ร้อนจนคานเหล็กยังละลาย! ย้อนรอย วันทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมา
นาทีต่อนาที ย้อนอดีตเหตุการณ์ระเบิดปรมาณูถูกทิ้งใส่เมืองฮิโรชิมา
ต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ.1945 สงครามโลกครั้งที่สองแถบแปซิฟิกใต้ยังคงดำเนินต่อไป แม้กองทัพญี่ปุ่นจะถอยร่นไม่เป็นขบวน แต่ยังคงมีการรบพุ่งอย่างหนักหน่วงในหลายพื้นที่ เมื่อญี่ปุ่นยังไม่ยอมจำนน และทำให้อเมริกันต้องพบกับความสูญเสียอย่างหนักจากฝูงบินกามิกาเซ่ แผนทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกจึงถูกกำหนดขึ้น ประกอบไปด้วยเครี่องบินทิ้งระเบิดขนาดหนัก 4 เครื่องยนต์ รุ่น B-29 superfortress ของ Boeing จำนวน 4 เครื่อง มีทั้งเครื่องหลักที่รับหน้าที่ทิ้งระเบิดปรมาณู เครื่องสำรอง เครื่องตามถ่ายภาพ และเครื่องที่ติดตั้งเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เพื่อตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนจากพลังทำลายล้างของระเบิดปรมาณู การทิ้งระเบิดจะต้องกระทำด้วยสายตาของนักบิน ไม่ใช่ด้วยเรดาร์ เมื่อเป้าหมายมีทั้งเมืองฮิโรชิมา โคคูระ นิอิกาตะ และนางาซากิ เครื่องบิน B-29 ลำที่รับหน้าที่บรรทุกและทำการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกของโลกก็คือ เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 ที่มีชื่อว่า enola gay เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับลูกเรือด้วยการนำชื่อของมารดากัปตันมาใช้เป็นชื่อเรียกเครื่องบินที่ตนเองประจำการอยู่
เช้าวันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม 1945 ทุกอย่างถูกเตรียมความพร้อมสูงสุด มีการตัดสินใจที่จะประกอบชนวนระเบิดในขั้นตอนสุดท้ายขณะบินอยู่ในอากาศ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงหากเครื่อง enola gay เกิดประสบอุบัติเหตุขณะบินขึ้น เรืออากาศเอก ดิก เพียร์สัน ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจดังกล่าว แต่ต่อมาก็มีความเข้าใจและพยายามโน้มน้าวลูกเรือว่า พวกเขาสามารถทำหน้าที่ในพื้นที่คับแคบได้ดี บ่ายวันเดียวกันนั้นเอง ประธานาธิบดีทรูแมน อนุมัติให้มีการใช้อาวุธใหม่ได้ ลูกเรือบรรจุระเบิดลิตเติ้ลบอยเข้าไปในห้องเก็บระเบิดขนาดใหญ่ ลิตเติ้ลบอยมีความยาว 12 ฟุต มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 28 นิ้ว หนักถึง 4,400 กิโลกรัม ใหญ่กว่าระเบิดทุกลูกที่ลูกเรือและกัปตันเคยเห็นมาในสงคราม แรงระเบิดของลิตเติ้ลบอยเท่ากับ TNT 20,000 ตัน หรือเท่ากับเครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จำนวน 2,000 ลำ ที่สามารถขนน้ำหนักวัตถุระเบิดหนักขนาดนั้นไปได้ ดิก เพียร์สัน ฝึกซ้อมการติดชนวนระเบิดที่มีความละเอียดอ่อน เพื่อความคล่องและป้องกันความผิดพลาด คืนนั้นลูกเรือของ enola gay เข้ารับฟังการบรรยายสรุปเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับรายละเอียดและการทำงาน รวมถึงอำนาจการทำลายล้างของระเบิดปรมาณู และวิธีการบินหลบหลีกจากคลื่นกระแทก
กัปตันของเครื่อง enola gay นาวาอากาศโท พอล ทิบเบทส์
กับนักบินผู้ช่วยและลูกเรือพกอาวุธปืนพกประจำกาย
กัปตันทิบเบทส์มีแคปซูลไซยาไนด์มากพอสำหรับทุกคนบนเครื่องหากเครื่องตกแล้วโดนจับ
เครื่อง enola gay สตาร์ตเวลา 02.45 น. ของวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.1945
แล้วทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าของสนามบินในเกาะทิเนียน
ฐานบินส่วนหน้าของกองทัพอเมริกันในหมู่เกาะมาเรียนนา
ที่อยู่ใกล้กับเกาะญี่ปุ่นมากที่สุด
ความท้าทายในการบินทิ้งอาวุธนิวเคลียร์โดยไม่ทำให้คลื่นกระแทกที่เกิดจากการระเบิดทำลายเครื่อง
enola gay นักวิทยาศาสตร์ที่สร้างและทำการทดลองระเบิดปรมาณูคำนวณว่า
เครื่อง Boeing B-29 สามารถรอดจากแรงกระแทกที่ระยะห่าง 8 ไมล์
ที่ระดับความสูง 31,000 ฟุต กัปตันทิบเบทส์ตัดสินใจว่า
การเลี้ยวหนีอย่างลึกโดยเปลี่ยนทิศทาง 155 องศา
จะเป็นวิธีหลบหลีกแรงกระแทกที่ดีที่สุด ในเวลาน้อยกว่า 2 นาที เครื่อง
B-29 สามารถเปลี่ยนทิศทางและบินได้เป็นระยะทาง 5 ไมล์
อีกเรื่องท่ีน่าห่วงก็คือ ความแม่นยำ การใช้ศูนย์เล็งนอร์เดน
พลทิ้งระเบิด จะต้องทิ้งให้ระเบิดตกลงในระยะ 200 ฟุตจากจุดเล็ง
สิ่งที่ท้าทายอีกอย่างก็คือ เครื่องต้องบินเหนือมหาสมุทรและแผ่นดิน
การผ่านจากน้ำไปเป็นแผ่นดินอาจก่อให้เกิดความสับสน
ทิบเบทส์และลูกเรือได้ทำการฝึกบินเดินทางในลักษณะดังกล่าวที่คิวบา
หลังจากบินขึ้นมาได้ประมาณ 3 ชั่วโมง เครื่อง enola gay
บินอยู่เหนือหมู่เกาะอิโวจิมาตอนฟ้าสางพอดี ข้างล่างบนเกาะนั้น
ทหารอเมริกัน 5,500 นาย และทหารญี่ปุ่น 25,000 นาย
ได้เสียชีวิตลงที่นี่จากการรบพุ่งกันอย่างหนักหน่วง
จนกองทัพอเมริกันสามารถใช้อิโวจิมาเป็นสนามบินฉุกเฉินได้ เครื่อง
enola gay เปลี่ยนเข็มไปบินเป็นทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เวลา 07.30 น.
ดิก เพียร์สัน ติดตั้งชนวนระเบิดเสร็จเรียบร้อย
ลิตเติ้ลบอยมีชีวิตขึ้นมาจากการถูกตั้งชนวนการทำงาน เครื่อง enola gay
ค่อยๆ ไต่ระยะสูงขึ้นไปที่ 30,700 ฟุต
เวลา 08.30 น. เครื่อง enola gay
ได้รับรหัสข่าวว่าเหนือท้องฟ้าของเมืองฮิโรชิมา มีเมฆน้อยกว่า 3 ใน 10
ส่วน
กัปตันทิบเบทส์แจ้งในวิทยุให้ลูกเรือรับทราบว่าเป้าหมายคือเมืองฮิโรชิมา
เมื่อบินถึงชายฝั่งของหมู่เกาะญี่ปุ่นทางตอนใต้
ไม่มีเครื่องบินขับไล่ของฝ่ายศัตรูขึ้นมาแม้แต่ลำเดียว เครื่อง enola
gay บินผ่านชิโกกุและทะเลไอโย เมื่อเริ่มมองเห็นเมืองฮิโรชิมา
เครื่องเลี้ยวไปทางทิศตะวันตก ทอม เฟเรบี้
พลทิ้งระเบิดจ้องมองผ่านกล้องศูนย์เล็งสำหรับทิ้งระเบิด
โดยพยายามคำนวนทิศทาง เพื่อแก้กระแสลมบนที่พัดมาจากทิศใต้
กัปตันทิบเบทส์วิทยุแจ้งเตือนลูกเรือบนเครื่องให้ทำการใส่แว่นโพราลอยด์ที่หนาทึบเพื่อป้องกันสายตาจากแสงจ้าที่เกิดจากการระเบิด
นักวิทยาศาสตร์มีการคำนวณว่า
แสงจ้าที่เกิดจากการระเบิดจะเท่ากับแสงของดวงอาทิตย์ 10 ดวง
พลทิ้งระเบิดเล็งไปที่สะพานรูปตัว T ซึ่งอยู่เกือบจะใจกลางเมือง 90
วินาทีก่อนการทิ้งลิตเติ้ลบอย พลทิ้งระเบิด ทอม เฟเรบี้
