ร้อนในเกิดจากอะไร วิธีรักษาร้อนใน และป้องกันอย่างไร
ปัญหา “ร้อนใน” หลายคนคงจะเคยประสบพบเจอมาบ้าง โดยที่จู่ๆ ก็เป็นแผลขึ้นมาในปาก ข้างกระพุ้งแก้ม หรือบนลิ้น และส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร Sanook Health จึงหาคำตอบมาให้เพื่อนๆ ทราบกันค่ะ
ร้อนใน คืออะไร
ร้อนใน เป็นอาการที่พบแผลเปื่อยในช่องปาก อาจจะเป็นกระพุ้งแก้ม ลิ้น หรือส่วนใดส่วนหนึ่งภายในปากได้ ขนาดของแผลอาจเล็กระดับไม่กี่มิลลิเมตร ไปจนถึงเซนติเมตรได้ และอาจพบมากกว่า 1 แผลได้เช่นเดียวกัน โดยแผลเหล่านี้จะมีอาการแสบ ทำให้ทานอาหารไม่สะดวก
ร้อนใน เกิดจากอะไร
สาเหตุของร้อนใน มาจากหลายปัจจัยด้วยกัน แต่ที่พบมากคือ
- กรรมพันธุ์
- ความเครียด
- เผลอกัดโดนเนื้อเยื่อข้างกระพุ้งแก้ม
- แพ้สารเคมีต่างๆ เช่น สารเคมีจากยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก
- แพ้อาหารบางชนิด
- ขาดวิตามิน และเกลือแร่บางชนิด เช่น วิตามินบี ธาตุเหล็ก
และสังกะสี
- ติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด
- ติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น โรคเริม
- แปรงฟันแรงเกินไป จนเกิดบาดแผล
- ดื่มน้ำน้อย
- ร่างกายขาดสารอาหาร
- ทานอาหารรสจัดมากเกินไป
- ทานอาหารทอดมากเกินไป
- สูบบุหรี่
- ท้องผูก
- ร่างกายเกิดความผิดปกติในระบบภูมิคุ้มกัน
อาจพักผ่อนไม่เพียงพอจนเสียสมดุล
- ช่วงที่ผู้หญิงกำลังมีประจำเดือน อาจส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง และอาจเกิดร้อนในได้
ร้อนใน อันตรายไหม
การเป็นร้อนใน นอกจากจะเกิดอาการเจ็บแสบมาก ทำให้การขยับริมฝีปาก หรือทานอาหารเป็นไปได้อย่างยากลำบากแล้ว ก็ไม่มีพบอันตรายใดๆ มากไปกว่านี้ เพราะโดยส่วนใหญ่แผลร้อนในอาจหายได้เอง หรือหากไม่อยากทรมานนานก็สามารถใช้ยาช่วยให้แผลร้อนในหายเร็วขึ้นได้ แต่ที่สำคัญคืออย่าให้แผลติดเชื้อ เพราะอาจทำให้แผลอักเสบ และใช้เวลารักษานานขึ้น ยากขึ้น
วิธีรักษาร้อนใน
อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า แผลร้อนในเล้กๆ สามารถหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ แต่หากมีแผลร้อนในขนาดใหญ่ หรืออยากให้หายไวๆ สามารถรักษาได้ดังนี้
- บ้วนน้ำเกลือ ให้น้ำเกลือโดนบริเวณแผล
น้ำเกลือจะช่วยบรรเทาอาการอักเสบ บวม แดง ได้
- ยาทาแก้ร้อนใน โดยเป็นกลุ่มของตัวยาสเตียรอยด์
ชนิดทา เพื่อลดอาการอักเสบ ปวดบวม อาจเป็นยาน้ำ ขี้ผึ้ง
หรือเป็นยาที่ใช้บ้วนปาก
- สมุนไพรฤทธิ์เย็น มีหลายอย่างที่มีฤทธิ์รักษาอาการร้อนใน เช่น ใบบัวบก มะระขี้นก ว่านรางจืด แตงกวา ผักกาดขาว หัวไชเท้าเก๊กฮวย รากบัว หล่อฮังก๊วย เป็นต้น ดื่มน้ำสมุนไพรเหล่านี้จะช่วยบรรเทาอาการร้อนในได้ (แต่อย่าผสมน้ำตาลมากเกินไป)
วิธีป้องกันร้อนใน
- ไม่ทานอาหารรสจัด และของทอดมากเกินไป
- ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน วันละ 6-8 แก้ว
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยให้ตัวเองเครียดจนเกินไป
- รักษาความสะอาดภายในช่องปากอย่างระมัดระวัง
ไม่แปรงฟันแรงเกินไป
- ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- หมั่นสังเกตความผิดปกติของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อรีบพบแพทย์ทันทีหากมีความจำเป็น
อาการร้อนในไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่คอยสร้างความรำคาญ และลำบากในการใช้ชีวิตของผู้ที่เป็นมากอย่างคาดไม่ถึง ดังนั้นการป้องกันตัวเองจากร้อนใน ก็เป็นวิธีที่จะช่วยให้เราดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขได้ง่ายๆ อีกทางหนึ่งค่ะ
คุณกำลังดู: ร้อนในเกิดจากอะไร วิธีรักษาร้อนใน และป้องกันอย่างไร
หมวดหมู่: รู้ทันโรค