เสริมภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง แนะฉีดวัคซีนสำหรับผู้ใหญ่

เสริมภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง แนะฉีดวัคซีนสำหรับผู้ใหญ่

ตารางวัคซีนผู้ใหญ่เป็นสิ่งจำเป็นในยุคนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยแล้ว และนั่นหมายถึงการมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ผู้สูงวัยหรือผู้ใหญ่ส่วนใหญ่มักมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำลงกว่าครั้งอยู่ในวัยหนุ่มสาว จึงทำให้มีอาการมาก เสี่ยงเป็นโรคแทรกซ้อนได้ง่ายเมื่อมีการติดเชื้อ และล่าสุดได้เกิดโควิดกลายพันธุ์ชนิดใหม่ก่อนจะส่งท้ายปีอย่างสายพันธุ์โอมิครอน ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาเตือนให้ทั่วโลกเฝ้าระวังโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่น่ากังวลนี้ พร้อมตั้งรับ เราไม่มีทางรู้เลยว่าการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิดจะจบลงเมื่อไร เราจึงควรให้ความสำคัญเรื่องการดูแลสุขภาพของผู้สูงวัยในเชิงป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อ หรือไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ก็ตาม

โรคติดเชื้อที่พบบ่อย

โรคติดเชื้อสามารถติดต่อได้ทั้งจากคนสู่คน เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้สุกใส หัด หัดเยอรมัน และติดต่อจากสัตว์สู่คน เช่น ไข้หวัดนก โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS) โรคพิษสุนัขบ้า โรคฝีดาษลิง หรือแม้แต่โรคที่ติดจากสิ่งแวดล้อม เช่น ติดเชื้อรา โรคเมลิออยโดสิส

ในประเทศเขตร้อนอย่างประเทศไทย ยังพบการติดเชื้อที่สำคัญอีกอย่างคือ การติดเชื้อจากแมลง โดยเฉพาะยุง เช่น ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย ไข้ชิคุนกุนยา หรือการติดเชื้อซิกาไวรัส

ทั้งนี้... การติดเชื้อหลายชนิดสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน เช่น โรคพิษสุนัขบ้า ไข้ทรพิษ โปลิโอ ไข้หวัดใหญ่ ไข้ติดเชื้อจากไวรัสโควิด-19 และโรคงูสวัด’

การฉีดวัคซีนผู้ใหญ่...สำคัญไม่แพ้การฉีดวัคซีนในเด็ก

หลายคนอาจจะรู้สึกว่า การฉีดวัคซีนเป็นเรื่องของการป้องกันโรคหรือการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็ก ซึ่งในปัจจุบันการฉีดวัคซีนในเด็กได้มีเพิ่มขึ้นหลายชนิด ในขณะเดียวกันการพัฒนาวัคซีนในผู้ใหญ่ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการป้องกันการติดเชื้อเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก เมื่อเทียบกับปัญหาสุขภาพหากเกิดการติดเชื้อแล้ว

นอกจากนี้ผู้สูงอายุ ยังถือว่าเป็นกลุ่มเปราะบางเช่นเดียวกันกับเด็ก และวัคซีนหลายชนิดที่ฉีดตั้งแต่เด็กจะมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ทำให้การติดเชื้อบางอย่างเกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุแม้จะเคยได้รับวัคซีนมาแล้วในอดีต ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคตับ โรคที่ต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ก็ถือว่าเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเช่นกัน

การติดเชื้อในกลุ่มเปราะบาง สร้างปัญหาใหญ่ให้สุขภาพ

การติดเชื้อในแต่ละกลุ่มประชากรจะมีความแตกต่างกัน ในกลุ่มเปราะบางการติดเชื้อสามารถเกิดได้ง่าย อาการรุนแรง และใช้เวลาในการหายเป็นปกตินานกว่า โรคติดเชื้อหลายโรคมีอาการไม่มากในคนที่สุขภาพแข็งแรง แต่อาจมีอาการรุนแรงในผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรง จนถึงกับต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และอาจทำให้เกิดทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตได้

ทำไมต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

โดยทั่วไปการฉีดวัคซีนมักต้องมีการฉีดเข็มกระตุ้น เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูงเพียงพอต่อการป้องกันโรค และเมื่อเวลาผ่านไปภูมิคุ้มกันที่มีจะลดลงไปตามเวลา
การขาดการกระตุ้นซ้ำ หรือการฉีดวัคซีนที่ไม่ครอบคลุมกลุ่มประชากรมากพอ อาจทำให้โรคที่ไม่พบเป็นระยะเวลานานกลับมาเกิดซ้ำใหม่ได้อีก

ตัวอย่างการกลับมาเกิดซ้ำของโรค เช่น การระบาดของโรคคอตีบในภาคอีสานของไทยในปี 2555 การระบาดของโรคหัดเยอรมันที่ญี่ปุ่นในปี 2561 และการระบาดของโรคฝีดาษลิงในหลายประเทศทั่วโลกในปี 2565 หลังยกเลิกการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษไปในปี 2523

คำแนะนำในการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ใหญ่

จากคำแนะนำที่เป็นสากล รวมถึงการสาธารณสุขไทย มีคำแนะนำในการฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่ว่า วัคซีนบางชนิดเป็นการฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ลดลงไปตามเวลา วัคซีนบางชนิดแนะนำการฉีดในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง บางชนิดเป็นวัคซีนที่แนะนำในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงโดยความเป็นอยู่ หรือโดยลักษณะอาชีพและความเสี่ยง สามารถฉีดป้องกันก่อนสัมผัสโรค เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในสัตวแพทย์ การฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ไข้หวัดใหญ่ในทหารกองประจำการที่ต้องมีการฝึกและอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียในคนไข้ที่มีความจำเป็นต้องตัดม้าม และการฉีดวัคซีนอีกหลายชนิด ดังตัวอย่างนี้

  • อายุ 19 ปีขึ้นไป วัคซีนป้องกันบาดทะยัก หัด หัดเยอรมัน คางทูม ไวรัสตับอักเสบบี
  • อายุ 50 ปีขึ้นไป วัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส*
  • อายุ 65 ปีขึ้นไป วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส
  • หญิงตั้งครรภ์วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ไข้หวัดใหญ่
  • บุคลากรทางการแพทย์วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ไข้สุกใส หัด หัดเยอรมัน คางทูม
  • ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคตับเรื้อรัง
    วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ไข้หวัดใหญ่ ไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส
  • ผู้ที่ไม่มีม้าม ตัดม้าม หรือม้ามไม่ทำงาน
    วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ไข้หวัดใหญ่
    ไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส
  • ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันระยะยาวเพื่อรักษาโรค
    วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ไข้หวัดใหญ่
    ไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส

*การติดเชื้อนิวโมคอคคัส คือการติดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด

นอกจากวัคซีนที่แนะนำทั่วไปข้างต้นแล้ว ยังมีวัคซีนที่เป็นวัคซีนทางเลือก เช่น วัคซีนป้องกันไข้สุกใส วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ วัคซีนป้องกันงูสวัด วัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งการจะเลือกฉีดวัคซีนชนิดใด สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมและความพร้อมของผู้เข้ารับการฉีดวัคซีน จะได้รับประโยชน์สูงสุดต่อทั้งสุขภาพและความสบายใจ

บทความโดย: นพ.พัทธยา เรียงจันทร์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์

คุณกำลังดู: เสริมภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง แนะฉีดวัคซีนสำหรับผู้ใหญ่

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด