“เส้นเลือดขอด” เกิดขึ้นได้อย่างไร ? อันตรายแค่ไหน ?
เส้นเลือดขอด นอกจากจะทำให้ขาดูไม่สวยงามแล้ว ยังส่งผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอันตรายอื่น ๆ ตามมาได้อีกด้วย
เส้นเลือดขอด นอกจากจะทำให้ส่วนที่เป็นดูไม่สวยงามแล้ว ยังส่งผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอันตรายอื่น ๆ ตามมาได้อีกด้วย เช่น ขาบวม เป็นตะคริว เหน็บชา หรือมีผื่นคันในบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอด ดังนั้นต้องรีบรักษา อย่าปล่อยไว้
เส้นเลือดขอด คืออะไร ?
อ.พญ. ปัณฑิตา เอี่ยมศุภนิมิตร ฝ่ายศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุไว้ในรายการ รายการ ติดจอ ฬ.จุฬา ว่า เส้นเลือดขอด เกิดจากการที่เส้นเลือดดำ (ส่วนใหญ่เป็นเส้นเลือดดำที่บริเวณขา) มีการไหลเวียนของเลือดที่ผิดปกติ
ผศ.นพ. กฤตยา กฤตยากีรณ ฝ่ายศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า เส้นเลือดขอดสามารถพบได้ทั่วทั้งร่างกาย แต่โดยทั่วไปมักพูดถึงเส้นเลือดขอดบริเวณขา จากผู้ป่วยในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์พบว่า กว่า 70% ของผู้ป่วยเส้นเลือดขอดเป็นเพศหญิง โดยมีปัจจัยเสี่ยง คือ อายุที่มากขึ้น
สาเหตุของเส้นเลือดขอด
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอาการเส้นเลือดขอดได้ คือ
- เป็นผู้หญิง
เสี่ยงเป็นเส้นเลือดขอดได้มากกว่าผู้ชาย
- อายุมาก
- น้ำหนักมากกว่ามาตรฐาน
- ทำงานที่ต้องยืนนาน ๆ
อาการของเส้นเลือดขอด
อาการของเส้นเลือดขอดในระยะแรก ๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล คือ
- ปวดขา โดยพบได้ราว 50%
- ขาบวม พบได้ 30%
- พบเส้นเลือดขอดอย่างชัดเจน จึงเดินทางมาตรวจ อีก 30%
อ.พญ. ปัณฑิตา เอี่ยมศุภนิมิตร ระบุว่า อาการของเส้นเลือดขอดมีหลายระดับ
- พบเส้นเลือดที่มีลักษณะเป็นร่างแห
ใยแมงมุม หรืออาจแค่ขาบวม
- เส้นเลือดขยายตัวมากขึ้น
จนเห็นชัดเจนว่าเป็นเส้นเลือดขอด มีขนาดใหญ่กว่า 4 มิลลิเมตรขึ้นไป
หรือเห็นขด หรือขยุ้มเส้นเลือดอย่างชัดเจนเวลายืน
- หากมีอาการมากขึ้น
จะพบผิวหนังที่ขาบริเวณใกล้ข้อเท้ามีสีคล้ำขึ้นจนเป็นสีเกือบดำ
ผิวหนังแข็งขึ้น
- หากอาการแย่ลง
ตรงผิวหนังที่สีดำขึ้นอาจมีแผลที่เกิดขึ้นมาเอง
และไม่ยอมหายได้เอง
- นอกจากนี้ยังพบอาการอื่น ๆ เช่น ขาบวม เป็นตะคริวที่ขาในตอนกลางคืน เดินมาก ๆ แล้วมีอาการปวดเมื่อยขา โดยเฉพาะตอนเย็น
วิธีการตรวจเส้นเลือดขอด
แพทย์อาจทำการวินิจฉัยโดยทั่วไปก่อนว่าอาการที่เกิดขึ้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคประจำตัวอื่น ๆ ที่เป็นอยู่หรือไม่ หากไม่มีแพทย์จะทำการอัลตร้าซาวนด์บริเวณที่คาดว่าน่าจะเป็นเส้นเลือดขอด เมื่อยืนยันได้ว่าผู้ป่วยเป็นเส้นเลือดขอดจริง วิธีการรักษาก็จะแตกต่างไปตามความรุนแรงของโรค มีตั้งแต่การใส่ถุงน่องที่ทำเพื่อรักษาโรคเส้นเลือดขอดโดยเฉพาะ ฉีดยา กินยา หากมีแผลหรือขาเริ่มดำแล้ว อาจพิจารณาวิธีผ่าตัด
การผ่าตัดมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ
- การผ่าตัดแผลมาตรฐานทั่วไป
- การผ่าตัดแผลเล็กที่เจ็บน้อยกว่า ทั้งการใช้เลเซอร์ คลื่นความร้อน RFA หรืออาจใช้กาวที่ช่วยให้เส้นเลือดกลับมาไหลเวียนได้อย่างเป็นปกติ
วิธีลดความเสี่ยงในการเป็นเส้นเลือดขอด
แม้เราไม่สามารถป้องกันอาการเส้นเลือดขอดได้ 100% แต่สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นเส้นเลือดขอดได้ ดังนี้
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่ทำให้กล้ามเนื้อขาแข็งแรงขึ้น เช่น เดินเร็ว
วิ่ง ปั่นจักรยาน แอโรบิก เป็นต้น
-
ลดน้ำหนักให้เหลือน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- ไม่ควรยืนอยู่กับที่นาน ๆ
ควรขยับร่างกาย หรือนั่งพักระหว่างวันบ้าง
- รับประทานอาหารที่มีกากใยอาหารสูง เช่น
ผัก ผลไม้
- ลดการรับประทานอาหารเค็ม
เพื่อลดอาการบวม
- หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง หรือถุงเท้า ถุงน่อง ที่รัดมาก ๆ เป็นเวลานาน ๆ
หากมีอาการสงสัยว่าอาจเป็นเส้นเลือดขอด
สามารถเข้ารับการตรวจกับแพทย์ได้ ที่ อาคาร ภปร. ชั้น 6
คลินิกศัลยกรรมหลอดเลือด ทุกวันพุธ เวลา 8.00-12.00 น.
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โทร. 02-256-4000
หรือที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน
คุณกำลังดู: “เส้นเลือดขอด” เกิดขึ้นได้อย่างไร ? อันตรายแค่ไหน ?
หมวดหมู่: รู้ทันโรค