สาเหตุของ สังคัง อาการ และวิธีรักษา

สังคัง คืออะไร มีอาการอย่างไร ใครเสี่ยงบ้าง

สาเหตุของ สังคัง อาการ และวิธีรักษา

สังคัง คือ การติดเชื้อราบนผิวหนัง มักเกิดกับผู้ชาย ทำให้มีผื่นแดงและคันในบริเวณที่เป็น เช่น ขาหนีบ ต้นขาด้านใน บั้นท้าย รวมถึงบริเวณที่อับชื้น สังคังเป็นโรคที่สามารถติดต่อได้จากการสัมผัส หรือใช้ของร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ แม้สังคังอาจมีอาการที่ไม่รุนแรง แต่อาจทำให้รู้สึกรำคาญและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน 

สังคัง คืออะไร

สังคัง คือ เกิดจากการติดเชื้อราในกลุ่มเดอมาโทไฟท์ (Dermatophytes) เป็นเชื้อราที่ทำให้เกิดผื่นแดงและคันในบริเวณที่อับชื้น เช่น ขาหนีบ ต้นขาด้านใน บั้นท้าย อวัยวะเพศ ซึ่งสังคังเป็นโรคผิวหนังที่สามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัส หรือใช้ของร่วมกับผู้ติดเชื้อ รวมถึงผู้ที่มีน้ำหนักเกิน มีเหงื่อออกมาก มีกลากหรือเกลื้อน และสังคังอาจพบได้ทั่วไปสำหรับนักกีฬา อย่างไรก็ตาม สังคังสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย

สังคังพบได้บ่อยแค่ไหน

โรคสังคังส่วนมากพบได้บ่อยในเพศชายในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ เนื่องจากความชื้นที่อยู่ระหว่างอัณฑะกับต้นขา อย่างไรก็ตาม สังคังสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย

อาการของสังคัง

อาการของสังคังที่สังเกตเห็นได้ คือ ผื่นแดงที่กระจายตัวเป็นลักษณะวงกลมหรือพระจันทร์เสี้ยว ขอบของผื่นนูนชัด มักเกิดขึ้นบริเวณขาหนีบ ต้นขาด้านใน และอาจลุกลามไปยังผิวหนังใกล้เคียง เช่น ข้อพับ ช่องคลอด ถุงอัณฑะ องคชาต ทวารหนัก รวมถึงมีอาการคันในบริเวณที่เป็น ผื่นอาจมีลักษณะแห้ง เป็นขุย หรือตุ่มหนอง นอกจากนี้ ผู้หญิงอาจมีอาการตกขาวผิดปกติได้ ส่วนผู้ชายอาจเกิดการติดเชื้อที่องคชาต ในกรณีที่รุนแรงอาจก่อให้เกิด บวมแดง อักเสบ ผิวหนังแตก แผลเปิด

ควรไปพบคุณหมอเมื่อไหร่

หากมีไข้และผื่นแดงไม่ดีขึ้นหลังจากรักษา 1 สัปดาห์ หรือหลังจากรักษา 3 สัปดาห์ อาการยังไม่หายเป็นปกติ ควรไปพบคุณหมอ

สาเหตุของสังคัง

สังคังอาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้ เช่น

  • การติดเชื้อราในกลุ่มเดอมาโทไฟท์ (Dermatophytes) โดยอาศัยอยู่บนเล็บ เส้นผม ผิวหนัง มักไม่เป็นอันตราย แต่เมื่อผิวหนังสัมผัสกับความชื้นบ่อยๆ อาจทำให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี รวมถึงการติดเชื้อราที่เท้า เช่น โรคน้ำกัดเท้า อาจแพร่กระจายเชื้อราไปยังบริเวณขาหนีบได้ขณะใส่กางเกง
  • การใช้ของส่วนตัวร่วมกันผู้ที่ติดเชื้อ เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู ผ้าห่ม
  • การเสียดสีของเสื้อผ้าและความอับชื้นเป็นเวลานานที่ขาหนีบ เช่น เหงื่อ น้ำ
  • การออกกำลังกาย หรือผู้ที่มีน้ำหนักเกิน อาจส่งผลทำให้มีเหงื่อออกมามาก และเกิดการอับชื้น
  • การใช้ห้องน้ำสาธารณะ หรือห้องอบไอน้ำ อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดสังคัง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความชื้นอยู่ตลอดเวลา

ปัจจัยเสี่ยงของสังคัง

ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้เกิดสังคังได้ เช่น

  • เพศชายที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่
  • อากาศร้อนชื้น อาจทำให้เหงื่อออกมามาก ทำให้เกิดผิวหนังอับชื้น
  • ไม่อาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าหลังจากทำกิจกรรมต่างๆ หรือสวมเสื้อผ้าสกปรกซ้ำหลายครั้ง
  • สวมเสื้อผ้าที่รัดแน่น หรือเปียกเป็นเวลานาน เช่น ชุดว่ายน้ำ
  • ใช้เสื้อผ้าหรือผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น
  • ภาวะปัญหาสุขภาพ เช่น น้ำหนักเกิน โรคอ้วน โรคเบาหวาน ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยสังคัง

คุณหมออาจทำการวินิจฉัยสังคัง ดังนี้

  • การสอบถามประวัติและตรวจผิวหนังบริเวณที่เกิดการติดเชื้อ เพื่อดูลักษณะผื่น รวมถึงสอบถามอาการและการใช้ชีวิตในประจำวัน เพื่อประเมินสาเหตุของการเกิดเบื้องต้น
  • การขูดตัวอย่างผิวหนัง โดยคุณหมอจะขูดขุยผิวหนังที่ติดเชื้อไปส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์หรือไปทดสอบในห้องปฏิบัติการ

การรักษาสังคัง

สังคังอาจรักษาได้ด้วยวิธีการดังนี้

  • ยาต้านเชื้อราชนิดทาภายนอก เช่น แนฟทิไฟน์ (Naftifine) ไมโคนาโซล (Miconazole) คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) โดยมีหลายรูปแบบ เช่น ครีม โลชั่น สเปรย์
  • ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน เช่น ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) ในผู้ที่มีการติดเชื้อที่ลุกลามหรือเกิดการอักเสบ

ควรใช้ยาตามคำแนะนำของคุณหมอหรือเภสัชกร รวมไปถึงฉลากการใช้ยา แม้ว่าผื่นจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เพราะหากรักษาไม่ติดต่ออาจทำให้เป็นสังคังไม่หายขาด และหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ควรไปปรึกษาคุณหมอ

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์บางอย่างอาจช่วยป้องกันไม่ให้เป็นสังคังได้ เช่น

  • รักษาสุขอนามัยเป็นประจำ โดยควรอาบน้ำทุกวัน และหลังจากทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดเหงื่อและเช็ดให้แห้งก่อนสวมเสื้อผ้า เพื่อป้องกันการอับชื้น รวมถึงควรเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ที่สะอาด
  • ซักเสื้อผ้าเป็นประจำ เพื่อป้องกันการหมักหมมของแบคทีเรียและเชื้อรา ที่อาจก่อให้เกิดโรคสังคัง
  • หลีกเลี่ยงสวมเสื้อผ้ารัดรูป เลือกสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี สวมใส่สบาย เพื่อลดไม่ให้ผิวหนังเกิดการเสียดสีและป้องกันการทำให้เกิดอาการคัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู และของใช้ส่วนตัวอื่นๆ เพราะอาจเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อรา
  • รักษาอาการติดเชื้อราชนิดอื่นๆ ให้หายขาด เช่น โรคน้ำกัดเท้า ควรเช็ดเท้าให้แห้งด้วยผ้าขนหนูแยกต่างหาก และทายา หลังจากนั้น ใส่ถุงเท้าก่อนค่อยสวมกางเกงชั้นใน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อราที่เท้าไปติดที่กางเกงในและแพร่กระจายไปที่ขาหนีบแล้วทำให้สังคังได้

คุณกำลังดู: สาเหตุของ สังคัง อาการ และวิธีรักษา

หมวดหมู่: รู้ทันโรค

แชร์ข่าว