ซึมเศร้าวัยรุ่น เพราะเป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย หรือผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ

ภาวะซึมเศร้าวัยรุ่นเกิดจากอะไร พ่อแม่และผู้ปกครองสามารถป้องกันได้หรือไม่

ซึมเศร้าวัยรุ่น เพราะเป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย หรือผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ

เคยสังเกตไหมว่า ทุกวันนี้มีจำนวนวัยรุ่นป่วยเป็นภาวะซึมเศร้ากันมากขึ้น และมีจำนวนไม่น้อยที่เลือกจบชีวิตตนเองจนเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง แล้วซึมเศร้าวัยรุ่น ต่างจากภาวะซึมเศร้าทั่วไปอย่างไร พ่อแม่หรือผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการและป้องกันได้อย่างไรบ้าง

ซึมเศร้าวัยรุ่น มีสาเหตุจากอะไร

“เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย” สำหรับผู้ใหญ่วัยทำงานอาจจะฟังประโยคนี้แล้วรู้สึกว่าเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องแบกภาระความรับผิดชอบต่างๆ สิเหนื่อยกว่า แต่รู้ไหมว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าวัยรุ่นมาจาก 3 องค์ประกอบหลักด้วยกัน

  1. ปัจจัยด้านชีวภาพ อาจเป็นเรื่องของพันธุกรรม มีพ่อแม่หรือญาติที่เป็นโรคซึมเศร้า หรือจิตเวช ก็ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าวัยรุ่นได้มากกว่าคนอื่น หรือเรื่องของฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย เช่น ไทรอยด์ต่ำ ก็อาจจะเป็นโรคซึมเศร้าได้ รวมถึงเรื่องภูมิอากาศ ก็ทำให้เป็นโรคซึมเศร้าที่เกิดจากฤดูที่เปลี่ยนไป
  2. ปัจจัยด้านจิตใจ เช่น แนวคิดที่ต้องการเป็นคนสมบูรณ์แบบ ความคาดหวังจากพ่อแม่ให้ลูกต้องเก่งในทุกด้าน แล้วถ้าไม่สามารถทำได้ตามที่หวังก็ส่งผลกระทบต่อจิตใจ หรือมาจากความเชื่อในบางวัฒนธรรมว่าเกิดเป็นผู้ชายต้องเข้มแข็ง ห้ามร้องไห้ ทั้งที่ความจริงแล้วการร้องไห้หรือความเศร้าเป็นเรื่องปกติสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย
  3. ปัจจัยด้านสังคม สำหรับวัยรุ่นแล้วการเข้าสังคมเป็นเรื่องค่อนข้างสำคัญ หากความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดี พ่อแม่ไม่เข้าใจหรือสร้างความกดดันต่างๆ ให้ลูก หรือวัยรุ่นบางคนมีปัญหาโดนเพื่อนที่โรงเรียนกลั่นแกล้งหรือมีปัญหาความรักในวัยเรียน ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ก็ส่งผลให้กลายเป็นโรคซึมเศร้าได้

สัญญาณของภาวะซึมเศร้าวัยรุ่น

หากพ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่แน่ใจว่าลูกหลานของตนเองนั้นจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นภาวะซึมเศร้าวัยรุ่นหรือไม่ สามารถสังเกตอาการเหล่านี้ ซึ่งเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้าได้

  • การแยกตัว
  • เฉื่อยชาไม่สนใจตัวเอง
  • ไม่อยากพูดคุยกับใคร
  • ไม่อยากเจอเพื่อน
  • ไม่อยากไปโรงเรียน
  • ไม่อยากเรียนหนังสือ
  • ไม่มีสมาธิในการเรียนการทำงาน
  • กินไม่ได้หรือกินมากขึ้น
  • นอนไม่หลับหรือนอนมากขึ้น
  • หงุดหงิด
  • ไม่ร่าเริง ไม่ยิ้ม
  • ร้องไห้หนักแบบไม่มีเหตุผล
  • วิตกกังวล
  • ไม่กล้าตัดสินใจ
  • เหนื่อยง่าย
  • เบื่อโลก
  • รู้สึกไม่ดีกับตนเอง
  • รู้สึกผิด รู้สึกไร้ค่า สิ้นหวัง
  • มีความคิดทำร้ายตนเอง หรือคิดฆ่าตัวตาย

วิธีป้องกันภาวะซึมเศร้าวัยรุ่น

ดังนั้นก่อนที่ปล่อยให้จนลูกหลานเครียดจนมีสัญญาณของภาวะซึมเศร้าวัยรุ่นออกมา พ่อแม่และผู้ปกครองควรมีวิธีป้องกันก่อนสายเกินแก้ โดยใช้หลักการต่อไปนี้

