส่วนอุปกรณ์ปลีกย่อยของรุ่น RS ก็ถือว่ามีให้พอประมาณสำหรับรถยุคนี้ ทั้งกุญแจ Honda Smart Key System พร้อมปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ ระบบปรับอากาศอัตโนมัติพร้อมฟังก์ชัน MAX COOL ที่ให้ความเย็นรวดเร็วทันใจ พวงมาลัยหุ้มหนังปรับได้เฉพาะสูง-ต่ำ แผงบังแดดคู่หน้าพร้อมกระจกแต่งหน้าแบบมีฝาปิดและไฟส่องสว่าง ราวมือจับ 4 ตำแหน่ง ช่องเก็บของหลังเบาะนั่งเฉพาะฝั่งผู้โดยสาร ไฟอ่านแผนที่ กระจกไฟฟ้าทั้ง 4 บาน พร้อมระบบขึ้น-ลงอัตโนมัติเฉพาะคนขับ ส่วนที่แอบขัดใจนิดหน่อยก็เห็นจะเป็นเบรกมือแบบก้านดั้งเดิม ไม่ใช่ปุ่มกดไฟฟ้าแต่อย่างใด
นอกจากนี้ กุญแจรีโมทของ Honda WR-V ยังมีฟังก์ชัน Remote Start Engine ช่วยสตาร์ทเครื่องยนต์และระบบปรับอากาศก่อนขึ้นรถ เหมาะเป็นอย่างยิ่งเวลาที่จอดรถเอาไว้กลางแดดเป็นระยะเวลานานๆ จะช่วยปรับอุณหภูมิภายในห้องโดยสารให้เย็นลง เรียกว่าเป็นฟังก์ชันที่รถทุกรุ่นที่วางจำหน่ายในประเทศไทยควรจะมีไว้ ทั้งยังมีระบบ Walk Away Auto Lock ที่จะช่วยล็อกรถให้อัตโนมัติเมื่อผู้ขับขี่เดินออกห่างจากตัวรถ (โดยจำเป็นต้องพกกุญแจไว้กับตัว) ช่วยป้องกันการลืมล็อกรถได้
ทั้งรุ่น SV และ RS จะได้เครื่องเสียงหน้าจอสัมผัส Advanced Touch ขนาด 7 นิ้ว สามารถรองรับ Apple CarPlay และ Android Auto ได้ รองรับการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือผ่าน Bluetooth พร้อมปุ่มควบคุมเครื่องเสียง และรับ-วางสายโทรศัพท์บนพวงมาลัย มีช่อง USB-C สำหรับเชื่อมต่อ 1 ตำแหน่ง และชาร์จไฟอีก 1 ตำแหน่ง โดยที่ด้านหลังจะมีเฉพาะช่องจ่ายไฟ 12 โวลต์เท่านั้น โดยที่รุ่น RS จะได้ลำโพง 6 ตำแหน่งรอบคัน (รุ่น SV มี 4 ตำแหน่ง) และระบบเชื่อมต่อ Honda CONNNECT เวอร์ชันเดียวกับ City / City Hatchback รุ่นปัจจุบัน
หากเป็นรุ่น RS หน้าจอชุดนี้ยังใช้แสดงภาพจากกล้อง Honda LaneWatch เพื่อเพิ่มความปลอดภัยขณะเปลี่ยนเลน และกล้องมองภาพด้านหลังที่สามารถปรับมุมมองได้ 3 ระดับ แต่ถ้าอยากได้เซ็นเซอร์กะระยะคอยส่งเสียง ปิ๊ปๆ เมื่อถอยเข้าใกล้วัตถุด้วยแล้วล่ะก็ จะต้องไปหาติดเพิ่มกันเอาเอง
สำหรับคุณภาพเสียงก็ถือว่าใช้ได้ตามมาตรฐานฮอนด้า ไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนลำโพงหรือเพิ่มแอมป์ให้ปวดหัว มีเบสให้หนักแน่นเหมาะกับการฟังเพลงสไตล์ EDM แม้ว่าจะขาดเรื่องความใสกังวานของเสียงไปบ้าง แต่เชื่อว่าลูกค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อรถระดับนี้จะแฮปปี้กับเครื่องเสียงชุดนี้มากพอแล้ว ไม่ต้องไปทำอะไรเพิ่มเติมอีก แต่ขอตินิดนึงว่าการเอาเครื่องเสียงขนาดมาตรฐาน 2DIN มาติดตั้งให้กับรถที่เพิ่งเปิดตัวในปี 2023 มันก็ดูออกจะเชยไปหน่อย ด้วยราคารถระดับนี้ ถ้าจะออกแบบเครื่องเสียงให้ดูกลมกลืนกับแผงคอนโซลมากกว่านี้ก็น่าจะดีไม่น้อย
ส่วนระบบความปลอดภัยของ Honda WR-V ถูกติดตั้ง Honda SENSING มาให้ทั้ง 2 รุ่นย่อย ทำงานผ่านกล้องมุมกว้างที่ติดตั้งไว้บริเวณกระจกบังลมหน้า โดยมีทั้งสิ้น 6 ฟังก์ชันการทำงาน ประกอบด้วย
- ระบบเตือนการชนพร้อมระบบช่วยเบรก CMBS
- ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ LKAS
- ระบบเตือนและช่วยควบคุมเมื่อรถออกนอกช่องทางเดินรถ RDM with LWD
- ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ AHB
- ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน ACC
- ระบบเตือนเมื่อมีรถคันหน้าเคลื่อนที่ LCDN
ขณะที่ระบบความปลอดภัยอื่นๆ ได้แก่ ระบบควบคุมการทรงตัว VSA, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA, ระบบเบรก ABS/EBD, สัญญาณไฟฉุกเฉินอัตโนมัติขณะเบรกกะทันหัน ESS, ระบบเตือนคาดเข็มขัดนิรภัยเบาะนั่งคู่หน้า, ระบบเตือนลืมผู้โดยสารด้านหลัง (Rear Seat Reminder), จุดยึดเบาะนั่งเด็ก ISOFIX ที่เบาะหลัง 2 ตำแหน่ง, ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ด้านข้างคู่หน้า และเพิ่มม่านถุงลมนิรภัยในรุ่น RS
เครื่องยนต์
Honda WR-V ติดตั้งเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ DOHC i-VTEC ความจุ 1.5 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 121 แรงม้า ที่ 6,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 145 นิวตัน-เมตร ที่ 4,300 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ CVT พร้อมระบบ Shifting Control of Cornering Gravity & G Design Shift เคลมอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยไว้ที่ 16.7 กม./ลิตร
ขณะที่ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบแม็กเฟอร์สันสตรัทอิสระ พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังแบบทอร์ชันบีม H-shape พร้อมระบบเบรกด้านหน้าแบบดิสก์แบบมีช่องระบายความร้อน ด้านหลังแบบดรัมเบรกเป็นอุปกรณ์มาตรฐานทั้งสองรุ่นย่อย รวมถึงชูจุดเด่นด้วยระยะห่างจากใต้ท้องรถถึงพื้นถนนอยู่ที่ 220 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าสูงพอกันกับเอสยูวีแท้ๆ แถมยังสูงกว่าพีพีวีบางรุ่นด้วยซ้ำไป
การขับขี่
เรามีโอกาสได้ทดสอบขับ Honda WR-V รุ่น RS บนถนนบางนา-ตราด มุ่งหน้าไปยัง จ.ชลบุรี โดยไม่ได้ขึ้นทางด่วนบูรพาวิถี ซึ่งหลายคนทราบดีว่าสภาพพื้นผิวถนนเส้นนี้มันช่างโหดร้ายขนาดไหน (เอาง่ายๆ คือ มีข่าวรถคว่ำให้เห็นอยู่ตลอด แค่วิ่งมาเฉยๆ บนถนนนี่แหละ ไม่ได้ไปชนกับอะไร เพียงแต่ส่วนใหญ่จะเกิดกับเส้นคู่ขนานซะมากกว่า)
ในด้านพละกำลังของเครื่องยนต์ แม้ใครหลายคนจะแอบกังวลว่าขุมพลังเบนซิน 1.5 ลิตร ที่ไม่มีระบบช่วยอัดอากาศจะแรงพอไหมกับช่วงล่างที่ยกสูงเช่นนี้ ก็ต้องยอมรับว่าฮอนด้าทำได้ดีเกินคาดอยู่เหมือนกัน เพราะในการโดยขับขี่ทั่วไปไม่รู้สึกเลยว่าอืด อันที่จริงการติดตั้งระบบเกียร์แบบ CVT ช่วยตอบสนองในย่านความเร็วตั้งแต่จุดหยุดนิ่งจนถึง 60 กม./ชม. ได้เป็นอย่างดี จนเรียกได้ว่าเป็นรถที่คล่องตัว โดยเฉพาะท่ามกลางสภาพจราจรที่รถวิ่งกันขวักไขว่ ก็สามารถไหลไปตามการจราจรได้อย่างสบาย
แต่เมื่อพ้นช่วงความเร็ว 100 กม./ชม. ขึ้นไป เครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร ก็ได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดในการรีดพละกำลังออกมา เรียกได้ว่าสมกับกำลังสูงสุดที่มี 121 แรงม้าก็แล้วกัน ถึงกระนั้นการเดินทางในช่วงความเร็ว 120 กม./ชม. ก็สามารถทำได้อย่างสบาย พอมีพละกำลังให้เร่งแซงบ้าง
สิ่งที่ประทับใจที่สุดของ Honda WR-V ก็คือช่วงล่างที่ตอบสนองได้อย่างเกินคาด อันที่จริงผู้เขียนเองก็ไม่ได้หวังอะไรมากนักก่อนที่จะมาจับพวงมาลัยรถคันนี้ แต่เมื่อได้ลองขับจริงแล้วก็พบว่าช่วงล่างสามารถเก็บอาการโคลงได้อย่างอยู่หมัด จนแทบไม่น่าเชื่อว่ารถที่มีความกว้างเพียง 1,780 มิลลิเมตร แต่มีความสูงจากใต้ท้องรถถึง 220 มิลลิเมตร จะสามารถเก็บอาการได้ดีขนาดนี้ อีกทั้งเมื่อขับผ่านพื้นผิวที่ขรุขระ ก็ยังสามารถซับแรงสะเทือนได้อย่างดีเยี่ยม ประกอบกับเสียงตึงตังจากช่วงล่างที่ค่อนข้างต่ำ จึงทำให้ไม่รู้สึกเครียดนัก สมกับการเป็นรถที่พัฒนาขึ้นเป็นพิเศษสำหรับภูมิภาคแถบอาเซียนโดยเฉพาะ
ส่วนระบบความปลอดภัย Honda SENSING ก็ทำออกมาได้ดีเช่นเดียวกับฮอนด้ารุ่นอื่นๆ ความเนียนในการลดหรือเพิ่มความเร็วตามคันหน้าทำได้อย่างดีเยี่ยม จนเรียกได้ว่าเป็นระบบที่สามารถใช้งานได้จริง ไม่เหมือนกับรถจีนบางยี่ห้อ ที่ทำให้รู้สึกว่าไม่ปลอดภัยนักในการเปิดใช้งาน แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน หรือ ACC จะตัดการทำงานอัตโนมัติเมื่อความเร็วต่ำกว่าจุดๆ หนึ่ง (ประมาณ 30 - 40 กม./ชม.) โดยที่รถจะไหลไปข้างหน้าแบบดื้อๆ ทันที ไม่มีการลดความเร็วให้อีกต่อไป ผู้ขับขี่จำเป็นต้องเข้าทำการเหยียบเบรกทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้รถไหลไปชนคันหน้า แต่ถึงกระนั้น ถ้าถึงขั้นฉุกเฉินจริงๆ ก็ยังมีระบบป้องกันการชนด้านหน้า CMBS มาให้
สรุป
Honda WR-V จัดว่าเป็นรถที่มีข้อดีนานัปการ โดยเฉพาะสมรรถนะการขับขี่ที่ทำได้ดีสมมาตรฐานฮอนด้า อาจจะขาดไปบ้างในเรื่องของอุปกรณ์มาตรฐานที่ควรจะมีมาให้ในรถยุคนี้ ส่วนราคาจำหน่ายก็ถือว่าค่อนข้างแรงเอาเรื่อง จนอาจทำให้ผู้ที่สนใจหันไปมองรุ่นอื่นอย่างน่าเสียดาย แต่ทั้งหมดนี้ก็แลกมาด้วยคุณภาพด้านบริการหลังการขายที่ดี มีศูนย์บริการครอบคลุมทั่วประเทศ ลูกค้าที่ซื้อไปมั่นใจได้แน่ๆ ว่าอะไหล่ทุกชิ้นมีพร้อมในสต็อก ไม่ต้องจอดรถทิ้งไว้ที่ศูนย์เป็นเดือนๆ เหมือนกับรถบางยี่ห้อ
ส่วนราคาจำหน่ายของ Honda WR-V รุ่น RS ที่เราทดสอบในครั้งนี้อยู่ที่ 869,000 บาทครับ
คุณกำลังดู: รีวิว Honda WR-V RS 2023 ใหม่ ขับอย่างเนียน แต่ราคาแอบแรง!
หมวดหมู่: รีวิวรถใหม่