เข้ามารับผิดชอบในการถือคันบังคับเพื่อปรับทิศทางของเครื่องให้อยู่เหนือเป้าหมาย
เวลา 09.15 น. แต่เป็นเวลา 08.15 น. ที่ฮิโรชิมา เครื่อง enola gay เปิดฝาครอบห้องเก็บลูกระเบิด แล้วปลดลิตเติ้ลบอยลงไป ทันใดนั้นเอง เครื่องก็เปลี่ยนทิศทางอย่างฉับพลันไปทางขวา 155 องศา และดำลงเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความเร็ว นักบินไม่สามารถบินโดยมองผ่านแว่นดำมืดทึบได้ พวกเขาบางคนถอดมันออก อีก 43 วินาทีต่อมา ทิบเบทส์รู้สึกเสียวแปลบที่ฟัน จุดศูนย์กลางที่ระเบิดปรมาณูตกลงไปเกิดการระเบิดเป็นลูกไฟขนาดยักษ์ แรงจากกัมมันตภาพรังสีจากระเบิดมีผลต่อความรู้สึกที่ทำให้นักบินเสียวฟันขึ้นมาทันที ระเบิดปรมาณูลิตเติ้ลบอยถูกตั้งชนวนให้ระเบิดที่ความสูง 1,860 ฟุต หรือประมาณ 580 เมตร เหนือพื้นดิน บ็อบ คาร์รอน พลปืนท้ายของเครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 เป็นคนแรกที่เห็นการระเบิดและตามด้วยลูกไฟขนาดยักษ์ แม้จะใส่แว่นตาป้องกันแสงที่หนาทึบ บ็อบ คาร์รอน บอกตอนหลังว่า นึกว่าตาบอดไปแล้ว เครื่อง enola gay เร่งความเร็วเพื่อออกห่างจากรัศมีของการระเบิด ขณะที่คลื่นกระแทกซึ่งเกิดจากการระเบิดพุ่งตามมาด้วยความเร็ว 1,100 ฟุตต่อวินาที เมื่อกระทบเข้ากับตัวเครื่อง ลูกเรือแจ้งว่า เหมือนกับโดนปืนต่อสู้อากาศยานที่มาระเบิดอยู่ข้างๆ เครื่อง ก้อนเมฆรูปดอกเห็ดพุ่งขึ้นท้องฟ้าสูงถึง 45,000 ฟุต และยังคงพุ่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ลูกเรือตกใจและสะพรึงกลัวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า เมืองฮิโรชิมาที่สวยงาม บัดนี้ทั้งเมืองตกอยู่ภายใต้กลุ่มควันไฟขนาดใหญ่ สิ่งปลูกสร้างที่อยู่รอบๆ จุดศูนย์กลางของการระเบิดพังราบลงทั้งหมด
บริเวณจุดศูนย์กลางของการระเบิดมีอุณหภูมิสูงถึง 4,000 องศาเซลเซียส และในรัศมีใกล้จุดศูนย์กลางของการระเบิด 1 กิโลเมตร ความร้อนพุ่งสูงถึง 540 องศาเซลเซียส ร้อนจนเหล็กที่ใช้ทำคานสะพานข้ามแม่น้ำถึงกับละลาย คนที่อยู่ใกล้กับจุดศูนย์กลางของการระเบิดจะถูกเผาไหม้จนกลายเป็นเถ้าถ่านภายในพริบตา ส่วนผู้ที่อยู่ห่างออกไปก็จะเกิดอาการบาดเจ็บสาหัสจากแรงอัดหรือคลื่นกระแทก คนที่อาจรอดตายจากการระเบิดจะไม่สามารถทนต่อความร้อนที่สูงมากซึ่งพุ่งตามหลังคลื่นกระแทกเข้ามาอย่างรวดเร็ว คลื่นกระแทกนั้นมีความเร็วสูงถึง 3.2 กิโลเมตรต่อวินาที พลังงานในการทำลายล้างของลิตเติ้ลบอยทำให้มีสิ่งปลูกสร้างในเมืองฮิโรชิมาเหลือรอดอยู่แค่ 10% เท่านั้น
การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ เป็นการโจมตีจักรวรรดิญี่ปุ่นด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง โดยคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แฮร์รี เอส. ทรูแมน เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม และวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2488 หลังจากการโจมตีทิ้งระเบิดเพลิงตามเมืองต่างๆ ของญี่ปุ่นมากถึง 67 เมือง ซึ่งโดนทิ้งระเบิดอย่างหนักหน่วงเป็นเวลาติดต่อกันถึง 6 เดือน สหรัฐอเมริกาจึงได้ทิ้ง "ระเบิดปรมาณู" หรือที่เรียกในปัจจุบันว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่มีชื่อเล่นเรียกว่า "เด็กน้อย" หรือ "ลิตเติ้ลบอย" ใส่เมืองฮิโรชิมาในวันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) ตามด้วย "ชายอ้วน" หรือ "แฟตแมน" ระเบิดปรมาณูลูกที่สอง ที่ทิ้งใส่เมืองนางาซากิ โดยมีการตั้วชนวนให้จุดระเบิดที่ระดับความสูงเหนือเมืองเล็กน้อย นับเป็นระเบิดนิวเคลียร์เพียง 2 ลูกเท่านั้นที่นำมาใช้ในประวัติศาสตร์การทำสงคราม
การระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิตที่ฮิโรชิมา 140,000 คน และที่นางาซากิอีก 80,000 คน นับถึงปลายปี ค.ศ.1945 หรือ พ.ศ.2488 จำนวนคนที่เสียชีวิตทันทีในวันที่ระเบิดลงมีจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนที่กล่าวนี้ และในระยะต่อมาก็ยังมีผู้เสียชีวิตด้วยการบาดเจ็บ หรือจากการรับกัมมันตรังสีที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากการระเบิดอีกนับหมื่นคน ผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดในทั้ง 2 เมืองเป็นพลเรือน
หลังการทิ้งระเบิดลูกที่สองเป็นเวลา 6 วัน ญี่ปุ่นประกาศตกลงยอมแพ้สงครามต่อฝ่ายพันธมิตร เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2488 และลงนามในตราสารประกาศยอมแพ้สงครามมหาสมุทรแปซิฟิก ที่นับเป็นการยุติสงครามโลกครั้งที่สองอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ.1945 การทิ้งระเบิดทั้งสองลูกดังกล่าวมีส่วนทำให้ประเทศญี่ปุ่นต้องยอมรับหลักการ 3 ข้อว่าด้วยการห้ามมีอาวุธนิวเคลียร์
เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 enola gay ยังคงประจำการหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงเป็นเวลานานหลายปี ก่อนที่จะถูกมอบให้กับสถาบัน Smithsonian ในวันที่ 3 กรกฎาคม 1949 มันถูกถอดชิ้นส่วนออก และเก็บไว้ในรัฐแมรีแลนด์ ในปี พ.ศ.2527 มีการซ่อมแซม enola gay ซึ่งกำลังเสื่อมสภาพอย่างหนัก โครงการซ่อมแซมนี้ใช้เวลาประมาณ 20 ปี ในปี พ.ศ.2538 เครื่อง B-29 enola gay มีกำหนดที่จะถูกจัดแสดงร่วมกับนิทรรศการนิวเคลียร์ ท่ามกลางการโต้เถียงอย่างหนักที่พิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติสมิธโซเนียน (NASM) ในวอชิงตัน ดี.ซี. การจัดแสดงเดิมนั้นกำหนดให้รวมกับชิ้นส่วนเศษซากจากฮิโรชิมาและนางาซากิ และเน้นการอภิปรายเกี่ยวกับการตัดสินใจใช้ระเบิด หลังจากนั้นท่ามกลางการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์อย่างดุเดือดรุนแรง แผนการจัดแสดงเดิมจึงถูกยกเลิกไปโดยปริยาย ในปี พ.ศ.2546 Enola Gay ที่ได้รับการบูรณะอย่างสมบูรณ์ ถูกนำไปจัดแสดงที่ Steven F.Udar-Hazy Center ของ NASM ในเมือง Chantilly รัฐเวอร์จิเนีย.
ข้อมูลบางส่วนจาก แทงโก นิตยสารเพื่อคนรักการบินและเทคโนโลยี
กุมภาพันธ์ 2550
อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/
คุณกำลังดู: ร้อนจนคานเหล็กยังละลาย! ย้อนรอย วันทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมา
หมวดหมู่: รีวิวรถใหม่