  • ทำความเข้าใจเด็ก ด้วยการเปิดใจพูดคุยโดยไม่ตัดสินถึงปัญหาที่ลูกหลานต้องการเล่าให้ฟัง เพื่อช่วยให้พวกเขาระบายความเครียดที่อยู่ภายในใจ
  • เลี้ยงดูลูกด้วยความรัก ให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นที่รักของพ่อแม่ จะช่วยสร้างภูมิต้านทานที่ดีให้เด็ก
  • สอนให้ลูกมองโลกในแง่ดี สอนให้เขารู้ว่าทุกอย่างในโลกนี้ล้วนมี 2 ด้านเสมอ สิ่งที่เห็นว่าลบจริงๆ แล้วมันก็มีด้านบวกซ่อนอยู่ ในทางกลับกันสิ่งที่บวกมันก็มีลบซ่อนอยู่ การสอนลูกให้มองโลกในแง่บวกเพื่อเป็นกำลังใจ ส่วนการมองโลกในแง่ลบ จะช่วยให้เราพัฒนาและปรับปรุงตัวเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป หากสามารถฝึกลูกให้เป็นคนมองโลกในแง่ดีได้ เขาจะเป็นคนที่มีต้นทุนชีวิตที่ดีมาก
  • สอนให้เด็กช่วยเหลือตัวเอง ฝึกการเข้าสังคมให้เป็น จะทำให้เขาได้รับการยอมรับจากคนอื่นมากขึ้น
  • สอนให้เด็กรู้จักวางแผนชีวิตเฉพาะเรื่องที่สำคัญ เพราะถ้าวางแผนทุกเรื่องของชีวิต ก็จะเครียด จึงควรสอนให้เขาจัดความสำคัญของชีวิตให้ได้ ว่าสิ่งนี้สำคัญควรทำ สิ่งนี้ไม่สำคัญไม่ต้องทำ
  • สอนให้เด็กรู้จักให้อภัยตัวเอง เพราะคนเราทุกคนเกิดมาล้วนต้องเคยทำผิดพลาด และหากเราสามารถให้อภัยตัวเองได้ รู้จักปรับปรุงและพัฒนาตัวเอง เขาก็จะจัดการกับความซึมเศร้าได้ง่ายมาก
  • สอนให้เขารู้จักขอบคุณสิ่งต่างๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครู ผู้มีพระคุณ หรือแม้กระทั่งขอบคุณตัวเอง หากทำได้เขาก็จะเป็นคนที่มีความสุข
  • สอนเด็กตามวัยของเขา ไม่ควรสอนอะไรที่เกินวัย เช่น เด็กเล็กก็อย่าไปคาดหวังว่าเขาจะต้องทำนู่น ทำนี่ได้ ส่วนวัยรุ่นก็ต้องให้เกียรติเขาแสดงความคิดของตัวเองบ้าง อย่าไปทำเหมือนว่าเขายังเป็นเด็กเล็กๆ
การป้องกันที่ดีที่สุดคือการที่พ่อแม่เปิดใจรับฟังปัญหาของลูกอย่างไม่ตัดสิน
การป้องกันที่ดีที่สุดคือการที่พ่อแม่เปิดใจรับฟังปัญหาของลูกอย่างไม่ตัดสิน

แม้ว่าเด็กวัยรุ่นจะไม่ได้มีภาระความรับผิดชอบเท่าผู้ใหญ่วัยทำงาน แต่ก็เป็นวัยที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างการเป็นเด็กสู่การเป็นผู้ใหญ่ จึงมีภาวะอารมณ์ที่ยังไม่คงที่ ประกอบกับการที่ต้องแบกรับความคาดหวังจากพ่อแม่และตนเองที่ต้องการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี รวมไปถึงการเข้าสังคมกับเพื่อนฝูงที่อาจมีการแข่งขันกันสูง ซึ่งสร้างความกดดันให้กับเด็กจนส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าวัยรุ่นได้ หากพ่อแม่และผู้ปกครองดูแลอย่างใกล้ชิดและทำความเข้าใจอย่างแท้จริงก็จะช่วยป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้าวัยรุ่นได้.

ข้อมูลอ้างอิง: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, ศูนย์ความรู้เทคโนโลยีโรคซึมเศร้าไทย

คุณกำลังดู: ซึมเศร้าวัยรุ่น เพราะเป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย หรือผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ

หมวดหมู่: แม่และเด็ก

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด